เราคงเริ่มเห็นการปรับตัวของร้านอาหารเพื่อหนทางอยู่รอดในช่วงวิกฤต COVID-19 อย่างบริการเดลิเวอรีซึ่งเป็นทางออกยอดนิยมในตอนนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการออกมาทานอาหารที่ร้านและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ในขณะเดียวกัน ยังคงมีร้านอาหารอีกหลายแห่งที่เปิดให้บริการหน้าร้าน แต่เป็นการเปิดเพื่อให้ลูกค้าได้ Pick-up รับอาหารที่สั่งไว้แทน
บริการ Pick-up (Take-out) คือการสั่งอาหารกลับไปทานที่บ้านซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศนอกเหนือจากบริการเดลิเวอรี ถือว่าเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่บ้านอยู่ใกล้ร้านอาหารหรือสะดวกที่จะแวะรับอาหารด้วยตัวเอง
วันนี้ Wongnai for Business มีแนวทางดีๆ ในการปรับตัวร้านอาหารสู่การเป็นร้านแบบ Pick-up มาฝากเจ้าของธุรกิจร้านอาหารทุกคน เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่น่าสนใจและสามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ในตอนนี้ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
1. ปรับเมนูให้ทานได้สะดวก
คงไม่ใช่ทุกเมนูที่สามารถจัดแพ็กลงกล่องและสั่งกลับไปทานที่บ้านได้ง่ายๆ การปรับตัวร้านอาหารสู่บริการ Pick-up จึงควรคำนึงถึงการปรับเมนูให้ทานได้สะดวกมากขึ้นด้วยเช่นกัน อาจจำเป็นต้องตัดบางเมนูออกเพราะความยุ่งยากในการจัดแพ็กลงกล่อง หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบของเมนูอาหารให้พร้อมทานและจัดแพ็กลงกล่องได้ง่ายยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เรื่องของระยะเวลาในการปรุงอาหารก็สำคัญไม่แพ้กัน ทางร้านควรประเมินเวลาในการจัดเตรียมอาหารไว้ เพื่อให้อาหารเสร็จเรียบร้อยทันเวลาที่ลูกค้ามาถึงร้านโดยที่ลูกค้าไม่ต้องมายืนรอนานๆ
ไม่ใช่เพียงบริการ Pick-up เท่านั้น หากร้านมีการจัดส่งเดลิเวอรี ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนเมนูให้เหมาะสมแก่การจัดส่งด้วยเช่นกันนะครับ
2. ปรับสัดส่วนวัตถุดิบและต้นทุน
อย่าลืมคำนวณและปรับสัดส่วนของสต๊อกวัตถุดิบใหม่ในช่วงนี้เพื่อปรับโครงสร้างของต้นทุนวัตถุดิบ ร้านอาหารอาจพบว่าจำนวนออเดอร์เปลี่ยนแปลงไปเพราะไม่มีลูกค้าหน้าร้านอย่างปกติ โดยสามารถใช้เทคโนโลยีจัดการร้านอาหารมาช่วยจัดเก็บข้อมูลและคำนวณสัดส่วนวัตถุดิบให้เหมาะสมได้
ควรเตรียมวัตถุดิบไว้ในสต๊อกให้เพียงพอแต่ไม่มากเกินไปจนเหลือทิ้ง เพราะอาจมีออเดอร์เดลิเวอรีและ Pick-up เข้ามาพร้อมกันเป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกันโดยที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้นจึงควรมีวัตถุดิบเพียงพอและพร้อมปรุงอาหารให้ทันจัดส่งอยู่เสมอ
3. เตรียมแพ็กเกจจิ้งให้พร้อม
เลือกแพ็กเกจจิ้งให้เหมาะกับอาหารแต่ละประเภท กล่องทุกประเภทควรมีฝาปิดครอบให้เรียบร้อยและจัดแพ็กกล่องลงถุงที่มีหูหิ้วเพื่อความสะอาดและสะดวกต่อลูกค้าเมื่อมารับอาหารกลับบ้าน
สำหรับประเภทของวัสดุที่นำมาทำกล่องอาหารนั้นมีหลากหลายรูปแบบ แต่ละประเภทมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไปทั้งในแง่การใช้งานและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น กล่องโฟมเป็นกล่องที่เก็บความร้อนและความเย็นได้ดี แต่ข้อเสียคือไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ขณะที่บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่ย่อยสลายได้ง่ายมักจะมีราคาสูงกว่า แต่เริ่มมีรูปแบบหลากหลายมากขึ้นและมีความทนทานไม่แพ้กัน
4. ช่องทางการสั่งอาหารเข้าถึงง่าย
ปัจจุบันช่องทางการสั่งอาหารที่เข้าถึงง่ายและสะดวกที่สุดคงหนีไม่พ้นการสั่งอาหารออนไลน์ การโทรสั่งอาหารอาจเป็นอีกทางที่เข้าถึงได้ง่ายแต่สามารถจัดการได้ยากกว่าและอาจพบปัญหาออเดอร์ตกหล่นได้ ช่องทางการรับออเดอร์ออนไลน์จึงมีความสะดวกในการจัดเก็บข้อมูลได้มากกว่า เช่น ผ่านแอปพลิเคชันสั่งอาหารเดลิเวอรีอย่าง LINE MAN ซึ่งลูกค้าสามารถกดเลือกบริการ “รับที่ร้าน (Pickup)” แล้วไปรับอาหารที่ร้านด้วยตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการรอคิวหน้าร้านนานๆ ซึ่งลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนรอบข้างได้ เป็นต้น
5. จุดรับอาหารสะอาดปลอดภัย
ความสะอาดเป็นปัจจัยสำคัญในเวลานี้ที่ร้านอาหารต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า จุดรับอาหารของบริการ Pick-up ควรเป็นจุดที่ลูกค้าสามารถเดินเข้าไปรับได้ด้วยตัวเอง ออกแบบเส้นทางการเดินเข้ามารับอาหารและควรให้ลูกค้าเข้ามาภายในร้านได้ไม่เกินครั้งละ 2 คน โดยไม่ต้องรับจากมือของพนักงานเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมให้ได้มากที่สุด (Social Distancing) บริเวณที่รับอาหารควรจัดเตรียมเจลล้างมือให้ลูกค้าสามารถกดใช้ได้ ทั้งนี้ทางร้านควรหมั่นทำความสะอาดบริเวณนั้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นบริการ Pick-up หรือบริการเดลิเวอรี ถึงเวลาที่ธุรกิจร้านอาหารจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่และสร้างความเข้าใจพร้อมแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในช่วงเวลานี้ให้แก่น้องๆ พนักงานในร้าน หมั่นรักษาความสะอาดเพื่อช่วยกันลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคกันนะครับ แล้วเราจะผ่านวิกฤตครั้งไปได้ด้วยกัน #สปดกรจรกม สู้ไปด้วยกันเราจะรอดกันหมดครับ!
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมเดลิเวอรีกับ LINE MAN เพียงดาวน์โหลด Wongnai Merchant App (WMA)
- iOS ดาวน์โหลดที่นี่
- Android ดาวน์โหลดที่นี่
ร้านค้าที่สนใจใช้ฟีเจอร์ "รับที่ร้าน" (Pick-up) สามารถเข้าร่วมโครงการ LINE MAN GP เพื่อเปิดบริการ "รับที่ร้าน" (Pick-up) ได้ด้วยตัวเอง สมัครได้ที่ : https://bit.ly/333EPE5
*บริการ “รับที่ร้าน” (Pickup) มีค่าบริการระบบอยู่ที่ 5% ของยอดออเดอร์ (ไม่รวม VAT)
ติดตามบทความเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารพร้อมสู้วิกฤต COVID-19
- “เดลิเวอรี” คือทางออกร้านอาหารในช่วงวิกฤต COVID-19?
- แนวทางการปรับตัวร้านอาหาร รับมือภัย COVID-19
- ส่อง 9 วิธี รับมือ COVID-19! กับเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น Okinawa Kinjo
- 8 บริษัทพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ร้านสะอาดพร้อมสู้วิกฤต COVID-19!
ที่มาข้อมูล : https://bit.ly/3dNPS8C