หากพูดถึงสะตอ หลายคนคงร้อง..หยี แต่หลายคนก็อาจจะตาลุกวาว เพราะเอกลักษณ์ของความเป็นสะตอนั้น ต้องบอกเลยว่า โดดเด่นสุด ๆ ถ้าชอบก็ชอบเลย ถ้าเกลียดก็เกลียดได้อีก (ฟังคล้าย ๆ ทุเรียนเหมือนกันนะคะ) แต่ต้องบอกเลยว่า ถึงกลิ่นจะแรง แต่สรรพคุณทางยาแน่นมาก แถมทำอาหารให้หลากหลายเมนู
1 สะตอคืออะไร?

สะตอ คือ พืชผักยืนต้นที่มีฝักแบนยาว เมล็ดกลม สีเขียว กลิ่นฉุน มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของไทย จัดเป็นผักเศรษฐกิจที่มีคนนิยมบริโภค ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อย่างเช่น ประเทศมาเลเซียค่ะชอบมาก โดยหน้าเก็บเกี่ยวสะตอจะอยู่ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมค่ะ เตรียมซื้อกันได้เลย สามารถกินได้ทั้งแบบสด และนำมาปรุงอาหารเลยนะ
สายพันธุ์สะตอ จะแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ คือ

- สะตอข้าว หากเดินดูตามท้องตลาด จะเห็นสะตอข้าว ฝักเล็ก เรียวยาว เป็นเกลียว เปลือกบาง นิยมทานเพราะเมล็ดมีกลิ่นไม่ฉุนนัก แต่เนื้อเมล็ดไม่ค่อยแน่น มีความกรอบหวานมัน เหมาะที่จะเป็นผักเหนาะค่ะ
- สะตอดาน สะตอดานจะมีฝักลักษณะตรงแบนไม่บิดเบี้ยว ฝักใหญ่ เปลือกหนา เมล็ดใหญ่ และกลิ่นฉุนกว่าสะตอข้าว เมล็ดมีรสเผ็ดนิด ๆ เนื้อแน่น เหมาะที่จะนำไปทำแกง ผัดเผ็ดต่าง ๆ
2 ประโยชน์ของสะตอ

- มีแร่ธาตุและวิตามินที่มีประโยชน์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น โปรตีน แคลเซียม คาร์โบไฮเดรต เหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินเอ บี และซี
- ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะพิการ ไตพิการ
- ช่วยลดน้ำตาลในเส้นเลือดได้ กินสะตอเป็นประจำ ป้องกันโรคเบาหวานได้ด้วยค่ะ
- มีใยอาหาร ช่วยให้การขับถ่ายคล่อง ลดอาการท้องผูก ป้องกันการเกิดริดสีดวงทวาร ฯลฯ
3 สะตอทำอะไรได้บ้าง
มาถึงส่วนสำคัญที่ทำให้สะตอเป็นผักที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก สะตอสามารถกินได้ทั้งยอดอ่อน ฝักอ่อน และเมล็ดค่ะ โดยที่นิยมกินก็คือ เมล็ดสดทั้งแกะเปลือก และไม่แกะเปลือกหุ้มเมล็ด มีรสชาติมัน ๆ เคี้ยวเพลินเชียว บ้างก็นำเมล็ดสะตอไปดอง ต้มหรือนำไปเผาไฟทั้งเปลือก เรียกว่า“ตอหมก”นอกจากกินเป็นผักแกล้มแล้ว ยังสามารถปรุงอาหารได้หลากหลายเมนูเลยค่ะ
1น้ำพริกสะตอเผา

เมนูสุดฮิตของการกินคู่กับสะตอค่ะ “น้ำพริกสะตอเผา” แนะนำว่าให้ใช้กะปิอย่างดี จะมีกลิ่นหอมไม่เค็มจัด ตำให้ได้รสชาติกลมกล่อมครบรสเผ็ดเเซ่บ กินคู่กับผักสดอย่าง แตงกวา ถั่วฝักยาว สายบัว ใบมันปู มะเขือ และที่ขาดไม่ได้เลยคือ สะตอสดและสะตอเผาหอม ๆ ซึ่งว่ากันว่า สะตอเผาแล้วจะมีกลิ่นเบาบางลงค่ะ
2สะตอผัดกะปิกุ้งสด

จานนี้เชื่อว่าทุกคนต้องเคยกินค่ะ “สะตอผัดกะปิกุ้งสด” ใช้กุ้งตัวขนาดกลางเนื้อหวาน นำมาผัดกับพริก หอมใหญ่ มะเขือเทศ และกะปิ ผัดพอให้เนื้อกุ้งสะดุ้ง โยนสะตอลงไปตามชอบ ปรุงรสให้เป๊ะ ทั้งเค็ม เปรี้ยว หวาน กลมกล่อม เอาอยู่เลยค่ะ หรือจะเปลี่ยนกุ้ง เป็นหมูสับ หมูสามชั้น ก็ดีงามตามชอบเลย
3สะตอผัดน้ำพริกเผากุ้งสด

จานนี้คล้ายกับจานที่แล้ว “สะตอผัดน้ำพริกเผากุ้งสด” ใช้น้ำพริกเผานำมาผัดคลุกเคล้ากับหอมใหญ่ มะเขือเทศ ใส่กุ้งสดเนื้อเเน่น ตามด้วยสะตอพระเอกของเรา จานนี้จะออกรสชาติเข้มข้นเผ็ดนิด ๆ หวาน เค็ม เปรี้ยวหน่อย ๆ
4ผัดเผ็ดสะตอไก่บ้าน

“ผัดเผ็ดสะตอไก่บ้าน” ไก่บ้านเนื้อเหนียวนุ่ม นำมาผัดกับเครื่องเเกงเผ็ดหอม ๆ ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันกับสะตอ มะเขือเปราะ ใบมะกรูดฉีก เเละพริกชี้ฟ้าเเดง รสชาติจัดจ้านถึงเครื่อง เคี้ยวสะตอไปด้วย เด็ดจริง ๆ ค่ะ
5แกงสมรม

“แกงสมรม” เป็นการใช้ผักหลายชนิด ผสมรวมกันในแกงกะทิค่ะ มีหน่อไม้สับ ฟักเขียว ฟักทอง มะเขือเปราะและถั่วฝักยาว ใส่กุ้งสด และสะตอ ใช้พริกเเกงใต้อย่างดี รสชาติจัดจ้าน ได้ความหอมมันจากกะทิ ทานกับข้าวสวยหรือต้ม (ข้าวเหนียวแบบภาคใต้) เป็นแกงที่ขาดไม่ได้ สำหรับงานบุญสารทเดือนสิบเลยค่ะ นัวอย่าบอกใครเชียว
6
แกงกะทิสะตอหน่อไม้ตง

แกงใส่กะทิอีกเมนู ที่เป็นที่นิยมค่ะ “แกงกะทิสะตอหน่อไม้ตง” นำกะทิมาเคี่ยวกับกะปิเพื่อให้ได้กลิ่นหอม จากนั้นก็ใส่หน่อไม้ไผ่ตง กุ้งสด กุ้งเเห้ง เเละทีเด็ดที่ขาดไม่ได้คือสะตอค่ะ รสชาติออกหวานและมันจากกะทิ รสเค็มจากกะปิ หอมกุ้งเเห้ง เมนูนี้หากได้รับประทานคู่กับน้ำพริกกะปิแล้ว จะช่วยเพิ่มรสชาติได้เป็นอย่างดีค่ะ
7แกงคั่วหมูสะตอขูด

เมนูนี้ต้องบอกว่าถึงเครื่องถึงรสจริง ๆ “แกงคั่วหมูสะตอขูด” ด้วยทีเด็ดของน้ำพริกแกงใต้ รสชาติเข้มข้นถึงใจคนชอบรสจัดค่ะ ใส่สะตอที่นำไปขูดเอาเปลือกส่วนนอกที่เป็นสีเขียวออก สามารถทานได้ทั้งเปลือกเลย มัน ๆ กรอบ ๆ เข้ากันเป็นอย่างดีกับซี่โครงหมูเนื้อเปื่อยนุ่ม รับรองว่าติดใจค่ะ
4 วิธีดับกลิ่นสะตอ
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะคะว่า “สะตอ” ขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นตอนกิน หรือตอนระบายออกก็ตาม แต่ด้วยความดีงามของสะตอแล้วนั้น เราก็ไม่หวั่นค่ะ วันนี้เราเลยมีวิธีช่วยดับกลิ่นด้วยวิธีง่าย ๆ มาฝากกัน นอกจากการแปรงฟัน บ้วนปากแล้ว ยังมีวิธีอะไรอีกบ้าง

- ดับกลิ่นปากหลังจากทานอาหารด้วยหมากฝรั่งหรือลูกอมที่มีส่วนผสมของสมุนไพร
- ผักผลไม้ช่วยดับกลิ่นปากจากสะตอได้ค่ะ เช่น ส้ม แอปเปิ้ล ใบสะระเหน่ ใบผักชีฝรั่ง
- ดับกลิ่นสะตอ ด้วยการทานมะเขือเปราะตามสักสองสามลูก หลังจากทานสะตอ ก็ช่วยได้ค่ะ
- กินสะตอพร้อมกับการกินถั่วฝักยาว โดยสะตอ 1 เม็ด ให้กินถั่วฝักยาวท่อนเล็กๆ ควบคู่กันไป จะช่วยลดกลิ่นสะตอได้ค่ะ
Tips

- หาซื้อสะตอได้ตามตลาดสดทั่วไป โดยเฉพาะตลาดกิมหยง
- สะตอสุกจะมีกลิ่นรุนแรงน้อยกว่า โดยนำสะตอที่ไปเผาหรือต้ม
- หากปล่อยให้ฝักเป็นสีดำ เมล็ดจะมีสีส้มรสหวาน และไม่มีกลิ่น
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคเก๊า ไม่ควรรับประทานค่ะ เพราะสะตอมีกรดยูริกสูง อาจะทำให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้น ตกผลึกในข้อต่อ ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นกระบวนการในระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบ รวมถึงอาการปวด และบวมของข้อต่อได้ค่ะ
ทุกวันนี้สะตอ ไม่ได้เป็นที่นิยมแค่เฉพาะภาคใต้อีกต่อไปแล้วนะคะ แต่เป็นที่นิยมไปทั่วทุกภาคในประเทศไทย และไปไกลถึงต่างประเทศด้วย ถือเป็นพืชเศรษฐกิจกันเลยทีเดียว ยังไงก็หามาทำทานกันได้ตามตลาดสดทั่วไป แต่ถ้าขี้เกียจแกะเมล็ดออกจากฝักล่ะก็ แนะนำที่ตลาดเช้ากิมหยง มีขายทั้งแบบฝัก และแบบแกะเม็ดเลยนะ สะดวก ง่าย อร่อย เหม็นสะใจแน่นอน ^^

แต่ถ้าใครทำอาหารไม่เป็น หรือไม่อยากเสียเวลาทำ แต่อยากทานเมนูสะตอเด็ด ๆ แบบในภาพล่ะก็ ตามไปทานกันได้ที่ร้าน “Pranee Thai Cuisine” ได้เลยนะคะ พิกัดถนนศุภสารรังสรรค์ (เข้าซอยตรงข้าม รร.วิริยะเธียร ผ่านสี่แยกสังเกตร้านทางซ้ายมือ)
แล้วอย่าลืมติดตามเพจ เพื่ออัปเดตอาหารการกิน ท่องเที่ยว และบทความดี ๆ อีกมากมาย ได้ที่เพจของเรานะคะ
FB: ร้านอร่อยหาดใหญ่ by Wongnai