Beauty Story Ep.10 แม่เลี้ยงเดี่ยว = Green flag

Beauty Story Ep.10 แม่เลี้ยงเดี่ยว = Green flag

ชายแทร่หายไปไหน ในสมการครอบครัวอบอุ่น? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันว่า แม่เลี้ยงเดี่ยวกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกมากกว่าพ่อได้ยังไงกันค่ะ
writerProfile
10 ส.ค. 2024 · โดย

ในยุคที่ชาวเน็ตมีโซเชียลมีเดียอย่าง ‘X’ ไว้บ่นเรื่อยเปื่อย หรือเป็นนักเอดดุเขตเวลาเจอใครให้ข้อมูลมั่วซั่วนั้น ล่าสุดมีโพสต์หนึ่งที่พูดถึงนักยิงปืนเกาหลีสาวมาดเท่แม่ลูกหนึ่งในโอลิมปิก 2024 ที่ผ่านมาอย่าง ‘คิมเยจี’ ในทำนองว่า “มีแม่เท่ขนาดนี้อวดคนทั้งโรงเรียนแน่” ทำให้ชาวเน็ตต่างเข้ามาแชร์เรื่องราวของคุณแม่ตัวเองที่ได้เจอปัญหาต่าง ๆ และฝ่าฟันอุปสรรคมาได้กันเพียบ จนเป็นเธรดให้อ่านกันฉ่ำ ๆ ไปเลย

และถ้าสังเกตดี ๆ จะมีหลายคนออกมาแชร์เรื่องราวของ ‘แม่เลี้ยงเดี่ยว’ กันเยอะมาก แถมยังพูดถึง ‘พ่อ’ น้อยลง นั่นทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมสังคมให้ความสำคัญกับแม่มากขึ้น แต่บทบาทของพ่อกลับค่อย ๆ หายไปจากสมการของครอบครัวอบอุ่น

.

Beauty Story Ep.10 นี้ เลยขอพาทุกคนไปดูเรื่องราวของแม่เลี้ยงเดี่ยว และร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันว่า แม่เลี้ยงเดี่ยวกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกมากกว่าพ่อได้ยังไงกันค่ะ

(1) แม่เลี้ยงเดี่ยว = Green flag?

ย้อนกลับไปในสมัยก่อน สังคมไทยมักจะมองแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์ บกพร่องเรื่องการมีครอบครัว เนื่องจากมีค่านิยมว่าผู้หญิงที่มีลูกแล้วต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก ปรนนิบัติสามี และดูแลบ้านทั้งวันทั้งคืน ทำให้แม่เลี้ยงเดี่ยวรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า และไม่กล้าเปิดเผยว่าตัวเองเลี้ยงลูกเพียงลำพัง เพราะไม่มีสามีคอยอุ้มชูตัวเองอีกต่อไป

แต่ขอโทษทีค่ะ…ตอนนี้บทบาทของผู้หญิงได้เปลี่ยนไป แม่ยุคใหม่เขาออกไปทำงานกันหมดแล้วจ้ะ! นั่นทำให้สังคมยอมรับ และยกย่องแม่เลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น เพราะคนเป็นแม่ต้องทำหน้าที่ทั้งสองบทบาทได้อย่างดีที่สุด อยู่นอกบ้านเป็นสาวทำงานมากความสามารถ เต็มเปี่ยมด้วยความสวยและความมั่นใจ กลับบ้านปุ๊บ แปลงร่างเป็นคุณแม่ผู้ใจดี เลี้ยงดูลูกด้วยความรักและเอาใจใส่ เพื่อให้ลูกเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม

.

ยิ่งไปกว่านั้น เห็นด้วยกับผู้เขียนมั้ยคะ ว่าผู้หญิงมีความอ่อนโยน ในหลาย ๆ ครั้ง และรับรู้เข้าใจความรู้สึกที่ซับซ้อนมากกว่าเพศชาย เราจะเห็นว่านางสามารถตีความอะไรลึกซึ้งได้มากกว่าอยู่เรื่อย ๆ อีกทั้งยังเป็นผู้คุ้มครองที่แข็งแกร่งกว่าที่หลายคนคิด เพราะเป็นคนอุ้มลูกในท้องหนัก ๆ นานถึง 9 เดือนแหนะ เนี่ย! แม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นซะอย่างนี้ จะไม่ให้ลูกรัก ไว้ใจ และยกแม่ตัวเองให้เป็น Green flag ได้ยังไงล่ะ…จริงไหม?

(2) ชายแทร่ = Red flag?

ต้องเล่าก่อนว่า ‘ชายแทร่’ หรือ ‘ชายแท้’ ไม่ได้หมายถึงเพศสภาวะว่าเป็นชายแท้แมนทั้งแท่งแบบนั้น แต่หมายถึงการเปรียบเปรยถึงผู้ชายที่มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ ไม่เคารพผู้หญิง หรือเพศหลากหลายเลยต่างหาก

ปัจจุบันที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญ ผู้ชายบางคนกลับรู้สึกไม่พอใจที่ผู้หญิงมีอำนาจมากขึ้น จึงนำไปสู่การมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อคนในครอบครัว โดยสามารถเห็นได้จากละคร ซีรีส์ และภาพยนตร์ตามสื่อต่าง ๆ ที่สามารถสะท้อนถึงปัญหาครอบครัวได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีชาวเน็ตออกมาแชร์ปัญหาครอบครัวที่มีสามี / พ่อนิสัยชายแทร่ในโซเชียลมีเดียกันเพียบ ทำให้คนทั่วประเทศได้อ่านเรื่องราวทั้งหมดนั้น และเข้าใจได้ว่า…

“นอกใจภรรยา มีเมียน้อย”

“ด่าทอด้วยวาจาหยาบคาย”

“วางอำนาจ ให้ภรรยาทำงานบ้านคนเดียวอย่างกับคนรับใช้”

“ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ”

“ทิ้งผู้หญิงให้อยู่กับปัญหา ไม่รับผิดชอบใดๆ”

.

ทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมที่แย่มากที่สุด ถือเป็น Red flag ของแม่และลูกเลยก็ว่าได้ ทำเอาผู้หญิง ผู้ชาย (Not all) รวมทั้ง LGBTQIA+ ทั้งหลายต่างพากันขยาดชายแทร่ และไม่มีใครให้คุณค่าของชายแทร่อีกต่อไป

เพราะเหตุนี้ ทำให้คู่สมรสหลายคู่ตัดสินใจหย่าร้าง และกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในเวลาต่อมา ก็แหมมม ถ้าจะมีสามีที่นิสัยชายแทร่ขนาดนี้ ยอมเป็นแม่ที่ดูแลตัวเองได้ และเลี้ยงลูกคนเดียวสวย ๆ แบบ แอฟ ทักษอร หรือ แอนนี่ บรู๊ค ยังจะดีกว่า จิงมั้ยคะ

(3) อุปสรรคชิ้นใหญ่ของแม่เลี้ยงเดี่ยว

ถึงภายนอกจะมองว่าแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นคนเก่งเพราะสามารถทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วยพร้อมกันได้อย่างน่าเหลือเชื่อ แต่ลึก ๆ ภายในใจของแม่เลี้ยงเดี่ยวแอบมีความกลัวซ่อนอยู่ เพราะเคยเผชิญกับความเจ็บปวดทางใจจากการโดนหักอก (โดยชายแทร่) อีกทั้งยังกังวลด้วยว่าจะเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร

สิ่งแรกที่ต้องเผชิญแน่ ๆ คือ ความเครียด เพราะเมื่อชายแทร่ผู้เป็นสามีหายไปจากชีวิต ความรับผิดชอบจึงตกอยู่ที่แม่เลี้ยงเดี่ยว 100% ไม่ว่าจะต้องทำงานนอกบ้านและเลี้ยงลูกพร้อมกัน แถมยังพ่วงมาด้วยความรู้สึกล้มเหลวในชีวิต ความโดดเดี่ยว รวมทั้งความกังวลเรื่องบุตรที่กลัวจะมีปมเรื่องพ่อจนกลายเป็นแผลฝังใจลูกด้วย

.

อย่างที่สองที่ต้องเผชิญก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเงิน แม่เลี้ยงเดี่ยวหลายคนกังวลว่ารายได้จะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายของลูกมั้ย แถมสถานการณ์ก็บีบบังคับให้แม่เลี้ยงเดี่ยวต้องทำงานเสริมเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการทำ OT หรือการหาอาชีพที่สอง แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับเวลาในการเลี้ยงลูกและสุขภาพที่พักผ่อนน้อยลง

.

อย่างสุดท้ายคือเรื่องของสังคม แม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเสียสละเวลาทั้งหมดของตัวเองในการเลี้ยงลูก เพราะไม่มีพ่อเด็กช่วยผลัดหน้าที่ดูแลลูก ทำให้มีเวลาออกไปเจอเพื่อน และญาติพี่น้องน้อยลง นำไปสู่ความรู้สึกที่อ้างว้าง โดดเดี่ยว เหมือนเผชิญปัญหาอยู่เพียงลำเพียง

(4) แต่ฉันก็ทำได้ ฉันทำได้ ฉันทำได้!

แม้การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในแง่มุมต่าง ๆ แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ เริ่มจากประเด็นของความเครียด อาจจะต้องบอกกับตัวเองอยู่เสมอว่าเราจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้วนะ เราจะต้องยืนหยัดด้วยตัวเองให้ได้ในสักวัน

นอกจากจะให้กำลังใจตัวเองแล้ว เราต้องให้กำลังใจลูก ให้ลูกมั่นใจในตัวแม่ และพร้อมที่จะใช้ชีวิต และเติบโตไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง ก็จะช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กันและกันได้อย่างดี แต่ที่สำคัญ อย่าลืมบอกความจริงกับลูกด้วยล่ะเพราะลูกก็ต้องรู้เรื่องราวของพ่อในสักวัน (แม้จะชายแทร่ขนาดไหนก็เถอะ) เพื่อให้ลูกได้คิด พิจารณา และปรับตัวกับสถานการณ์ครอบครัวได้

ส่วนประเด็นเรื่องเงิน มีงานวิจัยเรื่อง “ความหมายและการสร้างอำนาจภายในของแม่เลี้ยงเดี่ยวในสังคมไทย” ระบุไว้ว่า แม่เลี้ยงเดี่ยวมีรายได้ประจำที่แน่นอน และมั่นคง แนะนำให้วางแผนการเงิน และใช้จ่ายอย่างรัดกุม จะช่วยให้สามารถประคับประคองครอบครัวให้อยู่รอดได้

.

แล้วถ้าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีปัญหาเรื่องเงินล่ะ จะทำยังไง?

สำหรับเคสนี้ล่ะก็ อาจจะขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่ไว้ใจได้ เช่น ครอบครัวเดิม ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิท ในการช่วยเลี้ยงลูก หรือให้คำปรึกษาเรื่องการเงิน เพื่อให้สามารถตั้งตัวได้ และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่แข็งแกร่ง และสง่างามกว่าเดิม

ส่วนเรื่องประเด็นสังคม อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นแหละว่า สังคมให้ความสำคัญกับแม่เลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวเกิดขึ้นมากมาย พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น และยินดีที่จะแชร์ประสบการณ์เลี้ยงลูกให้กันและกัน ลองไปผูกมิตรกับพวกเขาสิ อย่างน้อยก็ช่วยให้สองแม่ลูกไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไปล่ะนะ

.

(5) สุดท้าย ชายแทร่ยังจำเป็นกับลูกอยู่ไหม?

ถึงพ่อจะชายแทร่แค่ไหน สุดท้ายก็ตัดความเป็นพ่อลูกไม่ได้อยู่ดี อยู่ที่แม่เลี้ยงเดี่ยวจะพิจารณาแล้วล่ะค่ะว่า พ่อของลูกมีท่าทีจะสำนึกผิดกับสิ่งที่ได้ก่อเอาไว้หรือไม่ ถ้าเขารู้ตัวเองแล้วว่าผิด และพร้อมจะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมจริง ๆ มีชอยส์ให้เลือก 2 ทาง ซึ่งไม่ว่าจะเลือกไปทางไหน ก็สามารถเติมเต็มสมการครอบครัวอบอุ่นได้อย่างสมบูรณ์

1. การกลับไปใช้ชีวิตแบบครอบครัว “พ่อแม่ลูก” อีกครั้ง

2. เป็น “มิตรที่ดีต่อกัน” คอยช่วยเหลือเรื่องการเลี้ยงลูกอยู่ใกล้ ๆ

.

แต่ แต่ แต่! ถ้าพ่อของลูกยังคงมีนิสัยชายแทร่ไม่เลิก ไม่คิดจะปรับปรุงตัวเองให้มีแนวคิดที่ดีขึ้น และสร้างความเป็นพิษให้ผู้อื่น ก็จะเหลือเพียงตัวเลือกเดียว คือ Thank you, next! แยกย้ายเท่านั้นจ้ะ เพราะถึงแม้ชิ้นส่วนของสมการครอบครัวอบอุ่นอย่างพ่อจะหายไป แต่แม่เลี้ยงเดี่ยวยุคใหม่ก็สามารถเลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่ง คนดี เติบโตอย่างมีคุณภาพเองได้อย่างภาคภูมิใจ

สุดท้าย ในวันแม่ปีนี้ Wongnai Beauty ขอเป็นกำลังใจให้แม่เลี้ยงเดี่ยวทุกคนสู้ ๆ เชื่อในสัญชาตญาณของความเป็นแม่เอาไว้ เพราะความรักที่มีต่อลูกอย่างไม่มีเงื่อนไขจะสามารถทำให้คนเป็นแม่ลุกขึ้นสู้ และฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์เลยล่ะค่ะ สู้นะคะ! เพื่ออนาคตที่สดใสของแม่และลูก

.

และอย่าลืมติดตามเพจเราไว้นะคะ ครั้งหน้าจะมาเล่าอะไรให้ฟังอีก รอได้เลยค่า ~
----------------------------------------------------------------------

References

กนกพิชญ์ อุ่นคง, ‘ชายแทร่’ Toxic masculinity เริ่มต้นที่บ้าน โรงเรียน หรืออื่นใด?: คุยกับ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน (2567)

ชุติมา โลมรัตนานนท์ และภาวิกา ศรีรัตนบัลล์, อุดมคติและความเป็นจริงเรื่องความแม่ของผู้หญิงทำงาน (2556)

ณัฐกา สงวนวงศ์, ความหมายและการเสริมพลังอำนาจภายในของแม่เลี้ยงเดี่ยวในสังคมไทย (2561)

นิลุบล สุขวณิช, เริ่มชีวิตใหม่ยังไงให้ไม่ทำร้ายตัวเองและลูกเมื่อต้องเลี้ยงเดี่ยว (n.d.)

มูลนิธิหมอชาวบ้าน, 8 ข้อคิดเมื่อตัดสินใจเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว (2565)

.

#Wongnai #WongnaiBeauty #BeautyStory #SingleMother #แม่เลี้ยงเดี่ยว #วันแม่2567