ใกล้ต้องยื่นภาษีกันแล้วถึงเวลาเตรียมตัวยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2562 แต่ว่ามีสิทธิ์หรือข้อไหนบ้างที่เราต้องรู้ ต้องเช็กดูก่อนว่าต้องยื่นภาษี 2562 หรือสามารถได้สิทธิ์เงินคืน ซึ่งมีอยู่หลายข้อ เราเลยรวบรวมพร้อมสรุปมาให้เข้าใจง่าย ๆ แล้ว ไปดูกัน!
ค่าลดหย่อนคืออะไร และ ใครที่ต้องยื่นบ้าง ?
ค่าลดหย่อน คือ “รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2562 ที่เรียกว่า "วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ"
ส่วนใครบ้างที่ต้องยื่นแบบ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ เราที่ได้รับค่าจ้างหรือเงินเดือนทุกคนนั่นแหละ ไม่ว่าจะมีรายได้น้อยหรือมาก ก็จำเป็นต้องยื่นแบบแสดงรายได้เหมือนกัน ไปดูกันว่าเกณฑ์รายได้ที่ต้องเสียภาษีเท่าไรกันบ้าง หรือถ้าใครอยากจะลอง วิธีคํานวณภาษี 2562 คลิกที่นี่ เลย
ข้อที่ควรรู้ : ไม่ว่าจะเงินเดือนน้อย ยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเรามีรายได้ตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายได้ด้วยเช่นกัน
เช็กอัตราภาษีได้จากตารางด้านล่างเลย!
เช็ก! การลดหย่อนภาษีทั้ง 4 ประเภท...เราเข้าข่ายไหนบ้าง ?
ประเภทที่ 1 ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว 60,000 บาท
เป็นค่าลดหย่อนสำหรับคนมีเงินได้ทุกคนแม้จะได้เงินเดือนน้อย หรือรายรับไม่ถึงเกณฑ์ด้านบนก็ตาม โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ถ้าหากได้เงินจากเงินเดือนหรือค่าจ้างประเภทเดียว ให้เรายื่นแบบภาษีเมื่อมีรายได้เกิน 120,000 บาทไปแล้วเท่านั้น แต่ถ้าใครที่มีเงินเดือนหรือค่าจ้าง และยังมีเงินได้ประเภทอื่นด้วยอีกเนี่ย จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกินตั้งแต่ 60,000 บาทนะจ๊ะ
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
เป็นค่าลดหย่อนของคู่สมรส (ตามกฎหมาย) โดยจะต้องเป็นคู่ที่จดทะเบียนสมรสกันและไม่มีเงินได้ หรือถ้ามีเงินได้ ต้องยื่นแบบแสดงรายการรวมกันในการคำนวณภาษี เผื่อได้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนเพิ่มเติมจากส่วนนี้
3. ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท
โดยบุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 20 ปี เพราะบุตรไม่มีรายได้ หากบุตรมีรายได้เกิน 30,000 บาทขึ้นไปไม่สามารถลดหย่อนภาษีข้อนี้ได้ (ถ้าอายุเกิน 20 ปี อยู่ระหว่าง 21-25 ปี ต้องกำลังเรียนในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป หรือบุตรเป็นคนพิการไร้ความสามารถ อายุ 25 ปีขึ้นไป ก็สามารถใช้ลดหย่อนภาษีข้อนี้ได้เช่นกัน)
กรณีรับลูกบุญธรรมมาเลี้ยง นำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน (แต่ถ้ามีบุตรอยู่แล้ว ลูกบุญธรรมต้องต่อจากบุตรโดยชอบธรรม)
4. ค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตร จ่ายได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท สำหรับคุณแม่จะข้อมูลเยอะหน่อย ดูเป็นข้อ ๆ จะเข้าใจง่ายขึ้น
- ค่าตรวจครรภ์ ค่าฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด ค่ากินอยู่ในโรงพยาบาล
- สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับค่าใช้จ่ายที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2562
- ใครตั้งครรภ์ปี 2562 แต่คลอดปี 2563 จะได้รับสิทธิลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริงในปีที่ใช้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท
- แต่หากใครฝากครรภ์หรือคลอดบุตร 2 คนในปีภาษีเดียวกัน สามารถลดหย่อนภาษีได้คนละไม่เกิน 60,000 บาท
- ช่วงนี้ฮิตมีลูกแฝด แต่ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท เพราะถือเป็นการตั้งครรภ์คราวเดียว
- ถ้าหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ทารกเสียชีวิต ค่าใช้จ่ายจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตรมาหักลดหย่อนภาษีได้
- ถ้าภรรยาไม่ได้ทำงาน สามีใช้สิทธิลดหย่อนภาษีค่าคลอดบุตรได้ไม่เกิน 60,000 บาท
- ถ้าสามีและภรรยาทำงานมีรายได้ทั้งคู่ ภรรยาจะเป็นผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท ส่วนสามีไม่สามารถใช้สิทธิได้
ที่สำคัญอย่าลืมเก็บหลักฐานใบรับรองแพทย์ หรือใบเสร็จรับเงิน ไว้ใช้ลดหย่อนภาษีด้วยนะ
5. ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุพการี คนละ 30,000 บาท
ลดหย่อนจากพ่อ-แม่ (ตัวเอง) และพ่อ-แม่ (คู่สมรส) ได้คนละ 30,000 บาท มากสุดคือ 4 คน ไม่เกิน 120,000 บาท โดยทั้งพ่อและแม่ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท ให้พ่อ-แม่ออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดูให้กับบุตรคนที่จะขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เพียงคนเดียวเท่านั้น
6. ค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ 60,000 บาทต่อคน
ผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
หากผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา-มารดา-บุตร-คู่สมรสของผู้มีเงินได้ ก็สามารถใช้สิทธิควบคู่กันได้เลย เช่น บิดาอายุเกิน 60 ปี เป็นผู้พิการ ไม่มีรายได้ เราสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด (30,000+60,000 บาท) เท่ากับ 90,000 บาท หรือหากคู่สมรสเป็นผู้พิการและไม่มีรายได้ ก็สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 + ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000 บาท) ค่ะ
ประเภทที่ 2 ลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
1. ลดหย่อนดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
กู้ซื้อบ้าน คอนโด หรือที่ดิน จากธนาคารทุกแห่ง
ทีนี้มาดูข้อแตกต่างระหว่างคนที่ซื้อบ้านหลังแรกกันหน่อย
- กู้ซื้อบ้านหลังแรก ปี 2558 จะลดหย่อนได้ไม่เกิน 20% ของราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยนำมาเฉลี่ยลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี หรือเท่ากับลดหย่อนภาษีได้ปีละ 4% ของราคาบ้านเป็นเวลา 5 ปี
เท่ากับว่า ถ้าซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรกราคา 3 ล้านบาท โอนกรรมสิทธิ์วันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 จะสามารถนำค่าบ้าน 20% คือ 600,000 บาท มายื่นลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2558-2562) คิดเป็นปีละ 120,000 บาท
- กู้ซื้อบ้านหลังแรก ปี 2562 ไม่เกิน 200,000 บาท เราซื้อบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีได้ทันที 200,000 บาท
สำหรับการซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือห้องชุด มูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท โอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 31 ธันวาคม 2562
2. ค่าใช้จ่ายที่ชำระเงินด้วยบัตรเครดิต
กระตุ้นให้คนที่ได้ค่าจ้าง ค่าวิชาชีพอิสระ ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หรือเงินได้การประกอบธุรกิจอื่น ๆ ตั้งแต่ช่วง 1 พ.ย. 2559 - 31 ธ.ค. 2564 จ่ายค่าใช้จ่ายใด ๆ ด้วยบัตรเครดิต รับเงินเพิ่ม 1 เท่าของที่จ่ายจริง แต่จำนวนเงินไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี
3. เงินลงทุนในธุรกิจ Startup 100,000 บาท
สนับสนุนกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่จดทะเบียนจัดตั้ง หรือถือครองหุ้นที่ได้รับไว้ไม่น้อยกว่า 2 ปี (ต้องจ่ายเงินลงทุนภายในวันที่ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2562) ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี 100,000 บาท
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ตลอดช่วงเวลาที่เราลงทุนในธุรกิจนั้น
- ประกอบธุรกิจอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ สวทช. และผ่านการรับรองจากทาง สวทช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีรายได้จากการประกอบกิจการในส่วนนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด
กลุ่มค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ สำหรับปี 2562 โดยเฉพาะ
4. ชอปช่วยชาติ (ช่วงต้นปี 2562) ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ใครการซื้อสินค้า เช่น หนังสือ ยางรถยนต์ สินค้าจากร้านโอทอป ระหว่างวันที่ 1-16 มกราคม 2562 นำใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีมาลดหย่อนได้
5. ซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬาตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
ซื้อสินค้าเพื่อการศึกษา เช่น ชุดนักเรียนและอุปกรณ์กีฬา ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2562 นำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน
6. ซื้อหนังสือตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
สามารถซื้อได้ทั้งหนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์ ทุกประเภท รวมทั้ง e-Book (ยกเว้นนิตยสารและหนังสือพิมพ์) จากร้านหนังสือ ตลอดทั้งปี 2562 นำใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปมาลดหย่อนภาษีได้ ถ้าจะนำไปรวมกับการซื้อหนังสือในโครงการช้อปช่วยชาติ 2561 ในช่วงวันที่ 1-16 มกราคม 2562 ต้องไม่เกิน 15,000 บาท
7. ซื้อสินค้าโอทอป (OTOP) ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
ซื้อสินค้าระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 30 มิถุนายน 2562 ใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน
8. ท่องเที่ยวไทย
เดินทางท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 30 มิถุนายน 2562 เป็นค่าที่พัก ค่าบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์มาลดหย่อนได้ ท่องเที่ยวเมืองหลัก ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท ท่องเที่ยวเมืองรองลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 20,000 บาท หรือรวมกันทั้งหมดแล้ว ต้องไม่เกิน 20,000 บาท
9. ค่าซ่อมแซมบ้าน/รถที่ประสบภัยจากพายุ
ผู้ประสบเหตุอุทกภัยจากพายุปาบึก ที่เกิดขึ้นช่วงวันที่ 3-7 มกราคม 2562 สามารถนำค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ หรือค่าวัสดุ หรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคาร หรือห้องชุด ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และค่าซ่อมแซมรถหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ช่วงที่ซ่อมแซมระหว่างวันที่ 3 มกราคม - 31 มีนาคม 2562 จึงนำใบเสร็จ หรือใบกำกับภาษีมาลดหย่อนได้
10. ค่าซ่อมแซมบ้าน-รถที่ประสบภัยน้ำท่วม 32 จังหวัด
ผู้ประสบภัยน้ำท่วม 32 จังหวัด ในพื้นที่ที่ประกาศเขตภัยพิบัติจากพายุโพดุล พายุคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ ครอบคลุมบ้าน บ้านเช่า ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท กรณีที่เจ้าของบ้านมีบ้านหลายหลังให้นำบิลมารวมกันและขอลดหย่อนภาษีในครั้งเดียว ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินรถหรืออุปกรณ์ในรถ ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ซ่อมแซมระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม-30 พฤศจิกายน 2562
ประเภทที่ 3 ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันชีวิตและการลงทุน
1. เงินประกันสังคม สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
2. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) แต่จ่ายจริงไม่เกินจำนวน 500,000 บาท
จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี โดยกองทุนรวม LTF นั้นมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ ต้องถือครองหน่วยลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 7 ปี สำหรับการซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 - 31 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปครับ อย่าลืมนะว่า ปี 2562 นี้ซื้อ LTF เพื่อมาลดหย่อนภาษีได้เป็นปีสุดท้ายแล้วนะ
3. เบี้ยประกันสุขภาพบุพการี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท
4. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือ เงินฝากแบบมีประกันชีวิต จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท
5. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง จ่ายตามจริงไม่เกินจำนวน 15,000 บาท
(และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท)
6. เบี้ยบำนาญข้าราชการ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท
ประกันชีวิตแบบบำนาญจะมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการ จ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ และกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เมื่อเรามีอายุตั้งแต่ 55-85 ปี หรือต้องจ่ายเบี้ยประกันครบก่อน
7. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท
โดยมีเงื่อนไข
- ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไขสามารถผิดได้ 1 ปี)
- ต้องซื้อเป็นจำนวนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ 5,000 บาท
- ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายได้
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกินจำนวน 13,200 บาท
อย่าลืมเช็กดูเพราะว่าทั้ง 4 ข้อสุดท้าย (ข้อที่ 4-7) เมื่อรวมกับประกันชีวิต แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทเท่านั้นค่ะ
ข่าวดี ! ปีหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศปรับเงื่อนไข RMF แล้วนะ...
- ลดหย่อนเพิ่มได้เป็น 30%
- ยกเลิกการซื้อขั้นต่ำแล้ว
- ยังต้องซื้อติดต่อกันทุกปี
อัพเดทใหม่ล่าสุด !
SSF
(Super Saving Fund) ที่จะมาแทน LTF ในปี 2563
SSF กองทุนเพื่อการออมระยะยาวที่มาในรูปแบบใหม่ที่มาแทนที่ LTF ที่จะสิ้นสุดลงปลายปี 2562 นี้ คนไทยอาจจะยังเคยชินกับการลงทุนระยะสั้นมากกว่า แต่หน่วยการทางการเงินก็คาดการณ์ว่า SSF จะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชานลงทุนออมเงินระยะยาวมากขึ้น
มาดูเงื่อนไขและข้อแตกต่างระหว่าง SSF กับ LTF
- SSF ระยะเวลาลงทุน 10 ปี ส่วน LTF ลงทุน 7 ปี
- SSF สามารถลดหย่อนภาษีไม่เกิน 200,000 บาท ส่วน LTF ลดหย่อนได้ 300,000 บาท
ประเภทที่ 4 ค่าลดหย่อนภาษีจากการบริจาค
แบบที่ 1 เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
- บริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา เป็นจำนวน 2 เท่าของเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้ เช่น หากบริจาคเงินให้สถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด 3,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่า คือ 6,000 บาท
เช็กรายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ให้ใช้สิทธิลดหย่อนเงินบริจาค
- บริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ เป็นจำนวน 2 เท่าของเงินที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10%
ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลของทางราชการที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 2 เท่า
- บริจาคสนับสนุนการกีฬาให้หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นจำนวน 2 เท่าของเงินที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10%
ตรวจสอบรายชื่อหน่วยงานด้านกีฬาที่หักลดหย่อนได้ 2 เท่า
บริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ต่าง ลดหย่อนเป็นจำนวน 2 เท่าของเงินที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10%
การบริจาคสามารถทำผ่านระบบ e-Donation ลองไปหาข้อมูลกันดูนะ
แบบที่ 2 เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ (เท่าที่จ่ายจริง)
เงินบริจาคช่วยเหลือเหตุอุทกภัยจากพายุปาบึก บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ตามจำนวนเงินที่บริจาคจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น
หวังว่าข้อมูลที่เราจัดเตรียมมาจะเป็นประโยชน์และเป็นตัวช่วยให้ทุกคนได้เตรียมตัวหาข้อมูลเรื่องภาษีไว้ก่อนจะสิ้นปี รวมถึงยังมีเวลาช่วยให้ทุกคนวางแผนในการยื่นภาษี 2562 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมใครที่มีค่าใช้จ่าย กิน ชอป เที่ยว ที่ผ่านมาตลอดทั้งปี ยังได้ภาษีคืนกันอีกด้วย!
อ่านบทความเรื่องการเงินที่น่าสนใจต่อได้ที่