อาณานิคมในจานอาหาร 
เมื่อการล่าเมืองขึ้นสร้างรสชาติใหม่ให้สำรับไทย
  1. อาณานิคมในจานอาหาร 
เมื่อการล่าเมืองขึ้นสร้างรสชาติใหม่ให้สำรับไทย

อาณานิคมในจานอาหาร 
เมื่อการล่าเมืองขึ้นสร้างรสชาติใหม่ให้สำรับไทย

เรื่องคุ้นหูอย่าง ไทยเราไม่เคยตกเป็นอาณานิคมขึ้นของใคร อาจเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ในเรื่องของอาหารนั้น ต้องบอกว่าพี่ไทยเรานั้นเก่งไปอีกขั้น
writerProfile
19 ก.พ. 2025 · โดย

เรื่องคุ้นหูอย่าง ไทยเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร อาจเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ในเรื่องของอาหารนั้น ต้องบอกว่าพี่ไทยเรานั้นเก่งไปอีกขั้นเพราะนอกจากจะชอบกินของอร่อยแล้ว คนไทยเรายังรู้จักการรับมาและปรับปรุง

.

จนแม้เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่น แต่เราก็มีอาหารที่หยิบยืมชาติอื่นมา บ้างก็วัตถุดิบ บ้างก็วิธีทำ จนกลายเป็นความหลากหลายทางรสชาติที่ถือเป็นจุดเด่นของอาหารไทยในปัจจุบัน

.

1.อาหารพัฒนาไม่ได้โดยลำพัง

หนึ่งในแง่มุมที่เราอยากชวนให้ทุกคนคิดตาม การเปลี่ยนแปลงทางอาหาร วัฒนธรรมอาหารไทยไม่ได้มีพัฒนาการโดยลำพัง แต่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก จีน อินเดีย และตะวันออกกลางในช่วงเวลาต่างๆ อาหารไทยสามารถดัดแปลงและปรับตัวให้เข้ากับรสนิยมของคนไทย สะท้อนถึงพลวัตของสังคมไทยที่เปิดรับอิทธิพลจากภายนอก แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างน่าสนใจ หรือถ้าพูดง่าย ๆ “ก็คือถ้าอร่อยไทยเอาหมด ถ้าไม่อร่อยก็เอามาปรับ“

.

2.ลัทธิล่าอาณานิคมผสมวัฒนธรรม

Colonialism ที่แปลว่า ระบบการครอบงำที่ประเทศมหาอำนาจใช้อิทธิพลเหนือดินแดนอื่น โดยการตั้งถิ่นฐานของชาวอาณานิคม การแสวงหาทรัพยากร มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน "colonus" ซึ่งแปลว่า "ชาวนา" สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของผู้ตั้งถิ่นฐานที่อพยพไปสร้างอาณานิคมใหม่โดยยังคงจงรักภักดีต่อมาตุภูมิ

.

3.อิทธิพลจากลัทธิล่าอาณานิคม

แม้ไทยจะไม่เคยตกเป็นอาณานิคมโดยตรงเหมือนประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อดูจากอาหารที่อยู่ในชีวิตประจำวันเราหลาย ๆ เมนู คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ไทยได้รับผลกระทบจากกระแสและอิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคมผ่านทางการค้า การอพยพ และการเผยแพร่วัฒนธรรมอยู่ไมน้อยเช่นกัน

.

4.พริก(พลิก)ลิ้นคนไทย

ตัวอย่างสำคัญของอิทธิพลของการล่าอาณานิคมจากยุโรปต่ออาหารไทยคือวัตถุดิบอย่างพริก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอาหารไทย พริกไม่ได้เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีหลักฐานว่าถูกนำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวโปรตุเกสในศตวรรษที่ 16 หลังจากที่พวกเขาได้รับพริกมาจากอเมริกาใต้ ซึ่งเราต้องขอขอบคุณโคลัมบัสไว้ ณ ที่นี้ เพราะพริกได้เปลี่ยนแปลงรสชาติของอาหารไทยไปอย่างมาก

.

5.การนำเข้าวัตถุดิบและการเปลี่ยนแปลงของรสชาติไทย

เพราะก่อนหน้าที่เราจะรู้จักกับพริกนั้นอาหารไทยใช้ดีปลีและพริกไทยเป็นเครื่องเทศให้ความเผ็ด การเข้ามาของพริกในไทยสอดคล้องกับช่วงเวลาที่อยุธยาทำสัญญาทางการค้ากับโปรตุเกสเป็นครั้งแรก และพริกก็ไปปรากฏในตำรับน้ำพริกชาววังที่มีส่วนประกอบของกระเทียม ตะไคร้ และขิง ในช่วงปี พ.ศ. 2300 หรือก็คือปลายของอยุธยาแล้ว

.

6.ดาราลาตินในจานอาหารไทย

เรื่องน่าสนใจก็คือเมื่อพริกเข้ามาอยู่ใรครัวของคนไทยแล้ว มันก็ถูกจับปรับปรุงพันธุ์ จนหลงลืมความเป็นลาติน ยอมนุ่งกางเกงช้างและกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารไทยหลายเมนูอย่างรวดเร็ว

.

"เมื่อเวลาผ่านไป พริกก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของอาหารไทย จนหลายคนเข้าใจผิดว่ามีถิ่นกำเนิดจากไทย"ประมาณว่าถ้านึกถึงอาหารไทย ต้องนึกถึงความเผ็ดและพริก แต่หารู้ไม่ว่าที่จริงแล้วคนไทยกินพริกเพียง 200 กว่าปีเท่านั้น ต่างจากที่ทวีปอเมริกาใต้ที่มีหลักฐานการใช้พริกย้อนไปถึง 6,900-5,000 ปีก่อนคริสตกาล นี่คือตัวอย่างความเทพในการรับเอาไว้และหยิบมาใช้ ของคนไทยอย่างแท้จริง

.

7.อาณานิคมสร้างอาหารจานเดียว

อย่างที่เราเคยเรียนมาว่าสยามหรือไทยนั้นจะสามารถรักษาเอกราชไว้ได้จากการล่าอาณานิคมใน ศตวรรษที่ 19 แต่ในช่วงนั้นเองที่ความตึงเครียดสูงประหนึ่งการมีฆาตรกรโรคจิตหายใจรดท้ายทอยเพราะต้องปรับตัวให้เข้ากับโครงสร้างที่ได้รับอิทธิพลจากจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศส

.

8.เบาว์ริงตัวแสบ

เรื่องนี้คงต้องย้อนความไกลสักหน่อย แต่เพื่อให้เห็นภาพว่าอาณานิคมสร้างการกินให้เราอย่างน่าตกใจ และตกทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในช่วงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 สยามทำสนธิสัญญาทางการค้ากับชาติตะวันตก อย่างสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty, 1855) กับอังกฤษ ซึ่งทำให้สยามต้องเปิดเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ หลังจากที่สยามนั้นกุมความได้เปรียบเรื่องภาษีมานาน

.

9.ปากท้องต้องขยายตามเมือง

ประเด็นสำคัญก็คือสยามต้องเปิดให้ชาติอื่น ๆ เข้าสู่ประเทศมากขึ้น ในขณะเดียวกันกรุงเทพก็ต้องกลายเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ นำพามาด้วยภาระหน้าที่ของการขยายตัวของเมืองหลวงเพื่อรับใช้ระบบเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น

.

แต่ปัญหาก็คือสยามไม่มีแรงงานที่จะมาช่วยเนรมิตเมืองให้ใหญ่โตได้ทันเวลา จนต้องหันไปพึ่งแรงงานอพยพจากจีน เพื่อมาแก้ปัญหาแรงงานที่ไม่เพียงพอ

.

10.ฟาสฟู๊ดยุคแรก

ก่อนศตวรรษที่ 19 เศรษฐกิจไทยเป็น ระบบเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเอง (Subsistence Economy) ประชากรส่วนใหญ่ทำเกษตรและปรุงอาหารเองในครัวเรือน อาหารส่วนมากเป็น สำรับอาหาร ที่ต้องใช้เวลาทำ เช่น ข้าวกับกับข้าวหลายชนิดที่ต้องปรุงแยกกัน

.

แต่เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนไปสู่ เศรษฐกิจแบบแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) ในช่วงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 โดยมีการค้าขยายตัวและเมืองเติบโตขึ้น คนจำนวนมากต้องทำงานนอกบ้าน เมื่อ คนไม่มีเวลาทำอาหารเองที่บ้าน อาหารที่สามารถทำเร็ว กินง่าย และให้พลังงานเพียงพอ จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น อาหารจานเดียว กลายเป็นคำตอบของวิถีชีวิตใหม่ในเมือง

.

ผลกระทบของการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจ

เมื่อชาวจีนมาตั้งรกรากพวกเขานำเทคนิคการทำอาหารอาหารจานเดียวที่ทำเร็ว กินง่าย และไม่ต้องใช้เวลามาก ตัวอย่างอาหารที่ชาวจีนเผยแพร่ในไทย ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่หมูแดง ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง

.

11.รากฐาน Street Food ระดับโลก

หลังจากการผสมปนเปเหมือนแกงโฮะที่ค้างมาหลายวัน วัฒนธรรมการทำอาหารของจีนก็ได้แทรกเข้าสู่สังคมไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหาบเร่ แผงลอย การขายผ่านรถเข็น ที่จนถึงการตั้งร้านริมทางเดิน แบบที่เรายังเห็นอยู่ตามถนนอาหารสายดังทั่วกรุงเทพ จนไทยกลายเป็นประเทศที่คนรัก Street Food ต่างนึกถึง

.

แต่นอกจากนั้นเทคนิคการทำอาหารเองก็ได้ถูกนำมาปรับให้เข้ากับความเป็นไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมนูอย่างผัดไทย และ ผัดกะเพรา ที่ใช้เทคนิคอย่างจีน แต่วัตถุดิบอย่างไทย จนกลายเป็นเมนูขึ้นระดับโลกในปัจจุบัน เรื่องนี้ส่งผลมาถึงข้าวผัดอเมริกันที่อเมริกาไม่มีขายด้วยเช่นกัน ที่ได้วิธีการทำแบบจีนมาผสานแม้จะเป็นยุคสงครามเย็นแล้วก็ตาม

.

12.ไทยนี้รับเก่ง แต่ปรับเก่งกว่า

อย่างที่เขียนไปทั้งหมด จะเห็นว่าความเก่งของคนไทยนั้นไม่ใช่การหาวัตถุดิบชั้นเลิศ การรังสรรค์ด้วยความประณีตแบบหารที่ติมิได้ แต่ในภาพใหญ่ที่เรา ๆ อาจจะไม่รู้ตัวกันเลยก็คือความเก่งเรื่องการรับเอาไว้ และปรับให้กลายเป็นของตัวเองได้อย่างน่าชื่นชม ประหนึ่งศิลปินที่ได้แรงบันดาลใจมา และสร้างเป็นมาสเตอร์พีซของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้พริก วัตถุดิบ หรือการสร้างเมนูอื่น ๆ จากเทคนิกที่เราไปลอกเพื่อนมา

.

เรื่องที่น่าถามต่อไปจากนี้ก็คือเราจะต่อยอดสิ่งนี้อย่างไรให้อาหารไทยสามารถสร้างอาณานิคมของตัวเองได้บ้าง ไม่ใช่แค่ผู้ที่รับไว้แล้วปรับปรุง แต่กลายเป็นการส่งออกเพื่อเปลี่ยนแปลงการรับรู้เรื่องการกินของคนทั้งโลกได้มากขึ้นไปอีก

#Wongnai #WongnaiVibes #WongnaiStory #อาหารไทย #อาณานิคม

Reference

Wong, T. (2019). Thai cuisine and the impact of colonial trade routes. Asian Culinary Heritage, 8(2), 123-140.

Zubaida, S. (2000). Food and globalization: The role of colonialism in shaping world cuisines. In C. Counihan & P. Van Esterik (Eds.), Food and culture: A reader (pp. 75-90). Routledge.

National Geographic Society. (2021). The spice routes: How trade shaped the world’s cuisines. Retrieved February 19, 2025, from https://www.nationalgeographic.com/history/spice-routes

Thai Historical Society. (2019). The influence of Portuguese and Chinese culinary techniques on Thai cuisine. Retrieved February 19, 2025, from https://www.thaihistory.org/culinary-influence