เจอจิ๋วหิวโซเมื่อไหร่ให้รู้ว่ามีสูตรเด็ด ๆ มาแจกค่ะ ซึ่งวันนี้จิ๋วจะพาเพื่อน ๆ มาท่องโลกของน้ำพริกทั่วไทย เจาะลึกทุกส่วนผสมและขั้นตอนการทำ รวมไปถึงเทคนิคดี ๆ และผักเคียงที่สามารถกินคู่กันได้ อ่านจบแล้วรับรองว่าแตกฉานแน่นอน! อยากรู้แล้วล่ะก็ตามมาดู 13 สูตรน้ำพริก 4 ภาค ทำกินง่าย! ทำขายรวย! กันดีกว่าค่ะ
ภาคกลาง
1. น้ำพริกกะปิ (2 ที่เสิร์ฟ)
เป็นน้ำพริกที่ใคร ๆ หลายคนรู้จักกันดี มีรสชาติกลมกล่อม ซึ่งน้ำพริกกะปิเป็นน้ำพริกที่มีน้ำมาก สีเป็นสีของกะปิและยังได้กลิ่นหอมน่ากินจากกะปิอีกด้วย เสิร์ฟคู่กับผักลวก ผักสด ปลาทูทอด และผักทอด


วัตถุดิบ
- พริกขี้หนู 10 - 15 เม็ด
- กระเทียม 10 - 15 กลีบ
- มะเขือพวง 15 - 20 เม็ด
- กะปิ 2 ช้อนโต๊ะ
- กุ้งแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลปี๊บ 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ
- มะอึก 2 ลูก (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
- ระกำ 1 ลูก (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
วิธีทำ
- ห่อกะปิด้วยใบตอง แล้วเผาให้สุกหอม
TIP : กะปิควรนำไปปิ้งไฟให้หอมก่อนนำมาโขลก เพื่อลดกลิ่นฉุนของกะปิ
- ขูดขนมะอึกออก ล้างให้สะอาดแล้วซอยบาง ๆ เตรียมไว้
- นำกุ้งแห้งล้างให้สะอาด แล้วคั่วไฟให้พอหอม จากนั้นนำมาป่นให้ละเอียด
- โขลกกะปิกับกระเทียมให้ละเอียด ใส่พริกขี้หนูสวนแล้วบุบพอแตก จากนั้นใส่กุ้งแห้งป่นโขลกพอเข้ากัน ตามด้วยการใส่มะอึกซอยแล้วโขลกต่อ ใส่มะเขือพวงบุบพอแตก ให้ดูลักษณะของวัตถุดิบจะดูค่อนข้างหยาบ
TIP : โขลกกระเทียมกับกะปิจะช่วยลดกลิ่นฉุนของกะปิได้
TIP : พริกขี้หนูบุบแค่พอแตก เพราะถ้าละเอียดมากจะทำให้เผ็ดมากขึ้น
- ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา และน้ำตาลปี๊บ ชิมรสออกเปรี้ยว เค็ม หวาน เท่านี้ก็จัดเสิร์ฟได้เลยจ้า
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ ขมิ้นขาว
- ผักต้ม : ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือเปราะ ข้าวโพดอ่อน บวบเหลี่ยม ฟักทอง ผัดกาดขาวปลี มะระขี้นก ยอดมะระ หน่อไม้
- ผักทอด : ไข่ชะอม มะเขือยาว ถั่วฝักยาว ฟักทอง ผักบุ้ง
- เครื่องเคียง / ของแนม : ปลาทู
2. น้ำพริกมะขามผัด (2 ที่เสิร์ฟ)
เป็นน้ำพริกที่ใช้มะขามอ่อนมาตำและปรุงรส ใส่หมูบดและนำไปผัดกับน้ำมันให้ได้กลิ่นหอมของเครื่องปรุงมากยิ่งขึ้น


วัตถุดิบ
- มะขามอ่อน 25 - 30 ฝัก
- เนื้อหมูสับ 100 กรัม
- พริกขี้หนูสวน 20 เม็ด
- กะปิ 2 ช้อนโต๊ะ
- กระเทียม 25 - 30 กลีบ
- น้ำตาลปี๊บ 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมัน 3 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- นำมะขามอ่อนมาขูดผิวสีน้ำตาลออก แล้วล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นท่อน ๆ ไว้
- นำพริกขี้หนูสวนเด็ดขั่วออกล้างให้สะอาด
- กะปิห่อด้วยใบตอง 2 - 3 ชิ้น แล้วปิ้งให้หอม
TIP : กะปิควรนำไปปิ้งไฟให้หอมก่อนนำมาโขลก เพื่อลดกลิ่นฉุนของกะปิ
- โขลกกะปิกับกระเทียมให้ละเอียด จากนั้นใส่พริกขี้หนูบุบพอแตก ตามด้วยการใส่มะขาม โขลกให้ละเอียด
TIP : - โขลกกระเทียมกับกะปิจะช่วยลดกลิ่นฉุนของกะปิได้
- พริกขี้หนูบุบแค่พอแตก เพราะถ้าละเอียดมากจะทำให้เผ็ดมากขึ้น
- ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บโขลกพอเข้ากัน ตักขึ้นจากครกเตรียมนำไปผัด
- ตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน ใช้ไฟกลางพอร้อน ใส่น้ำพริกมะขามลงไปผัดพอหอม ใส่เนื้อหมูลงผัดพอสุกชิม ให้ได้รสเปรี้ยว เค็ม หวาน พร้อมเสิร์ฟ
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ ขมิ้นขาว ผักกาดขาวปลี ใบบัวบก ยอดกระถิน
- เครื่องเคียง / ของแนม : ปลาสลิดทอด ปลาแดดเดียวทอด
3. น้ำพริกลงเรือ (2 ที่เสิร์ฟ)
น้ำพริกลงเรือเป็นอาหารที่กำเนิดจากวังสวนสุนันทา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับน้ำพริกกะปิ แต่ต่างกันตรงที่น้ำพริกที่โขลกแล้วลงไปผัดในน้ำมันให้หอม เสิร์ฟคู่กับหมูหวานและปลาดุกฟู


วัตถุดิบ
- พริกขี้หนูสวน 20 เม็ด
- กระเทียม 20 เม็ด
- กะปิ 3 ช้อนโต๊ะ
- มะดันซอย 2 ลูก (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
- ระกำซอย 2 ลูก (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
- มะอึก 2 - 3 ลูก (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
- มะเขือพวง 30 ลูก
- น้ำมะนาว 3 ลูก
- น้ำตาลปี๊บ 3 - 4 ช้อนโต๊ะ
- กุ้งแห้งป่น 1/3 ถ้วยตวง
- กระเทียมดอง 2 - 3 ช้อนโต๊ะ
- หมูหวาน 1 ถ้วยตวง
- น้ำมันถั่วเหลือง 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 1 ช้อนชา
วิธีทำ
- กระเทียมดองปอกเปลือกออกใช้เนื้อกระเทียม
- ล้างกุ้งแห้งให้สะอาด คั่วไฟพอหอม แล้วนำมาป่นให้ละเอียด
- ขูดขนมะอึกออก ล้างให้สะอาดแล้วซอยบาง ๆ
- ซอยระกำบาง ๆ แล้วพักไว้
- โขลกกะปิกับกระเทียมให้ละเอียด ใส่พริกขี้หนูสวนแล้วบุบพอแตก ใส่มะดัน มะอึกและระกำซอย โขลกเบา ๆ พอเข้ากัน จากนั้นใส่กุ้งแห้งป่น โขลกพอเข้ากัน ใส่มะเขือพวงบุบพอแตก
TIP : กะปิควรนำไปปิ้งไฟให้หอมก่อนนำมาโขลก เพื่อลดกลิ่นฉุนของกะปิ
TIP : โขลกกระเทียมกับกะปิจะช่วยลดกลิ่นฉุนของกะปิได้
TIP : พริกขี้หนูบุบแค่พอแตก เพราะถ้าละเอียดมากจะทำให้เผ็ดมากขึ้น
- ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ ชิมให้ได้รสชาติออกเปรี้ยว เค็ม หวาน
- ตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน พอร้อน ใส่น้ำพริกที่โขลก ผัดพอหอมโดยใช้ไฟกลาง จากนั้นใส่หมูหวาน กระเทียมดอง ผัดให้เข้ากันแล้วตักเสิร์ฟได้เลย
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ ขมิ้นขาว
- ผักต้ม : ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือเปราะ ข้าวโพดอ่อน บวบเหลี่ยม ฟักทอง ผักกาดขาวปลี มะระขี้นก ยอดมะระ หน่อไม้
- ผักทอด : มะเขือยาว ถั่วฝักยาว ข้าวโพด ฟักทอง ผักบุ้ง
- เครื่องเคียง / ของแนม : หมูหวาน ปลาดุกฟู ไข่เค็ม
4. ปลาร้าหลนทรงเครื่อง (3 ที่เสิร์ฟ)
หลนปลาร้าเป็นน้ำพริกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่แกง ซึ่งเป็นอาหารของชาวบ้านธรรมดา ที่นำปลาร้ามาหลนด้วยกะทิ ทำให้ลดความเค็มลง เพิ่มความหอมด้วยผิวมะกรูด มีความเปรี้ยวจากน้ำมะขามเปียก ได้ความหวานจากน้ำตาลปี๊บ ดับคาวปลาด้วยกระชาย เพิ่มสีสันด้วยพริกชี้ฟ้าสีแดงและเหลือง เสิร์ฟคู่กับผักสดหรือผักต้ม


วัตถุดิบ
- ปลาร้าปลากระดี่ 1 ขีด
- ปลาดุกสด แล่เอาแต่เนื้อ 1 ตัว
- หัวกะทิ 1 ถ้วยตวง
- หางกะทิ 1 ถ้วยตวง
- กระชายซอย 6 หัว
- ข่าซอย 1 แง่ง
- ตะไคร้ซอย 2 ต้น
- หน่อไม้ต้มซอย 3 หน่อ
- มะเขือเปราะ 4 ลูก
- หอมแดงซอย 5 หัว
- ถั่วฝักยาว 3 ฝัก
- พริกชี้ฟ้าสีแดง เหลือง เขียว สีละ 1 เม็ด
- ใบมะกรูด 5 ใบ
วิธีทำ
- ปลาดุกแล่เอาแต่เนื้อ หั่นเป็นชิ้นพอคำ
- มะเขือเปราะผ่าสี่ แช่น้ำผสมเกลือเพื่อไม่ให้มะเขือเปราะดำ
- นำข่าและกระชายปอกเปลือก ซอยเป็นเส้น ๆ ยาวประมาณ 1 นิ้ว
- ถั่วฝักยาวหั่นเป็นท่อน ขนาดประมาณ 1 นิ้ว
- ใส่หางกะทิกับน้ำปลาร้าแล้วยกขึ้นตั้งไฟ โดยใช้โดยไฟกลางพอเดือด ใส่ข่า ตะไคร้ กระชาย ตั้งไฟต่อให้เดือดอีกครั้งและมีกลิ่นหอมของเครื่องหลน
- ใส่เนื้อปลาดุก และมะเขือเปราะในขณะที่น้ำกะทิเดือดพล่าน กดมะเขือให้จมน้ำโดยทั่ว ใส่ถั่วฝักยาว และหน่อไม้ คนพอทั่ว พอเดือดและมะเขือสุก ใส่ใบมะกรูด พริกชี้ฟ้า และใส่หัวกะทิลงไป แล้วปิดไฟยกลง จัดเสิร์ฟพร้อมผักสด แนมด้วยปลาฟู
TIP : ตั้งไฟให้เดือดจนเนื้อปลาสุก ไม่ควรคนเพราะจะทำให้เกิดกลิ่นคาว
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ ขมิ้นขาว ใบบัวบก ผักชี กระถิน สายบัว กะหล่ำปลี ยอดมะกอก ผักชี ผักกาดขาว
- เครื่องเคียง / ของแนม : ปลาดุกฟู
5. หลนเต้าเจี้ยว (2 ที่เสิร์ฟ)
เป็นหนึ่งในตระกูลนำ้พริก ซึ่งใช้เต้าเจี้ยวขาวมาบดด้วยครก แล้วนำไปต้มกับกะทิ หมูสับ และกุ้งสับ ก่อนนำมาปรุงรส โดยน้ำพริกชนิดนี้จะมีน้ำขลุกขลิก เสิร์ฟคู่ผักสดและข้าวสวยร้อน ๆ


วัตถุดิบ
- เต้าเจี้ยวขาว 1/3 ถ้วยตวง
- หัวกะทิ 1 ถ้วยตวง
- เนื้อกุ้งสับ 7 ตัว
- เนื้อหมูสับ 100 กรัม
- หอมแดงซอย 5 หัว
- มะขามเปียก 3 - 4 ช้อนโต๊ะ
- พริกชี้ฟ้าสีแดง เหลือง เขียว สีละ 1 เม็ด
- น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- เต้าเจียวกรองเอาแต่เนื้อ โขลกรวมกับหอมแดงประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ
TIP : หากเต้าเจี้ยวมีกลิ่นให้นำไปล้างน้ำก่อนนำไปโขลก
TIP : โขลกเต้าเจี้ยวกับหอมแดง จะช่วยลดกลิ่นของเต้าเจี้ยวได้
- หอมแดงที่เหลือปอกเปลือก ล้างให้สะอาด ซอยบาง ๆ ตามยาว
- กุ้งล้างให้สะอาด แกะเปลือกออก เอาแต่เนื้อผ่าหลัง ดึงเส้นสีดำออกแล้วนำไปสับพอหยาบ ๆ
- พริกชี้ฟ้าหั่นเป็นท่อน ๆ ทั้ง 3 สี
- เคี่ยวกะทิด้วยไฟกลางให้แตกมัน ใส่เต้าเจี้ยวที่โขลกคนพอละลาย ตั้งไฟให้เดือด จากนั้นใส่เนื้อกุ้งและเนื้อหมู พอสุกแล้วลดไฟ ใส่หอมแดงซอย คนให้เข้ากัน
TIP : กะทิจะต้องเคี่ยวให้แตกมันก่อนจึงใส่เนื้อสัตว์
- ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียกและน้ำตาลปี๊บ ชิมรสชาติให้พอดีแล้วใส่พริกชี้ฟ้าสีเขียว แดง และเหลือง ปิดไฟแล้วจัดเสิร์ฟได้เลย
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ ขมิ้นขาว ใบบัวบก ผักชี กระถิน สายบัว กะหล่ำปลี
- เครื่องเคียง / ของแนม : ปลาดุกฟู
6. น้ำพริกนรก (2 ที่เสิร์ฟ)
เป็นน้ำพริกที่มีรสชาติเผ็ดร้อน ซึ่งความเผ็ดร้อนและความหอมนั้นจะขึ้นอยู่กับพริกที่เลือกใช้ เหมาะกับคนที่ชอบกินน้ำพริกรสจัดจ้าน ซึ่งจุดเด่นของน้ำพริกนครก็คือความเผ็ดและความหอมของสมุนไพร เสิร์ฟคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ และผักสดที่ช่วยลดความเผ็ด


วัตถุดิบ
- พริกขี้หนูแห้งป่นละเอียด 20 - 25 เม็ด
- หอมแดง 7 หัว
- กระเทียม 15 หัว
- กุ้งแห้งป่น 1/3 ถ้วยตวง
- กะปิ 2 ช้อนชา
- มะขามเปียกสับละเอียด 1/3 ถ้วยตวง
- น้ำปลา 1/3 ถ้วยตวง
วิธีทำ
- นำมะขามเปียกแกะเม็ดออก แล้วล้างน้ำนำมาสับละเอียด
- นำหอมแดงปอกเปลือก แล้วล้างให้สะอาด ซอยบาง ๆ
- พริกแห้งคั่วให้เม็ดพริกพอง และมีสีเข้มขึ้นเล็กน้อย พักให้เย็นแล้วนำไปป่นให้ละเอียด
- นำกุ้งแห้งล้างให้สะอาด นำไปคั่วให้หอม และโขลกให้ละเอียด
TIP : สามารถใช้เนื้อปลาแทนกุ้งแห้งได้
- โขลกหอมแดง และกระเทียมให้ละเอียด ใส่มะขามเปียกลงไป โขลกต่อจนเข้ากัน ใส่พริกป่น โขลกต่อจนเข้ากัน ใส่กะปิ โขลกต่อจนเข้ากัน แล้วใส่กุ้งแห้งป่น ปรุงรสด้วยน้ำปลา
- ตั้งกระทะใช้ไฟอ่อน ใส่น้ำพริกลงไปคั่วจนหอม และมีลักษณะแห้งเป็นผง ตักขึ้น พักไว้ให้เย็น เก็บในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด
TIP : เก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิท สามารถเก็บไว้ทานได้
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ ขมิ้นขาว
- เครื่องเคียง / ของแนม : ปลาย่าง เนื้อ/หมูทอด
ภาคเหนือ
7. น้ำพริกอ่อง (2 ที่เสิร์ฟ)
อ่อง หมายถึง การเคี่ยวนาน ๆ โดยใช้ไฟอ่อน ซึ่งน้ำพริกอ่องสูตรต้นตำรับพื้นเมืองแบบดั้งเดิม จะไม่ใช้หมูแต่จะใช้ปลาแทน เพราะคนในสมัยก่อนกว่าจะได้บริโภคหมูแต่ละครั้งก็ต่อเมื่อจะมีงานประเพณีต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เพราะหมูราคาค่อนข้างแพง สำหรับมะเขือเทศที่นิยมใช้จะเป็นมะเขือเทศลูกเล็ก ๆ เป็นมะเขือส้มพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีรสชาติเปรี้ยวมากกว่ามะเขือเทศสีดา หรือจะใช้มะเขือเทศสีดาทั่วไปก็ได้ น้ำพริกอ่องพื้นเมืองไม่นิยมใช้น้ำตาล


วัตถุดิบ
- มะเขือส้ม (หั่นแล้ว) 1 ถ้วยตวง
- เนื้อหมูสับ 1/2 ถ้วยตวง
- ถั่วเน่า ชนิดแผ่น 1 แผ่น
- กะปิ 2 ช้อนชา
- หอมแดงซอย 4 หัว
- กระเทียมซอย 20 กลีบ
- พริกแห้งเม็ดใหญ่ 7 - 9 เม็ด
- น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันถั่วเหลือง 1/4 ถ้วยตวง
หมายเหตุ
- จะใช้ถั่วเน่าหรือกะปิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
- ถ้าไม่มีมะเขือส้มสามารถใช้มะเขือเทศสีดาหรือมะเขือเทศท้อแทนได้ และเพิ่มความเปรี้ยวจากมะนาว
วิธีทำ
- นำพริกแห้งเม็ดใหญ่แกะเม็ดออกแช่น้ำพอนิ่ม พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
- นำหอมแดงและกระเทียมปอกเปลือก ล้างให้สะอาด ซอยบาง ๆ ตามยาว
- นำต้มหอมและผักชีมาล้าง แล้วซอยละเอียด
- โขลกพริกแห้งให้ละเอียด ใส่หอมแดงและกระเทียม โขลกให้ละเอียด จากนั้นใส่กะปิและถั่วเน่า โขลกพอเข้ากัน ใส่เนื้อหมูโขลกพอเข้ากัน ตามด้วยการใส่มะเขือส้มโขลกเบา ๆ พอแตก
TIP : เวลาโขลกพริกแห้งควรใส่เกลือเล็กน้อยจะทำให้โขลกง่ายขึ้น และลดความฉุนและความเผ็ดร้อนได้
- ตั้งกระทะใส่น้ำมันพอร้อน ใส่น้ำพริกลงไปผัดให้เนื้อหมูสุกจนน้ำงวดลงเล็กน้อยยกลงจากเตา จัดเสิร์ฟได้เลย
TIP : ถ้าน้ำพริกแห้งไปเติมน้ำเปล่า
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ ขมิ้นขาว ต้นหอม ผักชี กระเจี๊ยบเขียว
- เครื่องเคียง / ของแนม : แคบหมู
8. น้ำพริกหนุ่ม (2 ที่เสิร์ฟ)
เป็นเมนูน้ำพริกที่ขึ้นชื่อของเมืองล้านนา โดยใช้เรียกชื่อพันธุ์พริกที่เรียกว่า “พริกหนุ่ม” ซึ่งใช้พริกที่อ่อน ไม่แก่จัด นำมาย่างแล้วนำไปโขลกก่อนปรุงรส เสิร์ฟคู่กับผักสดและแคปหมู


วัตถุดิบ
- พริกหนุ่ม 9 เม็ด
- หอมแดง 5 หัว
- กระเทียม 15 - 20 กลีบ
- ปลาร้าพร้อมน้ำ 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
- เกลือ 1 ช้อนชา
วิธีทำ
- นำพริกหนุ่มมาเผาให้สุก แล้วปอกเปลือกไว้
TIP : ระหว่างเผาแนะนำให้ใช้ไม้ปลายแหลมจิ้มมะเขือเพื่อระบายความร้อน
- นำกระเทียมและหอมแดงเผาให้สุกแล้วปอกเปลือกออก
- ต้มปลาร้ากับน้ำเปล่าพอข้น กรองเอาแต่น้ำ
- โขลกกระเทียมและหอมแดงพอหยาบ ใส่พริกหนุ่มลงไปโขลกให้พอหยาบ
- ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ใส่น้ำปลา เกลือ จากนั้นตักขึ้นแล้วจัดเสิร์ฟได้เลย
TIP : ถ้าไม่ชอบปลาร้าก็ไม่ต้องใส่ และเพิ่มความเค็มจากน้ำปลาและเกลือแทน
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ
- ผักต้ม : ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือเปราะ น้ำเต้าอ่อน ข้าวโพดอ่อน บวบเหลี่ยม บวบงู ฟักทอง ดอกขจร ผักกาดขาวปลี มะระขี้นก ยอดมะระ แตงโมอ่อน ผักพื้นบ้านต่าง ๆ
- เครื่องเคียง / ของแนม : ปลาย่าง แคบหมู
ภาคอีสาน
9. น้ำพริกปลาร้า (2 ที่เสิร์ฟ)
เป็นน้ำพริกพื้นฐานของภาคอีสาน โดยจะนำพริกแดงจินดา กระเทียม หอมแดง มะเขือเทศไปเผาให้ให้ได้กลิ่นหอม ก่อนนำมาตำแค่พอหยาบ ๆ ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ใส่ต้นหอมและผักชีลงไปด้วย เป็นน้ำพริกที่กินคู่กับเมนูปลานึ่ง เมนูไข่เจียว และผักลวก


วัตถุดิบ
- พริกหนุ่ม 3 เม็ด
- พริกชี้ฟ้า 2 เม็ด
- พริกขี้หนูเม็ดใหญ่ สีเขียว แดง 7 - 10 เม็ด
- หอมแดง 5 หัว
- กระเทียม 20 กลีบ
- มะเขือส้ม 7 ลูก
- ต้นหอม 1 ต้น
- ผักชี 1 ต้น
- น้ำปลาร้า 3 - 4 ช้อนโต๊ะ
- เกลือป่น 1/3 ช้อนชา
วิธีทำ
- นำกระเทียมและหอมแดงมาเผาให้สุก ปอกเปลือกออก
- นำพริกหนุ่ม พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู มาเผาให้สุก ปอกเปลือก
- นำมะเขือส้มมาเผาพอสุก ปอกเปลือกออก
- นำต้นหอมและผักชีมาซอยแล้วพักไว้
- โขลกกระเทียมและหอมแดงพอหยาบ ใส่พริกหนุ่ม พริกชี้ฟ้า และพริกขี้หนู และมะเขือส้มลงไป บุบพอแตก
- ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า (ถ้าน้ำปลาร้าไม่เค็มให้ใส่เกลือ) จากนั้นใส่ต้มหอม ผักชี และคนให้เข้ากัน ซึ่งเนื้อสัมผัสของน้ำพริกโดยรวมจะค่อนข้างหยาบเล็กน้อย
TIP : ก่อนนำปลาร้ามาทำน้ำพริกให้นำปลาร้าตั้งไฟอ่อน เคี่ยวให้น้ำปลาร้าข้นเล็กน้อย
TIP : ถ้าน้ำพริกข้นเกินไปสามารถเติมน้ำปลาร้าหรือน้ำต้มสุกได้
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ
- ผักต้ม : ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือเปราะ ข้าวโพดอ่อน บวบเหลี่ยม ฟักทอง ผักกาดขาวปลี มะระขี้นก ยอดมะระ ผักพื้นบ้านต่าง ๆ
- เครื่องเคียง / ของแนม : ปลาย่าง แคบหมู
10. ปลาร้าบอง (2 ที่เสิร์ฟ)
เมนูน้ำพริกขึ้นชื่อของทางภาคอีสาน โดยจะนำปลาร้าปลาช่อนมาเผาให้หอม และนำข่า ตะไคร้ ใบกรูดคั่วให้หอมนำมาสับกับปลาร้า และนำไปผัดให้ได้กลิ่นหอม จะกินคู่กับผักสด ผักลวก หรือปลาย่าง


วัตถุดิบ
- ปลาร้าปลาช่อน (ขนาดกลาง) 1 ตัว
- หอมแดงเผา 10 - 15 หัว
- กระเทียมเผา 10 กลีบ
- ตะไคร้ซอย 4 ต้น
- ข่าแก่ซอย 1 แง่งเล็ก
- ใบมะกรูดซอย 15 - 20 ใบ
- เนื้อมะขามเปียกสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
- พริกขี้หนูแห้งคั่วป่น 15 - 20 เม็ด
- ต้นหอมซอย 2 ต้น
วิธีทำ
- นำปลาร้าปลาช่อนห่อด้วยใบตอง 2 - 3 ชั้น เผาไฟให้สุกหอม แกะเอาแต่เนื้อ
TIP : ควรใช้ปลาร้าอย่างดีจะทำให้น้ำพริกมีรสชาติดีและกลมกล่อม
- นำกระเทียมและหอมแดงมาเผาให้สุกหอม จากนั้นปอกเปลือกออก
- นำใบมะกรูดเลาะเส้นกลางใบออก ซอยละเอียด
- โขลกกระเทียมและหอมแดงเผาให้ละเอียด ใส่ตะไคร้ ข่าแก่ซอย และใบมะกรูดลงไปโขลกให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน
- นำเครื่องที่โขลกมาสับกับเนื้อปลาร้าให้เข้ากัน ใส่มะเขือเปียกสับพอเข้ากัน ใส่พริกป่นสับให้เข้ากัน เมื่อสับเข้ากันน้ำพริกจะมีสีแดงของพริก ถ้าชอบรสจัดให้เพิ่มปริมาณของพริกป่นได้อีก
TIP : ถ้านำไปผัด จะทำให้น้ำพริกมีความหอมมากขึ้นและสามารถเก็บได้นานขึ้น
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ ผักชีลาว มะระขี้นก ยอดมะระ ขมิ้นขาว
- ผักต้ม : ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือเปราะ ข้าวโพดอ่อน บวบเหลี่ยม ฟักทอง ผักกาดขาวปลี มะระขี้นก ยอดมะระ หน่อไม้
- เครื่องเคียง / ของแนม : ปลาย่าง
ภาคใต้
11. น้ำพริกโจร (2 ที่เสิร์ฟ)
เป็นน้ำพริกดั้งเดิมของภาคใต้ ใช้การซอยเครื่องปรุง เช่น หอมแดง พริกขี้หนู แล้วจึงนำมาขยำรวมกับกะปิและเนื้อมะนาว โดยน้ำพริกโจรจะไม่ใช้วิธีการโขลกแบบน้ำพริกอื่น ๆ แต่จะใช้การขยำแทน


วัตถุดิบ
- พริกขี้หนูสวนสีเขียว สีแดง 30 เม็ด
- หอมแดง 5 เม็ด
- มะนาวเปลือกเขียว 3 ลูก
- กุ้งชีแฮ้ 8 ตัว
- น้ำมะนาว 2 ลูก
- น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนชา
- กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- กุ้งชีแฮ้เผาพอสุก แกะเปลือก ฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ
TIP : กุ้งเผาควรใช้ไฟค่อนข้างแรง จะทำให้กุ้งเผาสีส้ม เนื้อสัมผัสไม่แห้งจนเกินไป
- มะนาวเปลือกเขียวแกะออกเอาแต่เนื้อมะนาว
TIP : การแกะเนื้อมะนาวเปลือกเขียว ควรผ่าแบ่งเป็น 6 - 8 ชิ้น ลักษณะเหมือนการผ่าแตงโม และใช้มีดปาดเอาส่วนที่เป็นเนื้อออกมา
- หอมแดงปอกเปลือก ล้างให้สะอาดและซอยบาง ๆ
- พริกขี้หนูล้างให้สะอาด แล้วนำมาซอยขนาดประมาณ 1 - 2 มิลลิเมตร
- นำกะปิกับมะนาวมาขยำให้เข้ากัน ผสมน้ำตาลปี๊บลงไป ละลายให้เข้ากัน ใส่เนื้อกุ้งเผา หอมแดงซอย และพริกขี้หนูซอยลงไป แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน
- ตกแต่งด้วยผักชี เสิร์ฟพร้อมผักสด
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ ขมิ้นขาว ผักกาดขาวปลี ใบบัวบก ยอดกระถิน
12. บูดูทรงเครื่อง (2 ที่เสิร์ฟ)
บูดู เป็นเครื่องปรุงของทางภาคใต้ ที่มีรสเค็ม บูดูทรงเครื่องเป็นการต้มน้ำบูดูกับน้ำแล้วนำมาเคล้ากับส่วนผสม เช่น กุ้งสดต้ม ตะไคร้ซอย หอมแดงซอย พริกขี้หนูซอย และการเลือกน้ำบูดูก็สำคัญเพราะควรเลือกน้ำบูดูที่สีไม่ดำมาก มีกลิ่นหอม


วัตถุดิบ
- น้ำบูดู 180 - 200 กรัม (1 ขวด)
- น้ำเปล่า 50 กรัม
- ตะไคร้ทุบ 2 ต้น
- ตะไคร้ซอย 5 ต้น
- ใบมะกรูดซอย 25 - 30 ใบ
- หอมแดงซอย 7 หัว
- พริกขี้หนูสีเขียว สีแดง 30 เม็ด
- ปลาทูทอด 2 ตัว
- น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 5 ลูก
วิธีทำ
- ทอดปลาทูจนสุกเหลือง จากนั้นแกะเนื้อปลาทูให้ได้ขนาดชิ้นพอคำ
- นำตะไคร้มาซอยบาง ๆ แล้วแช่น้ำมะนาวเอาไว้ เพื่อไม่ให้ตะไคร้ดำ
- นำตะไคร้ทุบพอแตก ตัด 2-3 ท่อน เพื่อนำไปต้มกับน้ำบูดู
- ต้มน้ำบูดูใส่ตะไคร้ทุบ ตั้งไฟกลางให้เดือด เสร็จแล้วยกลงกรองพักไว้ให้เย็น
- ผสมน้ำบูดูกับน้ำตาลปี๊บ คนให้ละลาย ใส่เนื้อปลาทูทอด ตะไคร้ซอยและหอมแดงซอย คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่พริกขี้หนูซอย ตามด้วยใบมะกรูดซอย ใส่น้ำมะนาวคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วจัดเสิร์ฟคู่กับผักสด
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ ขมิ้นขาว ผักกาดขาวปลี ใบบัวบก ผักชี ยอดกระถิน สะตอ กะหล่ำปลี สายบัว ยอดมะกอก ผักชี หน่อเหลืองงอก ลูกเนียง ผักท้องถิ่นทุกชนิด
- เครื่องเคียง / ของแนม : ปลา
13. น้ำพริกกุ้งเสียบ (2 ที่เสิร์ฟ)
เป็นน้ำพริกตระกูลหนึ่งของน้ำพริกกะปิ โดยใช้กุ้งทะเลสดมาเสียบไม้ตากแห้งด้วยการรมควันจากกาบมะพร้าวจนกุ้งแห้งสนิท สีเหลืองสวยและหอมกลิ่นควันไฟ น้ำพริกกุ้งเป็นน้ำพริกที่นิยมกันมากในภาคใต้ฝั่งตะวันตกแทบทุกจังหวัด แต่ที่มีชื่อเลยก็ คือ จังหวัดภูเก็ต


วัตถุดิบ
- กุ้งแห้ง 100 กรัม
- หอมแดง 4 - 5 หัว
- กระเทียมไทย 10 เม็ด
- พริกขี้หนูสวน 20 เม็ด
- กะปิ 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 1/2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- นำกะปิห่อด้วยแผ่นฟอยล์ แล้วนำมาย่างบนกระทะ โดยใช้ไฟอ่อน ๆ พอให้กะปิหอม
- คั่วกุ้งแห้งให้หอม ใช้ไฟปานกลาง คั่วจนกรอบแล้วพักไว้
- โขลกพริก กระเทียม หอมแดง ให้ละเอียด เติมกุ้งแห้งลงไปในครกครึ่งหนึ่ง โขลกให้กุ้งพอแหลก เติมกะปิ น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา น้ำมะนาว ใช้สากขยี้ให้เข้ากัน เติมกุ้งแห้งที่เหลือลงไปและคนให้เข้ากัน เสิร์ฟพร้อมผักสด
เสิร์ฟคู่
- ผักสด : แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือต่าง ๆ ขมิ้นขาว ผักกาดขาวปลี ใบบัวบก ยอดกระถิน
เต็มอิ่มกับ 13 สูตรน้ำพริก 4 ภาค เลยใช่ไหมคะ เพราะว่าจิ๋วจัดเต็มทั้งเคล็ดลับดี ๆ และขั้นตอนการทำที่ละเอียดยิบ ให้เพื่อน ๆ ได้ลองทำตามกันที่บ้าน หรือใครจะเอาสูตรไปต่อยอดทำขายก็ไม่ว่ากัน ยังมีเกร็ดความรู้ดี ๆ อีกเพียบเลยนะจ๊ะ จิ๋วขอแนะนำบทความนี่เลยจ้า 7 สูตรพริกแกงไทยรสเด็ด ทำแกงอะไรก็ฟิน
อ้างอิง
ราตรี เมฆวิลัย.//(2556).//น้ำพริกและเครื่องจิ้ม//หน้า 48-110