เมื่อช่วงอาทิตย์ก่อนได้ไปดูรายการเรียลิตี้เกาหลี Single’s Inferno SS4 มา ผู้เข้าร่วมรายการบางคนนี่ นั่งดูแล้วแบบ “เอ๊ะ! คนนี้ Red Flag อยู่หรือเปล่านะ?” ยิ่งดูยิ่งคิดตามว่า “เออ บางทีนี่มันคล้ายสถานการณ์ชีวิตจริงของเราเลยนี่!”
เชื่อว่าหลายคนเคยมีคำถามประมาณนี้ผ่านหัวเวลาไปเดต หรือคุยกับคนรักอยู่ดี ๆ แล้วดันมีพฤติกรรมแปลก ๆ โผล่มาให้เราใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ รู้สึกไม่สบายใจแต่ก็อธิบายไม่ถูก เลยอาจเผลอพูดกับเพื่อนว่า “แก นี่มันธงแดงปะวะ?” สุดท้ายกลับโดนเพื่อนตอบว่า “มึงคิดมากไปหรือเปล่า” กลายเป็นเราเองที่สงสัยจนปวดหัวเข้าไปใหญ่
แล้ว Red Flag คืออะไร แปลว่าเขาไม่น่าคบตรง ๆ เลยเหรอ? หรือบางทีเราคิดเยอะไปเอง? เราเข้าใจคำนี้ถูกแล้วหรือเปล่า ใครที่ยังงง ๆ ว่า “ฉันกำลังเจอ Red Flag อยู่ปะวะเนี่ย?” Beauty Story Ep. นี้ พาไปสำรวจพร้อมกันค่ะ
.
(1) Red Flag มาจากไหน? ทำไมใคร ๆ ก็พูดถึง
ขอเกริ่นก่อนว่า Red Flag ไม่ได้หมายถึงการโบกธงอะไรแบบกีฬาสี แต่เป็นศัพท์ที่หมายถึง “สัญญาณอันตราย” หรือ “สัญญาณเตือน” ในความสัมพันธ์ที่ทำให้เรารู้สึกหน่วง ๆ ไม่ชอบมาพากล เช่น พฤติกรรมควบคุมเกินไป ดูถูก เหยียดเรา หรือพูดบิดเบือนจนเราสับสน แบบ “นี่ฉันเพ้อเองเหรอ?” ทั้งที่เขาทำจริงนะ!
ทีนี้ใน Single’s Inferno เป็นรายการที่เราจะเห็นคนมาใช้ชีวิตร่วมกันในเวลาอันสั้น รีบจีบ รีบเดต รีบงอน รีบง้อ เลยทำให้ “ธาตุแท้” ของใครบางคนโผล่มาเร็วจี๋ ชนิดที่ผู้ชมอย่างเราเห็นปั๊บก็ตะโกนว่า “ธงแดงมั้ยคะ” บางซีนมันชัดจนคนดูแบบพวกเราได้บทเรียนเยอะมากว่า สเปคหน้าตาไม่ใช่ทุกอย่าง อย่าหลงกลเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอก เพราะถ้าเนื้อแท้ “ขม” ยังไงก็ขม!
.
พานั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปกันหน่อย จริง ๆ แล้ว Red Flag ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันฝังรากในประวัติศาสตร์มานานแล้ว! ซึ่งเราได้เห็นกันผ่านทั้งวรรณกรรม หรือบันทึกทางประวัติศาสตร์ ถ้าลองย้อนดูคู่รักชื่อดังในประวัติศาสตร์ จะเห็นว่ามีตัวอย่างของ Red Flag Relationships ให้ศึกษาเพียบ เช่น Mary, Queen of Scots กับ Henry Stuart ที่ตอนแรกเหมือนเป็นคู่ที่ลงตัว แต่พอแต่งงานไป Henry กลับแสดงธาตุแท้ออกมา เขาเป็นคนทะเยอทะยาน หึงหวง และเรียกร้องอำนาจแบบไม่ฟังใคร แถมยังสังหารคนสนิทของ Mary ต่อหน้าต่อตาเธอ ขณะที่เธอกำลังตั้งครรภ์! เป็นตัวอย่างชัด ๆ ของพฤติกรรม Overcontrol และความรุนแรงในความสัมพันธ์
Lord Byron กับ Lady Caroline Lamb เป็นอีกคู่ที่ดราม่าหนักมาก ถึงขั้นที่ Lady Caroline เคยพูดถึง Lord Byron ว่า “Mad, bad, and dangerous to know” หรือแปลได้ประมาณว่า “บ้าบอ อันตราย และไม่ควรเข้าใกล้” ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เต็มไปด้วยความหึงหวง ความไม่มั่นคง และการพยายามเอาชนะกัน สุดท้าย Lady Caroline ถึงกับทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจจาก Lord Byron นี่คือพฤติกรรมของความสัมพันธ์ที่ Codependent Relationship (ขาดเธอไม่ได้หัวใจขอสารภาพ) และเต็มไปด้วย Emotional Manipulation (ใช้เกมจิตวิทยาควบคุมอีกฝ่าย)
.
Napoleon กับ Joséphine ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นรักโรแมนติกของมหาบุรุษ แต่จริง ๆ แล้วคือ Red Flag Relationship ชัดเจน แม้ Napoleon จะหลงรัก Joséphine สุดหัวใจ แต่ก็เต็มไปด้วยความหึงหวง ขณะที่ Joséphine เองก็ไม่ซื่อสัตย์ ความสัมพันธ์ของพวกเขามีแต่ความหวาดระแวง และการใช้เกมจิตวิทยาต่อกัน หรือแม้แต่คู่รักศิลปินอย่าง Frida Kahlo กับ Diego Rivera ที่หลายคนยกย่องว่ามีรักที่ลึกซึ้ง ก็เต็มไปด้วย Red Flag จากการนอกใจซ้ำ ๆ ของ Diego และความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด
สิ่งที่น่าสนใจ คือ เรามักพบเห็นความสัมพันธ์เหล่านี้ในทุกยุคทุกสมัย มันแสดงให้เห็นว่ามนุษย์เรามีรูปแบบพฤติกรรมบางอย่างที่วนซ้ำกัน และ Red Flag ไม่ได้เพิ่งมาในสมัยนี้ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมาตลอดประวัติศาสตร์
ความแรงของคำว่า Red Flag ในยุคนี้ ไม่ได้แค่ช่วยให้เราตระหนักรู้เกี่ยวกับ Toxic Relationship แต่ยังเป็นเหมือน “แนวทาง” ให้คนรุ่นใหม่เช็กพฤติกรรมของตัวเองและคนรอบข้างว่ากำลังเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นภัยต่อสุขภาพจิตหรือเปล่า ซึ่งใน Single’s Inferno เองก็สะท้อนภาพนี้ออกมาได้ชัดเจน เราเลยอยากลองยกตัวอย่างบางคนมาให้เห็นกันแบบชัด ๆ
.
(2) พาไปส่องเกาะนรก
กลับมาที่ปัจจุบัน ขอบอกเลยว่าถ้าใครที่ติดตามรายการนี้ น่าจะมีความแอบ ๆ ลุ้นว่าคนที่เราเชียร์จะธงเขียวไปตลอดจนจบรายการเลยหรือเปล่า แต่บางคนนี่แค่ 2 อาทิตย์ ก็เริ่มแอบแลบ ๆ ธงแดงมาให้เห็นกันแล้วนะ อย่างเช่น ตาจุนซอ พ่อหนุ่มผมยาวของเรา ที่ลุคแรก ๆ ดูเป็นผู้ชายเย็นชา เงียบขรึม น่ารัก แต่พอเวลาผ่านไปกลับเริ่มมีพฤติกรรม “ปากร้าย” ใช้คำพูดไม่ถนอมน้ำใจ ถึงเนื้อถึงตัว และแสดงออกแบบไม่ให้เกียรติคนที่ตัวเองสนใจ ด้านพ่อจุนซู เจ้าของคาเฟ่ แม้จะดูอบอุ่นและละมุนไปหมด แต่กลับไม่ชัดเจนกับใครเลย ทำให้คนดูสงสัยว่าเขาเป็น “Nice Guy Syndrome” หรือแค่เฟรนด์ลี่เกินไปกันแน่? ส่วนแทฮวาน คนที่เกือบได้เป็นธงเขียวของใครหลาย ๆ คนแล้ว ดูสุภาพบุรุษ รักเดียวใจเดียว ล่าสุดก็มีธงเหลืองโผล่ เพราะดันเป็นคนที่ “พูดแต่เรื่องตัวเอง” ไม่ค่อยฟังหรือใส่ใจคู่เดตเท่าที่ควร (สงสารจียอนลูกแม่เหลือเกิน)
.
แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้ชายทุกคนใน Single’s Inferno จะมี Red Flag เหมือนกันหมด เอาจริงความมันของรายการคือการได้เห็นความหลากหลายของนิสัย และความน่ารักผสมดราม่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ตัวละคร Red Flag” ก็เป็นอีกตัวละครที่สร้างสีสันให้เราเอาไปขยี้ต่อได้
.
(3) เกร็ด Red Flag จาก “Single’s Inferno” สู่โลกจริง
แต่อย่าเพิ่งเผลอคิดว่า “ธงแดง” เป็นแค่เรื่องดราม่าในจอนะ เพราะในชีวิตจริง พฤติกรรมบางอย่างที่เราเห็นในรายการก็สามารถสะท้อนถึงปัญหาความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้จริง ๆ บางเรื่องอาจเป็นแค่ “นิสัยที่ไม่ตรงกัน” แต่บางอย่างอาจเป็นสัญญาณเตือนที่เราควรจับตา เพราะถ้าปล่อยผ่านหรือคิดว่า “ไม่เป็นไรหรอก” มันอาจกลายเป็น Toxic Relationship ได้โดยไม่รู้ตัว
.
อย่างที่บอก Red Flag ไม่ได้หมายถึงการทำผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะไม่มีใครสมบูรณ์แบบ 100% แต่สิ่งที่เราควรดูคือ “ความต่อเนื่องของพฤติกรรม” และ “การปรับตัว” ถ้าพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดซ้ำ ๆ โดยไม่มีความพยายามที่จะปรับปรุง หรือทำให้เราไม่สบายใจจนหมดพลังไปกับมัน แบบนี้ต้องเริ่มคิดแล้วว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้! แล้วอะไรบ้างที่ควรระวัง? มาลองไล่เช็กกัน
1. การสื่อสารที่ไม่เคารพกัน เราเห็นตัวอย่าง จุนซอ ที่บางครั้งพูดไม่ถนอมน้ำใจ หรือเรียกคำไม่สุภาพในสถานการณ์จริงจัง หากอีกฝ่ายทักแล้วยังทำซ้ำไม่ยอมหยุด = ระวังธงแดง
2. สองจิตสองใจ ไม่ชัดเจน ถ้าแค่ไม่แน่ใจเพราะเพิ่งเจอ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหลอกให้หลายคนหวัง แล้วไม่คิดจะเลือกใครเป็นจริงเป็นจัง จิตวิทยาเรียกว่า “Breadcrumbing” (หย่อนเศษขนมให้ตาม) เหมือนปั่นหัวกัน
3. เป็นผู้ฟังที่ไม่ดีเท่าไร เหมือนแทฮวาน ที่ไม่สนใจสักนิดว่าจียอน ฝันอยากมีครอบครัว นี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะทุกความสัมพันธ์ที่ดีต้องมีการฟังและเคารพกัน
4. อย่าลืมการตัดต่อรายการอาจทำให้เราตัดสินคนเร็ว แต่ในชีวิตจริง เราต้องใช้เวลาดูการกระทำ ไม่ใช่ตัดสินจากช็อตสั้น ๆ หรือเพราะคนรอบข้างบอกว่า “เขาไม่ดี” ทั้งที่ไม่เคยได้คุยจริงจัง
.
(4) หรือเหรียญจะมีสองด้าน
ในยุคที่ทุกอย่างถูกจัดหมวดหมู่เป็น Green Flag หรือ Red Flag ได้ในเวลาไม่กี่วินาที หลายครั้งเราอาจเผลอรีบติดป้ายใครสักคนจากพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่ได้มองลึกไปถึงเหตุและผลจริง ๆ แต่ความจริงแล้ว ความผิดพลาด กับสัญญาณอันตราย นั้นไม่เหมือนกัน พฤติกรรมที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดใจ อาจไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายเป็นคนแย่เสมอไป แต่อาจเป็นเพียงการสื่อสารที่ไม่ดี ความไม่เข้าใจ หรือแผลในอดีตที่เขายังรับมือกับมันไม่เก่งพอ
บางครั้งคนที่ดู “มีปัญหา” อาจไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น เช่น บางคนที่เคยถูกละเลยในอดีต อาจแสดงออกด้วยการปกป้องตัวเองก่อนเสมอ ทำให้ดูเหมือนว่า “เขาไม่แคร์” หรือบางคนเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้สอนเรื่อง Emotional Regulation (การจัดการอารมณ์) เลยสื่อสารไม่เป็น ดูห้วน หรือพูดไม่ถนอมน้ำใจโดยไม่รู้ตัว และก็ต้องยอมรับว่าเราเองก็อาจเคยเป็นแบบนั้นกับใครบางคนในบางช่วงชีวิตเหมือนกัน
.
อย่างไรก็ตามการเข้าใจอีกฝ่ายไม่ได้หมายความว่าเราต้องยอมรับทุกอย่างโดยไม่มีขอบเขต หากพฤติกรรมแย่ ๆ เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และเริ่มกระทบต่อความรู้สึกและสุขภาพจิตของเรา เมื่อนั้นก็ถึงเวลาที่เราต้องตัดสินใจว่ายังควรอยู่ในความสัมพันธ์นี้ต่อไปหรือไม่ ระหว่างการเปิดใจให้พื้นที่แห่งการสื่อสาร และการปกป้องตัวเองจากสิ่งที่บั่นทอน เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้และสร้างสมดุลให้เหมาะกับตัวเองที่สุดนะ
.
(5) ธงแดงของจริง vs. แค่ความไม่เพอร์เฟกต์
ในยุคที่ทุกพฤติกรรมของคนที่เราคุยด้วย สามารถถูกตีความเป็น Red Flag ได้ง่าย ๆ บางครั้งเราก็อาจเผลอเหมารวมว่า "ไม่ชอบ = ธงแดง" ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันอาจเป็นแค่ Yellow Flag หรือบางครั้งก็แค่ความไม่เพอร์เฟกต์ที่ทุกคนมี ซึ่งแนวคิดเรื่อง “ธงหลายสี” (Multi - Flag System) ช่วยให้เรามองความสัมพันธ์แบบมีมิติมากขึ้น
.
🚩 ตัวอย่างของธงแดงจัด ๆ ที่ต้องระวัง
> Gaslighting & Manipulation ทำให้เรารู้สึกผิด ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของเรา บิดเบือนความจริง หรือพูดจากลับคำไปมา จนเราสับสนและหมดความมั่นใจในตัวเอง
> การบังคับและคุกคาม ห้ามเราติดต่อเพื่อนหรือครอบครัวแบบไม่มีเหตุผล บงการทุกการกระทำ ควบคุมแม้แต่เสรีภาพในการใช้ชีวิต บางกรณีอาจถึงขั้นใช้ความรุนแรงทั้งทางวาจาและร่างกาย
> ละเมิดสิทธิส่วนตัว แอบดูโทรศัพท์ รื้อค้นโซเชียลมีเดีย แอบติดตามพิกัด หรือบังคับให้ต้องรายงานตัวตลอดเวลา
พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่อง “ไม่ตรงจริต” แต่เป็นสัญญาณอันตรายที่ควรตระหนัก เพราะมันอาจกลายเป็น Toxic Relationship หรือส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในระยะยาว
.
🟡 แล้วอะไรที่อาจเป็นแค่ Yellow Flag หรือแค่ความไม่เพอร์เฟกต์ทั่ว ๆ ไป?
> คนรักขี้หึง แต่ควบคุมได้ การหึงหวงเป็นเรื่องปกติในความสัมพันธ์ แต่ถ้าอีกฝ่ายสามารถคุยและปรับตัวได้เมื่อเราอธิบายเหตุผล ก็ไม่จำเป็นต้องตีเป็นธงแดงเสมอไป
> ทะเลาะกัน แต่มีการปรับความเข้าใจ คู่รักทุกคู่ต้องมีช่วงที่ไม่เข้าใจกันบ้าง สิ่งสำคัญคือมีการพูดคุย เปิดใจ และแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่หนีปัญหาหรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดตลอดเวลา
> นิสัยกวนใจบางอย่าง แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคใหญ่ เช่น ตอบแชตช้า หรือเป็นคนไม่ค่อยวางแผนล่วงหน้า อาจทำให้เราหงุดหงิดได้ แต่อาจเป็นเพียงนิสัยแปลก (Quirk) เล็ก ๆ ของเขาที่ปรับตัวเข้าหากันได้
.
🟢 แล้ว Green Flag ล่ะ?
บางครั้งเราอาจโฟกัสกับสิ่งที่ไม่ชอบมากไปจนลืมมองสิ่งที่ดีในตัวคนคนนั้น เช่น
> เขารับฟังและพยายามปรับตัว แม้จะมีข้อบกพร่อง แต่เขาพร้อมจะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง
> ให้พื้นที่และเคารพขอบเขตของเรา เข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องรายงานตัวทุกชั่วโมง ไม่บังคับให้เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้เขาสบายใจ
> มีความสม่ำเสมอและจริงใจ ไม่หายไปเฉย ๆ ไม่เล่นเกมกับความรู้สึก
.
มนุษย์ทุกคนมีทั้งด้านดีและด้านที่ไม่น่ารัก การใช้เลนส์ Multi - Flag มองแทนแค่ปักธงแดงอย่างเดียว ก็จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของความสัมพันธ์มากขึ้น และไม่ตัดสินใครจากพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกันหากธงแดงเริ่มมากเกินไปและทำให้เราสูญเสียตัวเอง ก็อย่าลังเลที่จะก้าวออกมานะ เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่ได้ต้องการความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ แต่ต้องการความสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และทำให้เรารู้สึกดีที่ได้อยู่ด้วยกัน
.
(6) แม้ Single’s Inferno จะลาจอไปแล้ว แต่ “Red Flag” ในชีวิตจริงยังอยู่ยาว
เรียลิตี้ในจออาจมีซีซั่นใหม่ แต่ในชีวิตจริง บางทีเราอาจเจอ “ซีซั่นธงแดง” ยาวกว่าซีรีส์ Game of Thrones ก็ได้ ที่สำคัญคืออย่าเพิ่งหมดหวังในความรัก เพราะ “Red Flag” ของบางคนอาจกลายเป็น “Yellow Flag” (กำลังปรับปรุง) หรือแม้กระทั่ง “Green Flag” (เคลียร์ของเขาแล้ว) ก็เป็นไปได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกจริง ๆ แต่ถ้ารอแล้วเขาไม่มีใจจะเปลี่ยน ยังกลับมาแทงใจเราทุกครั้ง เราก็ควรจบ “ซีซั่น” นี้ด้วยตัวเราเอง เพราะการออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ คือการรักษาหัวใจตัวเราให้ปลอดภัยที่สุดเลยนะ
.
สุดท้ายแล้วใครจะปักธงอะไรก็ช่างเถอะ เราต้องรักและเคารพตัวเอง อย่าปล่อยให้ใครมากดเราในรูปแบบ Gaslighting หรือบงการความคิดจนเสียศูนย์ ถ้าเราบอกว่า “ฉันยังทนได้” ก็ขอให้ทนอย่างมีเหตุผล และมีความหวังว่าเขาจะเปลี่ยนจริง ๆ ไม่ใช่เราแค่กลัวการเริ่มต้นใหม่ สุดท้ายมันจะเรื้อรัง ยิ่งอยู่ก็ยิ่งเสียใจ
—--------------------------------------------
References :
ASH, I’m Not a Red Flag, I’m Just a Person (2025)
Ruchika Bhat, ‘Single’s Inferno’ Season 4 Episodes 9 - 10 Recap & Review : Who Will Si - An Choose? (2025)
https://dmtalkies.com/singles-inferno-season-4-episodes-9-10-recap-2025/
Patia Braithwaite, Everything Isn't a Red Flag—Here’s How to Tell the Difference (2020)
https://www.self.com/story/red-flag-green-and-yellow-flags
Self US, We need to have green and yellow flags for relationships, too (2022)
Jessica Leggett, 5 Toxic Romances From History (2020)
https://www.historyanswers.co.uk/people-politics/5-toxic-romances-from-history/
Psychology Today Staff, Breadcrumbing (2025)
https://www.psychologytoday.com/gb/basics/breadcrumbing
.
#Wongnai #WongnaiBeauty #RedFlag #Relationship #SingleInferno