ในยุคที่ทุกคนต้องปรับตัวจากวิกฤต COVID-19 ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มักนำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการระบบ รวมถึงช่วยในด้านต่าง ๆ ทดแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น ประเภทธุรกิจที่เรียกกันว่า “Startup” ก็เริ่มกลับมาให้เราได้ยินบ่อยขึ้นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเงิน สุขภาพ แม้กระทั่งร้านอาหาร
Wongnai for Business จึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักธุรกิจ Startup แบบชัด ๆ เปรียบเทียบความต่างระหว่าง Startup กับ SME ที่หลายคนมักสงสัย พร้อมมีตัวอย่าง Startup สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ให้ผู้ประกอบการลองพิจารณา ใครจะไปรู้...เจ้าของ Startup ระดับยูนิคอร์นคนต่อไปอาจเป็นคุณก็ได้!
Startup คืออะไรกันแน่?
Startup คือ บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการที่มีความ “ใหม่” และ “แตกต่าง” จากในท้องตลาด พร้อมทั้งสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่ผู้คนพบเจออยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งโดยทั่วไปธุรกิจ Startup มักดำเนินการบริการโดยใช้พนักงานจำนวนน้อย เสริมประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี มีความคล่องตัว และใช้วิธีผลิตสินค้าต้นแบบขึ้นมาก่อน รวมไปถึงนำไอเดียเสนอแก่นักลงทุน เพื่อให้ได้เงินมาต่อยอดธุรกิจ และพัฒนาบริษัทให้เติบโตไปได้อย่างก้าวกระโดด
Startup Vs SME
บางคนอาจสงสัยว่า แล้ว “Startup” กับ “SME” ต่างกันหรือเปล่า? ในเมื่อก็ดูจะเป็นธุรกิจที่เริ่มจากสเกลเล็ก ๆ เหมือนกัน คำตอบคือ “ต่าง” ข้อแตกต่างอย่างแรกเลยคือ ตัวสินค้าหรือบริการ ซึ่งของ SME จะเป็นสินค้าหรือบริการอะไรก็ได้ มีคนทำมาก่อนแล้วก็ไม่เป็นไร ส่วนสินค้าหรือบริการจากบริษัท Startup นั้นจะต้องเป็นสิ่งแปลกใหม่ในระดับ “พลิกวงการ” และสามารถแก้สิ่งที่เป็นปัญหาต่อชีวิตของลูกค้าได้ อีกจุดสำคัญคือ SME จะเป็นลักษณะธุรกิจขนาดเล็กถึงกลางที่ค่อย ๆ เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วน Startup นั้นเน้นการโตอย่างก้าวกระโดด โดยใช้วิธีขอทุนจำนวนมากจากนักลงทุนนั่นเอง
สิ่งที่ต้องมีก่อนกระโจนลงสนาม Startup
รู้จักแล้วว่า Startup คืออะไร เข้าใจความแตกต่างของ Startup กับ SME เรียบร้อย ก็มาถึงคำถามสำคัญอย่าง “คุณพร้อมหรือเปล่าที่จะกระโจนลงสนาม Startup?” เพื่อแข่งกันกับคนอื่น ๆ เราเลยลิสต์ 4 สิ่งสำคัญสำหรับการทำธุรกิจ Startup ดังนี้
1ไอเดียที่แหลมคมและสร้างสรรค์
ไอเดียเป็นจุดตั้งต้นของธุรกิจ Startup ซึ่งแค่แปลกใหม่ยังไม่พอ ต้องแน่ใจด้วยว่ามันมีประโยชน์และแก้ปัญหาให้คนกลุ่มใหญ่ได้จริง ๆ ยิ่งถ้าเป็นปัญหาที่ผู้คนเผชิญซ้ำแล้วซ้ำอีกจนดูเหมือนไม่มีทางแก้ แล้วบริษัทของเราคิดบริการอะไรบางอย่างเข้ามาตอบโจทย์ได้ ความสำเร็จก็ลอยเข้ามาใกล้อีกนิดแล้ว
2การทดสอบว่าสินค้าหรือบริการนี้จะมีลูกค้า
อย่าลืมเช็กให้แน่ใจว่าไอเดียที่เราคิดไม่ได้ดีสำหรับเราแค่คนเดียว ต้องพยายามหาสิ่งที่คนจำนวนมากต้องการ โดยอาจใช้วิธีสัมภาษณ์เชิงลึกโดยเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณภาพ หรือมีจำนวนมากพอควร เพื่อจะได้สรุปว่า สินค้าและบริการของเราน่าพึงพอใจขนาดจะสร้างเป็นธุรกิจได้จริงไหม? หรือใครที่เป็นเจ้าของร้านอาหารอาจจะใช้ตัวช่วยอย่าง Wongnai POS ที่มีฟีเจอร์รายงานยอดขายและข้อมูลอีกมากมาย ที่สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจได้
3แผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว
ด้วยรูปแบบการดำเนินการของ Startup อย่างที่เล่าไปทั้งหมด เจ้าของร้านคิดจะทำธุรกิจประเภทนี้จึงควรมีแผนที่ชัดเจน ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่จะปลุกปั้นไอเดียให้เป็นชิ้นเป็นอันพอจะนำไปแสดงให้นักลงทุนเห็น แผนระยะกลางในช่วงได้รับเงินก้อนใหญ่ ขยายกิจการอย่างก้าวกระโดด ไปจนถึงระยะที่สินค้าและบริการของเราสามารถทำกำไรในระดับเลี้ยงดูตัวเองได้
4ทักษะการนำเสนอที่ดี
อย่างที่บอกไปแล้วว่า เงินทุนของบริษัท Startup นั้นได้มาจากนักลงทุน ซึ่งฝั่งคิดไอเดียจะต้องออกไปนำเสนอ ชักจูง ให้นักลงทุนเห็นว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำนี้มันเจ๋งมาก ๆ เป็นที่ต้องการของตลาด และมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตในอนาคต เวลาในการแสดงไอเดียก็มักจำกัดในหลักสิบนาที ดังนั้นจึงควรดึงความสนใจให้อยู่หมัดตั้งแต่นาทีแรก ๆ
ถ้ามีพร้อมทั้ง 4 ข้อนี้แล้ว ทั้งไอเดีย การทดสอบสินค้าหรือบริการในกลุ่มที่น่าจะมาเป็นลูกค้าของเรา แผนการที่ชัดเจนระยะสั้น กลาง ยาว และทักษะการนำเสนอ ก็ลองลงสนาม Startup และลุยกันสักตั้งได้เลย!
1ตัวอย่าง Startup ธุรกิจอาหารในไทย
Startup ธุรกิจอาหารนั้นอยู่รอบตัวเรานี่เอง อย่างใกล้ที่สุดก็ได้แก่สารพัดบริษัทที่ผลิตแพลตฟอร์มเดลิเวอรี เช่น LINE MAN ฯลฯ ซึ่งช่วยให้การสั่งอาหารจากร้านที่เราอยากกิน แต่ไม่อยากไปเอง ทำได้ง่ายสุด ๆ
อีกตัวอย่าง Startup ธุรกิจอาหารที่มีบริการครอบคลุม ให้ประโยชน์กับทั้งคนกินและฝั่งผู้ประกอบการ ก็ได้แก่ LINE MAN Wongnai นี่เองแหละ สำหรับฝั่งนักกิน ซึ่งช่วยตอบโจทย์ด้านการหาร้านให้ง่ายขึ้น พร้อมมีรูป แผนที่ เวลาเปิด-ปิดของร้าน รวมถึงมีรีวิวจากคนที่เคยไปกินแล้วมาให้ดู ส่วนฝั่งเจ้าของธุรกิจร้านอาหารก็สามารถใช้แพลตฟอร์ม ในการโปรโมทร้านตัวเองให้เข้าถึงคนกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีระบบจัดการร้านค้า ที่เรียกว่า Wongnai POS ให้เจ้าของธุรกิจร้านอาหารจัดการออร์เดอร์ทั้งในร้าน สั่งกลับบ้าน และบริการส่งได้ง่าย ไม่ตกหล่น รองรับการชำระเงินทุกประเภท ติดตามยอดขาย กำไร ขาดทุน และบริหารสินค้าคงคลังได้แม่นยำตลอดเวลา ที่สำคัญคือเชื่อมต่อกับฐานผู้ใช้แพลตฟอร์ม LINE MAN Wongnai ด้วย ช่วยให้ทำเดลิเวอรีและบริการรับที่ร้านได้ทันที เพิ่มช่องทางขาย เพิ่มกำไรไปอีก
ธุรกิจ Startup อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้าถึงแทบทุกคน ต้นทุนไม่สูงอย่างเมื่อก่อน แถมใช้งานง่ายขึ้นทุกวันจนแม้แต่อาม่าที่บ้านยังกดสั่งอาหารทาง LINE MAN ได้เองเลย การคิดไอเดียเจ๋ง ๆ และลองรันธุรกิจของเราเองจึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน แต่ยังไงอย่าลืมทำการบ้านให้ครบตามลิสต์ 4 สิ่งสำคัญที่ต้องมีก่อนกระโจนลงสนาม Startup ก่อนด้วยนะ
เรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารยังมีอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีศึกษาจากเจ้าของกิจการ กลยุทธ์การตลาดและการโฆษณา เพื่อให้ร้านขายดี ทำกำไร ฯลฯ ติดตามได้ทางเพจ Wongnai for Business เจออะไรเด็ดอย่าลืมแชร์ให้เพื่อน ๆ มาเรียนรู้ไปด้วยกัน
เรื่องน่าสนใจอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ควรพลาด