จับตา “โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน” ระบาดเร็ว! แรง!! แถมดื้อวัคซีน mRNA
  1. จับตา “โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน” ระบาดเร็ว! แรง!! แถมดื้อวัคซีน mRNA

จับตา “โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน” ระบาดเร็ว! แรง!! แถมดื้อวัคซีน mRNA

บอกเลยว่า 2021 นี้ปังไม่ไหว! โควิดพัฒนาไวกว่าวัคซีนไปอีก ล่าสุดโควิด-19 กลายพันธุ์อีกแล้วค่ะ มาในชื่อ "โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน" แพร่เชื้อไว ดื้อวัคซีนอีกด้วย
writerProfile
13 ส.ค. 2021 · โดย

นับตั้งแต่การระบาดครั้งแรกของโควิด-19 ที่อู่ฮั่น ประเทศจีน ปัจจุบันระบาดไปแล้วกว่าสองร้อยประเทศทั่วโลก แน่นอนว่าไวรัสทุกชนิดสามารถกลายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ โดยเชื้อ SARS-COV-2 ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคโควิด-19 นั้น ก็กลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเมื่อโควิดกลายพันธุ์แล้ว ยังทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น และทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง วันนี้ Wongnai Beauty พาทุกคนมารู้จัก "โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน" ที่แพร่ระบาดเร็ว แถมยังหลบภูมิคุ้มกันของวัคซีนได้ด้วย  

WHO ใช้ระบบเรียกชื่อสายพันธุ์โควิด-19 ด้วยอักษรกรีก

ก่อนหน้านี้เราอาจจะได้ยินชื่อเรียกสายพันธุ์โควิด-19 ตามประเทศที่เกิดการระบาด ยกตัวอย่างเช่น โควิดสายพันธุ์อินเดียที่เราคุ้นหูและรับรู้ถึงความอันตรายของมันเป็นอย่างดี แต่ ณ ตอนนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ตัดสินใจให้ใช้ระบบเรียกชื่อสายพันธุ์โควิด-19 ด้วยอักษรกรีกแทนการเรียกด้วยชื่อประเทศ เพื่อลดปัญหาการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ตัวอักษรกรีกที่นำมาใช้เรียกแทนเชี้อกลายพันธุ์โควิด-19 มีทั้งหมด 24 ตัวอักษร ล่าสุดถูกใช้ไปแล้ว 11 ตัวอักษรด้วยกันค่ะ 

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังแบ่งการตั้งชื่อเชื้อสายพันธุ์โควิด-19 ออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกันค่ะ นั่นคือ

เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern หรือ VOC) ได้แก่

  • อัลฟา (Alpha) ตรวจพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร
  • เบตา (Beta) ตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้
  • แกมมา (Gamma) ตรวจพบครั้งแรกในบราซิล
  • เดลตา (Delta) ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย

เชื้อกลายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (Variants of Interest หรือ VOI) ได้แก่

  • เอปซิลอน (Epsilon) ตรวจพบครั้งแรกในสหรัฐฯ
  • ซีตา (Zeta) ตรวจพบครั้งแรกในบราซิล
  • อีตา (Eta) ตรวจพบครั้งแรกในหลายประเทศ
  • ธีตา (Theta) ตรวจพบครั้งแรกในฟิลิปปินส์
  • ไอโอตา (Iota) ตรวจพบครั้งแรกในสหรัฐฯ
  • แคปปา (Kappa)ที่ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย

ทำความรู้จัก โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน (Epsilon) 

โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน

โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน มีสายพันธุ์ย่อยอีก 2 สายพันธุ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า B.1.427 และ B.1.429 ถูกพบครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา จึงถูกตั้งชื่อว่า “สายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย” หลังจากนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีประกาศให้เรียกชื่อไวรัสกลายพันธุ์ตามตัวอักษรกรีก ซึ่งเจ้าโควิด-19 สายพันธุ์นี้จึงได้ชื่อว่า “เอปซิลอน (Epsilon)” ซึ่งเป็นตัวอักษรกรีกลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 24 ตัวอักษร และถูกจัดอันดับให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง 

แพร่เร็ว แรง ดื้อวัคซีน! 

บอกเลยว่าเจ้าโควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน ที่น่าจับตามองขนาดนี้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงระดับพันธุกรรม มีฤทธิ์หลบเลี่ยงแอนติบอดีได้ดี อาจจะถึงขั้นดื้อวัคซีน mRNA อย่าง Pfizer หรือ โมเดอร์นาเลยก็ว่าได้ จากผลการศึกษาพบว่าเจ้าโควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอนนั้นส่งผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองลดลง 2-3.5 เท่าตัว สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 20% ถึงแม้ว่าจะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติแล้วก็สามารถติดเชื้อตัวนี้ได้อยู่ 

โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน มาถึงแล้วที่เอเชียใต้! 

แน่นอนว่าที่เริ่มกังวลใจแบบนี้ เพราะเจ้าโควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน เดินทางมาโผล่ที่ในภูมิภาคแถบเอเชียใต้แล้วค่ะ ซึ่งพบการระบาดในกรุงลาฮอร์ของประเทศปากีสถาน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือพื้นที่ระบาดมีพรมแดนติดต่อกันกับประเทศอินเดีย นั่นหมายความว่า เราจะพบการระบาดของโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์เอปซิลอนเลยค่ะ 

อย่างไรก็ดีตอนนี้ยังไม่มีการระบาดของสายพันธุ์เอปซิลอนในประเทศไทยค่ะ จึงไม่อยากให้ทุกคนหวั่นวิตกมากเกินไป หนทางที่ดีที่สุดตอนนี้คือการใส่หน้ากากอนามัยและป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด ถึงแม้จะได้รับวัคซีนแล้ว ก็ห้ามการ์ดตกเด็ดขาด! อย่างน้อยหากยังไม่ได้รับวัคซีน การใส่หน้ากากอนามัย ก็ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อไปได้เยอะค่ะ Wongnai Beauty ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรง และส่งกำลังใจให้ทุกคนผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ค่ะ 

Reference

  • ScienceMag. (2021) "SARS-CoV-2 immune evasion by the B.1.427/B.1.429 variant of concern" เข้าถึงได้จาก https://science.sciencemag.org/content/373/6555/648 สืบค้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564.  
  • BBC. (2021) "โควิด-19 : เชื้อกลายพันธุ์ชนิดใดที่น่าวิตก แล้ววัคซีนชนิดไหนจะพิชิตพวกมันได้" เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/international-57692589 สืบค้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564.  
  • WHO. (2021) "Tracking SARS-CoV-2 variants" เข้าถึงได้จาก https://www.who.int/en/activities/tracking-SARS-CoV-2-variants/ สืบค้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564.  
  • VOICE online. (2021) "CDC ลดระดับความรุนแรง 'เอปซิลอน' โควิดกลายพันธุ์ดื้อวัคซีน 'mRNA'" เข้าถึงได้จาก https://www.voicetv.co.th/read/vnd9J2GG1 สืบค้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564.