#วงในบอกมา
- ความตั้งใจแรกของร้าน "The Never Ending Summer" เป็นเพียงโรงอาหารสำหรับพนักงานที่ทำงานอยู่ในละแวกนั้น นำเสนอเมนูโปรดของคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกเจ้าของโครงการ The Jam Factory
- เมนูของที่ร้านจะมีการสับเปลี่ยนอยู่เสมอขึ้นอยู่กับวัตถุดิบในแต่ละเดือน หากคุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ทางร้านจะไม่นำเมนูนั้นมาใส่ในรายการอาหาร
- ข้อความติดบนประตูกระจกหน้าร้าน อ่านว่า "Carpe Diem" (คา-เป-เดียม) ในภาษาละติน แปลว่า Seize the Day “การเก็บเกี่ยวช่วงเวลาแห่งความสุข ณ ปัจจุบัน" เป็นเสมือนปรัชญาให้กับเหล่าพนักงานและผู้มาเยือน
เพราะอาหารไทยไม่ได้เป็นแค่อาหารรสชาติคุ้นลิ้นที่เราคุ้นชิน แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละยุคสมัย รสชาติซ่อนเร้นของวัตถุดิบท้องถิ่น และฝีมืออันพิถีพิถันของเหล่าบรรดาพ่อครัวแม่ครัว ผู้ใส่ใจในการปรุงอาหารมากกว่าแค่จัดใส่จานแล้วจัดเสิร์ฟ นี่คือเหตุผลที่กุ๋ยไม่ลังเลเลยที่จะปักหมุดไปที่ ร้าน "The Never Ending Summer" เมื่อเพื่อนสาวฝรั่งตาน้ำข้าวเอ่ยปากขอให้พาไปร้านอาหารบรรยากาศดี ๆ สักร้าน “ขอรสชาติแบบคนท้องถิ่น” เธอว่ามาแบบนี้ได้เลยกุ๋ยจัดให้ :D
เราสองคนโบกมือลารถติดบนนถนน ขอใช้ชีวิตแบบชิล ๆ ฮิป ๆ นั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาให้ลมเย็น ๆ ตีหน้าเพลิน ๆ ถ่ายเซลฟีกันได้ไม่ถึงสามอัลบั้ม กระแสน้ำก็พาเรามาเจอแหล่งโอเอซิสในแบบฉบับชาวธนบุรี กับร้าน "The Never Ending Summer" ร้านบรรยากาศดีตั้งอยู่บนพื้นที่ของโครงการ The Jam Factory เป็นการปัดโฉมโกดังน้ำแข็งเก่าให้กลายเป็นร้านอาหารไทยบรรยากาศดี รายล้อมด้วยเหล่าพืชพันธุ์นานาชนิด เพียงแค่ผลักประตูเข้าไป ความเย็น (แน่นอนจากเครื่องปรับอากาศ) ช่วยดับร้อนได้เป็นอย่างดี
บรรยากาศในร้านตกแต่งในสไตล์อินดัสเทียล คงความดิบของโครงสร้างโกดังเก่า ปูนเปลือย อิฐ และกระจกใส เข้ากันได้ดีกับสีเขียวหลากเฉดของเหล่าบรรดาเฟิร์นน้อยใหญ่ ที่แขวนอยู่เรียงรายหากไม่เกะกะสายตา
“เฟิร์นของเราต้องมีคุณหมอคอยดูแล นำไปออกไปให้น้ำทุกวันตั้งแต่ 6 โมงเช้า” คุณแอ้มหุ้นส่วนร้านไขข้อสงสัยให้ฟัง มันไม่ใช่เรื่องง่ายในการรักษาเฟิร์นในสภาวะแวดล้อมเช่นนี้ คนรักแต่(ไม่)เลี้ยงต้นไม้อย่างกุ๋ยพอจะรู้มาบ้าง
เราเลือกโต๊ะกลางร้านข้างหน้าต่างใสบานใหญ่ เพื่อแสงธรรมชาติจะสาดส่องเข้ามาทำให้มื้อนี้พิเศษกว่าเคย ณ เวลานั้นกุ๋ยเข้าใจเลยว่าทำไมร้านถึงชื่อว่า "The Never Ending Summer" หรือฤดูร้อนไม่มีที่สิ้นสุด ขณะรออาหารเพื่อนฝรั่งของกุ๋ยเพลิดเพลินกับการปรุงอาหารอย่างพิถีพิถันของบรรดาพ่อครัวแม่ครัวในส่วนของ Open Kitchen แม้จะมีกระจกใสกั้นอยู่ แต่ก็เหมือนกับกลิ่นหอมนั้นจะลอยทะลุออกมาได้ยังไงยังงั้น
“แค่ดูก็รู้สึกอิ่มแล้ว” เธอหัวเราะก่อนผละสายตามามองเมนูเรียกน้ำย่อยจานแรกบนโต๊ะ “ข้าวตังหน้าตั้ง” (250 บาท) ที่ร้านนี้จะทอดข้าวตังออกมาเป็นแพใหญ่ ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เอ็นจอยกับเท็กซ์เจอร์ข้าวตังแบบที่ตัวเองชอบ หักส่วนปลายข้าวตังออกมาดังกร๊อบ ตักราดด้วยเครื่องเคียงจากการโขลกเนื้อหมู และกุ้ง ความฟูกรอบเข้ากันได้ดีกับความหอมมันของกะทิและกลิ่นหอมของเครื่องเทศ หัวใจสำคัญ คือ น้ำตาลปี๊ป ทางร้านเลือกใช้น้ำตาลปี๊ปจากสมุทรสาคร ที่ผู้ผลิตลงทุนปีนเก็บตาลจากต้นมาเคี่ยวเองด้วยวิธีโบราณ เพื่อคงรสจากธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด
ถัดมาคือ “เนื้อติดมันย่างเสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มแจ่ว” (440 บาท) เนื้อริบอายออสเตรเลียย่างด้วยอุณหภูมิพอเหมาะ ได้กลิ่นหอมของมันเนื้อที่ผ่านการเผาไหม้ เนื้อในสีชมพูสวยแบบมีเดียมแรร์ กินคู่น้ำจิ้มแจ่วหอมฟุ้งกลิ่นข้าวคั่ว ตะไคร้ ใบมะกรูด ความกลมทุกมิติของรสเปรี้ยว จากน้ำมะขาม สอดรับกับความเค็มน้ำปลาแท้จากตราดได้เป็นอย่างดี เป็นเมนูกับแกล้มที่กุ๋ยอยากเก็บตุนไว้ข้างแก้มก่อนค่อย ๆ ลิ้มรสให้นานที่สุด
บางครั้งตอนเที่ยงแบบนี้ เราก็คงไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าอาหารฝีมือแม่รสชาติคุ้นเคยที่ทำให้อิ่มท้อง ไม่ต้องจัดจ้าน ไม่ต้องแฟนซีจ๋า ขอเพียง “ข้าวอบกุนเชียงใส่ไก่” (350 บาท) ปรุงและเสิร์ฟในหม้อดิน ข้าวยโสธรเม็ดเรียวเรียงตัวสวย ไก่ส่วนสะโพกหมักเข้าเนื้อ กุนเชียงที่มีสัดส่วนของมันและเนื้ออย่างเท่าเทียมกัน มัดใจด้วยการโปะไข่ดาวเยิ้ม ๆ ปิดท้าย ตักเข้าปากให้มีทุกองค์ประกอบพร้อมกัน หลับตาพริ้มยิ้มหวาน
รสชาติของความสุขยังไม่หมดเท่านี้เมื่อยื่นช้อนไปตัก “พะแนงเนื้อติดมัน” (450 บาท) จานนี้ค่อนข้างวัดใจสักหน่อย พะแนงตามร้านทั่วไปน้ำมันกับเนื้อแกงแยกกันจนน่ากลัว แต่ทันทีที่ช้อนสัมผัสเนื้อแกงกุ๋ยก็ยิ้มออกมาด้วยความพอใจ แกงพะแนงเนื้อข้น สีส้มละมุน พริกแกงตำเอง-ผัดเองหอมเด่นชัด เนื้อริบอาย Dry Aged นำไปตุ๋นไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง เพื่อให้เนื้อนุ่มซึมซับความหวานละมุนของเครื่องแกงพะแนงไว้ทุกคำที่ลิ้มรส
อาหารไทยจานสุดท้ายถูกเสิร์ฟ พร้อม ๆ กับความไม่แน่ใจบนสีหน้าของเพื่อนสาวต่างชาติ “กลิ่นอาจจะแปลกไปเสียหน่อย แต่อยากให้เปิดใจลอง แล้วค่อย ๆ เรียนรู้มัน” อาจจะดูเกินไปสำหรับการปลุกใจเพื่อลองชิมอาหารสักเมนู แต่การเข้าถึงความเป็นท้องถิ่นคงไม่สุดจริง ถ้าเราไม่เปิดใจ จริงไหม ? “น้ำพริกกะปิแมงดา” (290 บาท) ไม่ใช่หากินกันง่าย ๆ ไม่มีแหล่งซัพพอร์ตตลอดปี หากช่วงไหนที่แมงดานาไม่ได้คุณภาพ ทางร้านก็จะไม่ใส่ใว้ในเมนู ค่อย ๆ บรรจงตักน้ำพริกราดลงบนผักเคียงตามฤดูกาล ผักต้มราดกะทิตามภูมิปัญญาโบราณ ร่างกายจะดูดซึมวิตามินเอจากผักได้ดีเมื่อละลายในไขมัน ก่อนแกล้มด้วยปลาทูเนื้อแน่น ช่วยดับกลิ่นแมงดา ลำพังน้ำพริกกะปิกับปลาทูก็เข้ากันได้ดีอยู่แล้ว เมื่อเจอความหอมของแมงดาเข้าไป พวกเราต่างยกมือขอข้าวเพิ่มกันรัว ๆ
เราสองคนรวบช้อนพร้อมกับนั่งนิ่งให้ทุกโสตสัมผัสเก็บทุกรสชาติความทรงจำมื้อนี้เอาไว้ ไม่บ่อยนักที่จะเจอร้านอาหารไทยร่วมสมัย ใส่ใจคัดสรรวัตถุดิบ ปรุงอย่างพิถีพิถัน ท่ามกลางบรรยากาศดี ๆ แบบนี้ เสียงดนตรี Jazz เล่นคลอเบา ๆ ชวนให้ผ่อนคลาย The Never Ending Summer อาจไม่ได้บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า “ฉันนี่แหละ คือ ร้านอาหารไทย” แต่การผสมผสานความดั้งเดิมของสูตรอาหารให้เข้ากับบรรยากาศของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปต่างหาก คือ หัวใจสำคัญของร้านที่กุ๋ยสัมผัสได้
เมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน เพียงแค่เห็นแม่มณีก็อุ่นใจ เพราะมั่นใจเลยว่า มื้อนี้จะสั่งมาอีกกี่เมนูก็ไม่ต้องห่วงเรื่องตังค์ในกระเป๋า (หากเรามีเงินในบัญชี >_<) ขอยกนิ้วให้กับความใส่ใจในใจไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ของร้านนี้เขาเลยจริง ๆ ค่ะ เพียงแค่สแกนจ่ายเงินผ่าน QR Code แม่มณี ของที่ร้าน แค่นี้ง่าย ๆ สะดวกสบาย เหมาะกับคนไม่ชอบพกเงินสดอย่างกุ๋ยเป็นที่สุด
ก่อนก้าวเท้าออกจากร้านเหลือบไปเห็นตัวหนังสือบนกระจก “ Carpe Diem” หันมาพยักหน้าแบบที่รู้กันสองคน “กิน ดื่ม และรื่นรมย์ เพราะพรุ่งนี้เราตาย” วรรณกรรมสมัยโรมันเขาว่าไว้แบบนั้น :)
การเดินทาง
หลีกหนีความวุ่นวายของโลกภายนอก มาพักใจอิ่มกายกันที่ร้านอาหารคลองสานอย่างร้าน "The Never Ending Summer" วิธีที่สะดวกสุด คือ เรือข้ามฟาก ขึ้นได้สองท่าเรือ หากขึ้นจากท่าเรือสี่พระยาให้มาลงที่ท่าเรือคลองสาน แล้วเดินเลาะทางเดินริมแม่น้ำมาเรื่อย ๆ แต่ถ้าลง BTS สะพานตากสิน ขึ้นท่าเรือข้ามฟากสะพานตากสิน ให้ลงที่ท่าเรือ est แล้วเดินทะลุคลองสานพลาซ่า เลี้ยวขวาแรก The Jam Factory จะอยู่ทางขวามือ