แม้ว่าการกินหวานของคนไทยจะไม่ถูกจัดอยู่ในระดับหวานตัดขาเมื่อเทียบกับฝั่งยุโรป แต่การกินหวานของคนไทยนั้นก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันเพราะปริมาณการบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยของไทยนั้นสูงกว่าปริมาณที่แนะนำถึง 3 เท่า
โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าถ้าบริโภคที่ 25 กรัมต่อวัน (ขีดต่ำสุดที่แนะนำเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ) ปริมาณการบริโภคต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 9,125 กรัม หรือประมาณ 9.13 กิโลกรัม แต่ในปี พ.ศ. 2564 การบริโภคน้ำตาลของคนไทยสูงขึ้นกว่า 30 กิโลกรัม ต่อปีต่อคน
ก่อนการออกพระราชบัญญัติอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย พ.ศ. 2504 ชาวไทยหนึ่งคนบริโภคน้ำตาลเพียง 5.8 กิโลกรัม ต่อปี
แต่หลังจากการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ในสมัยของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คนไทยวิ่งเข้าหารสหวานอย่างไม่รู้ตัวเพราะรัฐเอื้อให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบเข้าถึงน้ำตาลได้ง่ายขึ้น เนื่องจากต้องการลดผลผลิตที่มากเกินความต้องการของตลาด
แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ระยะเวลาสั้น ๆ แต่มันเปลี่ยนการกินและรสชาติของอาหารไทยอย่างสมบูรณ์ภายในเวลาไม่ถึงชั่วอายุคน
1.) อดีตคนไทยไม่ได้ติดหวาน
ชาติชาย มุกสง ได้อธิยบายรสชาติหลักก่อนการรณรงค์เรื่องโภชนาการ ให้ทานโปรตีนมากขึ้น และทานกับให้มากขึ้นช่วงปี พ.ศ.2475 ว่ารสหลักของคนไทยแต่เดิมคือรส “ เค็มและเผ็ด”
เพราะต้องการกินข้าวให้มาก กินกับให้น้อยและข้อสำคัญคือในสมัยก่อนนั้นน้ำตาลเป็นสินค้าน้ำเข้าเพราะโรงงานที่มีอยู่ก่อนหน้าไม่สามารถผลิตได้เพียงพอการบริโภคภายในประเทศ
2.) แต่ก่อนน้ำตาลเป็นของหายาก
ที่จริงคนไทยมีน้ำตาลทรายคุณภาพดีเพื่อบริโภคไม่ถึง 100 ปีด้วยซ้ำ พอเป็นสิ่งที่กินตั้งแต่เด็ก เราก็มักจะรู้สึกสนิทสนมกับมัน จนอาจจะลืมตั้งคำถามถึงการมีอยู่หรือจุดเริ่มต้นของมันไปเสียอย่างนั้น
อุตสาหกรรมน้ำตาลในไทยเริ่มจริงจังขึ้นหลังรัฐลบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลและเริ่มมีโรงงานน้ำตาลมากขึ้นจนเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2500
จากหนังสือ Sweetness and Power โดย Sidney W. Mintz ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างน้ำตาลและเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่ Sidney ชี้ให้เห็นว่าน้ำตาลเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ อำนาจ และสังคม จากจุดเริ่มต้นของที่น้ำตาลเป็นของฟุ่มเฟือยและหายากในยุโรป เมื่อเวลาผ่านไปได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและก่อตัวของเศรษฐกิจโลกสมัยใหม่
ในมุมของการสร้างเศรษฐกิจน้ำตาลจึงกลายเป็นโอกาสก้อนใหญ่ให้ประเทศไทย เพื่อจะเพิ่มขีดความสามารถและการส่งออก รัฐบาลไทยที่มีสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี จึงสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลเพราะหวังจะฉกฉวยโอกาสทางเศรษฐกิจ
การเพิ่มโรงงานน้ำตาล เพิ่มการผลิตให้มากขึ้น ลดการนำเข้า ส่งเสริมการให้บริโภคน้ำตาลที่ผลิตภายในประเทศและขยายความสามารถทางอุตสาหกรรมไปถึงการเป็นสินค้าส่งออกจึงเริ่มต้นขึ้น
3.) ติดดอยน้ำตาล
ในปี พ.ศ. 2491 ประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาลอยู่จำนวน 21 โรง แต่เมื่อปี พ.ศ. 2502 ไทย โรงงานน้ำตาลของไทยก็เพิ่มเป็น 2 เท่าคือ 42 โรง นำมาสู่ภาวะน้ำตาลล้นตลาดในปีถัดมา
จำนวนผลิตที่มากเกินการบริโภคภายในประเทศ บวกกับการผลิตน้ำตาลที่ไม่ได้คุณภาพ ทำให้รัฐบาล ณ เวลานั้น ต้องออกพระราชบัญญัติอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย พ.ศ. 2504 ที่จะอุดหนุนเงินในอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยหวังจะแก้ปัญหาการขายน้ำตาลขาดทุน
ซึ่งกฎหมายนี้ถูกมองว่าเป็นการฉวยโอกาสมากว่าการมองโอกาสของประเทศในระยะยาวและเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดเสียเลย
4.) รัฐแก้ปัญหาน้ำตาลด้วยการ “กิน”
เมื่ออุปทานมีมากกว่าอุปสงค์ การกำจัดอุปทานส่วนที่เกินอยู่ออกไปเพื่อให้ราคากลับมาอยู่ในภาวะปกติจึงเกิดขึ้น สิ่งที่รัฐบาล ณ เวลานั้นทำก็คือการรณรงค์ให้คนกินหวานเพิ่มขึ้นและลดราคาพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ
มหกรรมการเติมน้ำตาลครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น ใน พ.ศ. 2510 คนไทยบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ 9.5 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับผลผลิตน้ำตาลที่ได้ ความต้องการคือเพิ่มการบริโภคน้ำตาลให้อยู่ที่ 15 กิโลกรัมต่อคน ต่อปี ซึ่งถ้าเป็นตัวเลขนี้ก็จะสามารถครอบคลุมการผลิตได้ทั้งหมด
ในช่วงปี พ.ศ. 2520 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้เพิ่มการกระจายน้ำตาลให้เข้าถึงพื้นที่ที่ยังมีการบริโภคน้ำตาลน้อย เพื่อเพิ่มตัวเลขการบริโภคให้สูงขึ้น ซึ่งนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนรสชาติอาหารในชนบทนั่นเอง ทำให้เกือบทุกพื้นที่ของไทย ใช้น้ำตาลในการปรุงมากขึ้น
อีกส่วนหนึ่งก็คือการตกลงกับภาคเอกชนในการขายน้ำตาลทรายราคาพิเศษให้กับโรงงาน อาหารเครื่องดื่ม ที่ต้องมีการใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มปริมาณการบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย
สิ่งนี้เองทำให้น้ำตาลถูกใส่ในอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นเหมือนการบริโภคน้ำตาลทางอ้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้คนไทยคุ้นชินกับความหวาน
5.) สังคมคุ้นชินกับรสหวาน
เปรี้ยวไป เค็มไป หากอยากจะผสานรสให้กลมกล่อมเข้าด้วยกันก็ต้องเติมน้ำตาล นี่จึงกลายเป็นเรื่องราวความหวานในยุคใหม่ที่ทุกคนต่างใช้น้ำตาลในการปรุงรสอาหารให้มีความละมุนลิ้น
อีกส่วนหนึ่งคนไทยก็คุ้นชินกับความหวานที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ มาตั้งแต่วัยเด็กทำให้ตัวเลขการทานหวานของคนไทยนั้นสูงขึ้น แม้จะมีช่วงที่ลดลงบ้างตามการรณรงค์เรื่องสุขภาพ แต่ด้วยการรณรงค์และการความคุ้นชินที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลากว่า 60 ปีนี้เอง
ทำให้รสชาติของคนไทยนั้นติดหวานมากขึ้นและอย่างไม่รู้ตัว เพราะเกิดมาก็ได้ทานหวานแล้วนั่นเอง นี่จึงกลายเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาแบบฉวยโอกาส เขี่ยไปซ่อนไว้ใต้พรม และเฉพาะหน้า
ส่งผลมาถึงการกินของคนไทยในปัจจุบัน แม้จะมีอีกหลายปัจจัยร่วมด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ทำให้เห็นว่าการกินที่ว่ากันว่าเป็นเรื่องปัจเจกนั้นโดนเปลี่ยนได้อย่างไม่รู้ตัว
#Wongnai #WongnaiStory #SweetTooth #ติดหวาน #หวานน้อย #ประวัติศาสตร์
Reference
ชาติชาย มุกสง. ปฎิวัติที่ปลายลิ้น ปรับแต่งรสชาติอาหารการกินในสังคมไทยหลัง 2475. ศิลปวัฒนธรรม.
ชาติชาย มุกสง อาหารเมืองไทยตั้งแต่กรุงศรีฯ-กรุงเทพฯ จากมุมมองของต่างชาติ. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/culture/article_48438
ชาติชาย มุกสง น้ำตาลกับวัฒนธรรมการบริโภครสหวานในสังคมไทย พ.ศ. 2504-2539
Mintz, S. W. (1985). Sweetness and power: The place of sugar in modern history. Viking.
Sugar Consumption Per Capita in Thailand
https://www.helgilibrary.com/indicators/sugar-consumption-per-capita/thailand/
Thai sweet tooth still poses a risk
https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2740209/thai-sweet-tooth-still-poses-a-risk
The problem of Thailand's sweet tooth
https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/1721303/the-problem-of-thailands-sweet-tooth