หมูนี้ทำอะไรก็ผิด? เรื่องของหมูที่ไม่ได้อยู่แค่ในจาน
  1. หมูนี้ทำอะไรก็ผิด? เรื่องของหมูที่ไม่ได้อยู่แค่ในจาน

หมูนี้ทำอะไรก็ผิด? เรื่องของหมูที่ไม่ได้อยู่แค่ในจาน

แต่ทุกท่านเคยสงสัยไหมว่า ทำไมในเรื่องไม่ดี สัตว์ที่จะถูกนึกขึ้นมาอันดับแรกก็คงไม่พ้น “หมู” ไม่ว่าจะเรื่องความขี้เกียจ ความตะกละ สกปรก ทุกอย่างนั้นถูกโบ้ยให้หมู
writerProfile
20 ส.ค. 2024 · โดย

ถ้านึกถึงความซื่อสัตย์เราอาจจะนึกถึงสุนัข แม้เราคงไม่ชมคนอื่นว่า แกนี่ซื่อสัตย์เหมือนหมาเลยนะ

.
แต่ทุกท่านเคยสงสัยไหมว่า ทำไมในเรื่องไม่ดี สัตว์ที่จะถูกนึกขึ้นมาอันดับแรกก็คงไม่พ้น “หมู” ไม่ว่าจะเรื่องความขี้เกียจ ความตะกละ ความสกปรก ทุกอย่างนั้นถูกโบ้ยให้หมูรับจบแต่เพียงตัวเดียว

.

Wongnai Story EP. 137 กับเรื่องราวรับจบสุดปวดใจของหมู ที่แม้ว่าในฐานะหนึ่งจะเป็นอาหารให้กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน แต่ในอีกมุมหนึ่งหมูคือสัตว์ที่อยู่ในเรื่องเล่าและกลายเป็นสัญลักษณ์ ที่หลากหลายของมนุษย์ไม่แพ้กับจำนวนเมนูที่ทำจากมัน

.

“หมูสปรก หมูตะกละ หมูขี้เกียจ”

ถ้าหมูพูดได้คง said ประมาณว่า: เป็นอาหารมาให้ตั้งนาน เราไม่มีมุมดี ๆ เลยเหรอเพื่อนนุด!

.

1. หมูเพื่อนนุด

ต้องบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหมูนั้นเป็นเพื่อนกิน(เพื่อน)กันมากว่า 9,000 ปี อยู่ในช่วงเดียวกับสัตว์ที่เป็นเจ้านายของมนุษย์อย่างแมว และเป็นรองแค่สุนัขเท่านั้น

.

หมูมาจากไหน

โดยบางหลักฐานเชื่อว่าหมูนั้นมาจากหมูป่ายูเรเซียน (Eurasian wild boar) ที่ถูกนำมาเลี้ยงและฝึกโดยมนุษย์ มีจุดเริ่มต้นในบริเวณที่เรียกว่ายูเรเซียน(ตุรกีและอีรัก ที่ปัจจุบันนับถืออิสลาม) จีน และขยายไปยังยุโรปในเวลาต่อมา

.

ความสัมพันธ์แบบเพื่อนกินเพื่อน เริ่มต้นที่มนุษย์คิดว่าได้ว่าการหาของป่า ล่าสัตว์มันเหนื่อย แถมไม่แน่นอน จึงเปลี่ยนมาทำการเกษตรแทน หมูจึงกลายเป็นสัตว์ที่ถูกนำมาเลี้ยงลำดับต้น ๆ เพราะหมูสามารถแพร่พันธุ์ได้เร็ว กินเศษอาหาร ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ไว และที่สำคัญคือเนื้อมีมันมากซึ่งถือเป็นรสชาติที่มนุษย์รู้สึกอร่อย

.

ด้วยสาเหตุนี้เอง หมูจึงอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มาอย่างยาวนาน ปรับตัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมนุษย์ แถมยังพัฒนาจากแค่การเป็นอาหารให้กลายการใช้เชิงสัญลักษณ์ได้อย่างน่าสนใจ

.

2. หมูอยู่ในเรื่องไหนบ้าง

ด้วยความที่หมูกับคนนั้นรู้จักกันมามากกว่า 9,000 ปี ทำให้หมูมักกลายเป็นทั้งอาหารและตัวละครในเรื่องเล่าไปพร้อม ๆ กัน

.

ข้อมูลจาก FAO บอกว่าคนทั่วโลกบริโภคเนื้อหมูเป็นอันดับ 1 ส่วนในเรื่องเล่าต่าง ๆ แม้ไม่ได้มีการจัดอันดับไว้ ผู้เขียนก็คิดว่าหมูเป็นอันดับ 1 เหมือนกัน ในแง่ของการถูกนำมาสร้างลักษณะตัวละครที่มีลักษณะขี้เกียจ สกปรกและตะกละ

.

2.1 หมูไปเชิญพระไตรปิฏก

ถ้าพูดถึงหมู จะขาดเรื่องราวของ “ตือโป๊ยก่าย” ตัวละครปีศาจหมูจากวรรณกรรมคลาสสิคอย่างไซอิ๋ว ที่ว่าด้วยเรื่องราวการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฏกของพระถังซัมจั๋งและลูกศิษย์ ปิศาจลิง ปิศาจหมู และปีศาจน้ำ

.

หากซุนหงอคงคือการเปรียบเรื่องอารมณ์ของมนุษย์ แล้วตือโป๊ยก่ายหล่ะคืออะไร ?

ตือโป๊ยก่าย (猪八戒)

ตือ (猪): แปลว่า "หมู" หมายถึงลักษณะของตัวละครที่มีรูปร่างเป็นครึ่งคนครึ่งหมู

โป๊ย (八): แปลว่า "แปด"

ก่าย (戒): แปลว่า “ข้อห้าม

หากแปลตรงตัวคือ “หมูศีลแปดนั่นเอง(หมูที่มีข้อห้ามแปดประการ)”

.

หมูถูกใช้แทนกิเลสของมนุษย์

ความตะกละ การกินมากเกินไป ความขี้เกียจ และความหลงใหลในความสุขทางโลก ทำให้ภาพของหมูถูกหยิบมาใช้เพื่อส่งเสริมความชัดเจนของตัวละคร เหมือนกระดกสะท้อนสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึงความอ่อนแอทางจิตใจและความไม่มั่นคงของมนุษย์ที่อยากจะทำทุกอยากตามจิตใจของตนเอง (ไม่ฝึกจิตใจให้ต่อสู้กับความอวิชา) ที่สุดท้ายเมื่อไม่ยับยั้งชั่งใจก็จะสร้างปัญหาตามมาเสมอ

.

การเป็นหมูที่ดีขึ้น

แม้สุดท้ายตือโป๊ยก่ายจะไม่สารมารถบรรลุอรหันต์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ แต่ตัวละครหมูตัวนี้ก็ได้แสดงภาพของการเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม จากการรู้จักยับยั้งช่างใจมากขึ้น ซึ่งนัยยะจริง ๆ ก็คือการสื่อถึงมนุษย์ที่แม้จะไม่สามารถบรรลุอรหันต์ได้ทุกคน แต่ทุกคนสามารถเป็นคนที่ดีขึ้นได้จากการรักษาศีล

.

2.2 หมูไล่ผู้นำ

ขอปรับโหมดจากเรื่องทางศาสนามาสู่หมูในหมวดการเมือง หมูไล่ผู้นำเรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงหมูที่มีนาฬิกาเยอะ แต่เป็นหมูที่ชื่อนโปเลียนจากงานเขียนของ George Orwell เรื่อง Animal Farm

.

นโปเลียนเป็นหมูในฟาร์มของมิสเตอร์โจน มันตั้งใจจะปฎิวัติให้สัตว์ไม่อยู่ใต้อำนาจของมนุษย์อีกต่อไป จึงสั่งสอนเหล่าสัตว์ภายในฟาร์มด้วยแนวคิด “ทุกตัวเสมอภาค” หลักจากที่ไล่คนออกไปได้แล้ว มันก็ตั้งตัวเป็นผู้จัดการเพื่อความดีของสัตว์ทั้งหมด ด้วยความที่หมูฉลาดและสามารถอ่านออกเขียนได้ มันตั้ง “กฎบัญญัติ 7 ประการ” และเริ่มเปลี่ยนตัวเองเป็นเผด็จการในท้ายที่สุด

.

หมูนโปเลียนเริ่มเพลิดเพลินกับความหรูหรา เช่น การกินอาหารอย่างเต็มที่ นอนในบ้าน และดื่มเหล้า ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่หมูเคยต่อต้านเมื่อฟาร์มยังถูกควบคุมโดยมนุษย์ ภายหลังมันแก้ไขกฎที่ตัวเองตั้งเพื่อเอื้อประโยคให้ตัวเองอีกด้วย

.

ความฉลาดแต่ไม่สะอาด

สัญญะของหมูในเรื่อง Animal Farm ผู้เขียนต้องการสื่อถึงชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองที่มีความฉลาด แต่ใช้ความฉลาด(ส่วนนี้ตรงกับเรื่องจริงเพราะหมูเป็นสัตว์ที่เรียนรู้ได้เร็ว) นั้นเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง การไม่หักห้ามใจทำให้อุดมการณ์แพ้ต่อความโลภ ซึ่งหมูก็เป็นตัวแทนภาพของความโลภ และไม่ยับยั้งชั่งใจอยู่แล้ว

.

[Animal Farm ฉบับแปลผิด]

เมื่อไม่นานมานี้ มีหลักฐานการค้นพบต้นฉบับที่แปลผิดของชาวเทือกเขาอัลไต ว่าด้วยเรื่องเริ่มต้นที่คล้ายกับของฉบับบดั้งเดิม แต่นโปเลียนในฉบับแปลผิดนั้นมีนิสัยประหลาดชอบสะสมของจากคนตาย ต่อมาไม่นานมันได้รับความสนใจจากหน้าสื่อ มีคนเห็นดีเห็นงามกับแนวคิดของมัน จนได้แต่งตั้งมันเป็นหัวหน้าพรรคอู๊ดพาวเวอร์

.

เรื่องเด็ด ๆ ก็คือ เคยมีนักข่าวมาสัมภาษณ์เจ้าหมูนโปเลียนที่ฟาร์ม แต่ดันพูดไม่เข้าหูเพราะจริง ๆ หมูเข้าใจภาษาคนแค่ 80% ทำให้ส่วนใหญ่มันจึงตอบได้แค่ว่าไม่รู้ ๆ ไม่รู้ ๆ และพอโดนถามมากเข้าก็เลยโมโหทันใดนั้นหมูนโปเลียนเลยกระโดดกัดหูนักข่าวคนหนึ่ง

.

เรื่องของเรื่องก็คือ มีคนบอกว่า “หมูมันแค่หยอกเล่น” อย่าไปถือสาเลย และที่สำคัญคือสำนักข่าวก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ เพราะไม่มีกฎหมายให้คนฟ้องหมูในโทษฐานนิสัยไม่ดี เพราะก็แค่หมู!

.

2.3 แล้วหมูน่ารักหล่ะ มีไหม?

คำถามนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหมูอย่าง Piglet เพื่อนของหมีพูห์ ที่ถูกแทนภาพด้วยลูกหมู Piglet ไม่ได้มีภาพของความตะกละหรือกินไม่รู้จบ

.

แต่กลับถูกแทนด้วยภาพของความตัวเล็ก อ่อนแอ อ่อนโยน ไร้เดียงสา และเข้าถึงง่าย ด้วยลักษณะของลูกหมูที่เต็มไปด้วยความกลัวแต่ก็อยากรู้ อยากเห็นในโลกอันซับซ้อน เป็นหมูที่น่าทะนุถนอมกว่าหมูในเรื่องอื่น ซึ่งอาจจะเกิดจากการตีความอีกมุมหนึ่งที่หมูกับคนนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนาน เพราะหมูก็ถือเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ไม่ต้องดูแลเยอะมาก แถมยังเรียนรู้ได้เร็วอีกด้วยนั่นเอง หมูจึงมีทั้งมุมที่น่ารักและมุมที่ไม่น่ารักได้พร้อม ๆ กัน

.

3. สัญญะหมู ๆ

จากตัวอย่างเรื่องราวที่ผู้เขียนได้ยกมา นัยยะของหมูที่เรามักจะนึกถึงเป็นอันดับแรกก็คือเรื่องของความตะกละ ถูกตีความว่าเป็นโลภ ความอยากที่ไม่มีวันจบสิ้น ดั่งที่ถูกสะท้อนไว้ในหลายเรื่องเล่าทั้งฝั่งตะวันตก จนถึงฝั่งตะวันออก

.

แง่ลบ

Eat like a pig หรือ กินเหมือนหมู คือคำที่สามารถยกมาให้เห็นมุมมองที่มนุษย์สร้างสัญญะให้แก่หมู แล้วสัญญะพวกนี้ก็ถูกใช้ไปอย่างหลากหลายภาษาและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นในชาติยุโรป รัสเซีย หรือฝั่งเอเซียเองก็ตาม (บางข้อมูลอธิบายว่าเป็นสำนวนจากฝั่งยุโรปและขยายเข้ามาจากช่วงล่าอณานิคม) ล้วนต่างมีสำนวนเปรียบเทียบหมูกับเรื่องกินที่ไร้มารยาท

.

ขยายความต่อไปเรื่องความสกปรกและความขี้เกียจของหมู เพราะรูปแบบการเลี้ยงหมูในคอก ที่กินนอน และขับถ่ายอยู่ในบริเวณเดียวกัน ภาพชัดเจนอาจจะมาจาก Seven Deadly Sins (ค.ศ.400 - 600) ที่หมูถูกใช้เป็นสัญญะของตะกละ (Gluttony)ในทางศาสนาคริสต์ และขยายแนวคิดออะไปภายหลังได้เช่นกัน

.

แง่บวก

แต่ในอีกมุมหนึ่งหมูถูกจัดเป็นสัตว์ที่แสดงถึง “ความอุดมสมบูรณ์” ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งความเชื่อแบบจีน ที่หมูเป็นหนึ่งในนักษัตรทั้ง 12 และสัญญะของความมั่งคั่ง เงินทอง อุดมสมบูรณ์ ส่วนถ้าย้ายฟาก ยกก้นไปยังสมัยกรีกโบราณหรือโรมัน หมูก็เป็นตัวแทนของการสังเวยเพื่อความอุดมสมบูรณ์ การเติบโตและชีวิตใหม่ ได้เช่นกัน

.

4. สรุปแบบหมู ๆ

เรื่องของหมูจึงไม่หมูอย่างที่คิด หมูไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการเป็นอาหารหรือสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรเท่านั้น

.

แต่หมูกลายเป็นสัญลักษณ์ที่หลากหลายในวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในด้านบวกและลบ หมูถูกเชื่อมโยงกับความตะกละ ความขี้เกียจ และความสกปรก

.

ในขณะเดียวกัน หมูก็เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง และชีวิตใหม่ นี่คือมุมมองที่ลึกซึ้งและซับซ้อนที่เราสร้างขึ้นจากหมู สัตว์ที่อยู่คู่กับเรามานานกว่าหมื่นปี

.

สุดท้ายแล้ว หมูไม่ใช่แค่ "เรื่องหมู ๆ" ที่เป็นเพียงอาหาร แต่เป็นสัญญะที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์และการใช้ชีวิตของเราเอง

#Wongnai #WongnaiStory #Pig #Food

Reference

Orwell, G. (1945). Animal Farm. Secker & Warburg.

Milne, A. A. (1926). Winnie-the-Pooh. Methuen & Co. Ltd.

Smith, J. (2020). The symbolism of pigs in ancient cultures. Journal of Mythology and Folklore, 15(2), 45-60. https://doi.org/10.1234/jmf.2020.15.2.4560

Food and Agriculture Organization (FAO). (2021). Global meat production statistics. FAO.org. Retrieved August 20, 2024, from https://www.fao.org/meat-statistics

Brown, L. (2019, April 5). The political symbolism in George Orwell’s Animal Farm. History Today. Retrieved from https://www.historytoday.com/orwell-animal-farm