เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็เป็น หรือไม่ก็คนรอบตัวเพื่อนสนิทมั่งล่ะ เวลาที่ฟังเพลงเศร้า ฟังเพลงอกหัก เพลงเหงา ๆ ยิ่งฟัง ยิ่งช้ำ ยิ่งเศร้า ทั้งที่เราก็ไม่ได้มีประสบการณ์ตามในเนื้อเพลงอะไรเลย ชีวิตก็ปกติดี เป็นเพราะอะไรกัน? ทั้ง ๆ ที่เป็นเพลงเศร้า เรื่องราวลบ ๆ แต่หลายคนก็มักจะชอบฟังเอามาก ๆ หรืออาจจะเป็นการเสพติดชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดอาการเศร้าทิพย์ตามมา!
Sadness Paradox เหตุผลที่ชอบฟังเพลงเหงา ๆ แล้วเกิดอาการเศร้าทิพย์
เราทุกคนคงไม่มีใครอยากพบเจอกับความเศร้าโศกเสียใจ มากกว่าความสุขในการใช้ชีวิตอยู่แล้ว แต่แปลกที่คนส่วนใหญ่มักจะนิยมชอบฟังเพลงเศร้ามากกว่าเพลงมันส์ ๆ สนุก ๆ เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Sadness Paradox หรือ “ความเศร้าที่ย้อนแย้ง” โดยในทางจิตวิทยาอธิบายไว้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เพลงเศร้าทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลินได้ โดยการสร้างภาพลวงตาของอารมณ์เชิงลบนั้นขึ้นมา แม้ว่าเราจะไม่ได้เศร้า แต่เราก็สนุกไปกับการฟังเพลงเศร้า หรือเวลาที่ดูหนังเศร้าได้เช่นกัน เกิดเป็นอาการ "เศร้าทิพย์" ตามที่ชาวเน็ตนิยมเรียกกัน
รู้จักอาการเศร้าทิพย์
อาการเศร้าทิพย์ คือ การที่เราเศร้ากับอะไรก็ไม่รู้ เศร้าแบบไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีเหตุผล เป็นอารมณ์ที่พอฟังเพลงเศร้าหรือดูหนังเศร้า ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมใด ๆ เลย แต่สามารถอินกับมันได้ง่าย ๆ ความจริงแล้วอาการเศร้าทิพย์ ก็เหมือนเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ให้เราได้สัมผัส และเรียนรู้กับความรู้สึกเศร้าในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งมันมีข้อดีกับการจัดการอารมณ์และความรู้สึกของเราได้อีกด้วย
อาการเศร้าทิพย์ ไม่จำเป็นว่าชีวิตจริงต้องเศร้าเสมอไป!
การฟังเพลงเศร้า ดูหนังเศร้า ก็สามารถทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ เช่น ช่วยระบายอารมณ์ โดยเพลงเศร้าจะหลอกให้สมองมีส่วนร่วมในการตอบสนองตาม และปล่อยฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ออกมา หลังจากนั้นจะเกิดความสงบ โล่งใจ และปราศจากความรู้สึกเชิงลบได้ ทั้งนี้ยังช่วยย้อนความหลังเก่า ๆ ทำให้เราหวนนึกถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาได้อีกด้วย ท่วงทำนอง ดนตรี หรือเนื้อหา ทั้งหมดนี้ล้วนสามารถดึงเรากลับไปรำลึกความทรงจำเก่า ๆ ของช่วงชีวิตหนึ่งได้ อีกข้อดีของการฟังเพลงเศร้าที่น่าสนใจ นักจิตวิทยาหลายคนที่ศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของเพลง ให้ความเห็นในทางเดียวกันว่า คนที่ชอบฟังเพลงเศร้า หรืออินกับเพลงเศร้า จะเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นสูง เพราะเพลงเศร้ามักจะแฝงเหตุการณ์ที่เศร้าเสียใจเอาไว้ และเมื่อเราได้ฟัง จึงเกิดเป็นกระบวนการที่เราพยายามเข้าใจและรู้สึกถึงความรู้สึกที่อีกคนกำลังพบเจออยู่
เศร้าทิพย์ ทำให้เราได้เรียนรู้และพร้อมรับมือกับความเสียใจ
การดื่มด่ำกับการฟังเพลงเศร้า ดูหนังเศร้า ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่เคยมีประสบการณ์นั้น ๆ เหมือนเป็นการเปิดประสบการณ์การรับรู้สิ่งใหม่ ๆ รู้ว่าความรู้สึกเศร้านั้นเป็นอย่างไร สำหรับบางคนที่มีชีวิตเรียบง่ายไม่เคยพบเจอกับความเสียใจ เมื่อเราได้สัมผัสกับความเศร้าจริง ๆ เราจะมีความเข้าใจ และรู้ว่าต้องจัดการกับความรู้สึกอย่างไร การที่เราเสพติดความเศร้าทิพย์ มักจะทำให้เราเป็นคนที่เข้มแข็งขึ้น และชินชากับความรู้เศร้าได้ง่าย ๆ เมื่อมันมาถึงจริง ๆ
ดังนั้นการเสพติดความเศร้าอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป การที่เราเกิดอาการเศร้าจนร้องไห้ออกมา จะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เหมือนเป็นการระบายอารมณ์ออกมาให้ผ่อนคลายลงได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามขอแนะนำว่า เราควรเสพติดความสุขจากความ “เศร้าทิพย์” ด้วยความพอดีและมีสติ เพราะหากมากเกินไปอาจทำให้เราจมอยู่กับความเศร้าโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราได้
Reference :
blogs.unimelb.edu.au, (2018) “The Sadness Paradox – Why do we enjoy listening to music that makes us sad?” [Online] เข้าถึงได้จาก shorturl.asia/I62qb สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2564
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่…