มีด 4 เล่มที่ควรมีติดครัว พร้อมเทคนิคการหั่นและการดูแลมีด
  1. มีด 4 เล่มที่ควรมีติดครัว พร้อมเทคนิคการหั่นและการดูแลมีด

มีด 4 เล่มที่ควรมีติดครัว พร้อมเทคนิคการหั่นและการดูแลมีด

หากเข้าครัวแล้วขาดมีดก็เหมือนจอมยุทธ์ไร้กระบี่...มารู้จักมีด 4 ชนิด ที่ควรมีติดครัว พร้อมเทคนิคการหั่น-การดูแลรักษามีด และการลับมีดให้คมบาดใจ! พร้อมเคล็ดลับหลัง
writerProfile
25 ก.ค. 2020 · โดย

สำหรับเพื่อน ๆ ที่รักการทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจย่อมต้องมีอุปกรณ์คู่กายไว้ออกฝีไม้ลายมือในครัว ซึ่งของคู่กายที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นก็คงไม่พ้น “มีด” ด้ามถนัดมือกับใบมีดอันคมกริบที่เฉือนวัตถุดิบได้ทุกสิ่งอย่าง วันนี้ Wongnai จะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับมีด 4 เล่มที่ควรมีติดครัว แถมด้วยเคล็ดลับการดูแลรักษา วิธีการหั่น วิธีลับมีด และถ้าใครมือไม้ลื่นเรายังมีวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับคนโดนมีดบาดอีกด้วย! เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกัน

1ส่วนประกอบของมีด

มาทำความรู้จักกับอาวุธคู่กายพ่อครัวแม่ครัวกันก่อน มีดหนึ่งด้ามจะประกอบด้วยสองส่วนหลัก ๆ คือใบมีดกับด้ามมีด มองภายนอกมีดมันกูเหมือน ๆ กันหมด แต่รู้ไหมว่าทั้งใบมีด และด้ามจับทำมาจากวัสดุต่างกันตามการใช้งาน

1.1 ใบมีด ประโยชน์ของมีดมันก็อยู่ตรงนี้แหละ ความคมกริบที่ตัดได้ทุกอย่าง โดยมี 3 วัสดุหลัก ๆ ที่เหมาะแก่การใช้ในครัวเรือน
1.1.2 มีดเนื้อเหล็กกล้าคาร์บอน มีความคม แข็งแรง ราคาถูก ลับมีดง่าย และทื่อช้า แต่เมื่อใช้งานแล้วจะต้องล้างให้สะอาดเช็ดให้แห้ง เพราะขึ้นสนิทได้ง่าย เหมาะกับงานสับโขก หั่น อย่างมีดปังตอ

1.1.3 มีดเนื้อเซรามิค ที่ไม่ได้ทำจากดินเหนียว แต่เป็นวัสดุเซรามิก เซอร์โคเนีย (Zirconia) ที่มีความแข็งมากกว่าเหล็กกล้า! ทำให้มีความคมนาน กลิ่นไม่ติดมีด น้ำหนักเบา แต่ข้อเสียก็คือแตกหัก เปราะง่ายถ้าใช้งานไม่เหมาะสม ซึ่งไม่เหมาะกับการสับของแข็งอย่างกระดูก และมีราคาแพง ทั้งยังต้องใช้หินลับมีดที่เนื้อแข็งกว่า

1.1.4 มีดเนื้อเหล็กไฮคาร์บอนสตีล ขยับมาใช้มีดแบบมือโปรอย่างที่เชฟนิยมใช้บ้างกับเนื้อเหล็กคม ทื่อช้า มีความแข็งแรงสามารถใช้ติดต่อกันได้นาน นาน ๆ ทีถึงลับมีด เพราะเนื้อแข็งมาก และยังใช้เวลานานในการลับมีดด้วย

1.2 ด้ามจับ ไม่มีใครบ้าจับใบมีดเปล่า ๆ ฉันใด ก็ไม่มีโรงงานไหนผลิตมีดโดยปราศจากด้ามจับฉันนั้น ซึ่งด้ามจับเองยังทำมาจากวัสดุต่างกันไป เช่น สารสังเคราะห์อย่าง ไฟเบอร์กลาส ไฟเบอร์คาร์บอน, วัสดุโลหะ อะลูมิเนียม สแตนเลส, วัสดุธรรมชาติ ที่พบได้บ่อยก็คือ ด้ามจับไม้นั่นเอง

พิกัด: สามารถสั่งซื้อ "มีด" ออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ Lazada และ Shopee

ส่วนประกอบต่างๆ ของมีด

2มีด 4 เล่มที่ควรมีติดครัว

ขนาดช้อนส้อมยังมีแบ่งสำหรับของคาวหรือของหวาน เรื่องมีด ๆ ยิ่งแล้วใหญ่ แบ่งการใช้งานออกมาได้ทั้งเอนกประสงค์ และเฉพาะทางอย่างครบถ้วน แต่ววันนี้เราจะมาแนะนำมีด 4 เล่ม ที่ควรมีติดครัวไทยไว้ รับรองมีแค่นี้แต่ใช้ได้ครอบจักรวาล

2.1 มีดหั่นขนาดเล็ก (Paring Knife) มีดขนาดเล็กถนัดมือสำหรับมือเล็ก ๆ ไว้ปอกเปลือกผัก และผลไม้ หรืองานที่ต้งใช้ความละเอียดขึ้นมาหน่อย ไว้หั่นส่วนเสียของผักผลไม้ต่าง ๆ ก็เวิร์กเช่นกัน

2.2 มีดเชฟ (Chef’s Knife) ใช้สับ หั่น แล่ ซอย เฉือนได้ทุกอย่างตามความเหมาะสม มีดครอบจักรวาลเล่มแรกที่ใช้สับ หั่น แล่ ซอย เฉือนได้ทุกอย่างเท่าที่ใจจะนึกออก ใช้ได้ใช้ดีทั้งกับเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ที่มีขนาดใหญ่กว่ามะเขือเทศลูกโตขึ้นไป

พิกัด: สามารถสั่งซื้อ "มีดเชฟ" ออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ Lazada และ Shopee

มีดหั่นขนาดเล็กใช้ปอกผักและผลไม้ลูกเล็ก
มีดเชฟใช้หั่นและสับได้ทุกอย่าง

2.3 มีดหั่นขนมปัง (Serrated Knife) จุดเด่นของมีดหั่นขนมปังคือการมีใบมีดเป็นฟันเลื่อยหรือขอบหยัก ๆ เหมาะสำหรับการหั่นของที่มีเทกซ์เจอร์แข็งด้านนอก แต่ด้านในเนื้อนุ่ม เช่น ขนมปัง ผลไม้เปลือกแข็งอย่าง สับปะรด หรือผักและผลไม้ที่มีความฉ่ำน้ำแบบมะเขือเทศ โดยเมื่อใช้มีดหั่นไปแล้วจะไม่ทำให้ช้ำมากนัก 

พิกัด: สามารถสั่งซื้อ "มีดหั่นขนมปัง" ออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ Lazada และ Shopee

2.4 มีดสับ/อีโต้/ปังตอ (Cleaver) มีดขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก เหมาะสำหรับสับของของแข็ง มีดขนาดใหญ่ของของคนใจถึง มีน้ำหนักมาก แต่เหมาะมือสุด ๆ หากต้องการจะสับหมูส้บ หรือสับกระดูกไก่ บางเล่มเราจะเห็นรูตรงมุมมีด ไว้สำหรับแขวนมีดนั่นเอง

พิกัด: สามารถสั่งซื้อ "มีดอีโต้" ออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ Lazada และ Shopee

มีดหั่นขนมปังไว้หั่นขนมปังหรือผลไม้เปลือกแข็ง
มีดสับ/อีโต้/ปังตอไว้สับของแข็งอย่างกระดูก

2เขียง

ฉันคู่กับเธอฉันใด มีดก็ต้องคู่กับเขียงฉันนั้น ซึ่งด้วยมาตรฐานความสะอาดระดับร้านอาหาร และโรงแรมจึงมีการแบ่งเขียงออกเป็นสีต่าง ๆ เพื่อไม่ให้วัตถุดิบปนเปื้อน แต่ในครัวเรือนเพียงแค่แยกเขียงสำหรับของสุก และไม่สุกก็เพียงพอแล้ว ส่วนวัสดุที่ใช้ทำเขียงยอดนิยมก็คือไม้มะขาม เพราะเนื้อเหนียว ใช้ได้นาน, เขียงพลาสติก มีหลากหลายแบบ น้ำหนักเบา และเขียงแก้ว มีน้ำหนัก แต่ดูแลรักษาความสะอาดได้ง่าย

พิกัด: สามารถสั่งซื้อ "เขียง" ออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ Lazada และ Shopee

เขียงชนิดต่างๆ

3การหั่นด้วยมีดแบบต่างๆ

มีดพร้อม เขียงพร้อม ผักพร้อม! เลือกมีดให้เหมาะมือ เหมาะกับการใช้งานแล้วมาดูกันว่า การหั่นผักให้ออกมาสวยงา,สำหรับการปรุงอาหารชนิดต่าง ๆ นั้น มีวิธีหั่น และชื่อเรียกแบบไหนบ้างที่นิยมกัน แล้วจะรู้เลยว่าเสน่ห์ปลายจวักมันเป็นแบบนี้นี่เอง

3.1 จูเลียน (Julienne) หั่นเป็นแท่งยาวขนาด ⅛” ยาว 2” เริ่มจากหั่นตามยาวเป็นแผ่น ๆ แล้วตัดแต่งเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเท่านี้ก็ได้ผักลงจานสลัดแล้ว

3.2 บรูนัวส์ (Brunoise) เป็นการหั่นเต๋าขนาดเล็กมาก เริ่มจากขั้นตอนหั่นแบบจูเลียน เมื่อได้แท่งสีเหลี่ยมมาแล้ว ก็จัดซอยเป็นลูกเต๋าบรูนัวส์ได้เลย เหมาะกับการหั่นไปทำเป็นไส้ต่าง ๆ เช่น เกี๊ยว ปอเปี๊ยะ

3.3 หั่นเต๋า (Dice) หั่นผักและผลไม้ออกมาเป็นลูกเต๋าหกเหลี่ยมโดยประมาณ ทั้งเท่าบ้างไม่เท่ากันบ้าง (ก็ใช้มือคนหั่นนี่นา จะเท่ากันเป๊ะได้อย่างไง) สามารถหั่นผัก และผลไม้ได้ทั้งขนาดเล็ก สำหรับยัดไส้ต่าง ๆ ขนาดกลาง สำหรับทำขนม ของหวาน ทับทิมกรอบ ฟรุตสลัด และขนาดใหญ่ใหญ่ ไว้ต้มซุปหอม ๆ

3.4 สไลซ์ (Slice) หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นสไลด์ ความจริงคือ “สไลซ์” นะคะ! เป็นการหั่นแว่นตามเนื้อวัตถุดิบสำหรับเตรียมอาหาร ได้ทั้งเนื้อสัตว์​ผัก และผลไม้

3.5 ชิฟฟอเนด (Chiffonade) ไว้หั่นฝอยใบของพืชผักต่าง ๆ โดยการนำใบมาซ้อนแล้วม้วนเข้าด้วยกัน จากนั้นใช้มีดซอยถี่ ๆ หากนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงการซอยใบมะกรูด

3.6 สับ (Mince) วิธีการที่เห็นบ่อยในทุกครัวเรือน เป็นการสับให้ละเอียด สำหรับเตรียมวัตถุดิบ หรือให้ละเอียดมากขึ้น ทั้งกระเทียมสับ หอมสับ หมูสับ ฯลฯ

การหั่นเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้แบบต่างๆ

4.1วิธีรักษาและวิธีลับมีด

ต่อให้ซื้อมีเนื้อดีมาในราคาแพงแสนแพงแค่ไหน หากไม่ดูแลรักษาความสะอาดให้ดีความคมกริบหั่น ซอย เฉือนได้ทุกอย่างก็คงเป็นแค่อดีต เหลือทิ้งไว้เพียงแต่ความทื่อของมีด เรามาศึกษาดูใจวิธีการเก็บรักษาความสะอาดของมีด และวิธีลับมีดกันดีกว่า มีดที่รักจะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ อย่างคมกริบ!

4.1.1 เช็ดคราบต่าง ๆ เช่น เศษเนื้อ ผัก หรือผลไม้ บนใบมีดหลังการใช้งานด้วยผ้าสะอาด แล้วล้างด้วยน้ำยาล้างจาน

4.1.2 เช็ดใบมีดให้แห้ง หลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้ว โดยใช้ผ้าที่ไม่ทิ้งขุยผ้า เช่น ผ้านาโน ไม่ควรตากมีดทิ้งไว้ให้แห้งเอง เพื่อป้องกันการเกิดสนิม เก็บไว้ในที่ปลอดภัยห่างไกลจากมือเด็ก

4.1.3 นำออกมาตรวจเชคคราบ รอยเปื้อน หรือสนิม เป็นบางครั้งหากไม่ได้ใช้งานมีดบ่อย โดยการเช็ดทำความสะอาดอย่างดี เท่านี้เราก็จะมีมีดสุขภาพดีมีความคมกริบไว้ใช้งานไปนาน ๆ

4.2วิธีลับมีด

แค่เพียงปีละ 1 ครั้ง ก็เพียงพอแล้วสำหรับการลับมีด หรืออาจทดสอบความคมของใบมีดโดยการสไลซ์กระดาษแผ่นบาง หากตัดผ่านออกมาได้ง่ายแสดงว่ามีดยังคงความคมใช้งานได้ดีอยู่ ซึ่งในปัจจุบันเราคุ้นตากันดีกับหินลับมีด แท่งเหล็กลับมีด และเครื่องลับมีด เรามาดูกันว่าวิธีลับมีดโดยใช้หินลับมีดต้องทำยังไง

4.2.1 จุ่มหินลับมีดกับน้ำเปล่า ให้ชุ่มเพื่อความเรียบลื่นขณะลับมีด

4..2.2 เริ่มลับมีด โดยการทำมุมกับหินลับมีดด้านหยาบ 20 องศา ลับใบมีดทั้งสองด้านไปตามความยาวของหินลับมีดในจำนวนครั้งที่เท่ากัน เพื่อให้ความคมมีเท่ากัน

4..2.3 เช็ดใบมีดด้วยน้ำมันพืช เพื่อป้องกันสนิม อาจหยอดน้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันพืชชนิดอื่นลงบนผาสะอาด ลูบไล้ใบมีดที่คมให้ทั่วเพื่อป้องกันสนิม

วิธีลับมีด

5การปฐมพบาบาลเบื้องต้นเมื่อโดนมีดบาด

ใช้มีดไปมาดั๊นน มือลื่น ก็ไหนจะหั่นหมู หั่นผัก แต่ละอย่างเต็มไปด้วยน้ำ และความมันจนมือลื่นเผลอฉับเดียว โดนมีดบาดซะแล้ว แต่อย่าเพิ่งตกใจโวยวายไป เรามาเตรียมพร้อมซ้อมรับมือเหตุการณ์มีดบาดกันดีกว่า

5.1 สงบสติอารมณ์​ อย่าโวยวายใหญ่โตถ้าแค่มีดบาดเป็นแผลเล็ก ไม่อย่างนั้นคนอื่นอาจตกใจกว่าคนโดนบาดเสียเอง

5.2 ใช้สำลีกดห้ามเลือด หรือจะใช้ผ้าสะอาดห้ามเลือกไว้ก็ได้

5.3 เช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ เมื่อเลือดหยุดไหลให้เช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ โดยเช็ดรอบ ๆ ปากแผล อย่าได้เช็ดไปที่แผลโดยตรง หากไม่มีจริง ๆ ใช้สบู่อันอ่อนโยนล้างมือได้

5.4 หยอดยาใส่แผล บริเวณรอบ ๆ แผล โดยพยายามหลีกเลี่ยงการหยอดใส่แผลโดยตรง

5.5 ใช้พลาสเตอร์ปิดแผล หรือใช้ผ้าพันแผลปิดทับป้องกันเชื้อโรค เท่านี้แผลมีดบาดก็ถูกปฐมพยาบาลเบื้องต้นเรียบร้อย แต่ถ้าเลือดยังไม่หยุดไหลเกิน 10-15 นาที และไหลพุ่งออกมาตามจังหวะชีพจรควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนมีดบาด

จอมยุทธ์ย่อมต้องมีกระบี่คู่ใจติดตัว ไม่ต่างกับพ่อครัวแม่ครัวที่ต้องมีมีดคู่กาย...รู้แบบนี้แล้วเพื่อน ๆ เข้าไปเชคมีดในครัวกันรึยังว่ามีครบตามลิสต์รึเปล่า? และขอเตือนอีกรอบว่า การถือของมีคมจะต้องระวังตัวให้มาก ๆ เพราะความไม่ประมาทคือความปลอดภัยอย่างหนึ่ง จะได้ทำอาหารออกมาได้อย่างสุขกายสบายใจ เอาล่ะ ใครอยากรู้เทคนิคการทำอาหารหรือเกร็ดความรู้อื่น ๆ คลิกได้ที่นี่เลยค่า

Reference

thinkofliving.com
www.craftsy.com
www.baanlaesuan.com
www.culinaryone.com
www.wikihow.com
www.webmd.com