ออกแบบเมนูร้านอาหารอย่างไรให้โดนใจ! ออร์เดอร์ง่าย ยอดขายเพิ่มรัว ๆ
  1. ออกแบบเมนูร้านอาหารอย่างไรให้โดนใจ! ออร์เดอร์ง่าย ยอดขายเพิ่มรัว ๆ

ออกแบบเมนูร้านอาหารอย่างไรให้โดนใจ! ออร์เดอร์ง่าย ยอดขายเพิ่มรัว ๆ

ไอเดียการออกแบบเมนูร้านอาหารให้สวยปัง! อยากมีออร์เดอร์เข้ารัวๆ ควรมีกี่เมนู? จัดประเภทอย่างไรและดีไซน์แบบไหนให้ดูง่าย น่าสนใจ ควรตั้งชื่อเมนู ตั้งราคาเท่าไรดี?
writerProfile
13 ก.ย. 2020 · โดย
  • สิ่งสำคัญการออกแบบเมนูร้านอาหาร ชูเมนูจุดขายชัดเจนว่าเด่นอะไร ลูกค้าเห็นเมนูปุ๊บก็เข้าใจ ไม่ใช้เวลานาน
  • สร้างเมนูใหม่เพิ่มโอกาสให้ลูกค้าสั่งมากขึ้น ด้วยการเลือกใช้วัตถุดิบแปลกใหม่ ทำเมนูพิเศษตอบโจทย์ไลฟสไตล์ลูกค้า หรือทำเซ็ตพิเศษตามเทศกาล
  • ใช้คำที่บ่งบอกรสชาติหรือเล่าเรื่องที่มาในชื่อเมนู

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสาธยายบอกลูกค้าทุกคนได้ว่า “เมนูไหนอร่อยเด็ด เมนูไหนใช้วัตถุดิบชั้นเลิศ เมนูไหนไม่ควรพลาด” ซึ่งหนึ่งในไอเท็มเล็กๆ ที่มีพลังล้นเหลือช่วยเราได้มากกว่าที่คิดก็คือ “เมนู” หรือรายการอาหารนั่นเอง ไอเท็มจิ๋ว ๆ แต่แจ๋วนี่แหละที่สามารถเล่าเรื่องราวความอร่อยเด็ดของอาหาร เครื่องดื่ม หรือเบเกอรีได้โดยที่เราไม่ต้องพูดอะไรมาก

ยิ่งในยุคที่ร้านอาหารและคาเฟ่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ละร้านก็ยิ่งต้อง “ชัดเจน” ลูกค้าเห็นร้านปุ๊บก็ต้องรู้เลยว่าขายอะไร เปิดเมนูดูปั๊บก็ต้องรู้ว่า เมนูไหนเด็ด วัตถุดิบเริ่ดและสดใหม่แค่ไหน ซึ่งเรามีไอเดียการออกแบบที่จะช่วยให้ลิสต์เมนูอาหารบนกระดาษธรรมดา ๆ กลายเป็นลิสต์เมนูเลอค่าที่หอม อร่อย น่ากิน ทะลุแผ่นกระดาษออกมาเลย

ออกแบบเมนูร้านอาหาร


ครีเอตกลุ่มเมนูใหม่ให้ลูกค้าสั่งเพิ่ม!

นอกจากอาหารประเภทต้ม ผัด แกง ทอด ลาบ ยำ ตำ ย่าง ซุป สลัดผัก และของหวานแล้ว ลองครีเอตกลุ่มเมนูใหม่เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้นและมีโอกาสสั่งเพิ่ม เช่น

  • กลุ่มเมนูจากวัตถุดิบพิเศษ เลือกใช้วัตถุดิบพิเศษหรือคัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งผลิตขึ้นชื่อ และนำเสนอให้น่าสนใจ เช่น เนื้อวัวนำเข้า วัตถุดิบจากโครงการหลวงหรือฟาร์มออแกร์นิก เป็นต้น
  • กลุ่มเมนูตามไลฟสไตล์ลูกค้า เช่น เมนูพิเศษสำหรับคนทานมังสวิรัติ อาหารชีวจิต อาหารเจ หรือร้านกาแฟที่มีเมนูพิเศษจากนมถั่วเหลือง นมแลคโตสฟรี หรือเมนูสำหรับคนแพ้นมวัว
  • กลุ่มเมนูเซ็ตพิเศษ นำเอาเมนูเด่นของร้านมาจัดเซ็ตพิเศษ เช่น เซ็ตเมนูสำหรับครอบครัว เซ็ตเมนูคุณหนู เซ็ตเมนูพิเศษสำหรับปาร์ตี้สุดคุ้ม เซ็ตมื้อเช้าหรือมื้อกลางวันราคาพิเศษ

เมนูไม่ต้องเยอะ แต่เน้นว่าเด็ดชัวร์

พ่อครัวแม่ครัวหลายคนอาจจะมีฝีมือที่เด็ดดวง ทำอะไรก็อร่อย แต่ไม่ควรใส่ชื่อเมนูลงไปเยอะแยะจนลูกค้าเลือกไม่ถูก หรือเยอะจนกลบเมนูเด่น ควรคัดเฉพาะเมนูที่เด็ดจริง ๆ เท่านั้น ประเภทละไม่เกิน 7-10 เมนู รวมทั้งกลุ่มเมนูที่ครีเอตขึ้นใหม่ นอกจากจะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายแล้ว ยังช่วยประหยัดต้นทุนจากการซื้อวัตถุดิบที่มากเกินความจำเป็นอีกด้วย

วางเมนูเด่นไว้บนสุด

ถ้ามีเมนูเด็ดเมนูแนะนำที่ทุกโต๊ะต้องสั่ง ให้วางภาพเมนูนั้นพร้อมบรรยายสั้นๆ พร้อมราคาไว้ด้านบนสุดของเมนู ถ้ามีมากกว่า 1 เมนู ให้เลือก 2 เมนูที่เด่นสุดวางไว้ด้านบนของแผ่นแรก และวางรายการอาหารอื่น ๆ ประเภทเดียวกันด้านล่าง ส่วนเมนูอื่น ๆ ที่อยากแนะนำเพิ่มเติมให้วางภาพพร้อมแคปชั่นสั้น ๆ เก๋ ๆ ไว้ด้านบนหรือด้านล่างของแผ่นหลัง

ชื่อเมนูสะดุดตา ใช้คำที่บอกรสชาติหรือที่มา

เพิ่มความน่าสนใจให้เมนูเด่นสะดุดตาด้วยการใช้ “คำที่บ่งบอกรสชาติ หรือรสสัมผัสพิเศษ” เช่น ยำกุ้งสดรสแซ่บ ไก่ทอดหนังกรอบ ยำเห็ดกรอบ 3 รส ข้าวราดไข่ข้นชีสยืด หรือตั้งชื่อกลุ่มเมนูให้น่าสนใจ เช่น จานเด็ด จานด่วน สูตรต้นตำรับ เป็นต้น ซึ่งควรใส่คำเหล่านี้กับเมนูที่ต้องการไฮไลต์เท่านั้น กรณีที่ชื่อเมนูแปลกเสียจนลูกค้างง ควรมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่าเมนูนั้นมีส่วนประกอบอะไรบ้าง เช่น ยำทุ่งแซ่บ (ยำมังสวิรัตรสจัด ใส่ยอดฟักแม้ว ก้านคะน้า และเห็ดรวม ปรุงรสจัด)

การออกแบบเมนูร้านอาหาร

เล่าเรื่อง...กว่าจะมาเป็นเมนูเด็ด!

สร้างคุณค่าและความแตกต่างให้เมนูอร่อยด้วยการเล่าเรื่อง “กว่าจะมาเป็นเมนูเด็ด” เพื่อให้ลูกค้ารับรู้ได้ถึงความพิเศษ ความใส่ใจ และสนใจสั่งเมนูนั้นมาลองชิม โดยใช้คำสั้นๆ ภาพประกอบสวยๆ ลูกค้าเห็นแล้วสะดุดตา มองผ่านๆ ก็เข้าใจ ซึ่งนำเสนอได้หลากหลายแง่มุม เช่น

  • ตำนานความอร่อย ประวัติความเป็นมาของร้านหรือสูตรต้นตำรับที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น
  • จากฟาร์มสู่จาน เล่าเรื่องความสดใหม่ของวัตถุดิบที่ส่งตรงจากแหล่งผลิต เช่น วัตถุดิบจากโครงการหลวง วัตถุดิบจากฟาร์มออแกร์นิก วัตถุดิบที่นำเข้ามาจากประเทศต้นกำเนิด
  • ขั้นตอนการทำ โดยเฉพาะเมนูที่ต้องใช้เวลามากเป็นพิเศษจำพวกน้ำซุป น้ำซอส เมนูตุ๋น และการทำเส้นเอง
การออกแบบเมนูร้านอาหาร

จัดจานถ่ายรูปให้สวยปัง จนคนอยากชิมอยากแชร์

อย่าคิดว่าของอร่อย อยู่ในจานแบบไหนก็อร่อย? เพราะการเลือกใช้ภาชนะเก๋ ๆ ตกแต่งหน้าตาอาหารให้ดูดีก็ช่วยให้ดูน่ากินขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งเรามีเทคนิคการจัดจานและถ่ายรูปด้วยอุปกรณ์ง่าย ๆ แต่ช่วยให้รูปออกมาสวยปัง จนคนอยากสั่งมาชิมและถ่ายรูปแชร์ลงโซเชียล

ทริคจัดจานให้สวยแบบง่าย ๆ แม้ว่าการจ้าง Food Stylist จะเป็นเรื่องง่าย แต่จะดีกว่าไม๊? ถ้าเราสามารถจัดจานให้ “สวยพร้อมเสิร์ฟได้เองในทุกวัน” ซึ่งมีทริคดังนี้

  • ใช้จานที่มีสีตัดกับอาหาร เช่น ใช้จานสีดำใส่เมนูสปาเก็ตตีในซอสมะเขือเทศ ส่วนสลัดที่มีทั้งสีเขียว แดง ส้ม ก็เหมาะวางในจานสีขาว
  • ไม่ใส่อาหารล้นจาน ควรเหลือพื้นที่รอบ ๆ ไว้ตกแต่งประมาณ 20-30% หรือใช้ภาชนะใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย
  • ตกแต่งอาหารด้วยส่วนประกอบที่มีในครัว เช่น ผักโรย ผักสลัด หรือดอกไม้ทานได้ หรือจัดวางเครื่องเคียงให้น่าสนใจ เช่น ใช้ที่ตักไอกรีมตักมันบด หรือนำซอสและน้ำสลัดมาวาดเป็นลายเส้นง่าย ๆ บนขอบจาน
  • ใช้วัสดุรองจานหรืออาหารอีกชั้น เช่น ใช้ใบตอง ผักทอดกรอบ หรือกระดาษไขรองก่อนวางอาหาร
  • เปลี่ยนวิธีการเสิร์ฟ โดยเฉพาะเมนูที่มีอาหารหลายชนิดในจานเดียว เช่น สเต็ก ที่มีทั้งเนื้อสเต็ก สลัด ขนมปัง และมันบด ก็สามารถแยกสลัดและมันบดใส่ภาชนะอื่น ๆ ได้
  • ถ่ายภาพอาหารด้วยสมาร์ทโฟน ในยุคที่กล้องมือถือชัดแจ่มแจ๋ว แถมยังมีฟังก์ชันมากมายเกือบเท่ากล้องใหญ่ เราสามารถถ่ายภาพอาหารเพื่อใช้ในการโปรโมทได้เองแบบง่าย ๆ กับทริคสำคัญไม่กี่ข้อ คือ
  • ถ่ายภาพตอนกลางวันเพื่อใช้แสงธรรมชาติ โดยวางในมุมที่ไม่ทำให้เกิดเงา เช่น โต๊ะริมหน้าต่างหรือกลางแจ้ง
  • เพิ่มความเก๋ด้วยการถ่ายครอป ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกจากภาพ เช่น ขอบจานหรือผักแต่งจานบางส่วน
  • แต่งฉากหลังด้วยเมนูอื่นหรือพร๊อพ แต่โฟกัสเฉพาะเมนูหลัก แล้วปล่อยฉากหลังให้เบลอแบบสุด ๆ ช่วยให้ภาพอาหารดูเต็มสวย ยิ่งใหญ่มากขึ้น
  • ถ่ายซูมเจาะไปที่ตัวอาหาร เช่น ลวดลายมันของเนื้อวากิว เลเยอร์ชั้นเค้ก ความสดของเนื้อส้มยั่วให้ดูน่ากิน
  • ถ่ายภาพขณะทำหรือตักอาหาร เช่น ภาพขณะปิ้งย่าง ราดซอสบนเนื้อที่ชุ่มฉ่ำ หรือม้วนเส้นสปาเก็ตตี
  • เน้นภาพโทนสีอบอุ่น โดยเฉพาะสีส้ม เหลือง หรือแดงนิด ๆ ซึ่งเป็นโทนสีที่ช่วยทำให้รู้สึกหิวหรือเจริญอาหาร
การออกแบบเมนูร้านอาหาร

เว้นที่ไว้ใส่กิมมิค เติมสีสันให้รสชาติ

ไม่ควรวางชื่อรายการอาหารติดกันเป็นพรืดทั้งหน้า แต่ควรเพิ่มจังหวะพักสายตาด้วยการเว้นพื้นที่ไว้สำหรับวางภาพอาหารเด่น ๆ ขนาดใหญ่ในทุกหน้า พร้อมใส่คำบรรยายสั้น ๆ ตัวโตๆ เพื่อเรียกน้ำย่อย เช่น สลัดผักสดออร์แกนิกและเต้าหู้เย็น ราดด้วยน้ำสลัดรสแซ่บแบบไทย, สเต๊กเนื้อริบอายนำเข้าเสิร์ฟแบบมีเดียม ชุ่มฉ่ำหวาน พร้อมซอสเห็ดสูตรต้นตำรับ, ตำถาดแซ่บยกครัวพร้อมชุดผักสดและเครื่องเคียงแบบขันโตก

เพิ่มลูกเล่นให้พื้นที่ว่างๆ ด้วยการใส่ภาพวัตถุดิบหรือภาพกราฟิกน่ารักๆ ของผัก ผลไม้ เครื่องเทศ และวัตถุดิบต่าง ๆ รวมทั้งเลือกใช้สีที่ช่วยกระตุ้นให้รู้สึกหิวและเจริญอาหาร คือ

  • สีแดง กระตุ้นให้เจริญอาหาร เพิ่มอัตราเผาผลาญ และทำให้เด่นสะดุดตา
  • สีส้ม กระตุ้นความหิว ทำให้รู้สึกเฟรช สดชื่น และมีพลังดึงดูดความสนใจ
  • สีเหลือง กระตุ้นให้เจริญอาหารและทำให้รู้สึกสดใส
  • สีเขียว สีแห่งความสุข สะอาด สดชื่น เหมาะกับเมนูเพื่อสุขภาพ
การออกแบบเมนูร้านอาหาร

ราคาดึงดูดและไม่เยอะไป

ตั้งราคาให้น่าสนใจ เช่น ลงท้ายด้วยเลข 9 เพราะเป็นราคาที่จำง่าย จัดกลุ่มง่าย และไม่หลากหลายเกินไป เช่น ราคากลุ่ม 39 / 50 / 79 / 199 / 399 เป็นต้น ส่วนราคาที่หลากหลายและดูเยอะมากเกินไป ไม่ควรทำเลยก็เช่น 25 / 39 / 50 / 55 / 75 / 89 / 150 / 179 เป็นต้น โดยเฉพาะราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 9 ซึ่งถือเป็นเลขมงคล เลขสวย และทางจิตวิทยายังช่วยให้รู้สึกว่าเป็นราคาที่ถูกและพิเศษอีกด้วย

การออกแบบเมนูร้านอาหาร

วัสดุเรียบง่ายคงทนอยู่นาน

ข้อสุดท้ายที่จะช่วยให้เมนูออกมาสวย คงทน ช่วยประหยัดได้ในระยะยาวก็คือ การเลือกใช้กระดาษแข็งคุณภาพสูง หากต้องการสีสันสดใสคมชัดมากขึ้นไปอีกก็แนะนำให้พิมพ์บนสติกเกอร์ก่อนนำไปแปะทับบนกระดาษแข็งพร้อมเคลือบกันน้ำอีกชั้น หรือถ้าต้องการความหรูหราดูมีระดับก็อาจเลือกใช้แผ่นหนังมาหุ้มทำเป็นปกอีกทีก็ได้ แม้จะลงทุนเยอะในครั้งแรก แต่ก็รับรองว่าใช้ได้นาน ทน คุ้มค่าแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งลูกเล่นน่าสนใจที่ช่วยให้ลูกค้าสนุกกับการดูเมนูมากขึ้น แถมเจ้าของร้านเองก็สามารถเพิ่มโปรโมชั่น อัพเดตเมนู หรือเปลี่ยนภาพอาหารได้ตลอดเวลากับ E-Menu ระบบเมนูดิจิทัลที่ลูกค้าต้องเลือกเมนูผ่านไอแพดหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ร้านจัดเตรียมไว้ให้ แม้จะดูสะดวก ง่าย และทันสมัย แต่ทว่าจะต้องเสียเงินลงทุนและใช้เวลาลองผิดลองถูกเพื่อสร้างระบบที่ใช้ง่ายและเสถียรมากที่สุด

Wongnai POS

หรือจะเลือกใช้ Wongnai POS ที่มีฟีเจอร์ให้เลือกมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือระบบ E-Menu ที่ลูกค้าสามารถดูเมนูพร้อมภาพประกอบ ราคา และรายละเอียดต่าง ๆ แถมยังสามารถระบุเงื่อนไขอื่นได้ด้วย เช่น รสชาติหวานน้อย ไม่ใส่พริก ไข่ดาวสุกกรอบ เป็นต้น พร้อมส่งออร์เดอร์เข้าไปในครัวหรือส่งไปปริ้นท์ได้ทันที หมดปัญหาเรื่องออร์เดอร์ตกหล่น แถมยังจัดเก็บข้อมูลออร์เดอร์ของแต่ละโต๊ะได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญมีฟีเจอร์ Mobile Staff App เชื่อมต่อ Wongnai POS เข้ากับโทรศัพท์มือถือของพนักงานให้กลายเป็นเครื่องรับดออร์เดอร์ได้ทันที!

แม้จะเป็นไอเท็มเล็ก ๆ ที่เหมือนจะลงทุนไม่มากและไม่ยาก แต่การ “ออกแบบเมนูให้ดี” กลับมีพลังเพิ่มได้ทั้งยอดขาย ช่วยควบคุมการเลือกใช้วัตถุดิบไม่ให้มากเกินจำเป็น และทำให้เมนูเด่นของร้านเป็นที่รู้จักง่ายยิ่งขึ้น ที่สำคัญหากคุณเลือกใช้ระบบ E-Menu ที่รองรับการเชื่อมต่อกับระบบเดลิเวอรีชื่อดัง... คุณก็จะมีโอกาสขยายร้านให้เติบโตในโลกออนไลน์ได้แบบไม่ยาก!!

ค้นหาบทความธุรกิจร้านอาหารเพิ่มเติมได้ที่นี่