นอนดึก ภัยเงียบเสี่ยงสารพัดโรค รู้แล้วต้องแก้!
  1. นอนดึก ภัยเงียบเสี่ยงสารพัดโรค รู้แล้วต้องแก้!

นอนดึก ภัยเงียบเสี่ยงสารพัดโรค รู้แล้วต้องแก้!

สาว ๆ คนไหนชอบนอนดึกควรรู้! พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพโดยตรง ว่าแล้วมาเช็กกันหน่อยดีกว่า นอนดึกบ่อย ๆ ให้โทษยังไงบ้าง
writerProfile
23 ก.ย. 2019 · โดย

เราเชื่อว่าสาว ๆ ที่จิ้มเข้ามาต้องเป็นคนนอนดึกเหมือนเราแน่นอนนน ต้องบอกก่อนว่าการนอนดึกมันไม่ได้ส่งผลดีกับร่างกายของเราเลยค่ะ เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตและอื่น ๆ อีกมากมายอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เรานอนดึกมากขึ้นในทุก ๆ วัน แต่เราเข้าใจ ทำงานมาเหนื่อย ๆ มันก็ต้องทำกิจกรรมอย่างอื่นก่อนนอนบ้าง วันนี้ Wongnai Beauty เลยจะพาทุกคนไปรู้จักกับพฤติกรรมการนอนดึกให้มากขึ้น ทั้งสาเหตุ ผลเสีย และวิธีแก้ปัญหา ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยค่ะ

สาเหตุของการนอนดึก

สาเหตุของการนอนดึก

มีคนบอกว่าการนอนคือการพักผ่อนที่ดีและง่ายที่สุด เป็นการชาร์จพลังให้กับตัวเองหลังจากเหนื่อยมาทั้งวันกับกิจกรรมต่าง ๆ แล้วทำไมเรายังนอนดึกกันอยู่อีกนะ ยิ่งช่วงวัยรุ่นแบบเรา ๆ ถ้าจะพูดถึงสาเหตุของการนอนดึก เราต้องมาทำความรู้จักกับเจ้าฮอร์โมนชนิดนึงกันก่อน ชื่อของมันคือ เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายควบคุมการนอนหรือตื่นได้ ฉะนั้นการที่เรานอนดึกหรือนอนไม่หลับ ก็อาจเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของการผลิตเมลาโทนินนี่แหละ ว่าแล้วไปดูสาเหตุที่ทำให้เรานอนดึกกันหน่อยดีกว่า

  • สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม หากมีเสียงดังหรือแสงสว่างที่มากจนเกินไป อาจทำให้นอนไม่หลับ ถ้านอนหลับก็หลับแบบไม่สนิทเพราะร่างกายอาจรู้สึกว่ายังไม่ถึงเวลานอน
  • เปลี่ยนเวลานอน อันนี้อาจเกิดกับคนที่ต้องทำงานกลางคืน นอนกลางวัน ทำให้ต้องเปลี่ยนเวลานอนตลอดเวลา อย่างพวกพยาบาล แอร์โฮสเตส ถ้าทำงานกะกลางคืนก็ต้องปรับเรื่องเวลานอนกันยกใหญ่เลยละค่ะ
  • เจ็ตแล็กเรื่องเวลา เป็นอีกสาเหตุของการนอนดึกที่สำคัญของคนชอบเที่ยว มันเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงนาฬิกาการใช้ชีวิตทุกครั้งที่เราเดินทาง
  • ดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน อาจมีผลทำให้เราไม่รู้สึกง่วง หรือรู้สึกตื่นอยู่ตลอดเวลา
  • กินยาที่ทำให้ง่วง ยาบางชนิดอาจทำให้เรารู้สึกง่วง หลังจากกินยาเข้าไป จึงทำให้มีปัญหากับเวลานอนที่ไม่เหมือนเดิม

นอกจากสาเหตุการนอนดึกที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีปัจจัยเรื่องอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกิจกรรมในแต่ละวันที่ทำ การติดเกม ติดทีวี ติดมือถือ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ก็อาจส่งผลให้การผลิตเมลาโทนินในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

ผลกระทบจากการนอนดึก

ผลกระทบจากการนอนดีก

เชื่อว่าหลายคนคงรู้ดีว่าการนอนดึกและนอนไม่หลับนั้น ไม่ได้เกิดผลดีกับตัวเองแน่นอน การนอนเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพอย่างมาก แล้วถ้าเรานอนไม่เพียงพอหรือนอนดึก จะมีผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง เราขอแบ่งผลกระทบของการนอนดึกเป็น 2 ประเภทดังนี้

ผลระยะสั้น

  • ความจำลดลง รู้หรือไม่ว่ามีผลวิจัยว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่ มีพฤติกรรมนอนน้อย เมื่อเทียบกับคนปกติ ความอ่อนเพลียจากการนอนดึก ทำให้เรามีสมาธิแย่ลง ซึ่งส่งผลกับความจำโดยตรงเลยค่ะ
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ยิ่งเรานอนดึกหรือนอนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ความสามารถในการตัดสินใจ หรือการใช้เหตุผลแก้ปัญหาต่าง ๆ ลดลงด้วย

ผลระยะยาว

ในช่วงที่เรานอนหลับจะมีฮอร์โมนชนิดนึงทำหน้าที่ซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย นั่นคือ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งช่วงเที่ยงคืนถึงตี 1 ครึ่ง จะป้องกันไม่ให้เราดูแก่ กระดูกไม่พรุน แถมทำให้ระบบเผาผลาญดีอีกด้วย เพราะฉะนั้นก็หมายความว่า ยิ่งเรานอนดึกมากเท่าไร ก็จะทำให้ร่างกายไม่มีการหลั่งโกรทฮอร์โมน และยิ่งเราขาดโกรทฮอร์โมน ก็ย่อมมีผลเสียทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ ดังนี้

  • โรคหัวใจ เคยมีงานวิจัยในกลุ่มคนทดลองที่ไม่ได้นอนเป็นเวลานาน พบว่าจะมีความดันเลือดสูงมากผิดปกติ ซึ่งก็ส่งผลให้เป็นโรคหัวใจโดยตรงเลยค่ะ
  • โรคเบาหวาน การนอนดึกจะส่งผลให้ร่างกายของเราไม่ผลิตอินซูลินออกมา ซึ่งอินซูลินมีหน้าที่ดูดซึมน้ำตาลในกระแสเลือด ฉะนั้นการนอนดึกจึงอาจทำให้เป็นโรคเบาหวานได้เหมือนกัน
  • โรคอ้วน คนนอนดึกคือคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ จึงทำให้มีความอยากอาหารมากขึ้น แบบนี้แหละที่ทำให้เสี่ยงต่อการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรืออ้วนขึ้นนั่นเอง
  • โรคมะเร็ง ความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดเกิดมาจากการนอนดึก เช่น มะเร็งสำไส้ ได้มีการวิจัยออกมาว่าคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ถึง 47% จะมีอาการของมะเร็งลำไส้ มากกว่าคนที่นอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมงขึ้นไป
  • ภาวะซึมเศร้า ผลเสียของการนอนดึกที่ใกล้ตัวเรา ส่งผลถึงอารมณ์หลังจากตื่นนอน เช่นมีความคิดในเชิงลบ ชอบวิตกกังวล หรือคิดมาก 

วิธีแก้ปัญหาการนอนดึก

วิธีแก้ปัญหาการนอนดึก

สำหรับใครที่อยากรู้วิธีแก้ปัญหาการนอนดึกบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องยาก เราต้องเริ่มจากการปรับพฤติกรรมของตัวเองก่อน แล้วต้องทำยังไง หรือนอนแบบไหนให้มีคุณภาพดี มีวิธีแก้ดังนี้

  • นอน 4 ทุ่ม การนอนเร็วจะยิ่งทำให้ร่างกายได้รับการซ่อมแซมมากขึ้น ฉะนั้นคนนอน 4 ทุ่มไม่ได้เป็นเด็กอนามัยแค่รักสุขภาพค่ะ
  • ไม่กินของหวานก่อนนอน เพราะการกินของหวานก่อนนอน จะทำลายการผลิต Growth Hormone ของร่างกายได้
  • ทำจิตใจให้สงบ ไม่คิดมากกับเรื่องต่าง ๆ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ก่อนนอนได้ยิ่งดี
  • งดเล่นมือถือก่อนเข้านอน 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ยิ่งเราได้รับแสงสีฟ้าในเวลากลางคืนจะยิ่งทำให้สมองคิดว่าตอนนี้เป็นเวลากลางวัน และนอนดึกได้
  • งดดื่มกาแฟ 3 ชั่วโมงก่อนนอน เพราะทำให้เกิดปัญหาการนอนหลับไม่ลึกได้
  • ปิดห้องมืดขณะนอน หากในห้องนอนมีแสงสว่างมากไป ก็อาจทำให้เรานอนไม่หลับ

รู้แบบนี้แล้วเรายังอยากนอนดึกอยู่ไหมน้าาา มีโทษเยอะขนาดนี้ ขอแนะนำให้สาว ๆ รีบนอนกันเถอะ หากให้นอนเร็วตอนนี้คงจะยังไม่ชิน แต่รับรองว่าถ้าค่อย ๆ ปรับเวลานอน ก็จะทำให้เราชินไปเอง ซึ่งการนอนเร็วมันส่งผลดีกับสุขภาพเรามากมายแบบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ส่วนใครที่ตอนนี้นอนหลับยาก เราก็มี 6 วิธีแก้อาการนอนไม่หลับ สูตรธรรมชาติ มาฝากด้วย รีบกดเข้าไปอ่านกันได้เลย เคล็ดลับเพียบ !