ทำไมดื่มมัทฉะ + เล่นพิลาทีส ถึงเป็น Starter Pack ของคนเทสดี?
  1. ทำไมดื่มมัทฉะ + เล่นพิลาทีส ถึงเป็น Starter Pack ของคนเทสดี?

ทำไมดื่มมัทฉะ + เล่นพิลาทีส ถึงเป็น Starter Pack ของคนเทสดี?

“จิบมัทฉะโฟมนุ่ม ๆ ” สลับกับคลิป “ไปเข้าคลาสพิลาทีสสวย ๆ เราอินเพราะอยากมีสุขภาพดีจริง ๆ หรือบางทีอาจจะตามกระแส “เทสดี” ? วันนี้ Beauty Story พามาดูค่ะ
writerProfile
23 ก.พ. 2025 · โดย

ถ้าเพื่อน ๆ ที่ส่องฟีดโซเชียลอยู่บ่อย ๆ ช่วงนี้อาจจะเห็นเทรนด์ “จิบมัทฉะโฟมนุ่ม ๆ ” สลับกับคลิป “ไปเข้าคลาสพิลาทีสสวย ๆ ” กันเยอะ เชื่อไหมว่าแค่แก้วชาเขียวสีเขียวพาสเทลหนึ่งแก้ว บวกกับท่วงท่าสง่างามบนเครื่อง Reformer มันช่างชัดเจนมากว่า “เธอคนนี้ดูรักสุขภาพ แล้วก็มีเทส (แพง) นะจ๊ะ!” ทว่านอกเหนือจากภาพความเรียบหรูที่เห็นเต็มฟีด ยังมีประเด็นที่อยากชวนให้ตั้งคำถามกันเบา ๆ เหมือนกันว่า เราอินกับเทรนด์นี้เพราะอยากมีสุขภาพดีจริง ๆ หรือบางทีอาจจะตามกระแส “ดูแพง” ?

ในยุคที่ใคร ๆ ก็หันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น การเลือกอาหารหรือเครื่องดื่มจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องปากท้อง แต่ยังบ่งบอกสไตล์และคาแรกเตอร์ไปด้วย ส่วนการออกกำลังกายก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การปั้นกล้ามหรือฟิตหุ่นให้กระชับ แต่ต้องมีฟีล “เรียบ เก๋ คลีน” และดู “โทนขาว ๆ ” ไว้ลงสตอรีให้น่ามอง มัทฉะและพิลาทีสจึงตอบโจทย์ได้แบบเต็ม ๆ เพราะต่างก็มีเรื่องราวความเป็นมา ข้อดีด้านสุขภาพ และภาพลักษณ์ที่พรีเมียมพอจะดึงดูดสายตาใครต่อใคร วันนี้ Beauty Story พามาเจาะลึกกันค่ะ

.

(1) คู่หูตัวแทนสายเฮลทีพรีเมียม

เริ่มกันที่ “มัทฉะ” ผงชาเขียวแห่งยุคที่สาว ๆ หลายคนเทใจให้ เพื่อน ๆ อาจจะเคยเห็นว่าเจ้าเครื่องดื่มเขียวแก้วนี้ราคาจัดว่าแรง ไหนจะคาเฟ่ที่เสิร์ฟแก้วละ 80 - 120 บาท หรือถ้าแอบอยากชงเองที่บ้าน ให้ฟีลมินิมอล ฉะเซ็น (แปรงชงชาญี่ปุ่น) ขวดแก้วใสครบเซต ราคาแพงยิ่งกว่าตัวชาอีก! ยิ่งใครอยากชงแบบเกรดดี ๆ Ceremonial Grade รสชาติจะเข้มละมุนมากกก แต่ก็อาจต้องแลกด้วยกระเป๋าที่แฟบกว่าเดิม ส่วนเรื่องรสชาติ หลายคนบอกตอนแรกเหมือน “น้ำหญ้า” ชัด ๆ แต่ดื่มไปดื่มมา “เอ๊ะ เหมือนรสชาติถูกใจเฉย” กลายเป็นว่าจิบแล้วหยุดไม่ได้สักที

ความขมเฝื่อนนิด ๆ ของมัทฉะนี่แหละ ที่ทำให้สาวกชาเขียวบอกว่า “นับวันยิ่งรู้สึกมีเสน่ห์” แต่ถ้าถามในมุมวิทยาศาสตร์ก็ต้องบอกว่ามัทฉะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง คาเฟอีนปล่อยพลังช้ากว่ากาแฟ ทำให้ไม่ใจสั่นลึก ๆ จึงมีข้อดีด้านสุขภาพด้วย แต่ข้อสงสัยก็มาทันทีว่า ชาเขียวทั่วไปก็มีสารต้านอนุมูลอิสระเหมือนกัน แล้วทำไมต้องมัทฉะราคาแรง ๆ ล่ะ? บอกเลยว่ามันไม่มีถูกผิด แต่ขึ้นอยู่กับจริตและกำลังทรัพย์ของแต่ละคนว่าคุ้มไหม

.

“พิลาทีส” พอมาจับคู่กับมัทฉะแล้ว คือ “ดูแพงคูณสอง” ถ้าเพื่อน ๆ สายออกกำลังกายคงพอคุ้นเคยกับพิลาทีสใช่ไหม? ซึ่งมันก็มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ Mat Pilates ที่ฝึกบนเสื่อ ราคาเบากว่า ไปจนถึง Reformer Pilates ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือเฉพาะทาง และ Megaformer สำหรับสายโหดหินขั้นสุด จุดขายของการฝึกพิลาทีส คือ “Centering” หรือ “Powerhouse” เน้นกระชับกล้ามเนื้อแกนกลาง เช่น หน้าท้อง หลังส่วนล่าง อุ้งเชิงกราน ช่วยปรับบุคลิกได้ดีมาก เหมาะกับคนที่ต้องการบรรเทาอาการปวดหลัง หรืออยากได้หุ่นสวยสง่า

.

แต่อย่างที่รู้ ๆ กันว่า คลาส Reformer ในสตูดิโอ คือดินแดนที่แพงระดับนางพญา เพราะหนึ่งคลาสอาจจ่ายกัน 1,500 - 2,500 บาท (หรือมากกว่านั้น) เหตุที่แพงก็เพราะอุปกรณ์และการดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย เลยไม่แปลกที่เราจะเห็นสตูดิโอสวย ๆ ตกแต่งขาวคลีน โพสต์ลงโซเชียลแล้วได้ฟีล “สวย รวย สุขภาพดี” (แต่ก็แพงสะบัดจริง ๆ คุณน้า แต่ละคลาสฉ่ำเกินแม่) แต่นั่นแหละที่ทำให้พิลาทีสถูกจดจำในฐานะ “คลาสแพงและพรีเมียม” ซึ่งทำให้ผู้เล่นดูมีวินัยและใส่ใจสุขภาพ นี่ยังไม่รวมว่าการโพสต์รูปตัวเองบนเครื่อง Reformer ท่ามกลางแสงขาวคลีน ๆ นั้นให้ฟีลสตูดิโอแฟชั่นไปอีกระดับ

.

(2) ทำไม “Matcha + Pilates” จึงสื่อความเป็น “คนเทสดี

หากจะวิเคราะห์กันให้ลึก การจับคู่มัทฉะกับพิลาทีส ไม่ได้เป็นเพียงการบอกว่า “ฉันดื่มชาเขียวกับออกกำลังกาย” แต่ยังสะท้อนบางอย่างในไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ด้วย อันดับแรกเลยคือ “ทั้งคู่มีภาพความมินิมอลที่แอบแพง” มัทฉะก็ไม่ได้แบบหาซื้อกินได้ง่าย ๆ เท่าเครื่องดื่มทั่วไปที่ราคาถูกกว่านี้ เพราะยิ่งคุณภาพดี ราคาก็ยิ่งสูง ส่วนพิลาทีสก็ยิ่งตอกย้ำความพรีเมียมตรงคลาสที่ค่าเรียนไม่เบา ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ว่า “ผู้เล่นพร้อมจ่ายเพื่อสุขภาพ” และ “ฉันเลือกในสิ่งที่ไม่ใช่กระแสตลาดแมส”

ประเด็นต่อมาคือเรื่อง “Mindfulness กับ Wellness” ทั้งมัทฉะและพิลาทีสต่างมีรากที่เกี่ยวกับการฝึกจิตใจ พิธีชงชาญี่ปุ่น (Chanoyu) สอนให้ดื่มด้วยความเคารพและละเมียดละไม ส่วนพิลาทีสก็เชื่อในเรื่องการควบคุมตัวเอง การหายใจ และความรู้สึกตัว ทำให้แต่ละฝ่ายมีมิติทางวัฒนธรรมและสุขภาพแฝงอยู่ อารมณ์ประมาณว่า “ฉันไม่ได้แค่ตามแฟชั่นนะ แต่กำลังฝึกให้ตัวเองใจเย็นและลึกซึ้งขึ้นด้วย”

.

อีกจุดที่สำคัญเลย คือ การตลาดและโซเชียลมีเดียที่หนุนให้ภาพลักษณ์ “มัทฉะ + พิลาทีส” ยิ่งชัด วิดีโอสั้นใน TikTok หรือ Instagram Reels ที่โชว์การชงมัทฉะแบบละเมียด แล้วตัดเข้าคลาสที่กำลังเล่น Reformer สวย ๆ มักทำให้คนดูรู้สึกว่า “ว้าว เขาดูเฮลที ดูมีรสนิยม ดูเหมือนใช้ชีวิตสงบแบบ Mindful แต่ก็ฟิตแอนด์เฟิร์ม” เลยไม่แปลกที่จะฮิตและมีผู้คนมากมายลองตามกัน สุดท้ายจึงเกิดเป็นกระแสที่หลายคนยอมเปย์ เพื่อจะได้ฟีล Aesthetic แบบนี้

แต่ทั้งหมดก็ใช่ว่าจะเหมาะกับทุกคน บางคนอาจจะไม่โอเคกับรสขมของมัทฉะเลย บางคนอาจชอบแนวคาร์ดิโอหรือเวตเทรนนิงที่สร้างกล้ามเนื้อได้ชัดมากกว่าพิลาทีส และบางคนอาจอยากประหยัดค่าเครื่องดื่มกับคลาสออกกำลังกายโดยไม่ต้องจ่ายขนาดนั้น ก็ทำได้เหมือนกันโดยไม่ผิดอะไร แม้ว่าคำว่า “เทสดี” จะฟังดูเป็นการแปะป้ายว่าต้องเป๊ะ ต้องแพง ต้องเรียบหรู แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจหมายถึง “การเลือกไลฟ์สไตล์ที่เข้ากับตัวเอง” กรณีมัทฉะกับพิลาทีส ถ้าใจเรารัก ก็ดื่มและเล่นได้อย่างชื่นมื่น ไม่ต้องสนว่ารอบข้างจะว่าตามเทรนด์หรือเปล่า เพราะอย่างไรสุขภาพกายและใจ เราก็ได้ประโยชน์อยู่ดี แถมยังมีความสุขกับรสชาติชาเขียวและบรรยากาศในสตูดิโอที่เราชอบ ยิ่งถ้าออกแบบไลฟ์สไตล์เองด้วยการลองปรับเมนูมัทฉะให้เหมาะสมกับเรา (อาจไม่ใส่น้ำตาลเยอะ) หรือเริ่มจาก Mat Pilates เพื่อประหยัดงบก่อน แล้วค่อยอัปสกิลเป็น Reformer มันก็กลายเป็นมินิสเต็ปที่ยั่งยืนได้เช่นกัน

.

(3) อยากเริ่ม “Matcha + Pilates” ให้เวิร์ก

เริ่มจากเลือกผงมัทฉะให้เหมาะสม ลองเริ่มจาก “Culinary Grade” หรือเกรดรองลงมา ถ้าเรายังไม่ชัวร์ว่าตัวเองจะอินกับรสมัทฉะแค่ไหน อาจไม่ต้องพุ่งไป Ceremonial Grade ทันที เพราะเกรดสูงแบบนั้น ราคาค่อนข้างแรง (และมักเหมาะกับการชงแบบใส ไม่เติมอะไร) เลือกผงมัทฉะที่ระบุว่า “เหมาะกับลาเต้” (บางแบรนด์อาจเรียก Cooking Grade หรือ Premium Grade) ซึ่งยังคงรสชาติดี ราคาเป็นมิตรขึ้นเยอะ เหมาะกับการชงแบบประหยัด หรือลองทำฟองมัทฉะง่าย ๆ

จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีชุดตีชาละเอียดแบบญี่ปุ่นเป๊ะ ๆ เสมอไป หากเรามีที่ตีฟองนมเล็ก ๆ หรือช้อนคนแรง ๆ ก็พอใช้ได้ (แม้ฟองอาจไม่เนียนเท่า แต่ประหยัดไปได้มาก) เคล็ดลับคือใช้น้ำอุณหภูมิไม่สูงเกิน (ประมาณ 70 - 80°C) แล้วค่อย ๆ คนผงชาให้ละลายก่อนเติมนมหรือน้ำแข็ง เพื่อให้ผงมัทฉะไม่จับตัวกันเป็นก้อน

.

ลดน้ำตาล ลดวิปครีม = สุขภาพดีขึ้น + เซฟค่าแคลอรี ถึงมัทฉะจะมีภาพลักษณ์สุขภาพดี แต่พลาดได้ง่ายตรงที่ “เติมน้ำเชื่อม ซีรัป วิปครีม” มากเกินไป สุดท้ายอาจได้แคลอรีพุ่งแทน หากอยากดื่มแบบหวาน ลองใช้น้ำผึ้งหรือน้ำตาลอ้อยเล็กน้อย (ไม่จำเป็นต้องเป็นซีรัปแพง ๆ ) หรือใครรักสุขภาพขั้นสุด อาจดื่มแบบใส ๆ ก็จะรับรสขมหวานละมุนของใบชาเต็ม ๆ

บริหารงบ + ทดลองเมนูใหม่ สมมติปกติเราแวะคาเฟ่สัปดาห์ละ 3 วัน ลองลดเหลือ 1 - 2 วัน แล้วชงกินเองที่บ้านในวันที่เหลือ จะช่วยประหยัดได้มาก รวมไปถึงลองสร้างสรรค์เมนูง่าย ๆ เช่น มัทฉะผสมนมอัลมอนด์เย็น ๆ หรือมัทฉะสมูททีกับกล้วยและผักโขม (ได้สารอาหารเพิ่มอีก) ก็ฟินไปอีกแบบ

.

ไปกันต่อที่ ฝึกพิลาทีสอย่างไร ให้ดูสวยสง่าและไม่ล้มละลาย เริ่มที่ Mat Pilates ก่อน เพื่อให้รู้จริต Mat Pilates เป็นพื้นฐานที่ดี ใช้อุปกรณ์แค่เสื่อ ช่วยให้เข้าใจหลักการหายใจ การวางแนวกระดูกสันหลัง และการเกร็งหน้าท้องอย่างถูกต้อง หากยังไม่อยากเสียค่าเรียน ลองเลือกดูคลิปใน YouTube มีครูฝึกต่างชาติต่างสไตล์มากมาย ค่อย ๆ เลือกคลิปที่ระดับ Beginner เพื่อเซฟอาการเจ็บและปรับตัวได้ง่าย หรือลองลงคอร์สกลุ่มราคาสบายกระเป๋า ก่อนอัปไป Reformer ซึ่งสตูดิโอหลายแห่งมีคลาส “Beginner Mat Pilates” หรือคลาสกลุ่มแบบแชร์ราคา เมื่อมั่นใจว่าเราอินกับแนวนี้จริง ค่อยไปสู่ Reformer Pilates ที่ได้ใช้เครื่องเฉพาะ ช่วยเสริมแรงต้านหลายระดับ คอยสังเกตโปรโมชั่นหรือแพ็กเกจรายเดือนของสตูดิโอ ถ้าเราเล่นสม่ำเสมอ ซื้อแพ็กเกจอาจถูกกว่าจ่ายเป็นคลาส ๆ

ค่อย ๆ เพิ่มความท้าทาย ไม่ต้องรีบลงคลาสแพงสุด Reformer มีหลายระดับ มีทั้งคลาสลองเล่นครั้งแรก / ครั้งที่สองราคาพิเศษ (บางที่เรียกว่า Intro Class) ให้โอกาสเราได้ลองเครื่องมือก่อนตัดสินใจซื้อแพ็กเกจใหญ่ สุดท้ายถ้าอยากเล่น Megaformer ก็ต้องถามตัวเองว่าพร้อมรับแรงต้านที่โหดขึ้นไหม สตูฯ หลายแห่งค่าเรียนสูงพอตัว เพราะเป็นเครื่องล้ำสมัย จึงควรลองเช็กความพร้อมทางร่างกายและกระเป๋าก่อน

.

วางตารางเวลาและงบประมาณชัดเจน ลองวางแผนว่าจะเล่นพิลาทีสสัปดาห์ละกี่วัน หรือสลับกับกิจกรรมอื่น เช่น เดินเร็ว วิ่ง หรือเวตเทรนนิง เพื่อให้ร่างกายได้ออกแรงครบทุกส่วน และไม่เบื่อง่าย อย่าลืม! จดบันทึกรายจ่ายเกี่ยวกับคลาสและชาเขียวไว้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อควบคุมไม่ให้บานปลาย เราจะได้ประเมินได้ว่า “ฉันใช้เงินกับคอมโบนี้คุ้มค่าไหม” และปรับตัวให้เหมาะสม

.

(4) แล้วสรุปว่า “Matcha + Pilates” ดีจริงไหม หรือเป็นแค่เทรนด์?

จริง ๆ แล้วทั้งมัทฉะและพิลาทีสมีคุณค่าในตัวเองอย่างไม่ต้องสงสัย มัทฉะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ดื่มแล้วค่อย ๆ ปล่อยคาเฟอีน ไม่กระตุ้นให้ใจสั่นพรวดพราดเหมือนกาแฟดำ ในขณะที่พิลาทีสก็เป็นศาสตร์ที่ช่วยเสริมการทรงตัวและสร้างความแข็งแรงจากข้างในให้กับร่างกาย โดยเฉพาะแกนกลางลำตัว แถมยังช่วยปรับบุคลิกและบรรเทาอาการปวดหลังได้ดี หากทำอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี

ส่วนเรื่อง “ดูแพง” หรือ “เทสดี” นั้น เป็นผลพลอยได้จากการที่ทั้งสองอย่างนี้มีขั้นตอนละเอียด พรีเมียม และสื่อถึงการใส่ใจสุขภาพแบบมีสไตล์ ซึ่งจะตามกระแสหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่คน แต่หากใครได้ลองจนค้นพบว่าตัวเองชอบรสขมเขียวนี้ ชอบการออกกำลังกายแบบสงบสมาธิ ก็อาจหลงรักคอมโบนี้ได้ไม่ยาก จะซื้อผงมัทฉะแบบ Ceremonial มาตีโฟมเองที่บ้าน แล้วก้าวไป Mat Pilates ในห้องนั่งเล่น หรือจะสมัครคลาส Reformer แพง ๆ ก็ล้วนแล้วแต่ “จริต” และ “กำลังทรัพย์” ของเรา

.

ไม่ว่าเราจะตามเทรนด์หรือมีเหตุผลอื่นที่มองว่า “นี่ล่ะ คู่หูผู้พิชิตสุขภาพ” ก็ไม่ผิด ขอแค่มั่นใจว่าทั้งสองสิ่งตอบโจทย์เราในตอนนี้ และที่สำคัญคือดื่ม - เล่นแล้วแฮปปี้ ไม่รู้สึกฝืนกดดัน แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เรารักและดูแลสุขภาพได้อย่างสม่ำเสมอในแบบที่เป็นตัวเองจริง ๆ

เพราะสุดท้ายแล้ว “การมีเทสที่ดี” ก็คงจะหมายถึงการรู้จักเลือกสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเรา และมีความสุขกับมันมากกว่าแค่การทำตามกระแส เท่านั้นเอง!

.

References:

Swatchbyamda, Pilates: Status Symbol or Workout? (2024)

https://swatchbyamda.squarespace.com/blog/pilates-status-symbol-or-workout

Lydia Spencer - Elliott, How matcha lattes became a wellness status symbol (2024)

https://www.independent.co.uk/life-style/matcha-lattes-wellness-price-b2635082.html

Mikala Jamison, The long con of Pilates culture (2024)

https://bodytype.substack.com/p/the-long-con-of-pilates-culture

MatchaMinded.us, More Of The Health Privileges Of Matcha Tea (2016)

https://medium.com/@matchamindedus/more-of-the-health-privileges-of-matcha-tea-e765a420ce09

.

#Wongnai #WongnaiBeauty #BeautyStory #Pilates #Matcha #CleanGirl #Aesthetic