การทำธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบัน นอกจากใส่ใจส่วนอาหารและตัวร้าน แล้ว อีกส่วนที่สำคัญมากไม่แพ้กันเลยก็คือการทำการตลาดและการโฆษณา เพื่อให้ร้านเป็นที่รู้จักไปในวงกว้าง มีลูกค้าเพิ่ม และผลกำไรเพิ่มขึ้น
ปัญหาคือ บางครั้งเจ้าของธุรกิจอาจมีความเชี่ยวชาญมาก ๆ เรื่องอาหาร แต่ด้านการตลาดยังไม่ถนัดเท่าไหร่ Wongnai for Business เลยรวม 40 ศัพท์การตลาด 2022 ให้ อย่างน้อยต่อไปเวลาจะเสิร์ช Google เพื่อหาข้อมูลเพิ่ม ก็จะได้รู้ว่าหาด้วยคำไหนดี ว่าแล้วก็เริ่มเลย กับ 40 คำศัพท์การตลาดและการโฆษณา ที่เจ้าของร้านอาหารต้องรู้!
โซนทำความรู้จักกลุ่มลูกค้า
1. Insight
สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต้องรู้ เพื่อจับลูกค้าให้อยู่หมัด คือ “Insight” สิ่งนี้คือข้อมูลหรือความต้องการของลูกค้า ที่อยู่ลึกลงกว่าตามองเห็น
การจะได้ Insight นั้น ไม่ใช่แค่เก็บสถิติ รู้ตัวเลข ก็จะได้มาเลย แต่ละต้องผ่านการวิเคราะห์ หรือทำการสังเกตรวมถึงสัมภาษณ์เชิงลึกร่วมด้วย ตัวอย่าง สมมติลูกค้าชอบโปรโมชันแบบ A มากกว่าแบบ B นี่ยังไม่ใช่ Insight แต่ถ้าหาได้ว่า ชอบแบบ A มากกว่าเพราะแบบ A ทำให้คนซื้อรู้สึกเป็นคนดีขึ้น และทุกคนอยากรู้สึกเป็นคนดี อันนี้แหละ Insight
และถึงจะหายาก เข้าใจยากสักหน่อย แต่ถ้ารู้ Insight ของกลุ่มเป้าหมายแล้วละก็ การจัดบริการหรือโปรโมชันให้ตรงใจก็ไม่ยากแล้ว
2. Persona
เคยมีปัญหาเรื่องกำหนดกลุ่มลูกค้าไว้ แล้วเวลาสื่อสารออกไป ผู้รับสารแต่ละคนเห็นภาพไม่ตรงกันหรือเปล่า ? ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเมื่อรู้จักการตั้ง “Persona” ซึ่งหมายถึงการสร้างบุคคลิกลักษณะของกลุ่มเป้าหมายออกมาเป็นคน 1 คน มีชื่อ คติประจำใจ อาชีพ และลงลึกไปถึงที่อยู่อาศัย อายุ สถานะครอบครัว ระดับการศึกษา รายได้ ความสนใจ กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน พฤติกรรม ความต้องการ ฯลฯ
เมื่อได้แล้ว คนทำงานทุกคนไม่ว่าหุ้นส่วนร้านหรือพนักงานก็จะเห็นภาพเดียวกัน เมื่อจะคิดทำอะไร เช่น หาช่องทางการสื่อสารการตลาด ก็จะคิดได้ตรงเป้ายิ่งขึ้น
3. Demographic
Demographic หรือ สถิติจำนวนประชากร มักแสดงในรูปแบบแผนภูมิแท่งแสดงภาพให้เห็นว่ากลุ่มกลุ่มนี้มีจำนวนกี่คน แบ่งเป็นเพศชายกี่คน หญิงกี่คน และในกลุ่มชายหรือหญิงนั้นแยกออกเป็นแต่ละช่วงอายุ ช่วงละกี่คน
ประโยชน์ของ Demographic เช่น เวลาสร้างเพจใน Facebook แล้วอยากจะทำคอนเทนต์หรือแคมเปญอะไรสักอย่างขึ้นมาสำหรับแฟนเพจของเรา ถ้าเราแวะเข้าไปดูหน้า Demographic ก่อน ก็จะพอกะได้ว่าควรทำคอนเทนต์แนวไหน ใช้มุกประมาณไหนดี ควรจะเน้นสื่อสารกับผู้หญิงหรือผู้ชายมากกว่ากัน เป็นต้น
โซนการตลาดออนไลน์
4. Traffic
Traffic สำหรับร้านอาหาร คือ การที่ลูกค้าเข้ามาในร้าน โดยในยุคปัจจุบันอาจไม่ได้หมายถึงแค่คนเดินเข้ามาในร้านจริง ๆ แต่รวมไปถึงลูกค้าที่เข้ามาตามช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ด้วย หรือสรุปอย่างง่ายคือ ถ้ามีการเข้ามาสู่พื้นที่ที่เห็นสินค้า และสามารถทำการซื้อได้ แม้จะยังไม่เกิดการซื้อจริงก็ถือว่าเกิด Traffic ขึ้นแล้ว
5. Organic Traffic
Traffic ที่เข้ามาเอง ไม่ใช่การโฆษณา เช่น ลูกค้าที่เข้าร้านเราด้วยการเสิร์ชหา “ร้านแกงกะหรี่ แถวสีลม” ใน Google แล้วมาเจอร้านเราเอง ไม่ได้มาจากการยิง Ads เสียเงินในช่องทางใด ๆ แบบนี้เรียกว่า Organic Traffic
6. Conversion
ในสายการตลาดดิจิทัลมักพบคำว่า Conversion ได้บ่อย โดยมันเป็นตัวบอกว่าแคมเปญการตลาด หรือกิจกรรมใด ๆ ที่เราเผยแพร่ออกไปนั้นได้ผลแค่ไหน
Conversion จะเป็นอะไรก็ได้ที่เราตั้งเป้าหมายไว้ เช่น สำหรับธุรกิจร้านอาหารที่มีการโฆษณาหรือขายในเว็บไซต์ Conversion อาจเป็นการกดแอดไลน์ การกดดาวน์โหลดแอป การสั่งซื้อ การเข้าร้าน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะมีการเปรียบเทียบกับ Traffic ของหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ เพื่อเจ้าของร้านจะได้ประเมินได้ว่า เมื่อโฆษณาแบบนี้ไปแล้วช่วงเวลาหนึ่ง มีคนเข้าเว็บไซต์ทั้งหมดกี่คน เกิด Conversion ขึ้นมาเท่าไหร่ และคุ้มค่าหรือไม่ที่จะโฆษณาแบบนี้ต่อไป เป็นต้น
โซนการตลาดออนไลน์ สายโซเชียลมีเดีย
7. Influencer
Influencer แปลตรง ๆ คือ ผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล หรือเป็นผู้ที่ทำให้ผู้ติดตามเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมหลังจากเสพสื่อจาก Influencer เช่น เห็น Influencer คนนี้ไปถ่ายรูปเช็กอินที่ร้านอาหารร้านหนึ่ง ผู้ติดตามก็ต้องตามไปเช็กอินตามบ้าง
Influencer จะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นดาราหรือบุคคลมีชื่อเสียงมาก่อน แพลตฟอร์มที่พวกเขาใช้มีหลากหลาย เช่น Facebook Youtube IG Tiktok ฯลฯ มีคำอธิบายว่า สาเหตุที่คนทำตาม Influencer ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาไม่ได้เป็นตัวแทนของแบรนด์ ทำให้การแนะนำสินค้าดูจริงใจ ไม่เหมือนเวลาดูโฆษณาที่แบรนด์ต่าง ๆ ผลิตออกมาเอง
8. KOL (Key Opinion Leader)
การตลาดออนไลน์ของหลายแบรนด์ในยุคนี้ หนึ่งในตัวแปรสำคัญคือ Key Opinion Leader ที่แปลแบบตรงตัวคือ ‘ผู้มีอิทธิพลทางความคิด’ หรือผู้ที่สามารถชักจูง และชี้นำกลุ่มคนในสังคมได้ ผู้คนให้ความไว้วางใจ KOL สามารถมีผู้ติดตามได้ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่น
แล้ว KOL ต่างกับ influencer ยังไง? ความต่างที่ชัดเจนเลยก็คือ ‘ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน’ KOL จะมีความรู้ ความน่าเชื่อถือ และความโดดเด่นในสายงานนั้น คนแรกที่ขึ้นมาในหัวเวลาเราคิดถึงเรื่องใดเรื่องนึง ก็ถือว่าเป็น KOL ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้น ๆ สามารถทำให้คนจดจำในฐานะผู้เชี่ยวชาญได้ ด้วยเหตุนี้ หลาย ๆ แบรนด์จึงจ้าง KOL เพื่อโปรโมท และให้ความรู้เกี่ยวกับแบรนด์ ผู้คนจะคิดว่า KOL คนนี้มีความเชี่ยวชาญจริง ทำให้ไม่ดูเป็นการโฆษณาจนเกินไป
9. Affiliate Marketing
Affiliate หมายถึง การทำธุรกิจด้วยการโปรโมทสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ของคนอื่น โดยที่คนโปรโมทไม่ต้องเป็นเจ้าของสินค้า ไม่ต้องสต๊อก หรือส่งสินค้า เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางโปรโมทสินค้า หากมีคนกดซื้อสินค้าผ่านทางลิ้งค์ของผู้โปรโมท (affiliate link) ผู้โปรโมทจะได้ค่าคอมมิชชั่นจากตรงนั้นไปนั่นเอง บางคนเรียก affiliate ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ‘ตัวแทนจำหน่าย’ ทุกวันนี้เราสามารถเห็นการตลาดแบบ affiliate ได้บ่อยขึ้นผ่าน KOL หรือ influencer ในโซเชียลมีเดีย สมัยนี้แค่แชร์และเขียนรีวิว ก็ได้เงินแล้ว
10. Mukbang
Mukbang เป็นคำเดียวในลิสต์ 30 คำศัพท์การตลาดและการโฆษณาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ แต่เป็นภาษาเกาหลี ออกเสียงว่า “ม็อกบัง” หมายถึงการกินอาหารแบบถ่ายทอดสด ซึ่งออกอากาศในช่องทางต่าง ๆ เช่น Youtube Facebook ซึ่งมีหลายคนชอบกินอาหารไปพร้อม ๆ กับชมคลิปม็อกบังเหล่านี้
ดังนั้นในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ อาจควรทำความรู้จักชาแนลที่ทำคลิปม็อกบังไว้บ้าง เผื่อเป็นโอกาสสำหรับแนะนำร้านหรืออาหารของคุณให้คนดูชาแนลนั้น ๆ รู้จัก
11. Word of Mouth
Word of Mouth หมายถึง การบอกปากต่อปาก เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีมานานและยังคงได้ผล สำหรับร้านอาหาร การสร้าง Word of Mouth ก็คือการทำให้ลูกค้าบอกต่อว่าอาหารร้านเราเป็นยังไง บรรยากาศดีแค่ไหน เพื่อให้มีผู้อยากเข้าร้านเรามากขึ้นนั่นเอง
12. Referral Marketing
Referral เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างหนึ่ง ที่ให้ตัวลูกค้าเองบอกต่อหรือแนะนำสินค้าให้แก่ลูกค้าใหม่ โดยทั้งตัวลูกค้าเดิมและคนที่ได้รับการแนะนำสินค้าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน
ตัวอย่างสำหรับร้านอาหาร เช่น ออกแคมเปญให้ลูกค้าเก่าแนะนำเพื่อนมากิน ถ้าเพื่อนมาร้านด้วยเงื่อนไขนี้ ทั้งคนชวนและคนมารับไปเลยคูปองส่วนลด หรือได้รับของหวานฟรี
ข้อดีของกลยุทธ์นี้คือ ใช้ต้นทุนไม่สูง แต่แพร่กระจายออกไปได้กว้างขวาง แถมยังไม่ดูฮาร์ดเซลล์เกินไปด้วย
โซนการตลาดออนไลน์ สายคอนเทนต์
13. UGC (User Generated Content)
UGC หมายถึง เนื้อหาที่มาจากตัวผู้ใช้เอง เช่น ข้อความแนะนำหรือรีวิวร้านอาหาร โดยอาจจะอยู่ในช่องทางโซเชียลมีเดียของลูกค้า หรืออยู่ในแพล็ตฟอร์มรวบรวมร้านอาหาร หรืออยู่ในช่องทางใดๆ ของร้านอาหารเองก็ได้
เนื่องจากหลายคนเลือกตัดสินใจจากการอ่านประสบการณ์ของคนอื่น เพราะมันมีความ real กว่าอ่านเนื้อหาที่ผลิตจากเจ้าของร้าน ดังนั้น UGC จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และผู้ประกอบกิจการร้านอาหารจะทำให้ UGC ออกมาดีได้ ก็ด้วยการให้ประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าทุกคน
14. SEO (Search Engine Optimization)
SEO คือการทำให้การทำอะไรก็ตามเพื่อให้ Search Engine (เช่น Google Bing Yahoo) หาหน้าเว็บไซต์ของเราเจอ และจัดอันดับให้อยู่ต้น ๆ ในการค้นหา ซึ่งวิธีการ ได้แก่ ทำเนื้อหาให้ดี ตอบโจทย์สิ่งที่คนอ่านต้องการค้นหา มีการกระจายคำ Keyword สำคัญไปทั่ว ๆ บทความในปริมาณพอเหมาะ จัดทำโครงสร้างเว็บไซต์ให้มีระบบระเบียบ ฯลฯ
จริง ๆ แล้ว Search Engine ที่มีใช้อยู่ทั้งหมดทั่วโลกมีหลายเจ้า แต่เจ้าที่มีผู้ใช้มากเป็นอันดับ 1 สำหรับหลายประเทศ คือ Google ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงมุ่งทำ SEO บน Google เป็นหลัก
15. Evergreen content
คอนเทนต์คุณภาพ เนื้อหามีประโยชน์ ให้คุณค่ากับคนอ่านตลอด ไม่ขึ้นอยู่กับเทศกาล หรือเทรนด์ กลับมาอ่านกี่ครั้งก็ยังนำไปใช้ได้เสมอ เรียกว่า Evergreen content คอนเทนต์ประเภทนี้จะมียอด Traffic เข้ามาเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น สูตรอาหาร วิธีทำข้าวหมกไก่ วิธีล้างแอร์ด้วยตัวเอง เป็นต้น
16. Reach
Reach เป็นค่าแสดงความสามารถในการเข้าถึงคน เช่น ออกโปรโมชันอย่างหนึ่งขึ้นมาแล้วโปรโมทใน Social Media ช่องทางต่าง ๆ หากต้องการวัดว่าโปรโมชันนี้เข้าถึงคนจำนวนเท่าไหร่ในแต่ละช่องทาง ก็ต้องดูที่ค่า Reach
17. Engagement
ตัวเลข Engagement เป็นอีกค่าหนึ่งที่ใช้ชี้วัดความสำเร็จของการออกแคมเปญหรือคอนเทนต์ เช่น Engagement ของ Facebook จะนับจากการกดไลค์ คอมเมนต์ แชร์
ถ้ามีตัวเลขนี้เยอะ ๆ ก็อาจพออนุมานได้ว่าสิ่งที่เผยแพร่ออกไปมีคนสนใจ ซึ่งต้องพิจารณาต่อไปอีกว่าสิ่งที่คนคอมเมนต์มามีเนื้อหาอย่างไรบ้าง มีคนชอบหรือไม่ชอบมากกว่ากัน เป็นต้น
18. CTA (Call to action)
สายทำการตลาดออนไลน์น่าจะคุ้นเคยกับคำนี้ดี CTA หรือ Call to action คือการใช้คำกระตุ้นการตัดสินใจ ชวนลูกค้าให้ทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการชวนซื้อของหรือชวนให้ลงมือทำ CTA ในวงการอาหารจะนิยมใช้เป็นประโยคสั้น ๆ ได้ใจความ เช่น
- สั่งเลย!
- ออเดอร์เลย!
- คลิกเพื่อดูเมนู
- วันนี้วันสุดท้าย!
- ห้ามพลาด!
- จำนวนจำกัด!
19. Clickbait
Clickbait คือการใช้คำหรือรูปภาพ พาดหัวที่เร้าใจ น่าเหลือเชื่อ เกินจริง เน้นให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตคลิกเข้าไปดูเพื่อเรียกยอด Traffic จากเว็บไซต์ โดยเนื้อหาข้างในส่วนใหญ่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น หรือไม่ตรงกับเรื่องราวในพาดหัวเลย
โซนการเงิน
20. Transaction
Traffic เป็นสิ่งหนึ่งที่ชี้วัดว่าร้านของเราทำท่าจะไปรอด-ไม่รอด อีกอย่างที่สำคัญก็คือ Transaction เพราะมันนับเมื่อเกิดการซื้อจริง ๆ โดยสำหรับร้านอาหารแล้ว การซื้ออาหาร 1 บิล ไม่ว่าจะกี่รายการ จะนับเป็น 1 Transaction
21. Basket Size
Basket Size หมายถึง ยอดจ่ายต่อออร์เดอร์ หรือต่อ 1 Transaction ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการธรุกิจใดก็ตาม ก็ต้องอยากได้ Basket Size ใหญ่ ๆ ยิ่งถ้ามาคู่กับจำนวน Transaction เยอะ ๆ ก็ยิ่งสร้างรายได้สูงขึ้น แต่นั่นก็หมายถึงต้องพัฒนาระบบการจัดการให้ดี ตอบสนองลูกค้าได้อย่างไม่บกพร่องตามไปด้วย ไม่ให้มาตรฐานตก
22. BEP (Break Even Point)
BEP คือ จุดคุ้มทุน หรือจุดที่ได้ยอดขายมาเท่ากับต้นทุน แบ่งออกเป็นจำนวนขายที่ทำให้คุ้มทุน (คือการคำนวณออกมาว่าต้องขายอาหารนี้กี่จานถึงจะได้ยอดขายเท่ากับทุนที่ลงไปทั้งหมด) กับจำนวนเงินขายที่ทำให้คุ้มทุน (คือการคำนวณออกมาว่าต้องขายให้ได้เงินกี่บาทถึงจะเท่ากับต้นทุนที่ลงไป)
BEP เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ดำเนินธุรกิจทุกอย่างต้องรู้ สำหรับร้านอาหารก็เกี่ยวพันกับการกำหนดราคาอาหาร การเลือกช่องทางขาย การตัดสินใจว่าต้องเช่าพื้นที่ขายเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ เช่าตรงไหนดี ฯลฯ ถ้าไม่ได้คำนวณ BEP ให้ดี อาจสงสัยว่าทำธุรกิจมาตั้งนาน ทำไมเข้าเนื้อไม่หยุดเสียที
23. Inventory
Inventory มีศัพท์ภาษาไทยว่า สินค้าคงคลัง ซึ่งสำหรับร้านอาหารแล้วก็หมายถึงวัตถุดิบนั่นเอง
เพื่อควบคุมคุณภาพอาหาร และให้ร้านขายดี มีกำไร จึงต้องมีการวางระบบจัดการ Inventory ให้ดี เช่น ทำแบบฟอร์มหรือใช้โปรแกรมติดตามจำนวนและคุณภาพวัตถุดิบอย่างสม่ำเสมอ มีพื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบอย่างเป็นระเบียบ จำแนกประเภทชัดเจน หยิบใช้ง่าย รวมถึงมีการเก็บข้อมูลเมนูขายดี เพื่อให้มีการลด-เพิ่มปริมาณวัตถุดิบแต่ละอย่างให้สัมพันธ์กับความจำเป็นต้องใช้
ซึ่งทุกอย่างนี้สามารถบริการจัดการได้ง่าย ๆ ด้วย Wongnai POS
24. Food Waste
Food Waste หรือขยะอาหาร หมายรวมถึงทั้งหมดตั้งแต่วัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้แล้วถูกปล่อยทิ้งจนเสีย อาหารที่เหลือจากการจำหน่ายในร้านอาหารหรือซูเปอร์มาร์เกต ไปจนถึงอาหารที่ใช้ไม่หมด กินไม่ทัน หรือกินแล้วเหลือในระดับครัวเรือน
ในระดับเจ้าของกิจการหรือระดับบุคคล การซื้อของมาแล้วใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ย่อมหมายถึงต้นทุนที่เสียมากเกินจำเป็น แต่ไม่ใช่แค่นั้น Food Waste ยังเป็นปัญหาระดับโลก เพราะมันเป็นขยะที่สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาได้ด้วย
25. Fixed Cost
Fixed Costs หรือต้นทุนคงที่ สำหรับร้านอาหารแล้วก็คือค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียอยู่เป็นประจำทุกเดือน ไม่ว่าจะขายอาหารปริมาณเยอะหรือน้อย เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าที่
26. Variable Cost
รู้จักต้นทุนคงที่แล้วก็ต้องรู้จัก Variable Cost หรือต้นทุนผันแปร ง่ายๆ ก็คือเป็นค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มหรือลดลง ขึ้นอยู่กับปริมาณการขายสินค้า เช่น ค่าโอทีพนักงาน ค่าวัตถุดิบ ค่าน้ำ-ค่าไฟ เป็นต้น เวลาคิดต้นทุนก็ควรให้ครบถ้วนทั้งสองอย่าง เพราะขาดอันใดอันหนึ่งไปอาจทำให้ตั้งราคาผิดพลาด ได้กำไรน้อยกว่าที่ควร
27. Incentive
Incentive คือสิ่งกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ ซึ่งสำหรับการทำธุรกิจร้านอาหารแล้วก็หมายถึงสิ่งที่เจ้าของกิจการให้แก่พนักงานร้าน นอกเหนือจากค่าตอบแทนตามปกติ โดยมีเงื่อนไข เพื่อจูงใจให้พนักงานอยากทำให้เกิดยอดขายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
เช่น ตั้งเป้าว่าหากใครขายเมนู XX ที่ขายยากและราคาแพงได้ จะได้รับเงินไปเลย 50 บาท ต่อ 1 การขาย หรือ หากทำให้ลูกค้าได้รับอาหารที่สั่งภายในเวลา 5 นาที พนักงานผู้รับออร์เดอร์จะได้รับคูปอง สะสมครบ 10 คูปองได้วันหยุดเพิ่ม 1 วัน เป็นต้น
Incentive ต้องเป็นสิ่งที่พนักงานต้องการจริง ๆ และเงื่อนไขไม่ยากเกินไปจนไม่มีใครทำไหว ที่สำคัญคือต้องผ่านการคำนวณมาแล้วว่าสามารถให้ Incentive นั้นได้จริง ๆ โดยไม่กระทบกับต้นทุนจนทำให้เจ้าของกิจการต้องผิดสัญญากับพนักงานภายหลัง
28. GP (Gross Profit)
GP คือ กำไรขั้นต้น คำนวณจากยอดขาย ลบออกด้วยต้นทุนขาย โดยยังไม่หักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ขายอาหารทั้งหมดได้ยอดขายเท่าไหร่ นำมาลบออกด้วยต้นทุนวัตถุดิบ ยังไม่คิดพวกค่าเช่าที่ ค่าเช่าอุปกรณ์ทำครัว ค่าเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ตัวเลขที่ได้ออกมาจะเป็นกำไรขั้นต้น
29. Net Profit (Loss)
Net Profit (Loss) คือ กำไร (ขาดทุน) สุทธิ เป็นตัวเลขทีคำนวณจาก GP แล้วนำมาลบต้นทุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร เช่น ค่าเช่าที่ ค่าเช่าอุปกรณ์ทำครัว ค่าเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งที่มีวงเล็บ (Loss) ไว้ด้วย เพราะบางทีเมื่อใช้ยอดขาย หักออกด้วยต้นทุนวัตถุดิบ ตัวเลขอาจจะยังเป็นบวก แต่เมื่อหักต้นทุนยิบย่อยอื่น ๆ อาจกลายเป็นติดลบ หรือสุดท้ายแล้วกลายเป็นขาดทุนสุทธินั่นเอง
30. Up-selling
Up-selling หมายถึง การขายสินค้าที่มีราคาสูงกว่าชิ้นที่ลูกค้าเล็งไว้ในหมวดเดียวกัน หรือการทำให้ลูกค้าจ่ายมากกว่าที่เขาตั้งใจไว้แต่แรก เป็นเทคนิคเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายและกำไร โดยวิธีที่จะทำได้ก็มีหลากหลาย เช่น การเพิ่มเงินเพื่ออัพไซส์เมนูอาหาร ปริมาณมากขึ้น ความคุ้มค่ามากขึ้น โดยผู้ขายมีหน้าที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า การเพิ่มเงินจะทำให้ได้สินค้าหรือปริมาณที่พรีเมี่ยมกว่าราคาปกติ ไม่รู้สึกเสียดายที่จ่ายมากกว่าเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น
เทคนิค Up-selling สามารถทำควบคู่กับการเทรนด์พนักงานร้านให้คอยแนะนำเมนูแก่ลูกค้า คอยถามว่าจะรับอะไรเพิ่มหรือไม่ ถ้าเขาสั่งอาหารแล้ว ให้เสนอตัวเลือกเครื่องดื่ม หรือเมื่อลูกค้าทำท่าจะกินเสร็จ ก็ให้มีคนไปถามว่าจะรับของว่างหรือเปล่า ร้านเรากำลังมีโปรโมชันสั่ง 2 แถม 1 อะไรก็ว่าไป จากที่ลูกค้าคิดจะสั่งนิดเดียวก็มีโอกาสที่จะสั่งอย่างอื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งการเทรนด์พนักงานจะได้ผลมากยิ่งขึ้นเมื่อมาพร้อมกับการให้ Incentive ด้วย
31. Cross-selling
มี Up-selling ไปแล้ว ก็ต้องพูดถึง Cross-selling บ้าง คำนี้แปลเป็นไทยก็คือ การขายสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าหลักเพื่อเพิ่มมูลค่าการขาย และเพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้า cross-selling แตกต่างจาก up-selling ในแง่ที่ว่า ลูกค้าตั้งใจซื้อของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้ว ไม่เปลี่ยนใจ แทนที่เราจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกค้าซื้อสินค้ารุ่นอัปเกรดที่ดีกว่า แพงกว่า เราจะทำการ cross-selling โดยการขายของที่เกี่ยวข้องกับของที่ลูกค้าซื้อไปแทน ยกตัวอย่างเช่น ในการขายอาหารเดลิเวอรี ขณะลูกค้ากำลังจะชำระเงินซื้อไก่ทอด ลูกค้าเห็นอาหารที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้าวเหนียว เด้งขึ้นมา ในตอนแรกลูกค้าอาจจะไม่ได้สนใจ แต่เมื่อเห็นสินค้า อาจจะกระตุ้นความอยากได้และซื้อข้าวเหนียวเพิ่มได้
โซนเดลิเวอรี
32. Minimum Order Fee
Minimum order fee หรือ ค่าอาหารขั้นต่ำ คือการกำหนดราคาอาหารขั้นต่ำต่อการสั่ง 1 ออเดอร์ ยกตัวอย่างเช่น LINE MAN มี Minimum Order Fee อยู่ที่ 70 บาท ต่อ 1 ออเดอร์ ถ้าหากลูกค้าสั่งอาหารไม่ถึง 70 บาท ระบบจะเรียกเก็บส่วนต่างเพิ่มให้ครบ 70 บาท เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าสั่งอาหารกับร้านค้าเพิ่มขึ้นต่อออเดอร์ อีกทั้งยังคุ้มค่าต่อการสั่งอาหารในแต่ละครั้งของลูกค้าเองด้วย แต่ถ้าหากลูกค้าสั่งเพิ่มถึง 70 บาท ลูกค้าไม่ต้องจ่ายส่วนต่างนี้ เป็นต้น
33. CPC (Cost per click)
CPC ย่อมาจากคำว่า Cost per click ในการซื้อโฆษณาออนไลน์ ไม่ว่าจะในแพลตฟอร์มไหนก็ตาม ถ้าลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายคลิกมาที่ร้านหรือป้ายโฆษณานั้น ๆ เราจะต้องเสียเงินในราคาที่กำหนดไว้ เช่น คลิกละ 1 บาท หากลูกค้าคลิกเข้ามา 100 ร้อยครั้ง ก็ต้องเสียเงิน 100 บาท เป็นต้น
การทำโฆษณาบนแอป LINE MAN ก็ใช้ระบบ Cost per click เช่นกัน คือจะคิดเงินค่าโฆษณาจากการที่มีลูกค้าคลิกจริงเท่านั้น การใช้ระบบ CPC ทำให้ร้านมั่นใจได้ว่าโฆษณาเข้าถึงลูกค้าที่สนใจร้านจริง ๆ ใช้งบได้คุ้มค่า โฆษณาแสดงผลได้นาน ไม่เบิร์นหมดเร็ว
โดยเงื่อนไขและข้อกำหนดจะแตกต่างกันไปในแต่ละแพลตฟอร์ม ผู้ประกอบธุรกิจควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และวางแผนก่อนลงทุนซื้อโฆษณา
โซนบริหารจัดการร้าน
34. CRM (Customer Relationship Management)
ร้านค้าที่จำได้ว่าลูกค้าชอบทานอะไร นั่งตรงไหน รสชาติอาหารเป็นยังไง มักจะได้ใจจากลูกค้าและได้เปรียบร้านอื่น ๆ สิ่งนี้แหละที่เรียกว่า Customer Relation Management (CRM) หรือการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า การเก็บข้อมูลของลูกค้า แล้วนำไปต่อยอดพัฒนา สร้างแคมเปญ สามารถช่วยเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้าให้ร้านค้าได้ เรียกได้ว่ารู้ใจลูกค้ามีชัยไปกว่าครึ่ง
การทำ CRM สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การแจกคูปอง การทำระบบสะสมแต้ม ระบบสมาชิก มอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าทั้งขาจร และขาประจำ เพื่อให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการร้านอาหารเราอย่างต่อเนื่อง
ผลลัพธ์ของการทำ CRM คือการทำให้ลูกค้าพึงพอใจ กลับมาใช้บริการซ้ำ ๆ ลูกค้าเกิดความประทับใจ พร้อมนำไปบอกต่อ เพราะฉะนั้นหากเจ้าของธุรกิจต้องการขยับขยายร้านหรือสาขา CRM เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้ธุรกิจร้านอาหารเติบโต
35. KPIs (Key Performance Indicators)
KPIs ย่อมากจาก Key Performance Indicators คือดัชนีวัดผลความสำเร็จของงาน เป็นเครื่องมือที่ใช้ประเมินงานในองค์กรหรือธุรกิจทุกประเภท ยกตัวอย่างธุรกิจร้านอาหาร การตั้งเป้าไว้ว่าวันนี้ อาทิตย์นี้ หรือเดือนนี้ ควรได้ยอดขายเท่าไหร่ ควรมียอดออเดอร์ทั้งหมดกี่ราย หรือควรขายให้ได้มากกว่าเดือนที่ผ่านมากี่เปอร์เซนต์ ก็สามารถนับว่าเป็น KPIs ที่เจ้าของร้านอาหารตั้งไว้เพื่อวัดผลความประสบความสำเร็จของกิจการได้
36. POP (Point of Purchase)
POP คือ จุดซื้อ ซึ่งจะต้องทำให้ดูเตะตา ดึงดูดลูกค้าให้อยากจะควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อ ซึ่งสำหรับร้านอาหารแล้วสิ่งสำคัญก็คือต้องสื่อถึงความสะอาด สื่อสารให้เข้าใจง่ายและชัดเจนตั้งแต่ไม่กี่วินาทีแรกว่าร้านนี้ขายอะไร มีความโดดเด่นตรงไหน ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจัดการที่หน้านร้านแล้ว ในส่วนออนไลน์ เช่น รูปเมนูประกอบการขายแบบเดลิเวอรี ก็ต้องให้ดีไม่แพ้กัน
37. SOP (Standard Operation Procedures)
SOP คือ มาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งสำหรับร้านอาหาร ก็จะเป็นตัวบอกว่าตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ คนแต่ละแผนกในร้านจะต้องทำอะไรยังไงบ้าง เช่น SOP สำหรับแผนกครัวอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัตถุดิบ ตั้งแต่การเลือก รับ ตรวจสอบ จัดเก็บ รวมถึงเรื่องเมนูอาหาร สำหรับพนักงานบริการก็ต้องมีการกำหนดการรับแขก จัดที่นั่ง การเสิร์ฟ ไปจนถึงดูแลสร้างความประทับใจเมื่อแขกจะออกจากร้าน
ว่ากันง่าย ๆ SOP ก็คือคู่มือการทำงานโดยละเอียด เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในร้านเห็นภาพเดียวกัน และปฏิบัติงานไปในแนวทางเดียวกันนั่นเอง
38. SOC (Standard Operation Checklist)
SOC คือ แบบฟอร์มที่ใช้ในการสอนงาน ซึ่งอยู่ในรูปแบบที่พกพาสะดวก เนื้อหากระชับ เน้นเรียงลำดับขั้นตอน เข้าใจง่าย อาจเป็นตารางหรือลิสต์สิ่งที่จะต้องทำ และมีที่จดบันทึกและให้คะแนน ทั้งหมดรวมอยูในกระดาษ 1 แผ่น
SOC ช่วยให้การวาง SOP ถูกนำมาใช้ได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง ไม่สลับหรือข้ามขั้นตอน และใช้ประเมินผลงานพนักงานได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการแยกสิ่งที่ต้องประเมินเป็นหัวข้อ ๆ ชัดเจน
39. FEFO (First Expire First Out)
FEFO เป็นหลักการจัดเก็บวัตถุดิบ ซึ่งมุ่งให้วัตถุดิบที่ได้มาได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่มีของเน่าเสียตกค้าง โดยการทำระบบหรือจัดเรียงให้วัตถุดิบที่ใกล้จะถึงวันหมดอายุก่อน อยู่ในตำแหน่งที่จะถูกหยิบใช้ก่อน
40. POS (Point of Sale)
POS คือ ระบบจัดการการขาย ซึ่งจะประกอบกันคือมีตัวอุปกรณ์ (อาจจะเป็นแท็บเล็ตสักเครื่อง หรือเครื่องหน้าตาคล้าย ๆ คอมพิวเตอร์ มีจอภาพ พ่วงกับเครื่องยิงบาร์โค้ด) กับโปรแกรมที่สามารถคิดเงิน คำนวณราคาขายสำหรับผู้เป็นสมาชิกร้าน เก็บข้อมูลการขาย ตัดสต๊อกวัตถุดิบ และมีการประมวลผลให้เห็นว่าขณะนี้ทำยอดขายได้เท่าไหร่ เมนูไหนขายดี วัตถุดิบไหนใช้มาก-น้อยแบบเรียลไทม์
ในท้องตลาดมี POS ให้เลือกใช้จากหลายผู้ผลิต ซึ่งจะมีการพัฒนาฟีเจอร์เด่นให้เหมาะกับธุรกิจแต่ละแบบแตกต่างกันไป สำหรับร้านอาหารก็มี Wongnai POS ที่เชื่อมฐานลูกค้า Wongnai และบริการเดลิเวอรี LINE MAN เข้าด้วยกัน แถมฟีเจอร์ช่วยอำนวยความสะดวกอีกเพียบ ถือว่าตอบโจทย์ผู้ประกอบการร้านอาหารมาก ๆ สนใจสมัครและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Wongnai POS คลิกเลย: https://bit.ly/3I66kzk
จบครบทั้งคำศัพท์เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการ กลยุทธ์การตลาด ค่าชี้วัดความสำเร็จของการออกแคมเปญ ใน 40 คำศัพท์ทางการตลาดและการโฆษณา ที่คนทำร้านอาหารต้องรู้ ! แต่ความรู้ไม่เคยหยุดอยู่นิ่ง โดยเฉพาะในโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นเลยอยากชวนมาติดตามเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับแวดวงธุรกิจร้านอาหารทางเพจ Wongnai for Business รับรองว่าความรู้เกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารเพียบ
รู้ศัพท์การตลาดแล้วไปดูบทความร้านอาหารที่เกี่ยวข้องกันบ้าง