เมื่อปีที่แล้ว มัทฉะยังเป็นเพียงเครื่องดื่มเฉพาะกลุ่มสำหรับคอชาเขียวตัวจริง แต่วันนี้ ผงชาเขียวที่มาพร้อมคาเฟอีนได้พุ่งทะยานขึ้นมาเป็นเทรนด์สุดร้อนแรงของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการเสาะหาร้านมัทฉะแบบสเปเชียลตี ไปจนถึงการซื้อมัทฉะมาชงเองที่บ้าน จากกระแสความนิยมที่เคยเทียบได้กับรถซูเปอร์คาร์ มัทฉะได้เร่งเครื่องจนกลายเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ทุกคนต้องการมากที่สุด แต่เมื่อดีมานด์พุ่งสูงขึ้น ราคาก็พุ่งตาม คำถามใหญ่ที่ตามมาคือ มันแพงเกินไปหรือเปล่าคุณน้า ?
.
1.) จากมัทฉะสู่ "หมดจ่ะ": ใครอยู่เบื้องหลังกระแสนี้?
ทำไมมัทฉะเพิ่งมาฮิตเอาในช่วงปีที่ผ่านมา? หลายคนคงชี้ไปที่เจ้าตัวดีอย่าง TikTok และ Instagram ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์มัทฉะจากเครื่องดื่มดั้งเดิมของรุ่นคุณปู่คุณย่า ให้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
.
บริโภคเพื่อความ "คูล"
แพลตฟอร์มอย่าง Artifact และ INDEPENDENT รายงานว่าแฮชแท็ก #Matcha ใน TikTok มีมากกว่า 1.3 ล้านโพสต์ และถูกมองเห็นกว่าพันล้านครั้ง สีเขียวสดใสของมัทฉะทำให้มันเป็นเครื่องดื่มที่ชวนถ่ายรูป ยิ่งเมื่อผสมกับนม ข้าวโอ๊ต หรือแม้แต่โซดา ก็ยิ่งเพิ่มความครีเอทีฟ สะท้อนถึงความถูกจริตของคน Gen Z และ Millennial ได้เป็นอย่างดี
.
ไม่เพียงแค่นั้น คนดังระดับโลก เช่น Justin และ Hailey Bieber หรือ Dua Lipa ต่างก็หันมาถือแก้วมัทฉะกันอย่างเปิดเผย กระแสจากคนดังเหล่านี้ช่วยให้มัทฉะติดสองแพลตฟอร์มใหญ่ และพาเครื่องดื่มสีเขียวนี้ขึ้นแท่นเมนูฮิตในคาเฟ่ทั่วโลก
.
2.) กระแสสุขภาพมาแรง ดันมัทฉะขึ้นแท่นเครื่องดื่มคู่ใจคนรักสุขภาพ
ต่อให้มัทฉะดูดีแค่ไหนในรูปถ่าย แต่ถ้าประโยชน์น้อยก็คงยากที่จะคว้าใจเหล่าวัยรุ่น ทว่า มัทฉะอัดแน่นไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะ คาเทชิน (Catechin) เช่น EGCG (Epigallocatechin Gallate) ที่ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย
.
มากกว่าคาเฟอีน คือ "พลังงานที่สมดุล"
มัทฉะต่างจากกาแฟที่ให้พลังงานแบบ "ตื่นตัวทันที" แต่หมดไว เนื่องจากมี L-theanine ซึ่งช่วยให้สมองเข้าสู่ภาวะ "ตื่นตัวอย่างสงบ" ทำให้สามารถโฟกัสและมีพลังงานต่อเนื่องยาว 4-6 ชั่วโมง ขณะที่กาแฟให้พลังงานเพียง 2-3 ชั่วโมง ก่อนจะหมดแรง
.
Fun Fact: คาเฟอีนในกาแฟวิวัฒนาการมาเพื่อใช้เป็นสารป้องกันศัตรูพืช ส่วนมัทฉะมีส่วนประกอบอย่าง คาเทชิน, ทีอะนีน และคลอโรฟิลล์ ที่ช่วยปรับสมดุลผลกระทบของคาเฟอีน ทำให้ไม่เกิดอาการใจสั่นแบบที่คอกาแฟหลายคนเคยเจอ
.
3.) "นิทานหนอนชาเขียว 2025": ทำไมมัทฉะถึงแพงขึ้น?
หากคุณยังจำ "หนอนชาเขียว" ตัวแสบที่เคยสะกดจิตชาวไร่ได้ นี่อาจเป็นเวอร์ชันใหม่ของมัน—คราวนี้แทนที่จะใช้เวทมนตร์สะกดจิต หนอนชาเขียวใช้ "อุปสงค์-อุปทาน" เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนราคามัทฉะให้พุ่งสูงขึ้นแทน
.
3.1) ความต้องการพุ่ง จากโซเชียลมีเดีย
กระแสไวรัลในโซเชียลช่วยเร่งอุปสงค์ของมัทฉะให้สูงขึ้น แต่การผลิตมัทฉะคุณภาพสูงไม่สามารถเร่งได้เพราะต้องใช้กระบวนการที่ละเอียดอ่อน ทำให้เกิดภาวะ "ของแพงเพราะของขาด"
.
3.2) ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงานเกษตร
68% ของเกษตรกรมัทฉะมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีเพียง 5% เท่านั้นที่อายุต่ำกว่า 40 ปี การขาดแรงงานหนุ่มสาวทำให้การผลิตชาเขียวคุณภาพสูงลดลง
.
3.3) สภาพอากาศที่ไม่แน่นอน
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน จังหวัด ชิซูโอกะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเท็นฉะ (วัตถุดิบของมัทฉะ) รายใหญ่ พบว่าปี 2024 ผลผลิตลดลงถึง 18% จากฝนที่ตกผิดฤดูกาลและอุณหภูมิที่สูงขึ้น
.
3.4) ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน
การบดมัทฉะด้วยหินแบบดั้งเดิมผลิตชาได้เพียง 30-40 กรัมต่อชั่วโมง ใช้เวลาถึง 40 ชั่วโมง กว่าจะได้มัทฉะ 1 กิโลกรัม ในขณะที่การบดด้วยเครื่องจักรให้ผลผลิตมากกว่า 200-300 กรัมต่อชั่วโมง แต่กลับทำให้รสชาติและคุณภาพของชาลดลง
.
เมื่อมัทฉะคุณภาพสูงเริ่มหายากขึ้น หนอนชาเขียวที่เข้าใจกลไกตลาดดี ก็ใช้โอกาสนี้ดันราคามัทฉะให้พุ่งสูงขึ้น จากชาเขียวสู่ "ผงทอง" มัทฉะจึงไม่ได้เป็นแค่เครื่องดื่มธรรมดาอีกต่อไป
.
4.)ความเขียวสุดคลุมเครือ
คำฮิตอย่าง Ceremonial Grade กลายเป็นสิ่งที่เหล่าผู้เริ่มต้นเข้าวงการชาเขียวมองหา แต่การศึกษาหนึ่งในปี 2024 พบว่า 40% ของผลิตภัณฑ์ที่ขายในนาม "pure ceremonial" มีการเติมสารเติมแต่งหรือสารเสริม แถมหลายแบรนด์ใช้คำว่า "ceremonial-grade" กับผลิตภัณฑ์คุณภาพต่ำอย่างไม่ถูกต้อง โดยมีแบรนด์ที่ไม่ใช่ของญี่ปุ่นถึง 78%
.
Ceremonial Grade ใครตั้ง
มัทฉะมีต้นกำเนิดจากจีนในสมัยราชวงศ์ถังและถูกนำเข้าญี่ปุ่นโดยพุทธ僧ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 จนกลายเป็นส่วนสำคัญของพิธีชงชาในศตวรรษที่ 15 การผลิตที่พิถีพิถันเพื่อให้ได้สีเขียวสดใส รสชาติอูมามิ และคุณค่าทางโภชนาการสูง
.
ในญี่ปุ่น การจัดอันดับมัทฉะจะเน้นที่การใช้งาน มากกว่าการกำหนดเกรดเชิงพาณิชย์ คำว่า “ceremonial grade” จึงเป็นคำที่เกิดขึ้นในตลาดตะวันตกเพื่อบ่งบอกถึงคุณภาพสูง มัทฉะแท้ ๆ ควรมีสีเขียวสด เนื้อเนียน รสชาติอูมามิ และสารต้านอนุมูลอิสระที่สูง แต่ปัจจุบันไม่มีมาตรฐานสากลที่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนในการจัดจำหน่ายและเปรียบเทียบคุณภาพ
.
การขาดการควบคุมและมาตรฐานในตลาดส่งผลให้เกิดการแสดงข้อมูลที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น การผสมแมทฉะจากหลายเกรดและการใช้ภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ญี่ปุ่นแม้บางครั้งอาจมาจากแหล่งอื่น นอกจากนี้ ยังมีการใช้คำอธิบายที่เกินจริงเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพเพื่อจูงใจผู้ซื้อ ส่งผลให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตที่แท้จริงได้รับความเสียหาย
.
5. บทสรุปความเขียว
มัทฉะอาจเคยเป็นเพียงเครื่องดื่มสำหรับคอชาเขียวตัวจริง แต่วันนี้ มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของไลฟ์สไตล์ การดูแลสุขภาพ และแม้แต่สถานะทางสังคม ทว่า กระแสความนิยมที่พุ่งสูงขึ้นก็นำมาซึ่งความท้าทาย—ทั้งราคาที่พุ่งตาม ความซับซ้อนของกระบวนการผลิต และความคลุมเครือของมาตรฐานคุณภาพ
แม้มัทฉะจะมีคุณประโยชน์มากมาย แต่ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องมีความรู้และวิจารณญาณในการเลือกซื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแท้จริง ไม่ใช่เพียงภาพลักษณ์ทางการตลาด ในขณะที่อนาคตของมัทฉะยังคงสดใส สิ่งสำคัญคือการรักษาสมดุลระหว่างความต้องการของตลาดกับความยั่งยืนของอุตสาหกรรมชาเขียว เพื่อให้มัทฉะยังคงเป็นมากกว่าแค่ "เทรนด์" แต่เป็นเครื่องดื่มที่คงคุณค่าและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้อย่างแท้จริง
#Wongnai #WongnaiVibes #WongnaiStory #Matcha #Ceremonial #มัทฉะ
Reference
https://www.kyotoyamasan.com/the-matcha-shortage-and-japans-supply-chain-woes/
https://www.japantimes.co.jp/life/2025/02/23/food-drink/matcha-shortage-global-solutions/
https://matcha.com/blogs/news/the-steps-to-create-ceremonial-grade-matcha-green-tea
https://www.maximizemarketresearch.com/market-report/global-matcha-market/27981/
https://teaenergy.co.jp/en/2024/10/18/why-matcha-sweets-are-popular-for-their-instagram-appeal/
https://blog.tbrc.info/2025/02/matcha-market/
https://www.expertmarketresearch.com/reports/matcha-tea-market
https://www.artefactmagazine.com/2025/02/21/why-are-we-all-so-obsessed-with-matcha/
https://www.independent.co.uk/life-style/matcha-lattes-wellness-price-b2635082.html