Beauty Story Ep.15 Beauty Standard ทำร้ายคนจริง แต่ทำไมเรายังอยากสวย
  1. Beauty Story Ep.15 Beauty Standard ทำร้ายคนจริง แต่ทำไมเรายังอยากสวย

Beauty Story Ep.15 Beauty Standard ทำร้ายคนจริง แต่ทำไมเรายังอยากสวย

ขอชวนทุกคนมาลงลึกถึง Dark Side ของ Beauty Standard ว่ามาตรฐานความงามที่อยู่ในสังคมของเรามาหลายสิบปี มันหยั่งรากลึกและสั่นคลอนความรู้สึกอะไรในตัวเราบ้าง
writerProfile
25 ก.ย. 2024 · โดย

เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นคำว่า Beauty Standard ผ่านตามาหลายที่ ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ หรือจะเป็นตามโซเชียลเน็ตเวิร์คก็ดี พอเป็นคำว่า Beauty Standard คิดแบบง่าย ๆ เร็ว ๆ ก็อาจจะฟังดูสวย ดูแกลม ชวนให้นึกถึงอะไรชวนเจริญหูเจริญตา

แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้าน หรือแม้แต่พระจันทร์ที่ส่องสว่างทุกคืน ก็ยังมีมุมมืดที่แสงส่องไปไม่ถึง

วันนี้ Beauty Story ขอชวนทุกคนมาลงลึกถึง Dark Side ของ Beauty Standard ว่ามาตรฐานความงามที่อยู่ในสังคมของเรามาหลายสิบปี มันหยั่งรากลึกและสั่นคลอนความรู้สึกอะไรในตัวเราบ้าง

.

(1) ว่าด้วยเรื่องของ Beauty Standard

ขอท้าวความก่อนว่า Beauty Standard หรือ มาตรฐานความงาม ไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาด สิ่งนี้แทรกอยู่ในสังคมมนุษย์มาเนิ่นนาน ซึ่งมาตรฐานที่ว่าก็จะแตกต่างกันไปในหลายสังคมและวัฒนธรรม จะเรียกได้ว่าเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่กำหนดหรือบอกผู้คนก็ได้ว่า ลักษณะแบบไหนที่เรียกว่า สวย หล่อ ดูดี เป็นที่ต้องตา และเป็นที่ยอมรับของคนหมู่มาก

ถ้าจะย้อนกลับไปดูว่ามาตรฐานความงามนั้นเกิดขึ้นมาจากช่วงเวลาไหน ต้องบอกว่าสามารถย้อนเวลากลับไปได้เป็นหมื่นปี เพราะเรากำลังจะพูดถึงรูปปั้น “วีนัส แห่ง วิลเลนดอร์ฟ” ที่คาดว่ามีอายุเกือบ 30,000 ปีก่อนคริสตกาล! (เป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์) แต่ถูกค้นพบในปี 1908 ที่หมู่บ้านวิลเลนดอร์ฟ ประเทศออสเตรีย โดยรูปปั้นอันโด่งดังนี้มีรูปร่างลักษณะเป็นหุ่นของผู้หญิงเปลือย รูปร่างอ้วน และมีทรวงอกที่อวบอิ่ม ถึงจะยังไม่มีการวิเคราะห์ถึงแรงจูงใจของคนแกะรูปปั้นนี้ แต่มักถูกตีความว่าเพราะรูปร่างที่เน้นสัญลักษณ์ของเพศหญิงมากกว่าปกติ (หน้าอก ท้อง และ อวัยวะเพศ) ทำให้ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นเพศหญิงและความเป็นแม่ผู้ให้กำเนิด และสื่อถึงการเจริญพันธุ์และความอุดมสมบูรณ์เพราะรูปร่างที่อวบอ้วนเหมือนคนที่กินดีอยู่ดี

.

หรือขยับใกล้เส้นเวลายุคปัจจุบันมากขึ้น เราลองมาดูรูปปั้นหินอ่อนสีขาวสะอาดตาอย่าง วีนัส แห่ง มีโล รูปปั้นจากยุคกรีกโบราณจากประมาณ 150 ปีก่อนคริสตกาล ที่ถึงแม้จะไม่มีแขนทั้ง 2 ข้าง แต่รูปปั้นนี้มีใบหน้าที่ได้รูป เครื่องหน้าที่ดูรวมกันแล้วละมุน กลมกล่อม รวมถึงรูปร่างที่สมส่วน ดูไร้ไขมันส่วนเกินและไม่ได้ผอมแห้งมากจนเกินไป ถือว่าเป็นความงามตามพิมพ์นิยมของชาวกรีกในสมัยนั้น พาลให้จินตนาการว่าหากนางเป็นคนที่มีตัวตนอยู่จริง คงมีรูปร่างและผิวอ่อนนุ่มเป็นแน่

ยกตัวอย่างมาเป็นรูปปั้นที่ถูกเรียกด้วยชื่อที่เหมือนกันแต่อยู่ต่างยุคต่างเวลา คงพอเห็นภาพกันแล้วใช่มั้ยว่าพิมพ์นิยมความสวยเนี่ยมีมายาวนานมากกว่าที่เราคิดเสียอีก!

.

(2) ไม้บรรทัดความสวยแต่ละประเทศ

เราลองหันกลับมามองกันบ้างว่า Beauty Standard ในประเทศไทยเป็นอย่างไร

สังเกตได้ง่าย ๆ ตามบิลบอร์ดโฆษณาต่าง ๆ หรือโฆษณาที่ฉายในสื่อ ดาราผู้หญิงชาวไทยมักจะมีลักษณะที่มีร่วมกันอย่างหนึ่งคือ “มีผิวขาวสว่าง” ไม่ว่าจะเป็นดาราไทยเชื้อสายจีน หรือลูกครึ่งหน้าคมก็ตาม

หรือจะเป็นเรื่องของรูปร่าง ก่อน แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส จะได้มงฯ จาก Miss Universe 2021 และสั่นคลอนแนวคิดเกี่ยวกับรูปร่างในสังคมด้วยแฮชแท็ก #RealSizeBeauty สังคมไทยมีค่านิยมเรื่องหุ่นที่ค่อนข้างตรงกันข้าม โดยพิมพ์นิยมของสาวไทยมักจะมีปัจจัยร่วมเช่น รูปร่างผอมบาง เอวคอด แขนและขาเรียวยาว สังเกตได้ง่ายจากบรรดา Beauty Influencers และนางแบบแฟชั่น (ส่วนตัวเราคิดว่าเทรนด์ความงามที่กล่าวไปข้างต้น มีความเป็นไปได้สูงว่าได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเกาหลี สั่งสมเรื่อยมาตั้งแต่ยุคโคเรียฟีเวอร์)

.

ส่วนในโลกตะวันตกที่เทรนด์ความงามคลั่งไคล้กับหุ่นเอวคอดกิ่วและสะโพกผาย หรือที่เรียกกันว่า หุ่นนาฬิกาทราย (Hourglass Body Shape) เราขอยกตัวอย่างเซเลบริตี้ชื่อดังที่ใครหลายคนคงรู้จักดีอย่าง คิม คาร์ดาเชียน (Kim Kardashian) เซเลบที่นอกจากจะมีชื่อเสียงจากรายการเรียลลิตี้ของเธอ Keeping Up with the Kardashians แล้ว ก็ยังมีจุดเด่นที่หุ่นทรงนาฬิกาทรายพร้อมสะโพกผายเด้ง ถึงขนาดมีนางแบบชาวบราซิล Jennifer Pamplona ศัลยกรรมตัวเองถึง 20 ครั้งเพื่อเปลี่ยนโฉมตัวเองให้เป็นเหมือนสาว ๆ สไตล์บ้านคาร์ดาเชียนมากขึ้น (เช่นการยกกระชับก้นแบบ Brazillian หรือการฉีดปากด้วยสารเติมเต็มให้อวบอิ่ม) โดยเธอหมดเงินไปกับการศัลยกรรมตั้งแต่หัวจรดเท้าไปมากกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ!

.

(3) แล้วคนที่อยู่ตกขอบไม้บรรทัดล่ะ?

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงมีผู้อ่านไม่น้อยเลยที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีความสวยตามมาตรฐาน (ยกมือสารภาพตรงนี้ว่า เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น) ซึ่งการที่เรารู้สึกว่าไม่ได้ถูกนับรวมว่าเป็น “คนสวย” ตามแบบที่สังคมทั่วไปยอมรับ มันส่งผลอะไรบ้าง

ความเครียดจากการเปรียบเทียบตัวเองและสาว ๆ ที่สวยแบบพิมพ์นิยมเป็นเรื่องแรก ๆ ที่เรานึกถึง เพราะสื่อที่เรารับสารผ่านตาต่างพากันประโคมค่านิยมเหล่านี้ใส่เราทั้งทางตรงและอ้อม ต้องผิวขาวกระจ่างใส ผิวหน้าต้องไม่มีสิวและจุดด่างดำ รักแร้ต้องขาวและเรียบเนียน บั้นท้ายไร้เซลลูไลต์ อ้าว แล้วถ้าเกิดวันไหนเรามีสิวขึ้นมา หรือโกนขนรักแร้จนผิวคล้ำล่ะ? แบบนี้เท่ากับเราโดนดีดออกจาก Standard แล้วรึเปล่า? สังคมจะมองเราว่าไม่สวยมั้ย? พอสวยไม่มากพอที่จะอยู่ใน Standard นั่นแปลว่าคุณค่าเราลดลงรึเปล่า?

.

เมื่อการโดนแยกออกจากมาตรฐานความสวยชวนให้เราตั้งคำถามไปถึงคุณค่าของตัวเอง การที่เรามีรอบเอวหนากว่าเสื้อผ้าไซซ์ S หรือ M นี่ทำให้เราโดนมองว่าอ่อนแอหรือไม่ Healthy มั้ย? หรือเพราะเรามีโหนกแก้มและสันกรามชัด ทำให้พลาดโอกาสทางหน้าที่การงานในบางสายงานหรือไม่? ทั้ง ๆ ที่นี่คือร่างกายที่เราเป็นเจ้าของมาตั้งแต่เกิด แต่ทำไมวันหนึ่งถึงมีไม้บรรทัดที่มองไม่เห็นมาทำให้คุณค่าของตัวเราสั่นคลอน

.

(4) แต่ทำไมเรายังอยากสวย/หล่อ?

เมื่อมี Beauty Standard สิ่งที่ตามมาคือ Beauty Privilege ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ต่างกัน แต่อาจจะแยกจากกันได้ยาก โดย Beauty Privilege คืออภิสิทธิ์ที่ได้มาเพราะความสวย หล่อ ดูดี ซึ่งถ้าเราลองสังเกตดู เราอาจจะเผลอคิดแบบเหมารวมว่า คนที่หน้าตาดี บุคลิกดี มักจะมีนิสัยดีตามไปด้วย (ซึ่งไม่จริงเสมอไป!) สาเหตุที่เป็นแบบนี้ ต้องทำความเข้าใจว่าคนเรามักจะประเมินกันจากภายนอกก่อน (เพราะยังไม่ได้ใช้เวลาทำความรู้จักกันขนาดนั้น) เชื่อไหมว่าอภิสิทธิ์จากความหน้าตาดียังเกิดขึ้นในเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดด้วย

เช่นในวงการข่าวอาชญากรรมที่เราอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง ว่าผู้ร้ายที่หน้าตาดี มักจะได้ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจจากคนจำนวนหนึ่ง เพียงเพราะสาเหตุที่ว่า พวกเขาสวย/หล่อ โดยจำเลยที่หน้าตาดี มีแนวโน้มที่จะถูกตัดสินโทษน้อยกว่าจำเลยที่หน้าตาทั่วไปหรือหน้าตาไม่ดี อ้างอิงจากผลสำรวจคดีในชั้นศาลจำนวนมากกว่า 2,000 คดีในสหรัฐอเมริกา

.

แค่เกิดมาหน้าตาดีกว่า สังคมก็พร้อมยื่นโอกาสให้มากกว่าคนหน้าตาทั่ว ๆ ไป ดังนั้นจะแปลกอะไรถ้าเราจะพยายามดูแลตัวเอง คุมอาหาร เข้าฟิตเนสเพื่อสลายไขมัน ยอมเสียเงินซื้อสกินแคร์และเครื่องสำอางเพื่อปรับลุค หรือยอมเสียเงินก้อนใหญ่เข้าคลินิกเสริมความงามเพื่อความสวย/หล่อ เพราะการที่เราดูดีขึ้น นั่นอาจจะหมายถึงโอกาสที่ก้าวหน้าหรือเติบโตในชีวิตมากขึ้นตาม

เหล่าคนที่ยังอ่านมาถึงตรงนี้คิดเห็นอย่างไรกันบ้างคะ การมีอยู่ของ Beauty Standard ทำร้ายคนจริงไหม? หรือแค่ความรู้สึกอยากสวย อยากดูดี นี่มันผิดขนาดนั้นเลยรึเปล่า? อันนี้ต้องบอกว่าไม่มีคำตอบที่ผิดหรือถูก แต่ตัวผู้เขียนอยากฝากให้คิดเล่น ๆ กันสักนิดหนึ่ง หันมามองดูค่านิยมความสวยหล่อกันอีกหน่อยว่าตอนนี้ประเทศไทยมีมุมมองเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง แล้วเราจะยอมต่อต้าน …หรือเข้าร่วม?

.

Beauty Story Episode ถัดไปจะชวนมาพูดถึงเรื่องราวแบบไหน ต้องอย่าลืมติดตาม Wongnai Beauty ทั้งช่องทาง Facebook, Instagram และ TikTok แล้วล่ะค่ะ!

.

อ้างอิง

Museum Siam, 2565, ทรงใหญ่ ใครว่าไม่สวย ร่างใหญ่ ใช่ว่าไม่งาม

https://www.museumsiam.org/km-detail.php?CID=200&CONID=5770

NYLON Thailand, 2561, Venus VENUS! ตอนที่ 1

https://www.nylonthailand.com/venus-1/

Mel Evans, 2562, I’m Your Biggest Fan: Versace model doubles as Kim Kardashian’s twin after spending $500k to look like star

https://metro.co.uk/2019/01/17/im-biggest-fan-versace-model-doubles-kim-kardashians-twin-spending-500k-look-like-star-8355457/

Museum Siam, 2556, ไฉไลไปไหน?

https://knowledge-center.museumsiam.org/uploads/siam/book_copy/2016/07/DB000592_es8N4pic01Ai/file/es8N4pic01Ai.pdf

วิชิตา คะแนนสิน และ ณัฐมน สุนทรมีเสถียร, 2564, ‘บิวตี้สแตนดาร์ด’ มาจากไหน เมื่อผู้คนมีรูปร่างหลากหลาย แล้วความสวยที่แท้จริงคืออะไร

https://becommon.co/life/living-beauty-standard/

คุณกมลกานต์ จีนช้าง, คุณพงศ์มนัส บุศยประทีป, อ. ดร.พูลทรัพย์ อารีกิจ, 2565, การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง Beauty Privileges: รูปร่างหน้าตามีอิทธิพลต่อชีวิตจริงหรือไม่

https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/psy-talk-2022-beauty-privileges/

จันทมา ช่างสลัก, Pretty Privilege ความลำเอียงทางหน้าตา ที่เอาชนะด้วยความ “มั่นใจ”

https://www.istrong.co/single-post/pretty-privilege

#Wongnai #WongnaiBeauty #BeautyStory #สวยศึกษา #BeautyStandard #BeautyPrivilege