"เดตแรกควรหารกันเลยไหม?" เป็นคำถามที่ดูเหมือนจะง่าย เพราะจริง ๆ อาจตอบได้เลยว่าใครเอ่ยปากชวนก็ต้องเป็นคนจ่าย แต่ที่จริง ๆ แล้วเบื้องหลังฉากของฉากรักนี้อาจสะท้อนแนวคิดทางสังคม วัฒนธรรม และจิตวิทยา มากมาย
บทความนี้จะพาทุกท่านไปสำรวจ วิวัฒนาการของการรับประทานอาหารนอกบ้านและการออกเดต ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน รวมถึงแนวคิดเรื่อง "อเมริกันแชร์" ที่เป็นประเด็นถกเถียงในสังคมไทย เผื่อเตรียมตัวรับมือวาเลนไทน์ที่กำลังจะมาถึง และรวมถึงประวัติศาสตร์การออกเดต เพื่อให้คุณเอาไปเล่าให้คู่เดตคุณฟังได้อย่างออกรสออกชาติ
1.) รักเอยคือการลงทุน
เราอาจจะคิดว่าใครจ่าย?" เป็นเพียงมารยาททางสังคม แต่มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า วิธีการแบ่งจ่ายในเดตแรกสามารถส่งผลต่อมุมมองความสัมพันธ์ในระยะยาวได้เช่นกัน
จากงานวิจัยเรื่อง Who Pays for Dates? Following Versus Challenging Gender Norms ในปี 2015 ทำการศึกษาโดยใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ 17,607 คน เพื่อตรวจสอบว่าใครเป็นสายเปย์ในการออกเดต พบว่าเพศชายเป็นผู้รองรับค่าใช้จ่ายของการออกเดตส่วนใหญ่
แต่เรื่องน่าสนใจก็คือ ผู้ชาย 64% เชื่อว่าผู้หญิงควรมีส่วนร่วมในการออกเดตหลังจากการออกเดตสองสามครั้งแรก และผู้ชาย 44% กล่าวว่าพวกเขาจะหยุดออกเดตกับผู้หญิงที่ไม่เคยจ่ายเงิน ส่วนทางผู้หญิงเองก็มี 40% รู้สึกกังวลเมื่อผู้ชายไม่รับเงินของพวกเธอ หมายความว่าการช่วยกันออกอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีต่อความสัมพันธ์มากกว่า ส่วนงานวิจัยของ Jessica McClure (2019)แย้งว่าผู้ชายที่เป็นฝ่ายจ่ายมักจะคาดหวังความสัมพันธ์ระยะยาวมากกว่าผู้ชายที่หารค่าใช้จ่าย
2.)จากโต๊ะสู่เตียง
พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์เราเลยจะขอมูฟจากโต๊ะไปสู่เตียง มีการศึกษาพบว่า บางครั้งการลงทุนในการออกเดตอาจส่งผลต่อการคาดหวังในความสัมพันธ์ ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกกดดันในระดับที่ต่างกัน
ผู้ชายบางคนอาจเต็มใจที่จะใช้จ่ายเงินมากขึ้นในการออกเดตหากพวกเขาคิดว่ามันจะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นตัวอย่างของ Sunk Cost เนื่องจากผู้ชายเหล่านี้อาจมีแนวโน้มที่จะลงทุนในความสัมพันธ์ต่อไปเพราะพวกเขาได้ลงทุนเงินไปเป็นจำนวนมากแล้ว หรือก็คือทุกการลงทุนใครหล่ะจะไม่หวังฟันกำไร ส่วนฝ่ายหญิงเองก็รับรู้ได้ถึงความอีดอัดในเรื่องนี้
งานวิจัยพบว่าผู้หญิงบางคนอาจรู้สึกกดดันน้อยลงที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคู่เดตของเธอ หากพวกเธอช่วยจ่ายเงินในการออกเดต ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นตัวอย่างของ Sunk Cost เช่นกัน เนื่องจากผู้หญิงเหล่านี้อาจรู้สึกว่าเธอต้องตอบแทนการลงทุนทางการเงินของผู้ชายด้วยการไปจบที่เตียง
จากที่มาที่ไปแบบนี้เอง เรื่องก็คงจะดูอึดอัดไม่น้อยหากว่าความสัมพันธ์ต้องเกิดและดำเนินไปด้วยความรู้สึกเช่นนี้ งั้นให้อเมริกันแชร์เป็นทางออกได้หรือไม่ แต่ก่อนอื่นที่มาของคำว่าอเมริกันแชร์ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
3.)อเมริกันแชร์ที่คนอเมริกางงว่าจ่ายยังไง
ในความเป็นจริงโลกสากลไม่มีคำว่า "American Share" แต่ในภาษาอังกฤษ คำที่ใกล้เคียงที่สุดคือ "Going Dutch" ซึ่งหมายถึงการแบ่งจ่ายค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารหรือทำกิจกรรมร่วม ซึ่งวิธีการจ่ายก็แล้วแต่การตกลงของแต่ละคู่ โดยมีไอเดียใหญ่ ๆ คือการแบ่งกันจ่าย แต่กับคำว่า American Share จะหมายถึงการจ่ายแบบหารครึ่งเท่านั้น
แค่จ่ายก็บอกอะไรเราได้หลายเรื่องในความสัมพันธ์
หารเท่ากัน (50/50 Split) คนที่เพิ่งเริ่มเดต หรือคนที่ยังไม่ได้มีบทบาทชัดเจนในความสัมพันธ์
จ่ายตามสิ่งที่ตัวเองสั่ง (Itemized Split) มักใช้กับคู่ที่ยังไม่สนิทกันมาก หรือคนที่มีรายได้ต่างกันชัดเจน
แบ่งตามสัดส่วนรายได้ (Proportional Split) เช่น ถ้าฝ่ายชายมีรายได้มากกว่า อาจจ่าย 70% เหมาะกับคู่ที่เริ่มมี ความจริงจัง ต่อกัน แต่ยังต้องการความยุติธรรม หากฝ่ายหนึ่งมีรายได้มากกว่า อาจเลือกจ่ายมากขึ้นโดยไม่รู้สึกเสียเปรียบ
ผลัดกันจ่าย (Alternating Pay) ครั้งนี้คนหนึ่งจ่าย ครั้งหน้าคนหนึ่งจ่าย ความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วย ความเชื่อใจและความสบายใจ พบในคู่ที่คบกันมานาน และไม่ได้ต้องการความเท่าเทียมแบบเป๊ะ ๆ
สุดท้ายแล้วผู้เขียนไม่สามารถฟันธงลงใจให้ได้ว่าควรหารหรือไม่ควรหารดี อยู่ที่แต่ละคน แต่ละคู่ แต่ละกรรม
4. ประวัติศาสตร์การเดตแบบรวบหัวรวบหาง
แต่อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ หากเราหาคำถามที่ใหญ่กว่าการหารค่าข้าวกันคือคนเราออกไปเดตกันได้อย่างไรเพราะจริง ๆ “เราคงไม่ต้องปวดหัวมานั่งคิดว่าหารไม่หารดี ถ้าเราแค่นั่งกินข้าวที่บ้าน”
ใน The Restaurant: A History of Eating Out, William Sitwell ได้อธิบายว่า ร้านอาหารไม่ได้เป็นแค่สถานที่สำหรับทานอาหาร แต่เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมและการเข้าสังคม เพราะอย่างนั้นเองร้านอาหาร คาเฟ่ นอกจากจะช่วยให้เราอิ่มท้องแล้ว อีกสถานะหนึ่งมันยังเป็น Tinder แบบมาก่อนการ
จุดเริ่มต้นของการออกเดตนอกบ้าน
ศตวรรษที่ 18 คาเฟ่ในฝรั่งเศสและอังกฤษกลายเป็นจุดนัดพบของนักคิดและศิลปิน แต่ก็เป็นสถานที่ที่หนุ่มสาวสามารถพูดคุยทำความรู้จักกันได้ คุณอาจจะนึกถึงเรื่องของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสหลายสำนักที่มักนั่งคิด เขียน สนทนา ในคาเฟ่ กลางกรุงปารีส
คาเฟ่ในปารีสเป็นสถานที่ที่ หนุ่มสาวสามารถพบปะกันโดยไม่มีพ่อแม่ควบคุม ถือเป็นยุคแรกที่แนวคิดของ "การออกเดต" เริ่มเกิดขึ้น
ตัดกลับไปที่อังกฤษร้านอาหารเริ่มมีเมนูให้เลือกเอง ไม่ใช่แค่การกินอาหารชุดเดียวกันเหมือนยุคก่อน สิ่งนี้ช่วยให้แต่ละคนสามารถเลือกจ่ายค่าอาหารของตัวเองได้ และเพิ่มความหลากหลายในการพบเจอ นัด หรือ ทำความรู้จักกัน
กำเนิดการเลี้ยงข้าวและพาไปเดต
ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ร้านอาหารหรูเริ่มได้รับความนิยม โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ยุควิกตอเรียน (ค.ศ. 1837-1901): ผู้ชายมักเชิญหญิงสาวไปทานอาหารค่ำในร้านอาหารหรูเพื่อแสดงสถานะทางสังคม ขอเน้นที่“ฝ่ายชายต้องเป็นผู้จ่ายเสมอ” เพราะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ(ซี่งนี่เองก็อาจกลายมาเป็นธรรมเนียมที่ถ่ายทอดต่อกันมานั่นเอง)
ขอข้ามไปยังฝั่งอเมริกา การออกเดตเริ่มพัฒนาไปสู่แนวคิด "Dating" ที่ฝ่ายชายจะต้องเป็นคนชวนและพาฝ่ายหญิงไปทานอาหาร
เดตผ่านร้านฟาสต์ฟู้ด
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเดตกลายเป็นเรื่องที่แพร่หลายมากขึ้น คนหนุ่มสาวมีอิสระในการเลือกคู่มากขึ้น และร้านอาหารแบบฟาสต์ฟู้ดก็กลายเป็นจุดเดตยอดนิยม ช่วงหลัง 1960 แนวคิด "Going Dutch" หรือการแบ่งจ่ายเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะในเนเธอร์แลนด์และสแกนดิเนเวีย 1990s: การเดตในร้านกาแฟ (เช่น Starbucks) กลายเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในหมู่คนทำงาน
จากประวัติศาสตร์การออกเดตไปจนถึงแนวคิดเรื่อง "อเมริกันแชร์" เราเห็นว่ารูปแบบการจ่ายเงินเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและโครงสร้างทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการให้ฝ่ายชายจ่ายทั้งหมดในอดีต หรือแนวคิดการแบ่งจ่ายที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
5.เดตแรกควรหารกันเลยไหม?
สุดท้ายแล้ว คำถามว่า "เดตแรกควรหารกันเลยไหม?" อาจไม่มีคำตอบตายตัว เพราะการแบ่งจ่ายค่าใช้จ่ายในการออกเดตสะท้อนมากกว่ามารยาททางสังคม แต่มันเกี่ยวข้องกับค่านิยมทางวัฒนธรรม มุมมองต่อความสัมพันธ์ และจิตวิทยาของทั้งสองฝ่าย
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดอาจไม่ใช่แค่ "ใครจ่าย?" แต่คือ "เรามองความสัมพันธ์นี้อย่างไร?" การสื่อสารและความเข้าใจระหว่างกันเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะหารหรือไม่หาร ขอให้เป็นการตัดสินใจที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกสบายใจและเคารพซึ่งกันและกัน นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน
#Wongnai #WongnaiVibes #WongnaiStory #เดตแรก #เดตวาเลนไทน์ #อเมริกันแชร์ #GoingDutch #มารยาทสังคม
Reference
Frederick, D. A., Backer, J., & Figueredo, A. J. (2015). Who pays for dates? Following versus challenging gender norms. Sex Roles, 73(5), 193-207. https://doi.org/10.1007/s11199-015-0507-5
McClure, J., Lydon, J. E., & Baccus, J. (2019). Sunk cost fallacy and romantic expectations: How financial investment affects perceived relationship value. Behavioral Economics Journal, 14(2), 89-102.
Sitwell, W. (2020). The restaurant: A history of eating out. Simon & Schuster.