“อุณหภูมิที่สูงขึ้นของโลกเพียง 2°C คงดูเล็กน้อยเหมือนผีเสื้อขยับปีก แต่ลมใต้ปีกผีเสื้อนั้นอาจจะสั่นคลอนการกินของมนุษย์ให้เปลี่ยนไปตลอดกาลได้เช่นกัน”
.
หลาย ๆ ท่านอาจคติดว่าผู้เขียนซีเรียสเกินไปหรือไม่กับประโยคด้านบน แต่ผู้เขียนอยากให้ทุกท่านลองเปิดใจและอ่านข้อมูลต่อจากนี้ หลังจากนั้นจึงประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
.
เมื่อเราสถาปนาตัวเองว่าสามารถอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารได้ แต่ก็กลับหลงลืมไปว่ารากฐานทุกอย่างในห่วงโซ่อาหารนั้น เป็นรูปแบบของชีวิตหนึ่งส่งต่อไปยังอีกชีวิต เมื่อสิ่งหนึ่งเปลี่ยนแปลงหรือหายไป ย่อมมีอีกสิ่งหนึ่งได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
.
เพราะบางอย่างแค่อาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเราเอง แต่ไม่ได้แปลว่ามันไม่ร้ายแรง
.
Wongnai Story Ep. 139
.
1.) ทูน่าไม่เหมือนเดิม ฝันสลายของคนรักซูชิ
ตั้งแต่กลางปีมานี้ผู้เขียนเห็นหลากหลายบทความต่างประเทศและคนวงในวงการอาหาร(ถึงตรงนี้ผู้เขียนก็รู้ตัวว่าเราเป็นวงในที่อยู่วงนอก) พูดถึงเรื่องรสชาติของปลาทูน่านั้นไม่สุดเหมือนแต่ก่อน ขนาดที่ว่าต่อให้ใช้กรรมวิธีเดียวกัน ปลาจากแหล่งเดียวกัน หรือแม้จะมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นด้วยซ้ำ แต่กลับรู้สึกว่ารสชาติความเข้มข้นของปลานั้นไม่เหมือนเดิม
.
จากงานวิจัยเรื่อง "ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการประมงปลาทูน่าทั่วโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อผลิตภาพและขนาดตัวปลา" ได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 คุณภาพของปลาทูน่าจะลดลง 36% โดยจะมีขนาดตัวเฉลี่ยลดลง 15% (ส่วนนี้มีงานวิจัยอื่นที่ออกมาตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งตัวเลขคาดการณ์นั้นใกล้เคียงกับงานวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้นในปี 2023)
.
อีกงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจระบุว่าพื้นที่หาอาหารของทูน่าอาจจะเปลี่ยนไปและไปซ้อนทับกับจุดที่เป็นการทำเหมืองใต้ทะเล เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ทูน่าต้องย้ายถิ่นหาอาหาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมการทำเหมือง เช่น ตะกอน เสียง และการปนเปื้อน อาจส่งผลเสียต่อประชากรปลาทูน่าและระบบนิเวศทางทะเลที่กว้างขึ้น
.
ส่วนสาเหตุตรง ๆ ก็คือเมื่อปริมาณแพลงก์ตอนลดลงจากอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งแพลงก์ตอนเองเป็นสัตว์พื้นฐานของท้องทะเล กล่าวคือมันเป็นสัตว์ขนาดเล็กที่ให้ปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ กิน เมื่อไม่มีแพลงตอน ฐานรากของห่วงโซ่อาหารหายไป ย่อมไม่มีอาหารให้กับปลาที่เป็นอาหารของทูน่า
.
ภาวะโลกร้อนทำให้ความพร้อมและการกระจายตัวของอาหารของปลาทูน่าลดลง ส่งผลให้ปลาทูน่าอาจประสบปัญหาในการหาอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การลดลงของประชากรปลาทูน่าในอนาคต
.
2.) ฝันร้ายของคนรักกาแฟ
เคยสงสัยไหมว่าถ้าไม่มีกาแฟ มนุษยชาติจะทำงานกันได้อย่างไร ผู้เขียนไม่ได้กล่าวติดตลก เพราะว่าเราอาจจะได้พบคำตอบกันอีกในชั่วอายุคนนี้เอง “เมื่อโลกร้อนนั้นส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและพื้นที่การปลูกกาแฟ” เช่นกัน
.
อย่ากลัวฝน เพราะฝนนั้นเย็นฉ่ำ ใครทันเพลงนี้คุณไม่เด็กแล้วนะครับ เนื้อเพลงนี้สามารถใช้ได้กับเจ้าสาว แต่ไม่ใช่กับกาแฟ เพราะพื้นที่จะปลูกกาแฟได้ดีนั้น ต้องมีสภาพอากาศที่เหมาะสม ซึ่งเมื่ออุณภูมิของโลกสูงขึ้นก็จะบังคับให้อากาศนั้นเปลี่ยนไปพื้นที่ ที่เคยปลูกกาแฟได้ดีจะได้รับผลกระทบด้วยฝนห่าใหญ่ ส่งผลให้จำนวนผลผลิตลดลง และกาแฟมีรสชาติเปลี่ยนไป
.
จากงานวิจัยเรื่อง A bitter cup: climate change profile of global production of Arabica and Robusta coffee. Climatic Change ได้กล่าวถึงการเพาะปลูกกาแฟทั่วโลกถูกคาดการณ์ว่าจะได้ผลผลิตลดลงประมาณ 50% โดยมาจากเรื่องอุณหภูมิที่สูงขึ้นและความปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ โดยมีความกังวลในพื่นที่พื้นที่ที่มีละติจูดต่ำและระดับความสูงต่ำ ได้แก่ พื้นที่ปลูกในอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.
3.) ทำไม 2°C ถึงสำคัญ
จากรายงาน World of Change โดย earth observatory หนึ่งในหน่วยงานของ NASA ได้มีการบันทึกอุณภูมิของโลกหลังจากยุคปฎิวัตรอุตสหกรรม โดยระบุว่า 1 ทศวรรษอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้น 0.15 ถึง 0.20°C
.
ทำให้หลังจากช่วงปฎิวัติอุสาหกรรมและเข้าสู่ช่วงที่คาดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะโลกร้อนคือปี ค.ศ. 1975 มาจนถึงปัจจุบัน อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นแล้วอย่างน้อย 1.1 °C
.
โดยมีเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือไม่ใช่ว่าทุกส่วนจะร้อนขึ้นเพียงอย่างเดียว บางส่วนอาจมีอุณหภูมิลดลงได้เช่นกัน หรือเรียกได้ว่ามีความสุดขั้วของสภาพอากาศมากขึ้นนั่นเอง เราจึงเห็นภัยพิบัติที่เกิดบ่อยและมีความรุนแรงขึ้น
.
หากเรายังไม่ลดปริมาณก๊าซเรีอนกระจกตัวเลขในช่วงทศวรรษต่อจากนี้ ตัวเลขอาจจะขยับจาก 0.20°C สูงขึ้นได้อีกเรื่อย ๆ
.
ส่วน 2°C นั้นเป็นตัวเลขที่ถูกประเมินไว้ว่าหากโลกมีอุณหภูมิสูงเกินกว่าไปแล้ว จะเป็นจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับมาได้นั่นเอง หรือก็คือ Point of no return
.
4.) ไม่เป็นไร เรากินแมลงแทนได้?
เมื่อเราพูดถึงเรื่องนี้แล้วต้องไปให้สุด บางท่านอาจบอกว่ามนุษย์ยังเหลืออาหารอนาคตอย่างแมลงรองรับอยู่ แต่ความเป็นจริงนั้นง่ายเช่นนั้นหรือไม่ หากวันหนึ่งอุณหภูมิสูงขึ้น
.
ความจริงก็คือสัตว์ขนาดเล็กนั้นได้รับผลกระทบได้ไวและรุนแรงที่สุดจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
.
ยกตัวอย่างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วอย่างปริมาณผึ้งในธรรมชาติลดลงจากโลกร้อน เรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลแค่กับปริมาณน้ำผึ้ง แต่การแพร่พันธุ์ของพืชหลายชนิดอาศัยผึ้ง ซึ่งปั่นป่วนระบบนิเวศในธรรมชาติแน่นอน นี่แหล่ะที่มาของการเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวอย่างแท้จริง
.
ถ้าไปให้สุด เราอาจจะทำโปรตีนแท่งจากแมลงบางชนิดที่มีลักษณะ ถึก ทน อยู่ได้ทุกสภาพ แบบในภาพยนตร์เรื่อง Snowpiercer ไว้กินได้เช่นกัน แต่เรารับได้กับการกินสิ่งนั้นจริง ๆ ใช่ไหม (ภาพยนตร์ปี 2013 ว่าด้วยเรื่องของโลกที่ถูกแช่แข็งและมนุษย์ต้องใช้ชีวิตบนรถไฟชบวนเดียวกัน)
.
5. บทสรุป
ในแง่หนึ่งเราอาจจะคิดว่ามนุษย์สามารถตรวจสอบและควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ความจริงคือทุกอย่างเปลี่ยนแปลงแม้ตอนเราหลับ แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามที่เราคิด เพราะเช่นนั้นธรรมชาติจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าที่เราเข้าใจเสมอมา
.
ในอีกชั่วอายุหนึ่งของกินบางอย่าง หรือเราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อบางเมนูอาจจะหายไป และกลายเป็นเพียงเรื่องเล่า หรือสิ่งที่นึกถึงแต่ไม่สามารถกินให้รู้สึกได้อีกแล้ว
.
แต่ในอีกแง่หนึ่งปัญหานี้ก็ไม่ควรถูกผลักให้เป็นภาระหน้าที่ของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวเพราะการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องมีการดำเนินการในระดับนโยบายด้วยเช่นกัน
.
สารภาพว่าผู้เขียนนึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าขาดกาแฟดี ๆ ไปชีวิตจะเป็นอย่างไร แต่เรื่องดี ๆ คือถึงวันนี้เราทุกคนยังมีโอกาสที่จะร่วมมือกันเพื่อลดผลกระทบนี้ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้บริโภค ผู้ประกอบการ หรือผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้ตัวพวกเราเองยังมีของกินที่รักจะกินต่อไป
#Wongnai #WongnaiStory #ClimateChange #GlobalWarming #Sushi #tuna #Food
Reference
Erauskin-Extramiana, M., Chust, G., Arrizabalaga, H., Cheung, W. W. L., Santiago, J., Merino, G., & Fernandes-Salvador, J. A. (2023). Implications for the global tuna fishing industry of climate change-driven alterations in productivity and body sizes. Global and Planetary Change.
Monllor-Hurtado, A., Pennino, M., & Sánchez-Lizaso, J. (2017). Shift in tuna catches due to ocean warming. PLoS ONE, 12.
Cheung, W., Sarmiento, J., Dunne, J., Frölicher, T., Lam, V., Palomares, M., Watson, R., & Pauly, D. (2013). Shrinking of fishes exacerbates impacts of global ocean changes on marine ecosystems. Nature Climate Change, 3, 254-258
Climate change to drive increasing overlap between Pacific tuna fisheries and emerging deep-sea mining industry. npj Ocean Sustainability.
Bunn, C., Läderach, P., Rivera, O., & Kirschke, D. (2015). A bitter cup: climate change profile of global production of Arabica and Robusta coffee. Climatic Change, 129, 89-101.