หรือผู้ชายดีๆ จะมีแค่ในนิยาย? คนเรารัก Fictional Character ได้ไหม
  1. หรือผู้ชายดีๆ จะมีแค่ในนิยาย? คนเรารัก Fictional Character ได้ไหม

หรือผู้ชายดีๆ จะมีแค่ในนิยาย? คนเรารัก Fictional Character ได้ไหม

วันนี้ Beauty Story ขอพาทุกคนตั้งคำถามฟุ้ง ๆ กันว่าเมื่อพระเอกผู้ชายในจอทำให้ใจสั่น ทุกคนคิดว่า ความรักจะสามารถเกิดขึ้นได้ในหน้าจอมั้ยนะ?
writerProfile
14 มี.ค. 2025 · โดย

ใครที่เหนื่อยกับการทำความรู้จักคนคุยใหม่ ๆ หรือคิดว่าการวิ่งตามความรักมันช่างเหนื่อยเหลือเกินบ้างคะ มากองรวมกันกับเราตรงนี้ด่วน ๆ เคยคิดไหมคะว่าบางทีการมีความรัก การสร้างครอบครัวก็ใช้พลังและความทุ่มเทเยอะกว่าที่คิด แต่ความเหงามันไม่เข้าใครออกใครน่ะสิ เวลาดูซีรี่ส์หรือเล่นเกมส์คลายความเหงา หัวใจเจ้ากรรมก็เผลอไผลหวั่นไหวไปกับพระเอกธงเขียวซะได้ วันนี้ Beauty Story ขอพาทุกคนตั้งคำถามฟุ้ง ๆ กันว่าเมื่อพระเอกในจอทำให้ใจสั่น ทุกคนคิดว่า ความรักจะสามารถเกิดขึ้นได้ในหน้าจอกันนะ?

.

ชีวิตรักของคนปัจจุบัน

รู้มั้ยคะว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมคนโสดมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในปี 2566 สัดส่วนของคนโสดในประเทศไทยคิดเป็น 1 ใน 5 หรือประมาณ 23.9% (จากข้อมูลของรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 3 ในปี 2567) คนที่มีอายุช่วง 15-49 ปี (หรือในช่วยวัยเจริญพันธุ์) ก็มีสัดส่วนคนโสดสูงถึง 40% เลยนะ!
.

เบื้องหลังของการโสดมีหลายสาเหตุ โดยค่านิยมนึงที่เกิดขึ้นในสังคมคือแนวคิด SINK (Single Income, No Kids) คือคนโสดที่มีรายได้แต่ไม่เน้นมีลูก เน้นจับจ่าย Spend เงินเพื่อปรนเปรอตัวเอง หรือจะเป็นเรื่องสภาพสังคมและการก้าวหน้าทางหน้าที่การงานที่บีบให้คนต้องทุ่มเทให้กับการทำงานมากกว่าการเดินหน้าเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ เรียกง่าย ๆ ว่าทำงานก็เหนื่อยแล้ว จะเอาเวลาไหนไปมีแฟน!

.

แต่ไม่ได้มีแต่ประเทศไทยที่จำนวนคนโสดเพิ่มขึ้น ค่านิยมการครองตัวเป็นโสดก็มีมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เช่นผลสำรวจจากรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2022 คนญี่ปุ่นที่มีช่วงอายุ 30-40 ปี สัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ไม่มีความคิดที่จะแต่งงาน โดยสาวญี่ปุ่นที่ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่งได้ให้เหตุผลที่เลือกไม่แต่งงานไว้ว่าไม่อยากสร้างภาระหน้าที่ในชีวิตเพิ่ม ซึ่งถ้าดูจากค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นที่คาดหวังให้เพศหญิงเป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูกและดูแลสามี เราก็ขอบอกว่าเข้าใจได้นะ

.

ค่าใช้จ่ายของการสร้างครอบครัว

หรืออีกสาเหตุนึงที่หลายคนเลือกที่จะไม่มีครอบครัว จะเป็นเรื่องรายจ่าย?
.
ชาวออฟฟิศที่กำลังสร้างตัวน่าจะเข้าใจดีเลยล่ะ ลำพังแค่ใช้ชีวิตคนเดียวก็มีค่าเยอะแยะไปหมด ถ้าไม่นับรายจ่ายบังคับที่ต้องจ่ายอยู่แล้วอย่าง ค่าที่พักอาศัย ค่าสาธารณูปโภค เงินที่ส่งให้ที่บ้าน ยังมีค่ากิน ค่าท่องเที่ยว ค่าให้รางวัลตัวเองที่สู้กับงานจนน่วมอีกนะ เอาเป็นว่าเราคงไม่ต้องแจกแจงออกมาเป็นตัวเลข ทุกคนก็คงเห็นภาพที่ตรงกันอยู่เนอะ
.

ส่วนคนที่อยากมีครอบครัว แน่นอนว่าต้องวางแผนการเงินที่เข้มข้นขึ้น ยิ่งถ้าวางแผนจะมีลูกแล้ว ค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าใช้จ่ายสำหรับลูก ซึ่งเงินก้อนนี้ต้องคิดเยอะตั้งแต่ยังไม่มีลูกด้วยซ้ำ! ทั้งค่าฝากครรภ์ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ ค่าเลี้ยงดูตอนลูกยังเป็นเบบี๋ พอลูกโตก็จะมีค่าเล่าเรียน ทั้งค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษ บางบ้านอาจจะวางแผนให้ลูกทำกิจกรรมเพิ่มเติมหลังเลิกเรียน จะบอกว่าเป็นการซื้อสังคมหรือปูทางเพื่อต่อยอดความสามารถและโอกาสในอนาคตให้ลูกก็ไม่ผิด

.

นี่ยังไม่ได้พูดถึงการที่พ่อแม่จะต้องเสียสละความฝันและโอกาสที่จะก้าวหน้าในชีวิตของตัวเองนะ อันนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวเลย พอเราโตขึ้นจนเริ่มเข้าใจความลำบากของชีวิต เราเคยพูดกับพ่อว่า “เข้าใจแล้วว่าการจะเลี้ยงลูกหนึ่งคน คนเป็นพ่อแม่เสียสละอะไรไปบ้าง” เพราะการเลี้ยงเด็กหนึ่งคนให้โตมาเป็นคนที่พึ่งพาตัวเองได้และเป็นคนดีในสังคมมันไม่ง่ายเลย นอกจากเม็ดเงินแล้วยังต้องใช้แรงกายและพลังใจมหาศาลเชียวล่ะ

.

หรือผู้ชายดี ๆ จะมีแค่ในนิยาย?

Everyone is a red flag, you just need to choose your favourite shade of red.

ธงแดงเฉดไหนที่ใช่! ประโยคเสียดสีด้านบนอาจดูสุดโต่ง แต่ก็มีพื้นเพมาจากความจริงทั้งนั้น! ออกตัวก่อนว่าไม่ได้เหมารวม แต่เราสามารถพบเจอเหล่ามนุษย์ธงแดงได้บ่อยพอ ๆ กับร้านกาแฟ!

ตัวอย่างเพื่อนสาวของเราที่พึ่งเลิกกับแฟนหนุ่ม ช่วงนี้ชีกลับมาสู่ยุคสาวโสดสวยสะพรั่ง ปัดขวาในแอปรัว ๆ ซึ่งในช่วงที่คุณเพื่อนกำลังอวดหนุ่ม ๆ ที่กำลังเริ่มต้นทำความรู้จักกัน ก็ไม่พ้นส่องโซเชียลจนเจอว่าหนุ่มบางคนก็มีแฟนอยู่แล้ว แต่แอบแฟนมาเล่นแอปหาคู่!
.

หรือเราเองก็พึ่งจบความสัมพันธ์ที่ทำให้ช้ำจากหมาเด็กแสนน่ารักที่ยังไม่ลืมแฟนเก่า (แล้วดันกลับไปง้องอนเขาซะด้วยนะ!) แต่ระหว่างคุย ๆ กิ๊กกั๊กกับเราก็ดันลั่นคำพูดซะดิบดีว่าจะไม่กลับไป ถ้ารู้ว่าจะโดนใช้เป็นคนคั่นเวลา เราคงไม่อยู่ดามหัวใจให้ตั้งแต่แรก แหม ไหนว่าจะไม่หลอกกันคะสุดหล่อ!

พอเจอความสัมพันธ์ที่ไม่ได้เพอร์เฟ็คต์แบบที่หวัง เราก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบเหล่าผู้ชายในความสัมพันธ์กับตัวละครจากในนิยาย ซีรี่ส์ หรือเกมที่เราเคยสัมผัสมา อาจฟังดูเพ้อฝันไปหน่อยสำหรับผู้อ่านบางคน แต่ถ้าใครเคยมีโมเมนต์แบบนี้รีบคอมเมนต์บอกให้เรารู้หน่อยค่ะ!

.

ขอยกตัวอย่าง Fictional Character ที่เราและใครหลายคนมองว่านี่แหละ! คือตัวอย่างของ “หรือผู้ชายดี ๆ จะมีแค่ในนิยาย?”

“คังซึงฮยอน” พระเอกจากมังฮวาเรื่อง “เธอคือดาวกลางใจ” หนุ่มคนนี้เป็นดาราชื่อดัง และเป็นตัวละครสำคัญที่คอยผลักดันและช่วยเหลือนางเอก “ฮวังยูรา” ให้มีความมั่นใจในการเป็นนักแสดง นอกจากบทบาทที่ซัพพอร์ตนางเอกแล้ว ในด้านคุณสมบัติการเป็นคนรักก็สอบผ่านทุกข้อ! เพราะในสายตาฮีก็มองแค่นางเอกคนเดียว ไม่นอกกาย ไม่นอกใจ แถมยังไม่ทำร้ายนางเอกให้น้ำตาร่วงด้วย!

อีกตัวละครที่อยากแนะนำคือ Zayne (เซย์น) หนึ่งในตัวละครหลักจาก Love And Deepspace เกมแนวจำลองสถานการณ์ความรัก (Otome Game หรือเกมจีบหนุ่มนี่แหละ!) ที่เราสามารถเลือกจีบได้ เซย์นเป็นศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก มีบุคลิกภายนอกดูเย็นชาและดูนิ่ง ๆ แต่จริง ๆ แล้วอบอุ่น ใส่ใจ และเป็นห่วงตัวละครที่เราเล่นมาก โดยจะเน้นที่การกระทำมากกว่าคำพูด แถมยังเคารพการตัดสินใจของตัวเอก (เรา) ด้วย

.

ทำไม?

อย่าพึ่งกดปิดหรือตราหน้าว่าเรา (หรือใครอีกหลายคน) เพ้อเจ้อ! มันมีการอธิบายเหตุผลของการตกหลุมรัก Fictional Character ได้เหมือนกันนะ ซึ่งมันก้เป็นไปได้ทั้งนั้นไม่ว่าเราจะถูกดึงดูดด้วยภาพลักษณ์จากการออกแบบตัวละครที่ตรงเทส ลักษณะนิสัย หรือเราอาจจะถูกดึงดูดด้วยเสียงพากย์สวย หล่อ ถูกจริต

แต่ย่ิงเราใช้เวลาไปกับตัวละครนั้นมากเท่าไหร่ ยิ่งได้รู้จักนิสัยใจคอและได้สัมผัสประสบการณ์ที่ตัวละครนั้นทำ (ในกรณีที่เป็นเกม) สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความผูกพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างตัวละครตัวนั้นได้ไม่ยาก (เหมือนเวลาเราเริ่มความสัมพันธ์กับคนจริง ๆ อยู่เหมือนกันนะ) ช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจมิติของตัวละคร มองถึงที่มาที่ไปของการกระทำ แถมตัวเราเองยังไม่ต้องรับมือกับด้านที่ไม่น่ารัก หรือไม่เพอร์เฟ็คต์ของตัวละครนั้น ๆ ไม่เหมือนเวลารับมือกับมนุษย์จริง ๆ

.

ในชุมชนออนไลน์เค้ามีคำว่า Fictoromance และ Fictosexuality ด้วยนะ อาจจะใหม่สำหรับคนไทย โดยเป็นคำที่ใช้เพื่ออธิบายความรู้สึกโรแมนติกหรือความรักที่บุคคลมีต่อตัวละครในเรื่องแต่ง เช่น ในหนังสือ, ภาพยนตร์, ซีรีส์, หรือวิดีโอเกม คำนี้มีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่ผู้คนรู้สึกผูกพันทางอารมณ์กับตัวละครที่ไม่มีตัวตนจริง

แล้วการมีความรู้สึกผูกพันธ์ หรือเริ่มตกหลุมรักพระเอกในจอมันผิดปกติมั้ย? ความคิดส่วนตัวเราคิดว่าไม่ได้ผิดปกติหรอก แค่มันอาจจะเกิดขึ้นกับคนที่เสพสื่อบ่อย ๆ มากกว่าเท่านั้นเอง สิ่งที่สำคัญก็คือต้องจัดการรับมือให้ถูกวิธี และต้องแยกแยะระหว่างโลกเสมือน (หรือในจินตนาการ) กับโลกความจริงให้ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่จะใช้ชีวิตกับเราจริง ๆ น่ะ อยู่ข้างตัว ไม่ได้อยู่ในจอนะ

.

อ้างอิง :

CIO World Business, ศ. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2567, ทำอย่างไร เมื่อไทยกลายเป็น สังคมคนโสด

https://www.cioworldbusiness.com/dr-kriengsak-chareonwongsak-what-to-do-when-thailand-becomes-a-single-society/

ฐานเศรษฐกิจ, 2567, คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น

https://www.thansettakij.com/blogs/health/health/590289

Finnomena, 2566, วิธีวางแผนการเงินฉบับคู่รัก มีลูก 1 คน ต้องไม่จนไป 10 ปี!

https://www.finnomena.com/finnomenafunds/gnavi-family/

We are CP, 2567, ไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนโสด? สภาพัฒน์เผย คนไทยวัยเจริญพันธุ์ (15-49 ปี) เป็นโสดเพิ่มแตะ 40.5% ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

https://www.wearecp.com/thailand-is-entering-a-single-people-society/

Veli-Matti Karhulahti, frontiers, 2564, Fictosexuality, Fictoromance, and Fictophilia: A Qualitative Study of Love and Desire for Fictional Character

https://www.frontiersin.org/journals/psychology/articles/10.3389/fpsyg.2020.575427/full

Reddit, 2567, What’s the difference between Fictoromantic, Fictosexual and just having a “crush” on the character?https://www.reddit.com/r/fictosexual/comments/1fzo5v2/whats_the_difference_between_fictoromantic/