อบเค้กแบบมือโปร! มารู้จักกับเนื้อเค้กแบบต่าง ๆ เค้กแบบไหน เรียกยังไง
  1. อบเค้กแบบมือโปร! มารู้จักกับเนื้อเค้กแบบต่าง ๆ เค้กแบบไหน เรียกยังไง

อบเค้กแบบมือโปร! มารู้จักกับเนื้อเค้กแบบต่าง ๆ เค้กแบบไหน เรียกยังไง

หลาย ๆ คนก็คงจะชอบกินเค้กกันใช่ไหมคะ รู้ไหมคะว่าเนื้อเค้กมีกี่ประเภท แล้วแต่ละประเภทเนี่ย แตกต่างกันอย่างไร? ชื่อเรียกต่างกัน เนื้อสัมผัสก็ต่างกันไปด้วย
writerProfile
11 ก.พ. 2022 · โดย

เค้กชิฟฟ่อน แตกต่างกับสปันจ์เค้กยังไง? เค้กวันเกิดสวย ๆ ที่วางขายอยู่ในร้าน เรียกว่าเนื้อเค้กแบบไหน มูสเค้ก ชีสเค้ก เค้กเนยสด เนื้อแตกต่างกันอย่างไร สารพัดคำถามเกี่ยวกับเค้ก สำหรับเพื่อน ๆ มือใหม่ที่หัดอบเค้ก และเพื่อน ๆ ที่สงสัย มาไขคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้เลยค่ะ 
การแบ่งประเภทของเค้กนั้น จะใช้เกณฑ์การแบ่งตามเนื้อของเค้ก และกระบวนการทำ เค้กบางชนิดใช้แค่ไข่ขาว บางชนิดใช้ไข่ทั้งฟอง บางชนิดไม่ใช้ไข่ และนอกจากนั้นยังแบ่งตามการขึ้นฟูของเนื้อเค้ก โดยกระบวนการทำ เช่น เค้กบางชนิดใช้เครื่องตีเพื่อให้อากาศเข้าไป ทำให้เนื้อเค้กมีความนุ่มและขึ้นฟู หรือการใช้ผงฟู การใช้เบคกิ้งโซดา เค้กแต่ละแบบมีกระบวนการทำที่แตกต่างกันยังไง เราไปเจาะลึกกันเลยค่ะ

เนื้อเค้กแบบต่าง ๆ เค้กแบบไหน เรียกยังไง?

เนื้อเค้กแบบต่าง ๆ ชิฟฟอน บัตเตอร์เค้ก เครปเค้ก ไอศกรีมเค้ก ชีสเค้ก มูสเค้ก สปันจ์เค้ก เค้กไข่ขาว เค้กเนยสด เค้กนางฟ้า เค้กวันเกิด

เค้กเนยสด (Butter cake)

เค้กเนยสด หรือ บัตเตอร์เค้ก เป็นเค้กเนื้อแน่น ฉ่ำ นุ่ม และหอมกลิ่นเนย ส่วนประกอบหลัก ประกอบไปด้วย เนย น้ำตาล ไข่ และแป้ง ใช้ผงฟู หรือเบคกิ้งโซดา ในการทำให้เนื้อเค้กมีความฟู บางครั้งอาจจะสับสนกับเค้กปอนด์ ที่มีส่วนผสมหลัก 3 อย่าง คือ เนย แป้ง และน้ำตาลเหมือนกัน อัตราส่วนของเค้กปอนด์คือ 1:1:1 ใส่อย่างละ 1 ปอนด์ จึงเรียกว่าเค้กปอนด์ แต่ว่าเค้กเนยสดมีอัตราส่วนที่แตกต่างไปจากนั้น เค้กเนยสดมีวิธีทำ คือ ใช้เครื่องตี ผสมเนยกับน้ำตาลให้เข้ากัน เพื่อเติมอากาศเข้าไป จนเนยมีความนิ่ม และใช้ไข่เป็นอิมัลชัน ควรเก็บไว้นอกตู้เย็น ในอุณหภูมิห้อง เพราะเนื้อเค้กจะมีความแห้ง แข็ง และสูญเสียรสชาติเมื่อแช่เย็น ส่วนใหญ่มักจะไม่นำมาแต่งหน้าเค้กด้วยครีม แต่เน้นการทำลวดลายบนเนื้อเค้กแบบ Marble มากกว่า

เค้กไข่ขาว (Angel food cake)

เป็นเค้กที่เนื้อนุ่ม เบา เพราะใช้ไข่ขาวเป็นส่วนประกอบหลัก และไม่มีส่วนผสมของไข่แดงเลย ด้วยความที่เนื้อเค้กนุ่ม และเบา จึงถูกเรียกว่า ‘เค้กนางฟ้า’ เค้กชนิดนี้เนื้อเหมือนสปันจ์เค้ก ใส่น้ำตาลในปริมาณที่ค่อนข้างเยอะ ไม่ใช้เนยหรือน้ำมันทาที่พิมพ์ก่อนอบเหมือนวิธีการทำเค้กชนิดอื่น เพราะอาจจะทำให้เค้กพองตัวได้ไม่ดี มักจะใช้ครีมออฟทาทาร์ให้ไข่ขาวอยู่ตัว ใช้แม่พิมพ์แบบ Ring หรือแบบที่มีรูตรงกลาง เพื่อให้ขนมสุกเร็วและทำให้เนื้อเค้กไม่แห้ง เค้กไข่ขาวในช่วงแรก ๆ มักจะตกแต่งเบา ๆ ด้วยน้ำตาลไอซ์ซิ่ง ไม่ค่อยตกแต่งด้วยครีม แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการตกแต่งด้วยครีมและผลไม้ทำให้ดูน่ากินมากขึ้น

สปันจ์เค้ก (Sponge cake)

เค้กชนิดนี้เป็นขนมเค้กที่พบเห็นได้ตามร้านเค้กทั่วไป นิยมนำมาทำเค้กวันเกิด โรลเค้ก คัพเค้ก หรือเค้กที่ใช้ครีมในการตกแต่ง พวกเค้กส้ม เค้กช็อกโกแลต เค้กกาแฟ ส่วนใหญ่ก็เป็นสปันจ์เค้กเช่นกัน เนื้อเค้กจะนุ่ม เบา ฉ่ำ เพราะใช้ไข่และเนยเป็นส่วนประกอบ มีปริมาณเนยน้อยกว่าบัตเตอร์เค้ก และเนื้อของสปันจ์เค้กจะหนักกว่าชิฟฟอนเค้ก สปันจ์เค้กจะใช้ไข่ไก่ทั้งใบ ไม่แยกไข่แดงกับไข่ขาว ไข่ที่นำมาทำควรจะเลือกไข่ไก่ที่สด เป็นไข่ที่อยู่ในอุณหภูมิห้อง เพื่อให้เนื้อเค้กมีความฟู เมื่อผสมส่วนผสมเข้ากันดีแล้วควรนำไปอบทันที เพราะถ้าทิ้งไว้นาน อากาศที่ตีเข้าไปจะค่อย ๆ น้อยลง และทำให้เนื้อเค้กไม่ฟูเท่าที่ควร การเก็บรักษา ควรเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น และนำออกมาวางไว้ในอุณหภูมิห้องจนหายเย็นก่อนกิน การวางไว้จนหายเย็นจะทำให้ครีมตกแต่งและเนื้อเค้กมีความนิ่มลง ไม่ควรแช่ในช่องแช่แข็ง เพราะจะทำให้เค้กเสียรสชาติได้

ชิฟฟอนเค้ก (Chiffon cake)

หลาย ๆ คนอาจจะชอบกิน ชิฟฟอนเค้กใบเตย หรือชิฟฟอนเค้กรสต่าง ๆ กับกาแฟใช่ไหมล่ะคะ เพราะว่าเค้กชนิดนี้เป็นเค้กเนื้อเบาที่สุด เวลากินแล้วเหมือนละลายในปาก ชิฟฟอนเค้กเป็นเค้กที่ใช้ไข่ไก่เป็นหลัก เหมือนกับเค้กไข่ขาวและสปันจ์เค้ก แต่กระบวนการทำแตกต่างกันตรงที่ชิฟฟอนเค้กจะตีไข่ขาว แยกกับไข่แดง และใส่น้ำมันพืชแทนเนย ตอนที่ตีไข่ขาวกับน้ำตาลก่อนที่จะผสมกับส่วนที่เป็นไข่แดง จะต้องตีไข่ขาวกับน้ำตาลจนตั้งยอด และเมื่อนำมาผสมกับส่วนที่เป็นไข่แดง ต้องผสมอย่างเบามือที่สุด เพื่อไม่ให้อากาศออก และไม่ให้ไข่ขาวยุบตัว โดยปกติแล้วจะไม่ค่อยนำมาตกแต่งหน้าเค้ก เพราะเนื้อมีความเบา แต่มักจะผสมผลไม้ หรือรสชาติต่าง ๆ ลงไปในเนื้อเค้กเลย เช่นชิฟฟอนเค้กมะพร้าวอ่อน

ชีสเค้ก (Cheesecake)

ชีสเค้กหน้าไหม้ บลูเบอร์รี่ชีสเค้ก สตอร์เบอร์รี่ชีสเค้ก สุดฮิตที่เนื้อนุ่ม ฉ่ำชีส เพราะใช้ครีมชีสเป็นส่วนประกอบ ทำให้มีรสชาติค่อนข้างหนัก ส่วนใหญ่ชีสเค้ก เหมาะที่จะกินคู่กับผลไม้รสเปรี้ยว หรือชา เพื่อตัดรสชาติที่หนักของชีส ชีสเค้ก แยกย่อยออกได้อีก 2 ประเภท มีทั้งแบบที่อบ และแบบที่ไม่ต้องอบค่ะ ชีสเค้กที่ใช้ในการอบนั้น เริ่มต้นจากตีครีมชีสกับน้ำตาล ใส่ไข่ไก่และโยเกิร์ต เทลงในพิมพ์ และนำเข้าเตาอบ เวลาอบมักจะใส่พิมพ์เค้กลงในถาดน้ำร้อน และอบไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้เนื้อเค้กยังมีความนุ่ม และเนื้อเนียน ไม่ควรใช้เวลาอบนานเกินไป และเมื่ออบเสร็จไม่ควรเอาออกจากเตาอบทันที เพราะจะทำให้หน้าเค้กไม่สวย ส่วนชีสเค้กที่ไม่อบจะใช้แครกเกอร์บดผสมกับเนย รองเป็นฐานเค้กด้านล่าง และนำครีมชีสมาผสมกับเจลาติน นำไปแช่เย็น เพื่อให้เค้กเซตตัว เป็นเค้กแบบไม่ต้องใช้เตาอบชนิดหนึ่งที่ทำง่าย ไม่ยุ่งยากค่ะ 

มูสเค้ก (Mousse cake)

ในภาษาฝรั่งเศส คำว่า Mousse แปลว่าโฟมนั่นเองค่ะ เนื้อจะเหมือนโฟม เพราะใช้วิปปิ้งครีมหรือไข่ขาวเป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นเค้กแบบไม่อบ วิธีทำมูสเค้กจะใช้วิธีตีวิปปิ้งครีมให้ฟู ใส่เจลาตินและแช่เย็นเพื่อให้เค้กเซ็ตตัว เนื้อของมูสเค้ก จะนิยมผสมช็อกโกแลต หรือผลไม้ลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติ เมนูที่นิยม เช่น มูสเค้กสตอร์วเบอร์รี มูสเค้กส้ม มูสเค้กช็อกโกแลต ฯลฯ ส่วนมูสเค้กแบบอบจะถูกเรียกว่า Schokotorte หรือ Shoggitorte มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เค้กชนิดนี้จะรองฐานเค้กด้วยสปันจ์เค้ก และใส่มูสเค้กลงไปสลับระหว่างชั้น เมื่อทำเสร็จแล้วต้องเก็บไว้ในตู้เย็นก่อนเสิร์ฟ และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็น 5-7 วันค่ะ   

เครปเค้ก (Crêpe cake)

เค้กชนิดนี้มีความพิเศษอยู่ตรงที่จะไม่ใช้ในการอบเหมือนกันเค้กชนิดอื่น ๆ เนื้อเค้กประกอบไปด้วยแป้งสาลี ไข่ น้ำตาล นม เนย นำมา​ผสมกัน แล้วนาบลงบนกระทะก้นแบนจนสุก แล้วนำมาวางซ้อน ๆ กัน สลับชั้นกับครีมสด ตกแต่งหน้าด้วยครีมและผลไม้ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศส ในสมัยก่อน เครปเค้กถูกนำมาเป็นอาหารเสี่ยงทายพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากมีลักษณะกลม ๆ เหมือนพระอาทิตย์ มักจะนิยมกินในวัน La Chandeleur เพราะเชื่อว่าถ้าไม่กินเครปเค้ก จะทำให้ต้นอ่อนของข้าวสาลีจะแห้งและตายไปในที่สุด สมัยนี้ เครปเค้กได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นขนมหวานที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ มีการใส่สีสันเป็นสีรุ้งให้ดูน่ากินมากขึ้น และมักกินกับซอสผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น สตอร์วเบอร์รี หรือ บลูเบอร์รี  

ไอศกรีมเค้ก (Ice cream Cake)

อากาศร้อน ๆ แบบนี้คงไม่มีอะไรดีกว่าไอศกรีมเย็น ๆ แล้วล่ะค่ะ "ไอศกรีมเค้ก" เป็น เค้กที่ใช้ไอศกรีมแทนการใช้ครีมสดใส่ลงไประหว่างชั้นของสปันจ์เค้ก ส่วนใหญ่จะสลับแบบ 2 ชั้น คือมีสปันจ์เค้ก 2 ชั้น และมีไอศกรีมอยู่ระหว่างกลาง หรือแบบ 3 ชั้น ที่มีไอศกรีมแทรกอยู่ระหว่างชั้นสปันจ์เค้ก 3 ชั้น ไอศกรีมเค้กไม่ได้มีที่มาอย่างแน่ชัดว่าใครเป็นคนคิดค้น แต่ว่ากันว่าน่าจะเริ่มต้นในยุควิคตอเรียน และเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเมื่อมีตู้เย็นและตู้แช่แข็ง ในปัจจุบัน ไอศกรีมเค้กมีความรูปแบบที่พัฒนามากขึ้น เช่น ใช้สปันจ์เค้กเป็นฐาน และใส่ไอศกรีมหลากหลายรสชาติเป็นชั้น ๆ ลงไปด้านบน มีการตกแต่งด้วยครีมด้านนอก และตกแต่งหน้าด้วยเชอร์รี่เชื่อม 

ข้อมูลอ้างอิง 

SAM WORLEY AND NICK MALGIERI.2018. “11 Types of Cakes to Satisfy Your Sweet Tooth” [Online]. เข้าถึงได้จาก https://www.epicurious.com/expert-advice/types-of-cake-glossary-article สืบค้น 22 มิถุนายน 2564

Biancazapatka.2019."Chocolate Mousse Cake l Vegan Cake" [Online]. เข้าถึงได้จาก https://biancazapatka.com/de/schokoladen-mousse-torte/ สืบค้น 22 มิถุนายน 2564

Pamela Vachon.2020.“The History of Crêpes” [Online]. เข้าถึงได้จาก https://www.ice.edu/blog/french-crepes สืบค้น 22 มิถุนายน 2564

Bbworks.2017. “Origins of Ice Cream Cake” [Online]. เข้าถึงได้จาก https://eggersicecream.com/origins-of-ice-cream-cake/ สืบค้น 22 มิถุนายน 2564  

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เค้กแต่ละชนิดต่างก็มีจุดเด่นและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ที่กำลังหัดอบขนมเค้กนะคะ สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากได้สูตรขนมเค้ก สามารถเข้าไปดูได้ใน รวมสูตรเด็ด เมนูเค้ก พร้อมวิธีทำง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้ และ 20 สูตร “เมนูเค้ก” หลากหลายรูปแบบ ทั้งหวาน ทั้งนุ่มละมุนลิ้น! ได้เลยค่ะ มีสูตรเด็ด ๆ เพียบ! ครั้งหน้าเราจะมีเกร็ดความรู้อะไรมาฝากกันบ้างนั้น อย่าลืมติดตามกันนะคะ 

บทความที่น่าสนใจอื่น ๆ