แฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องสวยงาม แต่มันคือ "อำนาจที่พูดได้โดยไม่ต้องพูด"
  1. แฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องสวยงาม แต่มันคือ "อำนาจที่พูดได้โดยไม่ต้องพูด"

แฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องสวยงาม แต่มันคือ "อำนาจที่พูดได้โดยไม่ต้องพูด"

“อย่าตัดสินคนจากภายนอก” แต่ในความจริง มีแทบทุกวัน โดยเฉพาะ “ผู้หญิง” ที่รูปลักษณ์ภายนอกไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว แต่คือ “สนามอำนาจ” ที่ทั้งสังคมเข้ามามีส่วนร่วม
writerProfile
19 พ.ค. 2025 · โดย

เรามักได้ยินคำพูดปลอบใจว่า “อย่าตัดสินคนจากภายนอก” แต่ในโลกของความจริง เรากลับถูกตัดสินด้วยภายนอกแทบทุกวัน โดยเฉพาะ “ผู้หญิง” ที่รูปลักษณ์ภายนอกไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว แต่คือ “สนามอำนาจ” ที่ทั้งสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าเราจะเลือกลิปสติกสีแดง หรือใส่เสื้อเชิ้ตตัวโคร่ง ทุกครั้งที่ผู้หญิงเลือก "แต่งตัว" เรากำลัง “ประกาศบางอย่าง” บางอย่างที่อาจดังกว่าคำพูดใด ๆ Beauty Story พามาดูกันค่ะวันนี้

(1) ร่างกายผู้หญิง = สนามต่อรองของอำนาจในโลกสมัยใหม่

นักคิดอย่าง Michel Foucault เคยกล่าวว่า “ยุคนี้คนไม่ได้ถูกควบคุมด้วยไม้เรียว แต่ถูกฝึกให้ควบคุมตัวเองจนเป็นนิสัย” ลองนึกถึงคอร์เซตในยุคศตวรรษที่ 18 ที่ผู้หญิงต้องสวมแน่นจนอึดอัด เพื่อให้ “เรียบร้อย เดินสวย อ้อนแอ้น” หรือแม้แต่ในยุคนี้ รองเท้าไม่สบาย, เสื้อผ้ารัดรูป, dress code ออฟฟิศที่บอกว่า “ห้ามฉูดฉาด” ทั้งหมดคือเครื่องมือควบคุมร่างกายผ่านการแต่งกาย โดยไม่ต้องออกคำสั่งตรง ๆ

.

แม้แต่ในยุคที่ดูเสรีภาพมากขึ้น “ความสวย” ก็ยังเป็นบรรทัดฐานที่ควบคุมผู้หญิงได้อย่างแนบเนียน

เราถูกฝึกให้ “มองตัวเองผ่านสายตาคนอื่น” ลดน้ำหนักให้ทันออกเดต, ไม่กล้าใส่เสื้อแขนกุดเพราะกลัวโดนทัก หรือแม้แต่ฉีดฟิลเลอร์ให้หน้าดูสมบูรณ์ตามภาพที่เราเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย

.

(2) แฟชั่นไม่ได้สะท้อนความเป็นหญิง แต่มันสร้าง "ความเป็นหญิง" ขึ้นมา

นักทฤษฎีเพศอย่าง Judith Butler เคยชี้ว่า “เพศไม่ใช่สิ่งที่เราเป็น แต่คือสิ่งที่เราทำซ้ำ จนดูเหมือนเป็นธรรมชาติ” เราถูกคาดหวังให้ “แสดงความเป็นหญิง” ผ่านการแต่งหน้า แต่งตัว พูดจานิ่มนวล เดินตัวตรง

เมื่อผู้หญิงแต่งตัวหลุดขอบ หรือไม่ทำตาม "บทบาทหญิงในอุดมคติ" เราจะถูกมองว่า “ประหลาด” หรือ “แปลกแยก”

.

แต่ความ “หลุดขอบ” นี่แหละ คือการเขียนนิยามใหม่ให้เพศหญิง เช่น Doja Cat ที่เคยใส่ชุดแมวทั้งตัวจนลบเพศออกจากรูปลักษณ์ หรือ Janelle Monáe ที่โชว์ Layer ของตัวเองทีละชั้นบนพรมแดง ซึ่งพวกเธอกำลัง Perform เพศแบบใหม่ ที่ไม่จำกัดกรอบ ไม่ต้อง “ดูเรียบร้อย” เพื่อให้ใครพอใจ

และในโลกของวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) การแต่งตัวกลายเป็นพื้นที่ของการทดลอง “อัตลักษณ์” ที่ไม่จำกัดเพศและไม่จำกัดขอบเขต เช่น Harry Styles ที่ใส่กระโปรงบนปก Vogue หรือ Lil Nas X ที่ใส่เดรสลูกไม้ขึ้นเวที Grammy ทั้งหมดนี้คือการขยายกรอบของ “เพศ” ให้กลายเป็นพื้นที่เล่นสนุก พื้นที่ทดลอง และพื้นที่ปลอดภัย สำหรับการเป็น “ตัวเอง” โดยไม่ต้องแคร์นิยามแบบเดิมของสังคม

.

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า “แฟชั่น” ไม่ได้แค่สร้างภาพลักษณ์ แต่ยังสร้างบทสนทนาทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้จริง มันทำให้คำถามอย่าง “เพศคืออะไร?” หรือ “เราจะมีสิทธิ์เป็นตัวเองได้แค่ไหน?” ค่อย ๆ ถูกเปิดพื้นที่ในกระแสหลัก การแต่งตัวเลยไม่ใช่แค่เรื่องภายนอก แต่คือการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ ที่ผลักเพดานอคติทางเพศออกไปทีละนิด โดยไม่ต้องตะโกน

.

(3) แฟชั่นไม่ใช่แค่ความงาม แต่มันคือ “วาทกรรมอำนาจ” ของสังคม

แฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องผิวเผิน แต่มันคือ “ภาษาที่ไม่ใช้คำพูด” ลองนึกถึง

- สูท = อำนาจ

- กระโปรงพอง = ความอ่อนหวาน

- สีแดง = ความมั่นใจ หรือความเย้ายวน

ทุกชิ้นของเสื้อผ้าเต็มไปด้วย “รหัสทางสังคม” ที่บอกเราว่า "แบบไหนเรียบร้อย แบบไหนดูดี แบบไหนน่ารักพอ" ในบริบทของสังคมเราถูกฝึกให้ตีความเสื้อผ้าอย่างเป็นระบบ ใครแต่งตัวตามรหัส → จะได้รับการยอมรับ แต่ถ้าใคร “แหก” รหัส เช่น แต่งหน้าเข้มในวันสัมภาษณ์, ใส่กางเกงในงานพิธี, หรือไม่แต่งหน้าเลยในเดต เรากำลังส่งสารเงียบ ๆ ว่า “ฉันไม่เล่นตามเกมของคุณ”

.

และนั่นคือสิ่งที่ Billie Eilish ทำใน Met Gala ปี 2021 เธอใส่ชุดคอร์เซตย้อนยุค รัดทรงร่างกายแบบที่เคยใช้กดขี่ผู้หญิงในอดีต แต่คราวนี้ เธอเลือกเองว่าจะใส่ คอร์เซตไม่ได้อยู่บนร่างเธอเพราะสังคมบอกว่า “ต้องใส่” แต่เพราะเธอบอกว่า “ฉันใส่แล้วมันคืออำนาจของฉัน” Billie เปลี่ยนเครื่องมือของการกดขี่ → ให้กลายเป็นเครื่องมือของการทวงคืนอำนาจ นี่คือ “วาทกรรมแฟชั่น” ที่ไม่ใช่แค่การแต่งตัวสวย แต่คือการตั้งคำถามว่า… “ใครนิยามความงาม?” และ “ฉันมีสิทธิ์ Rewrite มันได้ไหม?”

แฟชั่นจึงไม่ใช่เรื่องสวยหรือไม่สวยแต่มันคือ “เครื่องมือ” ที่สามารถกดทับ หรือปลดปล่อย เครื่องมือที่เคยถูกใช้ควบคุมผู้หญิง แต่วันนี้ ผู้หญิงหลายคนกำลังเรียนรู้ที่จะใช้มันกลับคืน เพื่อ “พูดในแบบของตัวเอง”

.

(4) ความงาม = ทุน และทุนนี้ต้องจ่ายด้วย "แรงงานของผู้หญิง"

ความงามไม่ใช่แค่เปลือก แต่มันคือ “ทุนเชิงสัญลักษณ์” ยิ่งดูดีตามมาตรฐานมากเท่าไร → ยิ่งได้รับโอกาสมากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการได้งาน, โอกาสทางความรัก หรือแม้แต่ความปลอดภัยบนถนน

แต่ทุนความงามนี้ไม่ได้มาฟรี ๆ ผู้หญิงต้องจ่ายด้วยเวลา, เงิน, ความเจ็บปวด ตั้งแต่ครีมยันเข็มฉีด

แม้แต่งานแฟชั่นที่ดูหรูหราอย่าง Met Gala ก็เปิดพื้นที่เฉพาะให้คนที่ “มีทุน” ทั้งในแง่เงินและชื่อเสียง ความสวยจึงไม่เคยฟรี มันคือแรงงานที่ผู้หญิงต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง

.

และในหลายกรณี “ความสวย” กลายเป็นภาระที่มองไม่เห็น ความรู้สึกว่า “ต้องพร้อมตลอดเวลา” ไม่ใช่เรื่องของวัตถุ แต่คือความเหนื่อยทางใจ ผู้หญิงต้องนึกถึงลุคของตัวเองแม้ในวันป่วย ต้องมีลิปมันแม้แค่ลงไปซื้อของหน้าปากซอย หรือรู้สึกผิดหากปล่อยตัวเกินไป นี่คือแรงกดดันในรูปแบบ “Emotional Labor” ที่ไม่ได้อยู่ในค่าจ้าง แต่อยู่ในความคาดหวัง

.

(5) แล้วชีวิตประจำวันของเรา...จะเลือกแต่งตัวเพื่อใคร?

แม้เราจะไม่ได้เดินบนพรมแดงหรูหรา แต่ทุกเช้าที่ลืมตาเปิดตู้เสื้อผ้า เราก็กำลัง “เลือกเครื่องแบบ” เพื่อเข้าสู่สนามของอำนาจอยู่ดี

  • วันสัมภาษณ์งาน → ต้องดู professional แต่ไม่เยอะ
  • วันไปเดต → ต้องดูสวยแต่ไม่โป๊
  • วันไปเจอญาติ → ต้องเรียบร้อยแต่ไม่ดูเชย
  • วันอยู่บ้านแต่ถ้าโพสต์สตอรี่ → ต้องดู effortless แบบไม่โทรม
  • วันที่ไม่อยากแต่งอะไรเลย → กลับถูกมองว่า “ไม่ดูแลตัวเอง” (ซะงั้น)

.

เสื้อผ้าของผู้หญิงไม่เคยเป็นแค่สิ่งปกคลุมร่างกาย แต่มันคือการ “พูด” กับโลกแบบที่ไม่ต้องเอ่ยปาก

การแต่งตัวในทุกวันจึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่คือการ “ต่อรองกับกรอบ” ที่สังคมวางไว้ให้เรา บางครั้งเราแต่งตาม เพื่อความปลอดภัย บางครั้งเราแหกกรอบ เพื่อขีดเส้นนิยามใหม่ให้ตัวเอง และบางครั้ง การไม่แต่งอะไรเลย ก็คือ “การเลือก” แบบหนึ่ง ที่กำลังพูดว่า “ฉันขอเป็นตัวเอง โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร”

เพราะสุดท้ายแล้ว...การแต่งตัวอาจไม่เปลี่ยนโลกในทันที แต่มันเปลี่ยน “วิธีที่เราอยู่กับโลก” ได้ในทุกวัน

—--------------------------------------

References:

Adam Geczy & Vicki Karaminas, Foucault Studies (2024)

https://rauli.cbs.dk/index.php/foucault-studies/article/view/7230/7499

Rachel Raposas, Colson Thayer, Janelle Monáe Transforms Her Overcoat into a Deconstructed Suit at the 2025 Met Gala (2025)

https://www.aol.com/janelle-mon-e-transforms-her-021042754.html

Shy Zvouloun, A Gender Observation of the Dynamics of Femininity in Doja Cat’s ‘Planet Her’ – Mouna Chatt (2022)

https://gender.ed.ac.uk/blog/2022/gender-observation-dynamics-femininity-doja-cats-planet-her-mouna-chatt

Karl Thompson in Sex and gender, Judith Butler: Gender and Performativity

https://revisesociology.com/2025/02/24/judith-butler-gender-and-performativity/

Alexandra McDermott Brown, Fashioning Power and Empowering Fashion (2021)

https://www.ensemblepublished.com/blog/fashioning-power-and-empowering-fashion

Sabrina Park, Billie Eilish Channeled Old Hollywood in Oscar de la Renta at the Met Gala (2021)

https://www.harpersbazaar.com/celebrity/latest/a37575010/billie-eilish-met-gala-old-hollywood-oscar-de-la-renta/

.

อ่านบทความสนุก ๆ ได้ความรู้อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ : 

.

#WongnaiBeauty #Wongnai #BeautyStory #Fashion #WokeCulture #FashionHistory
#ประวัติศาสตร์แฟชั่น #ส่องแฟชั่น #สายแฟ