‘ไทยชนะ’ จำนวน Food Waste แซงนำหลายประเทศทั่วโลก
  1. ‘ไทยชนะ’ จำนวน Food Waste แซงนำหลายประเทศทั่วโลก

‘ไทยชนะ’ จำนวน Food Waste แซงนำหลายประเทศทั่วโลก

Wongnai Story ชวนหาคำตอบถึง Food Waste ว่าจริงๆ เราสามารถแก้ไขมันได้ง่ายกว่าตอนนี้ไหม พร้อมทำความเข้าใจว่าทำไมมันถึงได้ชื่อว่าเป็นปัญหาที่โง่ที่สุด
writerProfile
28 พ.ย. 2024 · โดย

เหลือจนล้น กินจนเกินตัว Food Waste ปัญหาจากความมักง่ายที่แก้ไม่ได้สักที

‘กินข้าวไม่หมดไม่สงสารชาวนาเหรอ’ ประโยคนี้ได้ยินมาโดยตลอดตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งโตมาแล้วเจอคำใหม่ๆ ว่า ‘กินอาหารไม่หมดจะเป็น Food Waste แทน’ แต่ความหมายก็ยังคงเหมือนๆ กัน คือต้องกินอาหารให้หมดถึงจะเป็นเด็กดีและคนดีต่อสังคม

ปัญหา Food Waste เริ่มเป็นปัญหาที่คนตระหนักจริงจังมากขึ้น เพราะว่ามันกำลังล้นโลกไปเรื่อยๆ ซึ่งปัญหานี้เคยมีคนบอกว่า นี่เป็นปัญหาที่ Dumbest Problem Ever! นี่คือปัญหาที่โง่ที่สุดที่เราจะสร้างมันขึ้นมาได้ แต่ประเด็นคือเราดันแก้มันไม่ได้สักทีน่ะสิ

Wongnai Story ชวนหาคำตอบถึงอาหารที่เหลือทิ้งในโลก ว่าจริงๆ เราสามารถแก้ไขมันได้ง่ายกว่าตอนนี้ไหม พร้อมทำความเข้าใจว่าทำไมมันถึงได้ชื่อว่าเป็นปัญหาที่โง่ที่สุด แล้วถ้าเราลองจัดการแบบไทยๆ จะเป็นยังไงดี

เมื่อไรที่ Food เริ่มจะ Waste ในโลกเรา

ได้ยินมานาน แต่ไม่รู้ว่าจุดเริ่มมาจากไหนกันแน่ คำว่า ‘Food Waste’ หรือถ้าแปลตรงๆ แบบไม่ค่อยน่าฟังเท่าไร ก็คือ ‘ขยะอาหาร’ คำนี้เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นเมื่อสังคมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เพราะเป็นช่วงที่ระบบการผลิตและการบริโภคอาหารของเราเปลี่ยนไป คือมีความ centralization หรือรวมศูนย์มากขึ้น แปลว่าเรามักเลือกกินอาหารที่ผลิตจากโรงงานมากกว่าผักปลาที่หาได้ตามปลา

ทีนี้อาหารจากการผลิตที่เราไม่ต้องการ ในตอนแรกเราก็มองว่าเป็นเพียงแค่ขยะทั่วไป แต่หลังจากนั้นพอมันมีเศษเหลือจากอาหารที่ไม่ได้ใช้งาน หรือเยอะเกินจนถูกทิ้งเพิ่มขึ้น ทำให้คำๆ นี้เป็นที่รู้จักและกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่โลกตื่นตัว ให้ความสนใจ แถมขยับขึ้นมาเป็นประเด็นในระดับสากลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม

ช่วงแถวๆ ทศวรรษ 1960-1970 มีกลุ่มนักวิชาการเริ่มศึกษาและให้ความสำคัญกับ Food Waste มากขึ้นเรื่อยๆ จนผ่านมาถึงปี 2000 ที่องค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO แยกคำว่า ‘Food Loss’ หรือการสูญเสียอาหาร กับ ‘Food Waste’ ออกจากกัน เพื่อแยกแบะระบุปัญหาขยะอาหารในระดับผู้บริโภคให้ชัดเจนมากขึ้น คำว่า Food Loss เองก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่อาจสะเทือนจานข้าวเราเหมือนกัน

‘ไทยชนะ’ จำนวน Food Waste แซงนำหลายประเทศทั่วโลก

แล้วปริมาณของอาหารที่ถูกทิ้งไปมีเยอะมากแค่ไหน ก็ค่อนข้างจะเยอะมากอยู่ เพราะในแต่ละปี มีอาหารเหลือทิ้งประมาณ 2,500 ล้านชิ้น เทียบง่ายๆ ก็ ⅓ ของผลผลิตทั้งหมด ถือว่าเป็นเรื่องตลกร้ายเพราะว่ามีผู้คนอีก ⅓ จากประชากรโลกทั้งหมดที่เข้าไม่ถึงอาหาร และประสบภัยหิวโหยด้วยเหมือนกัน

สำหรับประเทศไทย ประเทศที่อุดมสมบูรณ์ซะจนบางครั้งทำให้ลืมคิดไปว่าบางครั้งมันก็สามารถหมดและไม่เพียงพอได้ ทำให้บางครั้งเราก็ทิ้งๆ ขว้างๆ กันเกินไป ในส่วนของอาหาร จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2560 เราสร้างขยะอาหารคิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณทั้งหมด หรือ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และในปี 66 ที่ผ่านมา ขยะมูลฝอยของเราพุ่งสูงถึง 26.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5% เพราะว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวและใช้ชีวิตเริ่มกลับมาเป็นปกติ โดยในจำนวนทั้งหมด เป็นปริมาณขยะอาหาร หรือ Food Waste มากถึง ประมาณ 10.24 ล้านตัน หรือกว่า 38% เลยทีเดียว

นอกจากจะมีจำนวนเยอะแล้วประเทศไทยยังเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่สร้างขยะประเภทนี้ออกมาเมื่อเทียบกันกับประเทศอื่นๆ เพราะจกก Food Waste Index 2024 ได้ประมาณไว้ว่าค่าเฉลี่ยขยะอาหารของโลกตอนนี้อยู่ที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งเพิ่มมาแล้วจากปีก่อนที่ 74 กิโลกรัม แต่ว่าคนไทยเราเก่งกว่านั้นมาก เราสร้างขยะต่อคนกันไปได้ถึง 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปีกันเลย

Beauty Standard ของอาหาร ป้ายเซลล์ และฉลากหมดอายุ

เจ้าปัญหา ‘ขยะอาหาร’ เกิดจากหลายๆ ปัจจัย ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตจนส่งถึงจานข้าวเรา ไปจนถึงการคาดการณ์ความต้องการที่ผิดพลาด ส่งผลให้เกิดการผลิตเกินความจำเป็นก็กลายมาเป็นอาหารเหลือ หรือเรื่องการขนส่งอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ อาจจะเพราะด้วยเทคโนโลยีหรือระบบการจัดการก็ตาม ทำให้มีอาหารหลายชนิดเสียหายระหว่างการเก็บเกี่ยว ขนส่ง และเก็บรักษา เพิ่มขึ้นไม่น้อย

นอกจากนี้มันยังมีเรื่องของ Beauty Standard อีกด้วย (ใช่ ขนาดอาหารก็ไม่เว้น!) เพราะนอกจากพฤติกรรมการบริโภคของเราที่กินเหลือแล้วที่เพิ่ม Food Waste เรายังดันไปใส่บิวตี้สแตนดาร์ดให้อาหารให้มันมี Waste หรือสูญเสียเพิ่มขึ้นไปอีก คือเรามักคาดหวังให้อาหารเย็นของเรามีการตกแต่ง มีความสวยงาม ซึ่งบางครั้งก็เป็นความสวยที่มากจนเกินไป ทำให้อาหารที่ไม่ตรงกับลักษณะก็จำเป็นต้องถูกทิ้งออกไป

หนึ่งในวัตถุดิบที่มักถูกบิวตี้แสตนดาร์ดกดไว้ที่สุด คือผักและผลไม้ อย่างพวกมะเขือเทศก็ต้องเลือกเอาเฉพาะผลที่แดงสุก ไม่ติดสีเขียวจนเยอะเกินไป เนื้อนวลเนียน เปล่งปลั่ง รูปกลมเท่ากันทั้งลูก ไม่บิดเบี้ยว ผิวเปลือกนอกต้องนุ่มแต่ต้องไม่นุ่มจนเละเกินไป แค่ผักชนิดเดียวยังต้องมีกฏเกณฑ์มากขนาดนี้ ผักผลไม้ชนิดอื่นๆ เองก็มีมาตรฐานคล้ายๆ กันไม่ต่าง สำหรับใครที่สวยไม่พอก็ต้องไปจบลงที่ถังขยะ กลายเป็น Food Waste ตั้งแต่ยังไม่ทันได้อยู่บนจาน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการตลาดที่ต้องการขายของให้ได้เป็นจำนวนมาก ผ่านการแปะป้าย Sale พร้อมการลดราคา ไปจนถึงเรื่องของซื้อ 2 แถม 1 หรือซื้อ 6 แถม 6 ทำให้บางครั้งเราก็หลงไปกับแสงสีของการลดราคา จนทำให้ยอมซื้อของกินกลับมาทั้งที่สุดท้ายก็อาจจะกินไม่ทัน

ตลอดจนปัญหาเรื่องวันหมดอายุ ฉลากต่างๆ เช่น ‘Best Before’ หรือ ‘Use by’ ที่บอกเราว่าถ้าจะให้ดีที่สุดต้องใช้หรือกินก่อนช่วงวันที่นี้ๆ ตามเขียนไว้ แต่จริงๆ แล้ว อาหารหรือวัตถุดิบชนิดนั้นยังสามารถต่อเวลาตัวเองไปได้อีกนิด ไม่ได้หมดอายุเลยในทันที คือคิดง่ายๆ ว่าต่อให้ไม่ดีที่สุดก็ยังแปลว่าดีอยู่ แต่เพราะฉลากที่แปะป้ายไว้แบบนี้จึงทำให้เราในฐานะผู้บริโภค เลือกที่จะทิ้งมันมากกว่าหยิบมันมากิน

เลิกแจก เลิกแถม เพิ่มความตระหนักรู้ และเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นทาง

อย่างที่เห็นว่าปัญหาเรื่องนี้มันดูไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย เคยเราทุกคนกินข้าวให้พอดี ไม่สร้าง ไม่เพิ่มอะไรเกินความจำเป็น แต่เพราะปริมาณมหาศาลของอาหารเศษเหลือเลยทำให้เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับโลก ดังนั้นแล้ว ถ้าเราอยากจะแก้ปัญหานี้กันจริงๆ มันมีหลักการจาก World Resource Insitute หรือสถาบันทรัพยากรโลกจากเม็กซิโก ออกไกด์ไลน์สำหรับจัดการปัญหานี้ง่ายๆ อยู่ด้วยกัน 4 ข้อ คือ

การเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น การใช้เทคโนโลยีและการจัดการโลจิสติกส์ที่ดีขึ้นช่วยลดขยะอาหารได้อย่างมาก เช่น การใช้ระบบติดตามและข้อมูลแบบเรียลไทม์ในการเฝ้าติดตามความสดของอาหารและป้องกันการสต็อกมากเกินไป พร้อมช่วยให้การขนส่งและการเก็บรักษาดีขึ้น อาหารอยู่ได้นานขึ้นตาม

การกระจายอาหารที่เหลือใช้ คือไม่ทิ้งอาหารเลยทันทีที่ใกล้หมดอายุ แต่นำอาหารส่วนเกินจากผู้ผลิต ร้านอาหาร และร้านขายของไปยัง ‘ธนาคารอาหาร’ หรือองค์กรการกุศลช่วยลดขยะและแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร องค์กรอย่าง Feeding America และแอปพลิเคชันอย่าง Too Good to Go ก็น่าสนใจ

การเพิ่มความตระหนักกับคนกิน เพราะเราเองก็อยู่ในห่วงโซ่นี่เหมือนกัน ดังนั้นแล้วเราควรมีจะมีความรู้ติดตัวไว้บ้าง เช่น วิธีการซื้อและจัดเก็บอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การวางแผนมื้ออาหาร การเข้าใจฉลากวันหมดอายุ และการจัดเก็บอาหารให้คงความสดได้นานขึ้น สามารถลดขยะในครัวเรือน

ท้ายสุดคือ การสร้างความเข้าใจให้ร้านค้าปลีกและร้านอาหารด้วย คือหลายๆ ร้านค้าและร้านอาหารสามารถช่วยลดขยะโดยใช้วัตถุดิบเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์หรือร่วมมือกับแอปเพื่อลดขยะ เช่น IKEA ที่ตั้งเป้าลดขยะอาหารลง 50% โดยใช้ระบบติดตามอาหารในร้านอาหารของตัวเอง

ส่องความเป็นไปได้จากประเทศอื่น

นอกจาก 4 ข้อด้านบน ตอนนี้ในหลายๆ ประเทศเองก็กำลังพยายามแก้ปัญหา Food Waste ผ่านวิธีการและนโยบายที่เหมาะสมกับบริบทของเมืองเหมือนกัน โดยแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป เช่น เดนมาร์ก ผ่านแคมเปญ “Stop Wasting Food” เน้นเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ให้เข้าใจถึงความสำคัญและปัญหา พร้อมจับมือร่วมกันกับซูเปอร์มาร์เก็ต Rema 1000 ที่เลิกการขาย 1 แถม 1 เพื่อลดการซื้อเกินความจำเป็นไปได้ คล้ายกับสหราชอาณาจักรที่เลือกแก้ปัญหาด้วยโปรเจ็กต์ "Love Food, Hate Waste" คือเพิ่มความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคเหมือนกัน

ส่วนอิตาลี ใช้แนวคิดว่าต้องดูแลตั้งแต่ต้นทางจนจบ เลยเลือกทำงานร่วมกับเกษตรกร ร้านค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต ผ่าน โครงการ Last Minute Market (LMM) โดยนำอาหารเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น บริจาคให้กับกลุ่มคนที่ต้องการ โดยลดการทิ้งอาหารที่มีลักษณะภายนอกไม่สวยแต่ยังรับประทานได้ ข้อดีคือสามารถช่วยแก้ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารและลดปริมาณขยะ

กิจกรรมทางศาสนาและประเพณีต่าง ๆ ต้องใส่ใจมากขึ้น

จากที่เห็นว่า ไทยเราก็ไม่ได้น้อยหน้าใคร หรือเผลอๆ อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ ชวนให้น่าคิดว่าจริงๆ แล้วปัญหา Food waste ของเรามักจะไปอยู่ที่ไหนกันบ้างนอกจากร้านอาหาร ตลาด ร้านค้าขายต่างๆ แล้ว อีกที่หนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเมืองพุทร อาจจะเป็น ‘วัด’ การทำบุญตักบาตรอาจเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เกิด Food Waste ได้ เพราะพระ 1 รูป รับอาหารจากญาติโยมหลายคนแม้ว่าจะมีการแจกจ่ายต่อก็อาจจะยังกินไม่ทันอยู่ดี นอกจากนี้แล้ว พระยังมีโอกาสเป็น ‘พระอ้วน’ ด้วย ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องอาหารอาจเป็นปัญหาของพระและวัดจริงๆ

มากกว่านั้นอาจจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและประเพณีด้วย เช่น การทำบุญ การเลี้ยงพระ ตักบาตร หรือการจัดงานเลี้ยงในเทศกาลต่าง ๆ มักนำไปสู่การบริโภคอาหารที่เกินพอดีและทำให้มีเศษอาหารเหลือทิ้ง ตลอดจน อาหารที่ใช้ในการไหว้หรือประกอบพิธีกรรมที่ต้องทิ้งหลังการใช้งานยังสะท้อนถึงการสูญเสียอาหารโดยไม่จำเป็น

ตลอดจนเรื่องการถวายน้ำ ถวายขนมให้กับศาลที่เรานับถือ บางครั้งก็ไม่ได้ไหว้ลาและขอของกินกลับมา อาจจะด้วยว่าลืมหรือไม่สะดวกก็ตาม แต่อาหารตรงนั้นก็ถือว่าเป็น Food Waste เหมือนกันถ้าไม่มีใครไปทำอะไรกับมัน ดังนั้นแล้ว ควรมีการตระหนักรู้และการนำอาหารเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในแบบที่เหมาะสมกับความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมด้วยเหมือนกัน

เปิดคาเฟ่ขยะ แข่งมาสเตอร์เชฟ แก้ปัญหา Food Waste เริ่ด ๆ แบบไทยสไตล์

ประเทศไทยมีการจัดการกับเรื่องนี้อยู่นะ ด้วยหลาย ๆ วิธีที่พยายามจะครอบคลุมในทุกระดับ ตั้งแต่ครัวเรือนไปจนถึงระบบการผลิตขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะ ธนาคารอาหาร หรือ Food Bank ของไทยคือ SOS Thailand (Scholars of Sustenance) ทำงานรวบรวมอาหารเหลือจากร้านอาหาร โรมแรม ซุปเปอร์มาร์เก็ต แจกจ่ายต่อให้กลุ่มชุมชนขาดแคลนในเมืองใหญ่ ลดทั้งปัญหาขยะอาหารและปัญหาความหิวโหยไปพร้อมกัน ตลอดจนในธุรกิจโรงแรมและอาหารหลายที่มีการนำเทคโนโลยีมาตรวจสอบปริมาณและคุณภาพที่เหลืออยู่ของวัตถุดิบ เพื่อกะเกณฑ์การสต็อกของให้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น

ทีนี้เราขอชวนลองคิดสนุกๆ ว่า จริงๆ แล้วเราสามารถหยุดปัญหา Food Waste นี้ได้ยังไงบ้าง ผ่านบริบทความเป็นไทยๆ ของเรา เช่น ช่วงนี้เห็นแต่คนไปคาเฟ่ ถ่ายรูปกันสนุกๆ หรือเราจะลองเปิด ‘คาเฟ่ขยะอาหาร’ เป็นคาเฟ่ขายเฉพาะเมนูที่ใกล้หมดอายุ ไม่ตรงบิวตี้แสตนดาร์ด มาแปลงโฉมให้เริ่ดกว่าเดิม แถมยังลิมิเต็ดอิดิชั่นด้วยเพราะว่าวุตถุดิบแต่ละชนิดมีเวลาจำกัดก่อนจะหมดอายุ แถมยังไม่รูปลักษณ์แตกต่างกันออกไปอีกด้วย หรือเราจะไปทาง เกมเรียลลิตี้โชว์คล้ายๆ มาสเตอร์เชฟ แต่เป็นเวอร์ชั่น Food Waste เปลี่ยนดินสู่ดาว เปลี่ยนขยะเป็นอาหารจานใหม่ เปลี่ยนอะไรที่ดูเหมือนจะต้องทิ้งให้กลายเป็นอาหารหรือขนมอีกจานที่ยังคงกินได้

จริง ๆ เราก็เริ่มตระหนักรู้แล้วนะ

ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหญ่จากต่างประเทศ หรือเพียงแนวคิดเล็กๆ เพ้อเจ้อนิดหน่อยในด้านบนที่จะเป็นจริงได้มั้ยก็ไม่แน่ใจ แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำอะไรไม่ได้นะ เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในมิชชั่นนี้ไปด้วยกันได้ ลองเริ่มด้วยการปรับเล็กๆ เช่น การกินพอดี การเลือกซื้ออย่างมีสติ หรือแบ่งปันให้กับคนอื่น เพียงแค่นี้เราก็ช่วยลดผลกระทบที่ไม่จำเป็นลงได้

เพราะเรื่องของ Food Waste เป็นปัญหาที่กระทบต่อไปยังวงกว้างและปัญหาอื่นๆ ในด้านสิ่งแวดล้อมอีก ดังนั้นแล้วการช่วยกันคนละนิดคนละหน่อย กินให้หมด กินให้พอดี เท่าที่จำเป็น ไม่ต้องสงสารชาวนา หรือเกษตรกร แต่เป็นการช่วยกันดูแลโลกและสิ่งแวดล้อม เพื่อคนรุ่นเราและรุ่นต่อไปให้ยั่งยืนไปด้วยกัน

#Wongnai #WongnaiStory #Foodwaste

https://chlpi.org/news-and-events/news-and-commentary/food-law-and-policy/why-food-waste-is-the-dumbest-problem-ever-and-the-fascinating-ways-we-might-actually-solve-it/

https://www.vox.com/videos/2017/5/9/15594598/food-waste-dumbest-environmental

https://www.bonappetit.com/entertaining-style/trends-news/article/fruit-vegetable-beauty-standards?srsltid=AfmBOoosZH0bdlIBvUiXOE8paeEEQUK3aIRTf-YUiwvRyKAMTAoYPW3W

https://sites.tufts.edu/foodsystemsfa18/files/2018/08/evans-et-al-pre-history-food-waste-soc-sci.pdf

https://tdri.or.th/en/2019/10/tackling-thailands-food-waste-crisis/

https://www.wri.org/insights/reducing-food-loss-and-food-waste

https://www.foodhero.com/en/blogs/countries-fighting-food-waste

https://foodtank.com/news/2015/01/twenty-one-inspiring-initiatives-working-to-reduce-food-waste-around-the-wo/