กลัวผี แต่ก็ชอบดูหนังผี วิจัยเผย! ทำไมคนเราชอบดูหนังผีทั้ง ๆ ที่กลัว
  1. กลัวผี แต่ก็ชอบดูหนังผี วิจัยเผย! ทำไมคนเราชอบดูหนังผีทั้ง ๆ ที่กลัว

กลัวผี แต่ก็ชอบดูหนังผี วิจัยเผย! ทำไมคนเราชอบดูหนังผีทั้ง ๆ ที่กลัว

กลัวผี แต่ก็ชอบดูหนังผี ทำไมคนเราถึงชอบดูหนังผีทั้ง ๆ ที่กลัว และมักจะปิดตาเกือบตลอดทั้งเรื่องเวลาดู แต่ก็ชอบดูหนังผีหรือชอบฟังเรื่องผีบ่อย ๆ มาดูวิจัยเผยกัน
writerProfile
21 ก.พ. 2022 · โดย

เพื่อน ๆ คนไหนชอบฟังเรื่องผีหรือดูหนังผีบ้าง ยกมือขึ้น! เราก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบ แต่ก็กลัวผี ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเจอผีเหมือนกัน แล้วเพื่อน ๆ สงสัยกันไหมคะ ว่าทำไมเราถึงชอบดูหนังผีทั้ง ๆ ที่กลัว ยิ่งน่ากลัวจนต้องปิดตาก็ยิ่งรู้สึกดีหลังจากที่ดูหนังเรื่องนั้นจบ ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันดีกว่าค่ะ ว่าทำไมเราถึงชอบดูหนังผีทั้ง ๆ ที่กลัว  

วิจัยเผย ทำไมคนเราชอบดูหนังผีทั้ง ๆ ที่กลัว

ทำไมคนเราดูหนังผีทั้ง ๆ ที่กลัว ทำไมชอบดูหนังผี วิจัยเผย งานวิจัยสนุก ๆ ทำไมคนเราดูหนังผีทั้ง ๆ ที่กลัว

วิจัยเผยว่า ความกลัวทำให้คนเรารู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ ถึงแม้ว่าคนเราจะรู้ ว่าหนังผีพวกนั้นมาจากการเมคอัพ เลือดปลอม อาวุธปลอม แต่การดูหนังผีสามารถกระตุ้นสัญชาติญาณการตอบสนองการต่อสู้ หรือการหนีของคนเราได้

Krista Jordan, PhD, นักจิตวิทยาคลินิกในออสติน, เท็กซัส กล่าวว่า "สมองไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่างจินตนาการและความเป็นจริงอย่างมีประสิทธิภาพเสมอไป" ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนมาบรรยายเรื่องการกัดมะนาว และถ้าบุคคลนั้นบรรยายถึงมะนาวได้เก่งจริง ๆ ก็อาจจะทำให้เรารู้สึกเข็ดฟัน หรือน้ำลายสอขึ้นมาได้ เหมือนกับการที่เราดูหนังสยองขวัญ สมองจะลืมไปชั่วขณะว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นไม่เป็นอันตรายจริง ๆ แล้วเพิ่มการตอบสนองทางสรีรวิทยาที่เหมาะสม ร่างกายของเราจะหลั่งสารอะดรีนาลีนและสารเคมีในสมองที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสบาย หรือความรู้สึกโล่งอก เช่น เอ็นดอร์ฟินและโดพามีน และทำให้ร่างกายของเรารู้สึกพร้อมต่อการรับมือ และในการหลั่งอะดรีนาลีนจากการดูหนังสยองขวัญนั้น เป็นการตอบสนองโดยไม่ทันตั้งตัวของร่างกาย เมื่ออะดรีนาลีนหลั่ง ทำให้มีการหายใจที่เพิ่มขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น มีการขับเหงื่อ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในสมองและกล้ามเนื้อของเรา ไม่ต่างอะไรจากการออกกำลังกาย และหนังสยองขวัญก็ไม่ได้ทำให้เราตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายจริง ๆ

นอกจากนี้ Coltan Scrivner จากมหาวิทยาลัยชิคาโก้ยังกล่าวว่า คนเรามักจะชอบคิด หรือสมมุติว่า เราจะทำยังไงหากตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เราจะทำอย่างไร หากพบว่าตัวเองต้องเผชิญกับภัยคุกคาม หรือความท้าทายแบบนั้น เหมือนเป็นการฝึกกลยุทธ์ที่ทำให้คนเราเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการกับความไม่แน่นอน ความสงสัย และความวิตกกังวล และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผลการศึกษาของเขาพบว่า คนที่ชอบดูหนังสยองขวัญ สามารถรับมือกับความวิตกจากการระบาดใหญ่ของ Covid-19 ในปัจจุบันนี้ได้ดีกว่าคนที่ไม่ชอบดู อาจจะเป็นเพราะมีทักษะการเผชิญปัญหาจากการดูหนังสยองขวัญบ่อย ๆ เพราะเมื่อเราดูหนังผีหรือหนังสยองขวัญ จะทำให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ได้ เหมือนอยู่ในจุดที่รู้สึกกลัว แต่ก็สนุกไปด้วย

ศาสตราจารย์ Erin Hadley นักจิตวิทยาคลินิกในฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า คนเราทุกคนมีด้านมืดในตัวเอง ส่วนที่เราไม่รู้จัก และเป็นอันตรายกับคนรอบข้างของเรา ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราชอบความสยองขวัญ เพราะมันช่วยให้เราสำรวจด้านที่ซ่อนไว้ของตัวเองได้ อย่างเช่น ในหนังเรื่อง Carrie (1976) ตัวละครหลักเป็นคนที่โดนรุมแกล้ง รุมทำร้ายและทรมาณ จากที่บ้านและโรงเรียน ถ้าหากว่าได้แก้แค้น เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงจะทำ นอกจากนี้ เวลาเราดูหนัง เรามักจะคิดว่าเราแตกต่างจากเหยื่อพวกนั้น และมีโอกาสรอดมากกว่า อย่างหลาย ๆ ฉากที่ตัวละครหลักปิดจ๊อบด้วยการฆ่าตัวร้าย และเดินจากไปอย่างช้า ๆ กล้องฉายให้เห็นทางด้านหลัง และพบว่าเรากำลังตะโกนใส่หน้าจอ เพราะตัวร้ายกำลังจะฟื้นแล้ว! นั่นแหละคือความสนุกและความตื่นเต้นของหนังสยองขวัญทั้งหลาย ที่ทำให้เราลุ้นตามไปด้วย เพราะคนเรามักจะคิดว่า "สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับฉัน" และฉันจะสามารถเอาตัวรอดได้ดีกว่านั้น เช่น จะซ่อนตัวได้ดีกว่านั้น คิดได้เร็วกว่านั้น และเวลาวิ่งอยู่ในป่าฉันจะไม่สะดุดล้ม! ความคิดแบบนี้เป็นการป้องกันตัวของคนเรา ที่ทำให้เราแยกตัวเราออกจากความกลัวต่อสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้น

“คนเราชอบความสยองขวัญมาช้านานแล้ว” ดาร์ริล โจนส์แพทย์ด้านปรัชญาและศาสตราจารย์ด้านนิยายเหนือธรรมชาติและสยองขวัญที่วิทยาลัยทรินิตี เมืองดับลิน กล่าว ก่อนที่จะมีหนังสยองขวัญ คนเรามักจะหาความตื่นเต้น จากสไลเดอร์น้ำแข็งของรัสเซีย และพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมของแปลกประหลาด ของ PT Barnum อย่างการไปดูมัมมี่นางเงือก (ที่ทำมาจากซากลิงเย็บติดกับหางปลา รู้ทั้งรู้แต่คนก็ชอบ) พิพิธภัณฑ์ของโธมัส เดนท์ มุต เตอร์ในฟิลาเดลเฟีย ที่จัดแสดงคอลเล็กชันความรู้ทางการแพทย์ที่น่าสยดสยองของเขามากว่า 150 ปี

แต่ก็มีหลายคนเหมือนกันที่ไม่ชอบหนังสยองขวัญ อย่างคนที่มีการแสวงหาทางความรู้สึกต่ำ หรือคนที่ไม่เปิดกว้างกับจินตนาการ และคนที่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นสูงมาก ๆ มักจะรู้สึกแย่มากกว่าสนุกหากเจอฉากที่ตัวละครโดนทรมาณในหนัง นอกจากนี้การดูหนังสยองขวัญยังเกี่ยวข้องกับ GDP ต่อหัวอีกด้วย ยิ่งประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูง ก็จะมีภูมิคุ้มกันทางจิตวิทยาที่ทำให้ดูหนังผีแล้วรู้สึกบันเทิงขึ้น มากกว่าประเทศที่ GDP ต่ำที่เจอกับสิ่งแวดล้อมที่สยองขวัญอยู่บ่อย ๆ ก็มักจะแสวงหาความบันเทิงโดยการดูหนังรักโรแมนติกมากกว่า นอกจากนี้หนังผียังช่วยให้คนเราตกหลุมรักกันได้ง่ายขึ้น เพราะมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมน oxytocin หรือฮอร์โมนที่สร้างความผูกพันธ์ของคนเรา

Reference :

Patti Greco. 2020. "Why Do So Many People Like Horror Movies? Six Reasons We Love Being Scared" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.health.com/mind-body/why-people-like-horror-movies สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565

Laura McArdle. 2020. "This Is Your Brain on Horror Movies" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.everydayhealth.com/emotional-health/this-is-your-brain-on-horror-movies/ สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565

Pers Individ Dif. 2021. "Pandemic practice: Horror fans and morbidly curious individuals are more psychologically resilient during the COVID-19 pandemic" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7492010/ สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565

Haiyang Yang and Kuangjie Zhang. 2021. "The Psychology Behind Why We Love (or Hate) Horror" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://hbr.org/2021/10/the-psychology-behind-why-we-love-or-hate-horror สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 

และทั้งหมดก็คือเหตุผลที่เราชอบดูหนังผีแต่ก็กลัวนั่นเองค่ะ ถึงจะรู้สึกว่าน่ากลัวจนอะดรีนาลีนในร่างกายหลั่ง แต่สุดท้ายแล้วมันก็เป็นแค่หนัง พอดูจบแล้ว อาจจะมีอาการหลอน ๆ ไป 2-3 วันบ้าง แต่สุดท้ายแล้ว มันทำให้เรากล้าเผชิญหน้ากับความกลัว และทำให้เรารู้สึกดีขึ้นนั่นเอง ว่าแล้วก็ขอตัวไปดูหนังสยองขวัญต่อแล้วนะคะ สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากดูหนังสยองขวัญก็ตามลิ้งค์บทความด้านล่างนี้ไปได้เลย!