พูดไม่เก่งไม่เป็นไร เพราะภาษากายบอกได้ ว่าเขาคิดอย่างไร
  1. พูดไม่เก่งไม่เป็นไร เพราะภาษากายบอกได้ ว่าเขาคิดอย่างไร

พูดไม่เก่งไม่เป็นไร เพราะภาษากายบอกได้ ว่าเขาคิดอย่างไร

ภาษากาย หรือ Body Language เป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ที่ทำให้เรารับรู้ของอารมณ์ ความรู้สึกของคู่สนทนาได้ว่าเขาคิดอย่างไร แบบนี้แปลว่าอะไร ไปดูกันเลย
writerProfile
16 พ.ย. 2021 · โดย

ภาษากาย หรือ Body Language เป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ที่ทำให้เรารับรู้ของอารมณ์ ความรู้สึกของคู่สนทนาได้ว่าเขาคิดอย่างไร เราสามารถรับรู้ได้ด้วยการสังเกต เหมือนคนพิการที่ไม่สามารถพูดได้ แต่สามารถสื่อสารกันด้วยภาษามือ ภาษากาย สีหน้าและท่าทางต่าง ๆ ทำให้สื่อสารกันได้ มาดูกันดีกว่าค่ะว่าภาษากายบอกอะไรได้บ้าง?

ภาษากายบอกอะไรได้บ้าง

นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรมที่มีชื่อเสียง Dr. Albert Mehrabian ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย ได้วิจัยเกี่ยวกับภาษากาย และค้นพบกฏที่เรียกว่า 7-38-55 หมายถึงการสื่อสารของคนเรานั้น มีเพียง 7% ที่สื่อสารผ่านคำพูด ในขณะที่องค์ประกอบอื่น ๆ อย่างน้ำเสียงและภาษากายนั้น มีสัดส่วนมากกว่า คิดเป็น 38% และ 55% ตามลำดับ ซึ่งสัดส่วนที่มากที่สุดในการสื่อสารของคนเราคือ “ภาษากาย” นั่นเองค่ะ และมีการทดลองให้ผู้เข้าร่วมได้ดูรายการทีวีโดยปิดเสียง และต้องเดาว่าเกิดอะไรขึ้น ตัวละครรู้สึก หรือมีอารมณ์แบบไหน ผู้หญิงสามารถทำคะแนนได้แม่นยำ ถึง 87% ซึ่งดีกว่าผู้ชาย (อย่าคิดจะโกหกเชียว เพราะเซ้นส์ผู้หญิงมันแรง!) และนี่คือเหตุผลว่าทำไม การแสดงออกทางภาษากาย ถึงเป็นเรื่องสำคัญค่ะ ยิ่งเป็นคนที่พูดไม่เก่ง หรืออธิบายไม่เก่งนั้น บางครั้งก็ทำให้เราสับสนและไม่เข้าใจใช่ไหมล่ะคะ ว่าฝ่ายตรงข้ามจะสื่ออะไร หรือรู้สึกยังไง วันนี้เรามีเทคนิคการอ่าน และการวิเคราะห์ภาษากายง่าย ๆ มาฝากค่ะ

วิเคราะห์ภาษากายของคู่สนทนา ดูว่าเขาคิดอย่างไร

วิเคราะห์ภาษากาย ของคู่สนทนา ดูว่าเขาคิดอย่างไร ภาษากายบอกได้ ภาษากาย บอกอะไร

การสบตา บ่งบอกถึงความสนใจ

เขาว่าสายตา มันหลอกกันไม่ได้~ เพราะว่าดวงตา เป็นหน้าต่างของจิตใจใช่ไหมล่ะคะ การวิเคราะห์ภาษากายของคู่ตรงข้าม อ่านได้ง่าย ๆ จากการมองตาค่ะ

  • การที่ฝ่ายตรงข้ามจ้องตาเราประมาณ 60-70% จะเป็นการสื่อว่า “เขามีความสนใจ” กับบทสนทนานั้น ๆ
  • แต่ถ้าอีกฝ่ายหลบตา หรือละสายตาบ่อย ๆ ก็แปลว่า “รู้สึกฟุ้งซ่าน อึดอัด และกำลังปกปิดความรู้สึก” หรือแปลว่ากำลังขาดความมั่นใจอยู่ก็ได้
  • นอกจากการหลบสายตาแล้ว การพยายามเพ่งสายตา ไม่กระพริบ ก็หมายถึงการพยายามที่จะปิดบังความรู้สึกได้เช่นกัน
  • ถ้าอีกฝ่ายเบิกตากว้างขึ้น ก็แปลว่าเขามีความสนใจ หรือเจอสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกนั่นเองค่ะ เช่น อารมณ์ตกใจ หรือประหลาดใจ
  • การหลุบตาลงต่ำ หมายถึง การยอมจำนน การรู้สึกผิด หรือรู้สึกกลัว
  • ถ้ากระพริบตาเร็วและถี่ จะหมายถึง “ลำบากใจหรือไม่สบายใจ”
  • การจ้องตาระหว่างพูดคุยก็เป็นมารยาทที่ดี แต่การที่เราจ้องตาอีกฝ่ายจนเกินไป ก็อาจจะหมายถึงความก้าวร้าว และทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าโดนคุกคามได้ค่ะ

นอกจากตาแล้ว ใบหน้า หัว หรือริมฝีปาก ก็บ่งบอกอารมณ์ได้

บางคนที่สายตาไม่สื่ออารมณ์ เพราะชอบทำหน้าตายตลอดเวลา ก็ลองสังเกตุกล้ามเนื้อบนใบหน้า ริมฝีปาก และการขยับของหัวดู เพื่ออ่านความคิดแทนได้ค่ะ

  • ภาษาสากลง่าย ๆ ที่ทุกคนเข้าใจ อย่างเช่น การส่ายหัวคือการปฏิเสธ และการพยักหน้า คือการเห็นด้วย และการให้ความสนใจ แต่พยักหน้าแบบถี่ ๆ เกินไป อาจจะบ่งบอกถึงความ “หมดความสนใจ” แต่ไม่อยากเสียมารยาทค่ะ
  • บางคนที่ชอบจับใบหน้าบ่อย ๆ จะหมายถึงคน ๆ นั้นกำลังรู้สึกประหม่า ทำอะไรไม่ถูก เลยหาอะไรจับเพื่อให้รู้สึกมั่นคงขึ้น
  • การก้มหัวลงเล็กน้อย สื่อถึงการรู้สึกไม่มั่นใจ แต่ถ้ามีคนชม หมายถึงการตอบรับคำชมด้วยความรู้สึกเขินอายค่ะ
  • การจับที่หูบ่อย ๆ สื่อถึงความรู้สึกไม่แน่ใจ ส่วนการแตะหรือถูจมูก หมายถึง ความสงสัย หรือการปฏิเสธความผิด
  • ถ้าคนที่รู้สึกเครียดมาก ๆ จะเห็นถึงความตึงที่บริเวณกราม คอ และคิ้วขมวด
  • ถ้าหัวคิ้วด้านในขยับขึ้น หมายถึง คน ๆ นั้นกำลังรู้สึกเศร้า แต่ถ้าเลิกคิ้วขึ้น จะแปลว่า คน ๆ นั้นรู้สึกกังวล ประหลาดใจ หรือกลัว
  • การขบริมฝีปากล่าง หมายถึง ความรู้สึกที่ไม่มั่นคง เครียด กลัว และวิตกกังวล ส่วนการเม้มปาก คือการเก็บอารมณ์ การซ่อนปฏิกริยา
  • การอ้าปากเล็กน้อย หมายถึง มีความสุข หรือการมองโลกในแง่ดี แต่การแบะปากเล็กน้อย หมายถึงอารมณ์เศร้า หรือไม่พอใจ
  • ส่วนใหญ่แล้ว เวลาที่คนเรายิ้มด้วยความจริงใจ จะยิ้มไปทั้งปากและตา จนเห็นรอยตีนกา แต่ถ้าคน ๆ นั้นยิ้มแต่ปาก ตาไม่ยิ้ม หมายถึง รอยยิ้มที่เสแสร้ง หรือกำลังโกหกอยู่
  • การวางมือบนแก้ม หรือการลูบคาง สื่อถึงการกำลังคิดหรือไตร่ตรอง

แขนและนิ้ว หรือท่าทางต่าง ๆ ก็บ่งบอกได้

ในหนังสือ How to Read a Person Like a Book ของ Gerard I. Nierenberg และ Henry H. Calero บอกว่า พวกเขาบันทึกวิดีโอเกี่ยวกับการเจรจามากกว่า 2,000 รายการ พบว่า การเจรจามักจะไม่ประสบผลสำเร็จถ้าหากว่าคู่สนทนานั่งไขว้ขา

  • เพราะการนั่งไขว้ขา หรือนั่งไขว่ห้าง ในทางจิตวิทยา การไขว้ขาหรือแขนเป็นสัญญาณที่สื่อถึงการ “กีดขวาง” ไม่ว่าจะทางจิตใจ อารมณ์ หรือร่างกายจากฝ่ายตรงข้าม (แต่บางคนก็รู้สึกว่าเป็นท่าที่สบาย ถ้าไม่มีแรงตึงหรือเกร็งที่กล้ามเนื้อ) นอกจากนี้ การนั่งไขว้ขาแล้วกระดิกเท้า หมายถึงเบื่อ หรือหมดความอดทน
  • การเอามือเท้าเอว จะบ่งบอกว่า “พร้อม และสามารถรับมือกับสถานการณ์นั้นได้” หรือในบางสถานการณ์จะหมายถึง การแสดงความก้าวร้าว และไม่เข้าใจได้
  • การนั่งค้อมตัวไปข้างหน้า หมายถึง การไม่สนใจ การไม่มีสมาธิ แต่การยืดตัวตรง หมายถึงการตั้งใจ การสนใจ
  • การนั่งแยกขากว้าง ๆ หมายถึงรู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลาย และสบายใจ
  • การหันฝ่ามืออกด้านนอก หมายถึง การปฏิเสธ
  • ถ้าประกบมือแล้วใช้นิ้วสอดประสานกัน หรือปลายนิ้วกดเข้าหากัน หมายถึง การคิด และการประเมินสถานการณ์ แต่ถ้าฝ่ามือประกบกันแต่กางนิ้วออก สื่อถึงการเสนอความคิดเห็น

ภาษากายแบบอื่น ๆ

นอกจากที่ยกตัวอย่างมาแล้ว ภาษากายแบบอื่น ๆ เช่น การเอามือล้วงกระเป๋ากางเกงหรือจับกระเป๋าสะพาย หมายถึง รู้สึกอึดอัด ไม่อยากคุยด้วย การรักษาท่าทางให้สง่าผ่าเผย สื่อถึงความเป็นมิตร และจริงใจ การเว้นระยะห่าง ก็สื่อถึงความสนิทสนม หรือการเว้นระยะห่างที่น้อยเกินไปกับคนไม่รู้จัก ก็ทำให้รู้สึกถูกคุกคามได้ และสุดท้าย ถ้าอยากให้เดทแรก หรือการเจอกับเพื่อนใหม่ครั้งแรกมีความประทับใจ ให้ลองทำในสิ่งที่คล้าย ๆ กับฝ่ายตรงข้าม เช่นการหยิบช้อนขึ้นมากิน หยิบน้ำขึ้นมาจิบ จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และสื่อถึงการเปิดใจยอมรับได้อีกด้วยค่ะ

Reference :

Jinxi Boo. 2009. "What Does Your Body Language Say About You? How To Read Signs and Recognize Gestures" [Online] เข้าถึงได้จาก : http://www.jinxiboo.com/blog/2009/12/15/what-does-your-body-language-say-about-you-how-to-read-signs.html สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564

Jon Michail. 2020. "Strong Nonverbal Skills Matter Now More Than Ever In This "New Normal"" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.forbes.com/sites/forbescoachescouncil/2020/08/24/strong-nonverbal-skills-matter-now-more-than-ever-in-this-new-normal/?sh=1d35061b5c61 สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564

Kendra Cherry. 2019. "Understanding Body Language and Facial Expressions" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.verywellmind.com/understand-body-language-and-facial-expressions-4147228 สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564

what you will learn. 2019. "The Definitive Book of Body Language – by Barbara Pease & Allan Pease" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.whatyouwilllearn.com/book/the-definitive-book-of-body-language/ สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 

ภาษากายเป็นภาษาสากลที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องพูด อย่างการชูนิ้วกลางเพื่อด่าใครซักคน เป็นต้น แต่ก็มีบางที ที่ภาษากายเป็นการแสดงเฉพาะกลุ่ม เช่น ที่ประเทศอินเดีย การส่ายหัวถือเป็นการตอบรับ ถึงแม้ว่าภาษากายจะเป็นภาษาสากล แต่การศึกษาวัฒนธรรมของแต่ละประเทศก็เป็นอีกอย่างที่ต้องรู้ไว้ เพื่อไม่ให้การสื่อสารผิดพลาด และทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ