เดี๋ยวนี้คอนเทนต์แนว ๆ ชาวหญิงแท้ที่แอบใจเต้นกับเพื่อนเกย์ / ก็แบบเพื่อนเกย์มันดูแลเราดีขนาดนี้อ่ะ ไม่ให้ชอบได้ไง มีเยอะขึ้นมาก ทำให้เห็นว่าประชากรหญิงแท้ที่ตกอยู่ในฟีลนี้ (จริงหรือเค้ก?) ก็มีเยอะเหมือนกันนะ ทำให้นึกถึงประโยคนี้เลย “ถ้าหัวใจไม่รู้จักเพศ แล้วเราควรให้เพศมากำหนดขอบเขตของความรู้สึกไหม?” แล้วแบบว่าเออ เห็นด้วย แต่ถ้ามองในปัจจุบันนี้มันจะเป็นเรื่องแปลกไหมนะ หรือมันผิดปกติตรงไหนหรือเปล่า ที่อยู่ดี ๆ หญิงแท้ก็เทิร์นมาแอบชอบชีเพื่อนเกย์ซะงั้น วันนี้ Beauty Story เลยอยากมาหาคำตอบกันค่ะว่า มันเกิดจากอะไร แล้วมันจะเป็นจริงได้ไหมในความสัมพันธ์แบบนี้
(1) "เฟรนด์โซน" แต่ว่าฟีลไม่เฟรนด์!
ปกติแล้วหญิงแท้กับเพื่อนเกย์มันต้องเป็นเฟรนด์โซนใช่ป่ะ? ก็แกชอบผู้ชาย ฉันชอบผู้ชาย เราก็เป็นเพื่อนกันไป แต่ใครจะไปคิดว่าเส้นที่ขีดไว้ชัดเจนแบบนั้นจะเบลอได้ บางครั้งมันจะเกิด "ฟีลลิ่ง" ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงโดยไม่รู้ตัว แต่ไม่แปลกเลย เพราะความดึงดูดทางอารมณ์ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเพศสภาพ แล้วยิ่งอยู่กับเพื่อนเกย์ มันเลยเกิดความสบายใจที่มาจากการรู้ว่าอีกฝ่ายไม่คาดหวังอะไรในเชิงโรแมนติก ทำให้ความสัมพันธ์นี้พิเศษกว่าที่คิด เป็นพื้นที่ที่หญิงแท้สามารถเป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้น และรู้สึกปลอดภัยในความสัมพันธ์นี้
จากงานวิจัยด้านจิตวิทยาสังคมที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส น่าสนใจมากที่พบว่าหญิงแท้มักจะเชื่อใจและให้ความไว้วางใจเพื่อนเกย์ในเรื่องการให้คำปรึกษาด้านการออกเดตมากกว่าคำแนะนำจากเพื่อนชายแท้หรือเพื่อนหญิงแท้ เพราะพวกเธอรู้ว่าเพื่อนเกย์ไม่มีแรงจูงใจแบบโรแมนติกที่ซ่อนเร้น ซึ่งทำให้คำแนะนำที่ได้รับดูจริงใจ และไม่มีเบื้องหลังที่ต้องกังวล
.
*หญิงแท้ ในบทความ และบริบทนี้ หมายถึง เพศหญิงตามเพศสภาพ เรียกในเชิงอรรถรสเฉย ๆ นะคะ ไม่เกี่ยวกับเรื่องปิตาธิปไตย หรือประชดประชันแต่อย่างใดค่า ไม่ได้พาดพิงถึงใครเป็นพิเศษน้า~
.
(2) ฮอร์โมนทำชีใจสั่น!
"วิทยาศาสตร์ก็มีส่วนในความรัก" การที่เรารู้สึกใกล้ชิด เชื่อมโยง หรือรู้สึก "ใจเต้น" เวลาอยู่ใกล้กับเพื่อนสนิทคนนี้ อาจมาจากการทำงานของฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความผูกพันและความสัมพันธ์ในมนุษย์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีความไว้วางใจ และความอบอุ่นทางใจ
.
ความสัมพันธ์แบบไม่มีเงื่อนไข เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงแท้กับเพื่อนเกย์ ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงได้ แต่ไม่ใช่เพราะเป็นความรักในแบบโรแมนติก แต่เป็นความรู้สึกปลอดภัยและใกล้ชิด จากการแลกเปลี่ยนความไว้วางใจ การได้รับการยอมรับในตัวตนอย่างแท้จริงจากอีกฝ่าย เลยเป็นตัวกระตุ้นให้ฮอร์โมนนี้ทำงานและสร้างความรู้สึกที่ลึกซึ้งมากขึ้น เลยทำให้ความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากความเป็นเพื่อนค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ความรู้สึกที่ลึกซึ้งมากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว
.
(3) "ความลื่นไหลทางเพศ" ที่ไหลจริงค่ะคุณน้า
จริง ๆ แล้วความรู้สึกของคนเรามันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลานะ ไม่ได้ตายตัวหรอก! วันนี้ชอบผู้ชาย พรุ่งนี้อาจจะชอบผู้หญิงก็ได้ หรือจะชอบทั้งสองเพศเลยก็ไม่แปลก! มันเป็นเรื่องปกติมากกก เพราะมันเรียกว่า “ความลื่นไหลทางเพศ” หรือ “Sexual Fluidity” คือการที่ความรู้สึกดึงดูดทางเพศของคนเราไม่ถูกจำกัดตายตัว มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ หรือความสัมพันธ์ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ จึงไม่แปลกที่หญิงแท้จะเริ่มรู้สึกดึงดูดใจทางเพศกับเพื่อนเกย์ของตัวเอง เพราะความรู้สึกนั้นอาจเกิดจากความใกล้ชิดและความสบายใจที่มีมากกว่าความเป็นเพศชาย - หญิงที่แยกออกชัดเจน
.
และจากมุมมองของ Pansexuality ซึ่งเป็นแนวคิดที่มองว่าการดึงดูดทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพของบุคคลอื่น แนวคิด Pansexuality ยิ่งช่วยขยายขอบเขตความเข้าใจว่าทำไมคนเราสามารถรู้สึกเชื่อมโยงกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร เพราะมันคือการให้ความสำคัญกับตัวบุคคลและจิตวิญญาณ มากกว่าที่จะจำกัดตัวเองด้วยกรอบทางเพศแบบดั้งเดิม
.
(4) ใจเกเรชอบของต้องห้าม ทำไมยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ
แล้วทำไมเวลารู้ว่าอะไรทำไม่ได้ เราถึงยิ่งอยากได้มันนะ? ความรู้สึกที่แอบชอบเพื่อนเกย์ อาจเกิดขึ้นเพราะเป็นความรู้สึกที่ท้าทาย และเต็มไปด้วยความปรารถนาที่ไม่ได้รับการสนอง สิ่งนี้อธิบายได้ด้วยทฤษฎีจิตวิทยาที่เรียกว่า Reactance Theory ที่เกิดขึ้นเมื่อคนเรารู้สึกว่าตนเองถูกจำกัดเสรีภาพ หรือถูกห้ามทำบางสิ่งที่ต้องการ ความรู้สึกต่อต้านนี้จะทำให้ความปรารถนาหรือความอยากได้ในสิ่งที่ถูกห้าม ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เหมือนกับในกรณีที่แอบชอบเพื่อนเกย์ ความรู้สึกที่รู้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ หรือถูกสังคมบอกว่า "ห้าม" กลับทำให้ความรู้สึกนั้นยิ่งเข้มข้นมากขึ้น
(5) แล้วเพื่อนเกย์ล่ะ เค้ารู้สึกยังไงกันนะ?
จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกชีนะ เพื่อนเกย์บางคนอาจจะงง ๆ เหมือนกัน เพราะปกติเค้าก็บอกตัวเองว่าชอบผู้ชาย แต่อยู่ ๆ ก็มีเพื่อนผู้หญิงมาบอกชอบ มันก็อาจทำให้สับสนได้ จากงานวิจัยใน Minority Stress Model ชี้ให้เห็นว่าการเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายความเข้าใจเรื่องเพศสภาพของตัวเอง อาจทำให้พวกเขาเครียดและวิตกกังวลได้
.
นอกจากนี้ความกังวลในการรักษามิตรภาพก็เป็นเรื่องที่เพื่อนเกย์อาจเผชิญ ตามทฤษฎีการแลกเปลี่ยนทางสังคมของ Homans มิตรภาพคือการแลกเปลี่ยนทางอารมณ์และการสนับสนุนซึ่งกันและกัน การเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์จากมิตรภาพไปสู่ความรู้สึกโรแมนติก อาจทำให้เกิดความไม่สมดุล และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ในระยะยาว โดยเฉพาะเพื่อนเกย์ที่มองว่ามิตรภาพกับหญิงแท้มีความสำคัญมาก งานวิจัยของ Diamond ยังแสดงให้เห็นว่า LGBTQ+ individuals ให้ความสำคัญกับมิตรภาพระหว่างเพศมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นความกลัวที่จะสูญเสียมิตรภาพนี้อาจรุนแรงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ยังสามารถส่งผลกระทบต่อสังคมเพื่อนในวงกว้างและสังคมรอบตัวได้
.
(6) แล้วจะทำยังไงดีล่ะทีนี้ ไม่อยากเสียเพื่อนเลยอ่ะ
โอเค มาถึงจุดนี้แล้ว เราก็ต้องคิดแล้วล่ะว่าจะทำยังไงดี จะรักษาความสัมพันธ์ดี ๆ นี้เอาไว้ยังไง ถ้ามันเก็บไว้ไม่อยู่ ไม่สบายใจ คุยกันตรง ๆ ดีที่สุดจริง ๆ นะ การพูดคุยกันแบบเปิดอกคือทางออกที่ดีที่สุดเลย บอกความรู้สึกของเราให้เค้ารู้ แล้วก็ฟังว่าเค้ารู้สึกยังไงด้วย แบบนี้จะช่วยลดความเข้าใจผิดได้เยอะ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ “การเคารพขอบเขตของกันและกัน” อย่าลืมนะว่าเพื่อนเกย์ของเรา เค้าก็มีความรู้สึกเหมือนกัน ถ้าเค้าบอกว่าไม่ได้รู้สึกเหมือนเรา ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเค้า อย่าตามตื๊อหรือทำให้อึดอัดเลย
รู้ว่ามันยาก แต่เราต้องพยายามควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้ ไม่งั้นอาจจะทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง ปรับมุมมองใหม่ ลองคิดดูนะว่ามิตรภาพที่เรามีกับเพื่อนเกย์คนนี้มันมีค่าแค่ไหน บางทีมันอาจจะมีค่ามากกว่าความรักแบบคู่รักก็ได้นะ หรือบางทีเหตุการณ์นี้อาจจะเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ก็ได้น้าา
.
ท้ายที่สุดแล้ว การที่หญิงแท้จะใจเต้นกับเพื่อนเกย์ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดจริง ๆ อะแหละ! (แต่ก็ต้องเคารพความรู้สึกของอีกฝ่ายด้วยน้า) เรื่องแบบนี้มันอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งฮอร์โมน ความใกล้ชิด หรือความลื่นไหลทางเพศ สิ่งสำคัญคือเราควรยอมรับและเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่ให้สังคมหรือเพศสภาพมากำหนดว่าอะไรถูกหรือผิด ความรู้สึกมันไม่มีกรอบที่ตายตัวหรอก เพราะงั้นถ้าใจมันอยากจะขอ Love ก็ไม่ต้องรู้สึกผิดอะไรนะจ๊ะ!
.
ใครที่อยากติดตามเรื่องราวและสาระเลิศ ๆ กดติดตาม Wongnai beauty และ #สวยศึกษา ไว้ด้วยนะ 💕
—----------------------------
References
The Conversation, The science behind why so many women want to befriend gay men (2016)
https://theconversation.com/the-science-behind-why-so-many-women-want-to-befriend-gay-men-51965
SpringerLink, Why (and When) Straight Women Trust Gay Men: Ulterior Mating Motives and Female Competition (2015)
https://link.springer.com/article/10.1007/s10508-015-0648-4
Science & Cocktails, The Science Of Sexual And Gender Fluidity with Lisa Diamond (2023)
https://www.youtube.com/watch?v=YTPt1brlXA4
thailand.savethechildren, แนวทางการทำงานกับเด็กโดยคำนึงถึงความหลากหลาย (2021)
creativethailand, เมื่อรักแต่ไม่ใคร่ รู้จัก “Platonic Relationship” ชีวิตคู่ที่มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่คนรัก (2023)
https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=34028
CREATIVE TALK, Reverse Psychology หลักจิตวิทยาการตลาดยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ (2021)
https://creativetalkconference.com/reverse-psychology/
thrivewellnessth, ความรักเกิดจากคน 2 คนจริง...หรือเพราะ Oxytocin ที่ทำให้เราถูกรัก (2024)
https://www.thrivewellnessth.com/post/oxytocin
ปริยศ กิตติธีระศักดิ์, พย.ม. และคณะ, แบบจำลองความเครียดในคนกลุ่มน้อย: กรอบแนวคิดของภาวะเสี่ยงทางสุขภาพจิต ในคนกลุ่มน้อยทางเพศและเพศสภาวะ (2019)
https://he02.tci-thaijo.org/index.php/JPNMH/article/view/184994
Pattani Economy, ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนทางสังคม (social exchange theory) (2019)
Alice Stephens, ‘LGBTQ+ friendships are about so much more than being loud and proud’ (2023)
https://www.gaytimes.com/life/lgbtq-friendships-are-about-so-much-more-than-being-loud-and-proud/
.
#Wongnai #WongnaiBeauty #มีแฟนเป็นเก้ง #ชะนีชอบเกย์ #เก้งแมน #เพื่อนเกย์