ดีอยู่แล้วเปลี่ยนทำไม? เมื่อ ‘เจ้าหญิง Disney’ ต้องปรับตัวให้เท่าเทียม
  1. ดีอยู่แล้วเปลี่ยนทำไม? เมื่อ ‘เจ้าหญิง Disney’ ต้องปรับตัวให้เท่าเทียม

ดีอยู่แล้วเปลี่ยนทำไม? เมื่อ ‘เจ้าหญิง Disney’ ต้องปรับตัวให้เท่าเทียม

การปรับภาพลักษณ์ของ 'เจ้าหญิง' ที่เรารักมาตั้งแต่เด็ก กลายเป็นการ "บังคับ" ให้พวกเธอต้องเปลี่ยนไปมากเกินไปหรือเปล่า? Beauty Story Ep.นี้ พามาเจาะลึกกันค่ะ
writerProfile
10 เม.ย. 2025 · โดย

ภาพจำในวัยเด็กของใครหลายคน คงหนีไม่พ้นเจ้าหญิงในชุดฟูฟ่องสีหวาน กวาดพื้นร้องเพลงเพราะ ๆ เชื่อมั่นในพลังของรักแท้ และรอคอยเจ้าชายมาพาไปสู่ Happy Ending แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เจ้าหญิงดิสนีย์ก็เติบโตและปรับตัวให้ "Active" มากขึ้น มีความเป็นผู้นำ กล้าหาญ และมีสไตล์เป็นของตัวเอง พวกเธอไม่รอให้ใครมาช่วยอีกต่อไป แต่พร้อมที่จะช่วยเหลือตัวเองและคนรอบข้าง แม้กระนั้น พวกเธอก็ยังคงความเป็นแฟนตาซีให้เด็ก ๆ ทั่วโลกได้ใฝ่ฝันถึง

แต่ในยุคสมัยที่สังคมพูดถึง 'Woke Culture' หรือวัฒนธรรมการตื่นรู้ที่เรียกร้องให้ตัวละครต้องหลากหลายทั้งเชื้อชาติ สีผิว รูปร่าง และเพศ เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า... การปรับภาพลักษณ์ของ 'เจ้าหญิง' ที่เรารักมาตั้งแต่เด็ก กลายเป็นการ "บังคับ" ให้พวกเธอต้องเปลี่ยนไปมากเกินไปหรือเปล่า? Beauty Story Ep.นี้ พามาเจาะลึกกันค่ะ

.

(1) "เจ้าหญิง" ภาพฝันแบบการ์ตูนดิสนีย์ที่ไม่มีใครอยากเปลี่ยน (แต่ต้องเปลี่ยน)

ย้อนกลับไปที่คอนเซปต์ดั้งเดิมของ Disney Princess คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนเติบโตมากับภาพของสโนไวท์ในชุดสีฟ้าแดง ผิวขาวราวกับหิมะ ริมฝีปากแดงดั่งเลือด ผมดำขลับ หรือซินเดอเรลล่าในชุดราตรีสีฟ้าอมเทา รอยยิ้มอ่อนหวาน และแอเรียลผมแดงสะพรั่งในร่างนางเงือก ทุกตัวละครล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน จนกลายเป็นไอคอนวัฒนธรรมที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วโลก

พอถึงวันที่ดิสนีย์ดันโปรเจกต์ ‘Live Action’ แบบรัว ๆ เพื่อชุบชีวิตตัวละครแอนิเมชันบนจอให้ “สมจริง” ขึ้น แฟน ๆ ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ต่างตั้งตารอ แต่ก็ต้องเจอดราม่าใหญ่โต เพราะความคาดหวังว่า “จะได้เห็นเทพนิยายที่เคยรักในโฉมคนแสดง” กลับผิดไปจากภาพจำที่อยู่ในใจ

.

จนผู้ชมเกิดอาการ “เจ้าหงิญ” (“หงุดหงิด + งุนงง”)" การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ ทั้งประเด็น Woke Culture ที่เข้ามา รูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจนจำแทบไม่ได้ เรียกได้ว่าไม่ใช่รีโนเวต แต่สร้างใหม่เลย และที่สำคัญ พฤติกรรม ทัศนคติของนักแสดงที่บางครั้งยิ่งทวีคูณไฟดราม่าให้ลุกโชน จนทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า... นี่ยังใช่ "เจ้าหญิงดิสนีย์" ที่เรารักหรือเปล่า?

.

(2) เมื่อ 'Live Action' ตอกย้ำดราม่า

การรีเมกแอนิเมชันคลาสสิกให้กลายเป็นเวอร์ชันคนแสดงนั้นได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม เพราะแฟน ๆ ต่างอยากเห็นตัวละครในดวงใจกลับมามีชีวิตในแบบที่สมจริงมากขึ้น แต่เมื่อคนดูมี "ภาพจำ" หรือ "Image" ของเจ้าหญิงจากแอนิเมชันอยู่แล้ว หากนักแสดงที่ได้รับเลือกไม่ตรงกับคาแรกเตอร์ดั้งเดิม ก็ย่อมเกิดเสียงต่อต้านอย่างรุนแรงตามมา

อย่างกรณีของ The Little Mermaid (2023) เมื่อ 'Ariel' กลายเป็นสาวผิวสี หลายคนยอมรับในความสามารถด้านเสียงร้องและการแสดงของ Halle Bailey แต่ก็มีเสียงค้านมากมายว่า "ไม่เหมือนต้นฉบับ!" ในขณะเดียวกันก็มีคนชื่นชมว่า "เป็นการเปิดกว้างด้านเชื้อชาติที่น่ายินดี" แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ แม้จะพยายามเป็น "เงือกน้อยที่ก้าวหน้า" แต่บทในหนังกลับไม่โดนใจแฟน ๆ ซึ่งมองว่า Ariel ในเวอร์ชันนี้ยังคงหมกมุ่นกับเจ้าชาย แทนที่จะสนใจโลกมนุษย์อย่างที่ควรจะเป็น

.

ล่าสุดกับกรณี Snow White (2024) ที่กระแสยิ่งร้อนแรงหนัก เพราะ 'Snow White' คือเจ้าหญิงดิสนีย์คนแรกในตำนาน และชื่อก็บ่งบอกถึง "ผิวขาวดุจหิมะ" เมื่อปรับคาแรกเตอร์และคัดเลือกนักแสดงอย่าง Rachel Zegler ซึ่งมีเชื้อสายละตินอเมริกัน มาแสดง เสียงวิจารณ์ก็ถาโถมอย่างหนัก ไม่เพียงแค่เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก แต่พฤติกรรมของนักแสดงเองก็ยิ่งเพิ่มกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อ Rachel Zegler ให้สัมภาษณ์ว่า "เวอร์ชันนี้จะไม่มีเจ้าชายมาช่วย เพราะสโนไวท์ไม่ต้องการให้ใครมาช่วย เธอฝันถึงการเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง ไม่ใช่ฝันถึงความรักแท้" ซึ่งดูเหมือนจะดูถูกเวอร์ชันดั้งเดิมโดยไม่จำเป็น และทำให้แฟน ๆ รู้สึกว่า "ถ้าไม่อยากเล่าเรื่องแบบเดิม แล้วทำไมต้องเอาชื่อเดิมมาใช้?" ในอีกทางจากกระแสหลังจากคนที่ดูเสร็จแล้วก็มีบอกว่าเธอเหมาะกับบทนี้ในแง่ของการเป็นเจ้าหญิงที่ลุกขึ้นสู้ อีกทั้งน้ำเสียงก็เพราะ แต่ก็วนกลับมาเหมือนเดิมที่ถ้าเป็นแบบนี้ก็สร้างเจ้าหญิงใหม่เลยดีกว่าไหม ? เพราะสายเทพนิยายดั้งเดิมก็ไม่ถูกใจสิ่งนี้

.

(3) เปิดใจทำไม? เมื่อ 'เท่าเทียม' กลายเป็นคำตอบ

หลายคนเชื่อว่าการปรับคาแรกเตอร์ หรือแม้แต่เชื้อชาติ/เพศของเจ้าหญิงดิสนีย์ เป็นการยกระดับสังคมให้เห็นตัวแทนที่กว้างขึ้น เปรียบเทียบง่าย ๆ ถ้าเราเห็นคนหลากหลายเป็นเจ้าหญิงได้ เด็ก ๆ ที่หน้าตาไม่เหมือนแบบพิมพ์นิยมก็อาจมีความฝันและกำลังใจมากขึ้นว่า "ฉันก็เป็นเจ้าหญิงได้เหมือนกัน"

แต่บางเสียงก็วิจารณ์ว่า ค่ายหนังใช้ "ความเท่าเทียม" เป็นเพียงธงคำขวัญ เพื่อเรียกกระแสจากคนรุ่นใหม่ แต่ภายในหนังกลับไม่มีบทลึกซึ้งหรือปรับปรุงคุณค่าอะไรจริง ๆ สุดท้ายแล้ว การ "ยัดเยียดความเท่าเทียม" แบบฉาบฉวย อาจย้อนมาทำร้ายภาพลักษณ์ของตัวละครและค่ายหนังเอง

.

อย่างกรณีของ Mulan ที่ดูเหมือนจะก้าวหน้า แต่กลับตัดเพลงฮิตออกไป ลดบทบาทของมังกรมูชู และเพิ่มพลังวิเศษที่ไม่จำเป็น จนทำให้หนังสูญเสียเสน่ห์และสาระที่เวอร์ชันดั้งเดิมมี หรือแม้แต่ The Little Mermaid ที่แม้จะมีนักแสดงหลากหลายเชื้อชาติ แต่บทกลับไม่ได้พัฒนาให้ตัวละครมีมิติมากขึ้นกว่าเดิม

.

(4) ถ้าเจ้าหญิง 'ไม่เป็นตัวเอง' แล้วเราจะ 'เปิดกว้าง' ได้จริงไหม?

ถ้า Snow White เวอร์ชันใหม่ถูกเขียนบทและคัดเลือกนักแสดงจนนิสัย/รูปลักษณ์เปลี่ยนไปเกือบหมด ยังถือว่าเป็น "Snow White" อยู่ไหม? หรือควรสร้างเจ้าหญิงตัวใหม่ไปเลย เพื่อไม่ให้ทำร้ายความทรงจำของแฟนดั้งเดิม เปรียบเหมือนเราเคยเป็นคนแบบหนึ่ง แต่วัฒนธรรมองค์กรใหม่หรือสังคมใหม่บอกให้เราต้องเปลี่ยนตัวเอง 100% เพื่อ 'เปิดกว้าง' สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าเราสูญเสียอัตลักษณ์ของตัวเอง การเปิดกว้างมากเกินไปอาจทำให้เราสูญเสียตัวตนที่แท้จริง และไม่เป็นตัวของตัวเองอีกต่อไป เราจะยังเรียกว่า "สมดุล" หรือ "เท่าเทียม" อยู่ไหม?

หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า การปรับเปลี่ยนตัวละครให้ตอบโจทย์ความเท่าเทียมในยุคปัจจุบัน เป็นการลดคุณค่าของวรรณกรรมดั้งเดิมหรือไม่? และถ้าเราพยายามเปลี่ยนทุกอย่างให้ "ถูกต้องตามกาลเทศะ" ของยุคสมัยนี้ เราจะยังคงรักษาเสน่ห์และความงดงามของเรื่องเล่าดั้งเดิมไว้ได้หรือไม่?

.

(5) จำเป็นต้องเปลี่ยนจริงหรือ? เมื่อของเดิมก็ดีอยู่แล้ว

โลกเปลี่ยนเร็ว ถ้าดิสนีย์ไม่ปรับคาแรกเตอร์ ก็อาจถูกมองว่า 'ล้าหลัง' หรือไม่สนใจปัญหาสังคม ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ต้องการต้นแบบเจ้าหญิงที่ "กล้าแกร่ง มีความหลากหลาย" ตอบโจทย์ยุคแห่งสิทธิและเสียงของผู้หญิง เห็นได้จากความสำเร็จของ Frozen, Brave หรือ Moana ที่นำเสนอเจ้าหญิงยุคใหม่ที่เก่งกาจและมีจุดยืนของตัวเอง

แต่ส่วนของคลาสสิกก็มีเสน่ห์ในตัวอยู่แล้ว การปรับเปลี่ยนมากเกินไปอาจทำลายจุดขายและความทรงจำอันมีค่าของแฟน ๆ หากปรับเพียงเพื่อคำว่า "Woke" แต่ไม่ใส่ใจคุณภาพบทหรือความสมเหตุสมผล สุดท้ายก็ออกมา 'กลวงเปล่า' และไม่ได้ทำให้ใครพอใจ

.

แทนที่จะรื้อทำใหม่ทั้งหมด ทำไมไม่สร้างตัวละครใหม่ที่สะท้อนความหลากหลายและเท่าเทียมเลย? อย่างที่ดิสนีย์เคยทำสำเร็จมาแล้วกับ Tiana (The Princess and the Frog), Moana หรือ Raya ที่นำเสนอวัฒนธรรมที่แตกต่างและเป็นเจ้าหญิงยุคใหม่ที่แฟน ๆ ทั่วโลกรัก โดยไม่ต้องไปแตะต้องความทรงจำของใคร

.

(6) "ของดี" ไม่ได้แปลว่าต้องหยุดนิ่งไม่พัฒนา

ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีใครดีพร้อม 100% การเติมมิติความเป็นมนุษย์ให้ตัวละคร อาจช่วยให้เรื่องราวมีความสมจริงและลึกซึ้งมากขึ้น แต่ก็ต้องปรับให้พอดี หาจุดกึ่งกลางระหว่างสิ่งที่แฟนคลับถวิลหา กับการพัฒนาให้ทันสมัย สิ่งที่แฟน ๆ ยังคงอยากเห็นคือ "จิตใจบริสุทธิ์" และต้นแบบในเทพนิยายยังคงอยู่ ไม่ใช่ถูกเปลี่ยนจนจำไม่ได้ การพัฒนาใด ๆ หากขาด "หัวใจ" และ "เคารพในจุดเด่นดั้งเดิม" ก็คือการรื้อถอน มากกว่าการต่อยอด

.

เจ้าหญิงดิสนีย์เป็นมากกว่าตัวละครในหนัง แต่เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมผู้คนหลายรุ่น การปรับเปลี่ยนใด ๆ ควรทำด้วยความเคารพและเข้าใจในคุณค่าเดิม พร้อม ๆ กับการเพิ่มคุณค่าใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย แล้วทุกคนล่ะคะ คิดว่าเจ้าหญิงดิสนีย์ควรปรับตัวให้ทันยุค Woke Culture แบบไหนถึงจะพอดี? หรือควรคงความคลาสสิกเอาไว้เหมือนเดิม? มาแชร์ความคิดเห็นกันหน่อย

—--------------------------------------------------------

References:

Riley Regnier, Disney Princess Diversity (2021)

https://shsnorsenews.org/2309/entertainment/disney-princess-diversity/

Amber Phung, The Reality of Disney’s Diversity (2023)

https://pacificties.org/the-reality-of-disneys-diversity/

Jenna deJong, 'Snow White' Movie Reviews Are in After Woke Controversy (2025)

http://newsweek.com/snow-white-live-action-reviews-controversy-woke-disney-2046689

Allison Dolan, Disney’s casting to redefine fairytales faces cheers and criticism (2024)

https://theithacan.org/56672/life-culture/popped-culture/disneys-casting-to-redefine-fairytales-faces-cheers-and-criticism/

Taneal Lockstadt, Rachel Zegler said her Snow White won't be 'saved by a prince.' Some Disney fans didn't want to hear it (2023)

https://www.cbc.ca/news/entertainment/disney-princess-remakes-1.6945540

Lexi R, Fairy Tales vs. Fairness: Is Disney Too Woke for Its Own Good? (2024)
https://artcrimearchive.net/2024/12/05/fairy-tales-vs-fairness-is-disney-too-woke-for-its-own-good/
.

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้เลยที่ : 

.

#Wongnai #WongnaiBeauty #BeautyStory #DisneyPrincess #เจ้าหญิงดิสนีย์ #ดิสนีย์