รับมืออาการ “ใจสลาย” เมื่อคนที่เราชอบไม่เป็นอย่างที่คิด
  1. รับมืออาการ “ใจสลาย” เมื่อคนที่เราชอบไม่เป็นอย่างที่คิด

รับมืออาการ “ใจสลาย” เมื่อคนที่เราชอบไม่เป็นอย่างที่คิด

เคยไหม เวลาที่เรารักศิลปินคนหนึ่งสุดหัวใจ จู่ ๆ ก็มีข่าวหรือเรื่องราวไม่คาดฝันโผล่มา เราจะผ่านและรับมือเรื่องนี้ไปได้ยังไง Beauty Story EP. นี้ มาบอกเทคนิคค่ะ
writerProfile
23 มี.ค. 2025 · โดย

เคยไหม...เวลาที่เรารักและชื่นชมศิลปินคนหนึ่งสุดหัวใจ จู่ ๆ ก็มีข่าวหรือเรื่องราวไม่คาดฝันโผล่มา จนเรารู้สึกเหมือนถูกกระแทกเข้าที่ใจแบบไม่ทันตั้งตัว? ภาพ "พระเอกสุดเพอร์เฟ็กต์" หรือ "ไอดอลแสนดี" ที่เราเคยเชื่อสนิทใจ อาจกลับกลายเป็นคนละเรื่องหลังพบด้านที่ซับซ้อนหรือข่าวฉาวที่ตามมา แน่นอนว่ามันสร้างอาการ "ช็อก" ไม่น้อย แถมยังสะเทือนใจเราอย่างจัง เช่นเดียวกับกรณีล่าสุดของพระเอกท่านหนึ่งที่ทำเอาแฟน ๆ หลายคนรู้สึกผิดหวังและสับสน ทำไมเราถึงเจ็บปวดมากนัก แล้วเราจะผ่านและรับมือเรื่องนี้ไปได้ยังไง Beauty Story EP. นี้ มาบอกเทคนิคกันค่ะ
.

(1) ทำไมเราถึงช็อก เมื่อ “ภาพคนที่แสนดี” พังทลาย?

การที่เราติดตามทุกผลงาน ทุกไลฟ์ หรือทุกโพสต์ ทำให้เรา "รู้สึก" ว่าใกล้ชิดกับเขามาก จนค่อย ๆ กลายเป็นความผูกพันลึกซึ้งในใจ เราอาจดูซีรีส์ของพระเอกคนโปรดซ้ำไปซ้ำมา จนรู้สึกว่าเราเข้าใจเขาดีกว่าใคร พอพบว่าเขา "ไม่ดีเหมือนที่คิด" หรือมีมุมที่ไม่น่ารัก เราจึงเหมือนถูกหักหลัง แผลใจตรงนี้จึงเจ็บกว่าแค่การผิดหวังธรรมดา

ขณะเดียวกัน ค่ายต้นสังกัดมักจะสร้างภาพลักษณ์ในฝันให้ศิลปิน ดารา เช่น บทบาทฮีโร่ผู้อ่อนโยน มีความสามารถ เนี้ยบไปหมดทุกอย่าง เมื่อเรารับสื่อด้านดี ๆ ซ้ำ ๆ เราจึงไม่ทันระวังว่าภาพนั้นอาจ "ผ่านการคัดกรอง" มาหลายชั้นแล้ว อย่างที่หลายคนอาจหลงใหลในภาพลักษณ์ของพระเอกท่านนั้นที่ดูเป็นสุภาพบุรุษและเพอร์เฟ็กต์มานาน และไม่เพียงเท่านั้น เรามักคาดหวังให้คนที่เรารักและสนับสนุนเป็นคนดีเพอร์เฟ็กต์อย่างไม่มีที่ติ โดยอาจลืมไปว่าทุกคนย่อมมีด้านมืดหรือทำผิดพลาดได้ ยิ่งรักมาก ยิ่งคาดหวังสูง เมื่อเกิดเรื่องตรงข้ามกับฝัน เราจึงเจ็บเท่า ๆ กับความรักที่มีให้

.

นอกจากนี้ Parasocial Relationship ยังเป็นอีกหนึ่งหลักการที่อธิบายได้ว่าทำไมเราถึงรู้สึกเหมือนถูกหักหลังได้ง่าย เมื่อคนที่เรา “รัก” แสดงด้านที่ไม่ตรงกับความคาดหวังออกมา โดย Parasocial คือความผูกพันที่เกิดขึ้นข้างเดียว จากการที่แฟนคลับหรือผู้ติดตามรู้สึกว่าได้ใกล้ชิดและสนิทสนมกับบุคคลสาธารณะ เช่น ดาราหรือไอดอล จนเหมือนเป็น ‘เพื่อนสนิท’ หรือ ‘คนในครอบครัว’ ทั้งที่ในความเป็นจริง อีกฝ่ายไม่เคยรับรู้เลยว่าจริง ๆ แล้วเรามีตัวตนอยู่ ความรู้สึกนี้ยิ่งตอกย้ำเมื่อเราได้เห็นหรือรับฟังเรื่องราวและกิจกรรมต่าง ๆ ของคนดังเป็นประจำ ทั้งการโพสต์บนโซเชียล การไลฟ์ หรือแฟนมีตติ้ง เมื่อถึงวันที่พบว่าตัวตนของเขาไม่เป็นอย่างที่จินตนาการไว้ สมองจึงตีความและสร้างบาดแผลอย่างลึกซึ้ง เหมือนถูกหักหลังโดยคนใกล้ตัวจริง ๆ จึงเจ็บปวดมากกว่าที่คาดคิดไว้เสมอ

.

(2) ใจสลาย

รู้สึกชาที่อกเหมือนอาการใจสลาย เรามักเกิดอาการแบบนี้เหมือนเวลาคนสนิทมาทำร้ายเรา ทั้งที่ความจริงเราอาจไม่เคยคุยกับศิลปินตรง ๆ แต่ในความรู้สึก มันเหมือนเขาเป็น "คนใกล้ตัว" ความสนุกและความสุขที่เราเคยได้จากการติดตามเขา กลับกลายเป็นความโศกเศร้าเมื่อนึกถึงด้านลบ ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่ได้เสียแค่ "คนที่เรารัก" แต่ยังสูญเสีย "แรงบันดาลใจ" หรือ "ภาพฝัน" ที่เราเคยมี หลายคนถึงขั้นตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ที่ผ่านมาเรารักใครอยู่?" หรือ "เราโดนหลอกให้เชื่ออะไรบางอย่างรึเปล่า?" โดยเฉพาะกับศิลปินที่มีภาพลักษณ์สมบูรณ์แบบมานาน และเมื่อในหัวเรามีสองภาพขัดแย้งกัน ภาพศิลปินแสนดีที่เรารู้จัก กับข่าวด้านลบที่เพิ่งรู้ สมองพยายามหาวิธี "สมาน" สองด้านเข้าด้วยกัน จึงเกิดความกระอักกระอ่วน รู้สึกไม่สบายใจไม่ว่าจะเลือกฝั่งไหน จะสนับสนุนต่อหรือเลิกติดตามดี ก็ลำบากใจไปคนละแบบ

.

(3) วิธีดูแลตัวเอง เมื่อผิดหวังในศิลปินที่เรารัก

1️⃣ เริ่มแรก ลองเปิดใจยอมรับความรู้สึกของตัวเองก่อน การที่เสียใจ ร้องไห้ หรือช็อก นั่นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะความรักที่เรามีให้ไม่ใช่เรื่องปลอม ๆ ลองปล่อยให้ตัวเองมีพื้นที่ระบายอารมณ์สักพัก อย่าฝืนทนหรือกดความเศร้าไว้ หากรู้สึกว่ากำลังโศกเศร้ามากเกินไป อย่าลืมว่านั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเราให้ความสำคัญกับศิลปินคนนั้นมากแค่ไหน

2️⃣ ทำ Social Detox เมื่อรู้สึกว่าข่าวหรือกระแสต่าง ๆ เริ่มทำให้จิตตกหรือวิตกกังวลเกินไป ให้ลอง “พักการเสพข่าว” ชั่วคราว สร้างพื้นที่ปลอดดราม่าสักแปบ เช่น ลองห่างจากโซเชียลมีเดีย 1-2 วัน หรือกำหนดช่วงเวลาในแต่ละวันให้ลดการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคนที่เราชอบ แล้วหันไปทำกิจกรรมอื่น ๆ แทน ไม่ว่าจะเป็นดูซีรีส์เรื่องใหม่ จัดบ้าน ทำอาหาร หรือดูแลตัวเอง จะช่วยให้เราได้พักสมองและผ่อนคลายความเครียด เมื่อตัดการเสพข่าวลงสักพัก เราจะมองเหตุการณ์ได้ชัดเจนและมีสติขึ้น
.

3️⃣ นอกจากนี้ ลองมองมุมใหม่ด้วยการแยก 'ผลงาน' กับ 'ตัวบุคคล' ออกจากกัน เราอาจยังชอบผลงานเก่าที่เคยสร้างความสุขให้เราได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องยอมรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเขา การแยกสองเรื่องนี้ออกจากกัน จะช่วยลดความขัดแย้งในใจได้ระดับหนึ่ง

4️⃣ อย่าลืมให้ความสำคัญกับ 'ตัวเอง' ลองหยิบสกินแคร์หรือหาเทคนิคดูแลผิวที่อยากทำ มาสร้างรูทีนบำบัดความเครียด เช่น มาสก์หน้า ผ่อนคลายในอ่างอาบน้ำ หรือทำสปาเล็ก ๆ ที่บ้าน การดูแลรูปลักษณ์และสุขภาพ เป็นหนึ่งในวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยดึงให้เรากลับมารู้สึกดี กระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน และลดความหม่นหมองได้ไม่น้อย

5️⃣ พูดคุยกับคนที่เข้าใจ แฟนคลับคนอื่น ๆ หรือเพื่อนใกล้ชิดที่เจอเหตุการณ์คล้ายกัน สามารถเป็นเพื่อนคุยที่ดีได้ ถ้าความเครียดรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน อย่าลังเลที่จะปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพราะสุขภาพใจสำคัญไม่แพ้ใคร และแท้จริงแล้ว คนที่เข้าใจความรู้สึกของเราได้ดีที่สุด มักไม่ใช่คนที่ตัดสินเรา แต่เป็นคนที่เคยผ่านประสบการณ์คล้ายกันมาก่อนนะ

.

(4) เติบโตทางใจ

เมื่อเรื่องราวผ่านพ้นไป เราอาจยังชื่นชอบผลงานในอดีตของเขาอยู่ หรือบางคนอาจตัดใจเลิกติดตามไปเลยก็ได้ ทั้งสองอย่างไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก ทว่าสิ่งที่อยากให้ทุกคนจำไว้คือ "เราต้องไม่สูญเสียความรักที่มีต่อตัวเอง" ดูแลสุขภาพกายและใจให้ดี อย่าลืมว่าโลกนี้ยังมีคนอื่น ๆ และสิ่งสวยงามอีกมากมายให้เราค้นพบ

โลกภายนอกอาจทำให้เราผิดหวังได้เสมอ อย่าลืมหันกลับมาดูแลโลกภายในของตัวเองให้แข็งแรงและเปล่งประกาย เพราะความงามที่แท้จริง คือการมีจิตใจที่เข้มแข็ง ยอมรับความจริงอย่างมีสติ และยังเดินหน้าต่อไปอย่างสวยงามในแบบของเราเอง

.

สุดท้ายนี้ ความผิดหวังจากคนที่เราปลื้ม อาจเป็นแค่บททดสอบก้าวแรกของการเป็นผู้ใหญ่ ที่ต้องเรียนรู้ว่าโลกนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป แต่เราเลือกได้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร เพื่อให้หัวใจของเรายังสวยงามและเบ่งบานต่อไป แม้ในวันที่ท้องฟ้าไม่เป็นใจก็ตาม

—-------------------------------------------

References:

Brittany Wong, Is It Healthy To Feel Disappointed By A Celebrity You Don't Even Know? (2023)

https://www.yahoo.com/news/healthy-feel-disappointed-celebrity-dont-210118184.html

Joanna Baars, Celebrities are people too: The heavy price of fame (2025)

https://www.counselling-directory.org.uk/articles/celebrities-are-people-too-the-heavy-price-of-fame

​T. Franklin Murphy, Idealization of Others’ Image: A Defense Mechanism (2024)

https://psychologyfanatic.com/idealization-of-others-image/

.
อ่านบทความที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้ที่

.
#WongnaiBeauty #BeautyStory #คิมซูฮยอน #คิมแซรน #จิตวิทยาการรับมือ #รักษาใจ