เราห่วยจริง หรือโลกมันโหด? เมื่อชีวิตวัย 30 ไม่ Success อย่างที่หวัง
  1. เราห่วยจริง หรือโลกมันโหด? เมื่อชีวิตวัย 30 ไม่ Success อย่างที่หวัง

เราห่วยจริง หรือโลกมันโหด? เมื่อชีวิตวัย 30 ไม่ Success อย่างที่หวัง

เมื่อชีวิตเดินทางเข้าสู่เลขสาม เคยรู้สึกกันบ้างไหมคะว่าทำไมเรายังไม่ก้าวหน้าเท่าคนอื่น วันนี้ Beauty Story เลยเขียนถึงคนสู้ชีวิตที่คิดว่าตัวเองยังดีไม่พอกันค่ะ
writerProfile
13 ก.พ. 2025 · โดย

เมื่อชีวิตเดินทางเข้าสู่เลขสาม เคยรู้สึกกันบ้างไหมคะว่าทำไมเรายังไม่ก้าวหน้าเท่าคนอื่น ยังมีเงินเก็บน้อย ยังย่ำอยู่ที่เดิม เพื่อนวัยเดียวกันนี่เค้าไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ยิ่งคิดยิ่งนอยด์ แต่ก็เลิกคิดไม่ได้สักที เราเองก็เป็นหนึ่งในคนกลุ่มนั้นค่ะ เลยเป็นที่มาของ Beauty Story ในวันนี้ ขอเขียนถึงเหล่าคนสู้ชีวิตที่คิดว่าตัวเองยังดีไม่พอกันหน่อย

หวังว่าบทความนี้จะเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ทุกคนมีแรงสู้กันต่อนะ!

.

(1) ว่าด้วยวัยสามสิบในสังคม

ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีนี้ เรียกได้ว่าเป็นเหมือนฤดูกาลงานแต่งงานของเพื่อน ๆ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน งานแต่งงานของเหล่าเพื่อนฝูงจะว่าไปก็คล้ายกับงานรวมรุ่นอยู่เหมือนกันนะคะ เพราะเป็นงานที่เต็มไปด้วยกลุ่มคนที่ครั้งนึงเคยร่วมทุกข์สุขสมัยเรียน หัวข้อบทสนทนาก็คงหนีไม่พ้นการอัปเดตว่าชีวิตช่วงที่ไม่เจอกันแต่ละคนผ่านอะไรมาบ้าง หลายคนอาจจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้า หลายคนอาจจะวางแผนขอแฟนแต่งงาน หลายคนก็กำลังเป็นพ่อแม่มือใหม่

.

เรื่องราวที่เราเล่าไปข้างต้น เชื่อว่าผู้อ่านที่น่ารักต้องมีประสบการณ์ร่วมมาบ้างแน่นอน การรับรู้ว่าเพื่อนสมัยเรียนที่ยังทำตัวบ้า ๆ บอ ๆ ด้วยกัน แต่พอเวลาผ่านไปหลายปีกลับก้าวหน้าและเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก (ไม่ได้พูดด้วยความอิจฉานะ ได้โปรดเชื่อกัน) บางทีมันก็อดไม่ได้ที่จะเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบเล็ก ๆ เวลาหันกลับมามองตัวเองว่า “แล้วตัวเราล่ะ ตอนนี้ประสบความสำเร็จอะไรบ้างแล้ว ?”

.

(2) ความสำเร็จ(รูป)ที่โตมาด้วยกัน

ตามประสาคนไทยชนชั้นกลางก็มักจะต้องเจอความคาดหวังจากครอบครัวและสังคมมาตลอดช่วงชีวิต ในตอนที่เป็นวัยเรียนก็มักจะโดนครอบครัวคาดหวังให้เรียนได้เกรดดี ๆ ทำกิจกรรมเยอะ ๆ ถ้าครอบครัวซีเรียสหน่อยก็คงโดนคาดหวังให้เลือกเรียนในสายอาชีพที่การันตีได้ว่าทำงานได้เงินเดือนดี ๆ พอใกล้เรียนจบก็ไม่พ้นคำถามว่าจะเลือกทำงานที่ไหน หรือมีแผนจะเรียนต่อมั้ย? ขยับมาเป็นช่วงอายุที่ใกล้เลขสามหรือเข้าสู่วัยสามสิบต้น ๆ ก็คงไม่พ้นคำถามถึงเรื่องแฟน การแต่งงาน หรือการครอบครองทรัพย์สินที่เป็นรูปธรรมอย่างบ้านหรือรถ

ถ้าเราแบ่งช่วงชีวิตเราออกเป็นส่วน ๆ วัยเด็กเราโดนคาดหวังเรื่องการเรียน วัยทำงานโดนคาดหวังเรื่องหน้าที่การงาน ความก้าวหน้า พอโตขึ้นก็เป็นเรื่องชีวิตคู่และการก่อร่างสร้างตัว คิด ๆ ดูก็เหมือนสังคมวางแผนสำเร็จรูปให้เราเหมือนกันนะ

.

แต่แผนสำเร็จรูปแบบนี้มันเหมาะกับคนทุกคนรึเปล่า ?

.

เมื่อคืนช่วงดึก ๆ เราเพิ่งเปิดประเด็นสนทนาในหัวข้อนี้กับเพื่อนวัยเลขสามที่พึ่งถูกกลุ่มเพื่อนสมัยมัธยมของเขาตั้งคำถามใส่ว่า “จะแต่งงานเมื่อไร ?” บทสนทนาไหลลื่นไปได้ไกลเพราะเราทั้งสองคนต่างแชร์ประสบการณ์ที่เคยโดนสังคมคาดหวังถึงการประสบความสำเร็จในอดีต แถมทั้งเราและคุณเพื่อนต่างก็เปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนรอบตัวเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน (ทั้งที่เราทั้งคู่ก็ไม่ได้ทำงานขี้ริ้วขี้เหร่ ก็มีความลูกพระยานาหมื่นในระดับหนึ่ง) เอาเข้าจริงก็ออกแนวด้อยค่าตัวเองอยู่เหมือนกัน แต่คุณเพื่อนก็ได้ทำการเรียกสติเราด้วยประโยค “มันอยู่ที่คุณ Define คำว่า ‘ความสำเร็จ’ ของคุณเองมากกว่าว่าจุดไหนที่คุณพอใจ”

.

(3) ทำไมคนไทยต้องคาดหวังกับคนอื่นขนาดนี้

บริบทสังคมไทยที่ตัวเราเองสัมผัสมานานตั้งแต่รู้ความ ก็พบเจอชุดความคิดที่พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนสูง ๆ มีหน้าที่การงานดี ๆ เพราะสังคมไทยมีค่านิยมเรื่อง “ยิ่งเรียนสูง สถานะทางสังคมยิ่งสูงตาม” (ส่วนตัวเราก็หาเหตุผลมาปฏิเสธค่านิยมนี้ไม่ได้เหมือนกัน) ทำให้ความคาดหวังเรื่องแรก ๆ จากพ่อแม่มักจะเป็นการผลักดันให้ลูกเรียนเก่ง มีการศึกษาที่ดี เพราะเชื่อว่าการศึกษาที่ดีจะเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เจอประสบการณ์ใหม่ ๆ เพิ่มลู่ทางในอนาคต และอาจเพิ่มอำนาจในชีวิตได้

รู้ไหมคะว่าค่านิยมเรื่องการปลูกฝังให้คนไทยเรียนสูง ๆ นี่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพราะว่าในตอนนั้นประเทศต้องการข้าราชการที่มีคุณภาพจำนวนมากไปเข้าไปทำงานในกระทรวง ทบวง กรม กอง เพื่อพัฒนาประเทศไทย กลายเป็นค่านิยมที่เราคิดว่าคงส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงรุ่นปัจจุบันนี่แหละ

.

หรือจะเป็นความคาดหวังให้ตัวเองหน้าเรียวเล็ก ผิวต้องเนียนละเอียด รูปร่างต้องไร้ไขมันส่วนเกิน ก็ Beauty Standard และ Beauty Privilege ในประเทศนี้มันช่างแรงซะเหลือเกิน แค่เป็นคนหน้าตาดีก็มีแสง มีคนหยิบยื่นโอกาสให้มากกว่า แล้วจะมีเหตุอันใดที่จะไม่ขวนขวายหรือถีบตัวเองให้เป็น Better Version เพื่อเพิ่มโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตกันล่ะคะ ?

.

(4) เมื่อชีวิตวัย 30 ไม่ Success

ทั้งค่านิยมที่ส่งต่อกันในครอบครัว ทั้งค่านิยมที่เรารับมาจากสังคม มันก็สร้างนิสัยเสียบางอย่างให้กับเราขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว นิสัยนี้คือ “Comparing Mindset” หรือ อาการชอบเปรียบเทียบระหว่างตัวเองกับคนอื่น ถึงอาการนี้จะไม่ใช่อาการจิตเวชที่หนักหนาร้ายแรง แต่แน่นอนว่ามันไม่ Healthy ต่อสุขภาพจิตแน่นอน

หลายคนคงเคยเห็นกระทู้ที่ตั้งชื่อว่า “อายุ 30 มีเงินเก็บหลักหมื่น น้อยไปไหม ?” “อายุ 30 ยังโสด จะมีโอกาสมีแฟนได้อีกไหม ?” ในเว็บบอร์ดผ่านตามาบ้าง นี่ยังไม่รวมเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่พากันอวดความสำเร็จในชีวิตทั้งการมีผู้ติดตามหลักล้าน การซื้อบ้านด้วยเงินสดทั้งที่อายุยังน้อยอีกนะ เราอดคิดไม่ได้เลยว่าการเปรียบเทียบตัวเองที่ยังย่ำอยู่กับที่กับคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างก้าวกระโดดนี่คือชุดความคิดที่เกิดขึ้นเนื่องจากความคาดหวังของสังคมรึเปล่า

.

ต่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ขุ่นมัวที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับอยู่ดีว่านิสัยเสียเล็ก ๆ นี้มันทำร้ายเรามาเป็นเวลานาน ทุกครั้งที่เราตั้งใจทำงานจนรู้สึกว่าเก่งขึ้น “แต่ยังเก่งไม่พอ” เพราะมัวแต่เทียบตัวเองกับคนอื่นที่เก่งกว่า ทุกครั้งที่เราตั้งใจดูแลตัวเอง หาวิธีแต่งหน้าปรับลุคจนคนรอบข้างชมว่าสวยขึ้น “แต่ยังสวยไม่พอ” เพราะมัวไปเทียบตัวเองกับคนที่สวยกว่า โดยลืมไปว่าคนเรามันเริ่มต้นมาไม่เท่ากัน อย่างเรื่องงานเราก็ชอบลืมไปเสมอว่าเราอาจจะเริ่มต้นศึกษางานช้ากว่าคนอื่น ชั่วโมงบินน้อยกว่า หรือเรื่องความส๊วยยยที่ต้นทุนพ่อแม่ก็ให้เรามาเท่านี้ แต่จริง ๆ แล้วเราตั้งใจดูแลตัวเอง ออกกำลังกายมาไม่ใช่น้อย! ต่อให้เราอาจจะยัง “ดีไม่พอ” เท่าที่เรากดดันตัวเอง แต่เราก็ “ดีกว่าเดิม” มากแล้วนะ

นิสัยเสียข้อนี้ เราคงไม่สามารถปรับ Mindset แล้วลบมันออกไปได้ภายในเร็ววัน แต่การตระหนักรู้ถึงอารมณ์ของตัวเอง ไม่เปรียบเทียบและไม่มองแค่ผลลัพธ์ ลดความคาดหวังที่มีต่อตัวเองลงสักนิดหนึ่งอาจจะเป็นวิธีประคองสุขภาพจิตให้ไม่ประสาทแหลกไปมากกว่านี้ ขออนุญาตแชร์หน่อยว่าปีนี้เราตั้งใจจะหันกลับมารักตัวเองเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายแล้วก็จัดการทำ Vision Board นิดหน่อยไว้เพื่อให้ตัวเองนึกภาพความสำเร็จเป็นรูปธรรม แต่ขอบอกว่าเราตั้งเป้าแบบ Realistic ไม่อยากให้มันฝืนนิสัยตัวเองมากเกินไปจนกลายเป็นเพิ่มความกดดันให้ชีวิต แต่มีไว้เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้พัฒนาตัวเองต่างหาก

.

ส่วนตัวเราไม่อยากกดดันตัวเองจนเครียด แต่ก็ไม่อยากปล่อยจอยจนตัวเองไม่มีเป้าหมายในชีวิต การหาวิธีตรงกลางประมาณนี้อาจจะเป็นวิธีที่เวิร์คสำหรับเรา ส่วนใครที่ยังอยากพัฒนาตัวเอง แต่ไม่อยากเครียดมากเกินไป ลองเริ่มลดความคาดหวังในตัวเองลง จะได้กดดันตัวเองน้อยหน่อย จะเอาวิธีเราไปใช้ก็ได้นะ ได้ผลเป็นอย่างไรก็อย่าลืมกลับมาบอกกันบ้าง!

.

Beauty Story Episode ถัดไปจะชวนมาพูดถึงเรื่องราวแบบไหน ต้องอย่าลืมติดตาม Wongnai Beauty ทั้งช่องทาง Facebook, Instagram และ TikTok แล้วล่ะค่ะ!

.

อ้างอิง

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สืบค้นเมื่อ 2568 , “ค่านิยม” กับทิศทางการศึกษา เมื่อระบบก้าวไม่ทันความคิดของคนรุ่นใหม่

https://lsed.tu.ac.th/published-message-content-54

Ooca, 2567, “สารพัดสิ่งที่คนวัย 30 ต้องมี” เวิร์กจริงไหม ? ใครกำหนด ?

https://ooca.co/blog/should-own-by-age-30/

กรมสุขภาพจิต, 2566, คุณเป็นโรคเปรียบเทียบตัวเองในโลกโซเชียลหรือเปล่า

https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30162

#Wongnai #WongnaiBeauty #BeautyStory #สวยศึกษา #Comparingmindset #เปรียบเทียบตัวเอง