Beauty Story Ep.24 กระทงไทยใครสร้าง? ท้าวศรีจุฬาลักษณ์สู่ตำนานนางนพมาศ
  1. Beauty Story Ep.24 กระทงไทยใครสร้าง? ท้าวศรีจุฬาลักษณ์สู่ตำนานนางนพมาศ

Beauty Story Ep.24 กระทงไทยใครสร้าง? ท้าวศรีจุฬาลักษณ์สู่ตำนานนางนพมาศ

แล้วเรื่องราวของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ นางนพมาศ วันลอยกระทง เกี่ยวข้องกันยังไง Beauty Story จะพามาหาคำตอบค่ะ
writerProfile
15 พ.ย. 2024 · โดย

ตำนานนางนพมาศ ไอคอนความงามที่เห็นในเวทีประกวดทุกปี จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่เป็นจุดเริ่มต้นการประกวดนะ เพราะนางเป็นเหมือนกับไข่ดาวที่มาคู่กับผัดกะเพรา เหมือนหอมเจียวที่ต้องคู่กับไก่ทอด เหมือนเป็นคู่หูกับกระทงสวย ๆ ในวันลอยกระทงจนถึงกับเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในวันนี้เลยทีเดียว

.

สิ่งที่น่าสนใจคือ แท้จริงแล้ว นางนพมาศที่เป็น Iconic ของวันลอยกระทงนี้ คือท้าวศรีจุฬาลักษณ์นี่เอง อาจจะดูคุ้น ๆ เหมือนหนึ่งในสนมสี่ทิศจากเรื่องแม่หยัวใช่ไหมล่ะ แล้วเรื่องราวของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ นางนพมาศ วันลอยกระทง เกี่ยวข้องกันยังไง Beauty Story จะพามาหาคำตอบค่ะ

.

(1.) ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กับนางนพมาศ

จากนางนพมาศ มาเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ชื่อที่เราคุ้นหูคุ้นตาจากซีรีส์เรื่อง “แม่หยัว” ได้ยังไง ต้องบอกตรงนี้เลยว่าจริง ๆ แล้วในประวัติศาสตร์ไทยมีท้าวศรีจุฬาลักษณ์กันถึง 4 คนเลยทีเดียว แต่คนที่เป็นบทบาทสำคัญหลักในเทศกาลลอยกระทงนี้คือ The First ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ นางสนมในพระมหาธรรมราชาที่ 1 แห่งอาณาจักรสุโขทัยนี่เอง ไม่ใช่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมสี่ทิศของพระชัยราชาธิราช

แน่นอนว่า "นางนพมาศ" คือชื่อเดิมของพระนาง ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้เล่าว่า พระนางเกิดในตระกูลพราหมณ์สมัยสุโขทัย ด้วยความที่เป็นตระกูลสูงศักดิ์ ถูกอบรมมาอย่างดี มีหน้าตางดงาม เชี่ยวชาญศาสตร์ต่าง ๆ ด้านกุลสตรีตามจารีต

.

ไม่แปลกเลยที่ต่อมานางได้เข้าไปเป็นนางสนมคนโปรด จนถูกยกให้เป็นสนมเอกและถูกแต่งตั้งให้เป็น “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ซึ่งบทบาทที่มาคู่กับตำแหน่งก็คงไม่พ้นการเป็นแบบอย่างในฐานะผู้สร้างผู้ประดิษฐ์ของถวายในวังอย่างพานหมากสองชั้นร้อยกรองเพื่อใช้เป็นเครื่องหมากพลูในพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นแบบของ "พานขันหมาก" ในพิธีแต่งงานจนถึงทุกวันนี้ และโคมลอยรูปดอกบัวที่ใช้ในราชพิธีปล่อยประธีป ที่กลายเป็นต้นแบบของกระทง

.

แต่ก็มีข้อสงสัยกันอยู่มากว่าเธอเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง ๆ หรือเป็นเพียงเรื่องเล่าที่แต่งขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ตอนปลายเพื่อเสริมภาพลักษณ์ทางสังคมเท่านั้น นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มที่มองว่าภาษาและสำนวนในเรื่องเล่านางนพมาศไม่ตรงกับสมัยยุคสุโขทัยนะ แต่กลับมีลักษณะการบรรยายที่ชัดเจนแบบยุคหลังมากกว่า เวลาผ่านไป เรื่องเล่ากลายเป็นนิทาน นางนพมาศ เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ที่คนไทยยึดถือและกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการประกวดนางนพมาศขึ้นทุกปีในงานลอยกระทงที่เราเห็นในปัจจุบัน

.

(2.) นางนพมาศ = สัญลักษณ์แห่งความคิดสร้างสรรค์

จากผลงานประดิษฐ์หลาย ๆ อย่างที่เป็นต้นแบบของงานดอกไม้ กระทง ในพิธีต่าง ๆ ของไทย รวมไปถึงเป็นต้นแบบของกุลสตรีที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างตามครรลองไทยแล้ว จนคนไทยนำมาเป็นไอดอลกันทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้งานประดิษฐ์มาไกลจนถึงทุกวันนี้คือความคิดสร้างสรรค์ด้วย! ถือเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ใช่แค่สวยงาม แต่ยังแฝงไปด้วยความละเอียดอ่อนจากธรรมชาติ

ดังนั้นชื่อ “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ที่อยู่ในแม่หยัว จะมองว่าเชื่อมโยงแบบนี้ก็ไม่แปลกนะ เพราะทั้งคู่ก็มาจากราชวงศ์พระร่วง แถมเป็นตำแหน่งที่แสดงถึงความเป็นกุลสตรีไทยที่เป็นแบบอย่างให้ประชาชน

.

อย่างที่ทุกคนรู้ว่าการลอยกระทงในสมัยโบราณนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อขอขมาพระแม่คงคาและแสดงความขอบคุณต่อแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนไทยมาช้านาน นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงการเชื่อมต่อระหว่างธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนไทยด้วย

แต่ในปัจจุบันการลอยกระทงได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างเพราะเทคโนโลยีและกระแสโลกร้อนที่ทำให้คนหันมามองถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการวิจัยพบว่ากระทงที่ทำจากวัสดุโฟมยังคงพบเจอในแม่น้ำจำนวนมาก แม้จะมีการรณรงค์ให้หันมาใช้กระทงจากธรรมชาติอย่างใบตองหรือลูกมะพร้าวแทนก็ตาม

.

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเคยกล่าวว่า “การลอยกระทงที่ไม่รักษ์โลกอาจกลายเป็นปัญหาต่อแม่น้ำแทนที่จะเป็นการบูชา” ความท้าทายนี้ทำให้เกิดกระแสกระทงรักษ์โลกที่ผู้เขียนมองว่าเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งควรสนับสนุนให้เป็นธรรมเนียมใหม่ในการลอยกระทง

.

(3.) กระทงสมัยใหม่: ถึงเวลาที่จะหยุดทิ้งขยะในแม่น้ำหรือยัง?

โคมลอยและกระทงที่เต็มไปด้วยดอกไม้ในสมัยก่อนนั้นดูเหมือนจะดูดีมาก ๆ นะ แต่ตอนนี้เมื่อเราไปลอยกระทงทีไรก็ต้องเจอขยะลอยไปตามน้ำเต็มไปหมด มันเศร้ามาก ๆ เลยใช่ไหมล่ะ?

Beauty Story ขอเป็นตัวแทนหนึ่งที่สนับสนุนทางเลือกใหม่ ๆ ที่ยังลอยกระทงได้และขอบคุณน้ำ ธรรมชาติ พระแม่คงคาได้เหมือนเดิม เช่น กระทงน้ำแข็ง กระทงออนไลน์ หรือจะกระทงหมูสามชั้นสวย ๆ ในหม้อชาบูแทนการลอยในแม่น้ำจริง ๆ ไม่ต้องสวยจนโอเวอร์ แต่เน้นได้ฟีลลอยกระทงก็ดีเหมือนกันนะ มันไม่เพียงแต่ช่วยให้เราสามารถร่วมเทศกาลได้ แต่ยังช่วยลดขยะในแม่น้ำอีกด้วย

.

ไม่ว่านางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในพระยาลิไท จะเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือเป็นเพียงแค่เรื่องแต่งขึ้นมา นางนพมาศก็ได้สร้างภาพลักษณ์ที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงไทยมีความมั่นใจและตระหนักถึงคุณค่าในความงามแบบดั้งเดิมที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของเราไปเรียบร้อยแล้ว

—------------

Reference

ไทยรัฐออนไลน์. (2565). "เปิดประวัติ 'นางนพมาศ' ในวันลอยกระทง คือใคร มีตัวตนจริงไหม?"

สมบัติ พลายน้อย. (2555). วัฒนธรรมลอยกระทง: ประวัติและความเชื่อ. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2545). กระทงกับประเพณีสืบทอดในสังคมไทย. มติชน.

.
#Wongnai #WongnaiBeauty #BeautyStory #WongnaiBeauty #แม่หยัว #ท้าวศรีสุดาจันทร์ #ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ #กระทง #ลอยกระทง