"รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตัวเองล้มเหลว กลัวทำให้ทุกคนผิดหวัง จนไม่อยากเจอใคร กังวล ระวังตัว และกลัวทุกอย่าง... " สาว ๆ มีความคิดเหล่านี้กันอยู่หรือเปล่าคะ? นี่คือหนึ่งในอาการเริ่มต้นของคนที่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า หรือกำลังเป็นโรคซึมเศร้า สาว ๆ อาจคิดว่า ความคิดข้างต้นเป็นแค่ "อารมณ์" ที่ผ่านเข้ามา พอช่วงเวลาผ่านไปมันคงดีขึ้น
แต่แล้ว... ถ้ามันไม่ดีขึ้นล่ะ ? ตอนนี้อาจมีหลายคน เลือกอดทนกับความรู้สึกเหล่านั้นต่อไปเรื่อย ๆ เพราะคิดว่าจะจัดการกับมันได้ โรคนี้อาจเกิดขึ้นได้จากอารมณ์เศร้าหมองและความตึงเครียดสะสม หรือเกิดได้จากสารเคมีในสมอง สารสื่อประสาทที่ทำงานบกพร่อง เป็นโรคทางจิตใจที่จับต้องได้ยากมากเลยค่ะ มีอีกหลายคนที่เป็นโรคนี้แบบไม่รู้ตัวอยู่แน่นอน เพราะงั้นอย่าปล่อยให้โรคนี้คอยกัดกินและบั่นทอนจิตใจของเราไปเรื่อย ๆ เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันสักหน่อย แล้วมาเช็กอาการของโรคซึมเศร้ากันดีกว่าค่ะ
อารมณ์เศร้า ภาวะซึมเศร้า โรคซึมเศร้า ต่างกันอย่างไร?
ความเจ็บปวด ความเศร้า เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนค่ะ อารมณ์เศร้า (Depressive Mood) จึงถือเป็นความเศร้าที่ปกติ เป็นอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นมาแล้วหายไป มีสาเหตุจากการสูญเสีย ความผิดหวัง อึดอัดตึงเครียด ในขณะที่ ภาวะซึมเศร้า (Depression) เป็นอารมณ์เศร้าที่เกิดจากการสูญเสียต่อเนื่อง ผิดหวังในเรื่องที่คาดหวังไว้สูง ความวิตกกังวลในเรื่องอนาคต และอาจพัฒนามาเป็น โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder)
โรคซึมเศร้า หรือ MDD คือความเศร้าที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจเป็นเวลานาน กระทบต่อการทำงาน ความคิด ขาดความเชื่อมั่น จนสูญเสียความเป็นตัวเอง สาว ๆ คงพอจะเห็นความแตกต่างของความเศร้า 3 แบบนี้แล้วใช่ไหมคะ หลัก ๆ ก็แตกต่างกันที่สาเหตุและอาการ ซึ่งจริง ๆ แล้วสาเหตุของโรคซึมเศร้าอาจเกิดได้หลายปัจจัยเลยละ เราจึงขอรวบรวมสาเหตุหลัก ๆ ไว้ดังนี้นะคะ
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
- ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ข้อนี้เป็นปัจจัยหลักเลยค่ะ คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจึงไม่ได้แปลว่าเป็นคนอ่อนแอแต่อย่างใด แต่อาจเกิดจากสารสื่อประสาทเกิดความบกพร่อง หรือไม่สมดุลกันค่ะ โดยสารสื่อประสาทที่มีผลต่อโรคซึมเศร้า ก็คือ อะเซทิลโคลน (Acetylcholine), ซีโรโทนิน (Serotonin), นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) และโดปามีน (Dopamine)
- พบเจอเหตุการณ์ที่กระทบทางจิตใจรุนแรง เช่น สูญเสียคนอันเป็นที่รัก ภาวะตึงเครียดจากการทำงาน การโดนไล่ออก ความผิดหวัง การเจอสถานการณ์คับขัน อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ ความกดดัน หรือปัญหาชีวิต
- คนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า หากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า อาจทำให้เกิดความตึงเครียดต่อคนรอบข้าง การได้รับอิทธิพลความเศร้าเป็นประจำ ก็ทำให้มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วย
- อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การถูกกดดัน ถูกกดขี่ หรือถูกกลั่นแกล้ง จนทำให้มองโลกในแง่ร้าย
- ปัญหาสุขภาพทางร่างกาย อาการเจ็บป่วย หรือโรคประจำตัว ก็อาจทำให้เกิดความท้อแท้และความเบื่อหน่ายในชีวิตได้ค่ะ โรคทางกายที่มักทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ก็เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคพาร์คินสัน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคทางจิตเวช อาการซึมเศร้าก็อาจเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคจิตเวชอื่น ๆ ได้เหมือนกันนะ เช่น โรควิตกกังวลทั่วไป (GAD), โรคสมาธิสั้น (ADHD) และ ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD)
- ผลข้างเคียงจากการใช้สารเสพติด อย่าง การสูบบุหรี่ การติดยาเสพติด
สาเหตุเหล่านี้ก็เป็นแค่หนึ่งในปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้านะคะ บางคนอาจไม่ได้มีสาเหตุตามนี้ ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไปค่ะ เพราะอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่กระทบต่อจิตใจของเราแบบไม่รู้ตัว อาจเป็นปัญหาที่อยู่มานานจนชินไปกับมัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย ยังไงเราลองไปดูอาการของโรคซึมเศร้าเพื่อเช็กให้มั่นใจกันหน่อยน้า
อาการของโรคซึมเศร้า
- เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม : รู้สึกเหนื่อยเวลาเจอผู้คน ไม่อยากเจอคนเยอะ ๆ เหมือนต้องปั้นหน้ายิ้มอยู่ตลอดเวลา
- รู้สึกเศร้า ท้อแท้ และสิ้นหวัง : อยู่ดี ๆ ก็รู้สึกเศร้าขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ บางทีก็ตั้งคำถามว่าชีวิตคืออะไร แล้วก็รู้สึกสิ้นหวังเหมือนหาทางออกไม่เจอ
- รู้สึกตัวเองไร้ค่า : นั่งทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำแล้วรู้สึกว่าทำอะไร ๆ ก็ไม่ดี ไม่มีความภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ
- รู้สึกผิดและโทษตัวเองตลอดเวลา : เรื่องบางเรื่องไม่มีใครผิด หรือไม่ใช่ความผิดของตัวเองก็เก็บมาใส่ใจ คิดว่าตัวเองเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ
- ขาดความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่าง ๆ : อะไรที่เคยทำแล้วสนุก จู่ ๆ ก็ไม่สนุก ไม่อยากทำอะไรที่เคยทำ อยากนอนอยู่เฉย ๆ
- เคลื่อนไหวช้าลง กระสับกระส่าย : เหมือนทำอะไรได้ช้าลง สมองตื้อ รู้สึกชา แต่ใจสั่น รู้สึกเหมือนต้องทำอะไรสักอย่างแต่ไม่รู้จะต้องทำอะไร
- เหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา : แค่อยู่เฉย ๆ ก็เหนื่อย ลองสังเกตตัวเองดูนะคะ ถ้ารู้สึกเหมือนมีเรื่องอึดอัดตลอดเวลา แต่นึกสาเหตุไม่ออก นี่อาจเป็นอาการของโรคซึมเศร้าอยู่นะคะ
- ขาดสมาธิ ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจน้อยลง : ไม่กล้าตัดสินใจอะไรสักอย่าง โฟกัสกับเรื่องอะไรไม่ค่อยได้
- เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น : ไม่อยากกินข้าว กินอะไรไม่ลง ไม่อร่อย บางทีทั้งวันก็ลืมกินข้าว
- นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ : มีอาการง่วงนอนทั้งวัน ตื่นขึ้นมาก็หลับไปใหม่เหมือนไม่อยากตื่น ในบางคนอาจไม่นอน ตื่นตัวผิดปกติ นอนไม่หลับ
- มีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม : ปรับตัวเข้าหาใครได้ยาก รู้สึกเหมือนต้องพยายามตลอดเวลา หรือทำงานอะไรได้ไม่ดีเหมือนที่เคยทำ
- มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย : อันนี้อันตรายมากเลยค่ะ ถ้ามาถึงจุดที่เริ่มมองว่า ชีวิตนี้ไม่มีความหมาย ตายแบบไหนดีไม่เจ็บ นี่คือควรโทรหาคนที่ไว้ใจได้ด่วนเลยค่ะ หรือลองโทร 1323 สายด่วนสุขภาพจิตดูนะคะ
วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า
ใครรู้ตัวว่ากำลังเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ไม่ต้องกังวลหรือเครียดนะคะ เพราะโรคซึมเศร้ารักษาได้ค่ะ หากรู้ตัวว่ากำลังเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า มาเริ่มรักษาโรคนี้อย่างถูกวิธีกันค่ะ
- พูดคุยกับคนอื่น : อธิบายความรู้สึกให้คนที่ตัวเองไว้ใจได้รับฟัง การระบายความในใจให้ใครสักคนฟัง คือวิธีผ่อนคลายความเครียดที่ดีที่สุดค่ะ
- ทำจิตบำบัด รับคำปรึกษาจากแพทย์ : เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถจัดการกับความเศร้าได้ เศร้าแล้วไม่หาย หรือมีเรื่องเครียดก็จัดการไม่ได้ แพทย์ช่วยเราได้ค่ะ
- ใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า : ถ้าเราหาสาเหตุของความเศร้าไม่ได้ ไม่รู้ว่ากำลังเศร้ากับเรื่องอะไร มองรวม ๆ แค่ว่าชีวิตมันเศร้า อาการแบบนี้อาจมีสาเหตุมาจากสารประสาทในสมอง ยังไงลองหาหมอ เพื่อปรึกษาและรับยามาทานกันดีกว่านะคะ ทั้งนี้อย่าลืมไปพบคุณหมอตามนัดสม่ำเสมอ และกินยาให้ตรงเวลากันนะคะ
วิธีป้องกันโรคซึมเศร้า
ส่วนใครที่อาการยังไม่เข้าข่ายโรคซึมเศร้า เราสามารถป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้เหมือนกันค่ะ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้
- ยอมรับตัวเอง สำรวจตัวเองบ่อย ๆ : เพื่อให้รู้จักตัวเราให้ดีที่สุดทั้งข้อดีและข้อเสีย แล้วก็ยอมรับมันให้ได้ค่ะ
- หัวเราะเยอะ ๆ : เมื่อมีความสุขก็อย่าลืมหัวเราะออกมานะคะ จะช่วยคลายเครียดได้ค่ะ
- ระบายความรู้สึก : เศร้าก็อย่าเก็บไว้คนเดียวค่ะ ลองหาคนที่ไว้ใจได้เพื่อรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ เพราะปัจจัยของโรคซึมเศร้า บางครั้งก็มาจากการเก็บความเสียใจเอาไว้คนเดียวนี่แหละ
- ออกกำลังกาย : เพราะร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาค่ะ
- ออกไปเที่ยวบ้าง : เปลี่ยนตัวเองไปหาสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ เป็นหนึ่งในหนทางหลีกหนีโรคซึมเศร้าได้ดีทีเดียวค่ะ
- คิดบวกเข้าไว้ : เพราะจะช่วยลดความกังวลลง ทำให้เรายิ้มกับสิ่งรอบตัวได้ง่ายขึ้นค่ะ
วิธีรับมือเมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า
ในเมื่อโรคซึมเศร้าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ถ้าเกิดว่าคนที่เรารักเกิดประสบกับโรคซึมเศร้าขึ้นมา เราควรรับมืออย่างไรเพื่อให้เขาอาการดีขึ้น และไม่รู้สึกว่ากำลังสู้อยู่คนเดียว ไปดูกันค่ะ
- ให้รักษาตัวตามคำแนะนำของแพทย์ : เช่น กินยาสม่ำเสมอ หางานอดิเรกทำ ทำจิตบำบัด ฯลฯ
- ให้กำลังใจด้วยคำพูดดี ๆ : ใช้คำพูดในเชิงว่าเขายังมีเราอยู่ข้าง ๆ ไม่ได้ไปไหน เช่น อยากให้ฉันกอดไหม, เธอไม่ได้อยู่คนเดียวนะ, เธอสำคัญสำหรับเราเสมอนะ, ฉันจะอยู่ข้าง ๆ เธอนะ, ฉันรักเธอนะ
- ไม่ควรพูดเหมือนปัญหาของเขาเป็นเรื่องเล็ก : อย่าง เดี๋ยวมันก็ผ่านมันไป, สู้ ๆ นะ, เธอแก้ปัญหาได้อยู่แล้ว, เธอเก่งอยู่แล้ว
- แสดงความรักผ่านการกระทำ : เช่น กอด จับมือ
- ชวนทำกิจกรรมร่วมกัน : เช่น เล่นกีฬา ทำอาหาร ดูหนัง
- พูดคุยแบบรับฟัง : ไม่ตัดสิน และไม่ต้องพยายามหาคำตอบว่าควรทำอย่างไร บางครั้งเค้าก็แค่อยากระบายให้ใครสักคนฟังเท่านั้นค่ะ
อย่างที่บอกไปค่ะว่าโรคซึมเศร้านั้น เป็นได้ก็หายได้ และในยุคนี้ค่อนข้างเปิดกว้าง มองว่านี่คืออาการป่วยที่ไม่ได้ทำให้ใครเป็นตัวประหลาดจากสังคม ดังนั้นอย่ากลัวที่จะไปพบคุณหมอเพื่อให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที และกลับมายิ้มได้เหมือนเดิมไว ๆ นะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก โรงพยาบาลกรุงเทพ, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, สสส.
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่