ในขณะที่เกาหลีมีโซจู เยอรมนีขึ้นชื่อเรื่องการดื่มเบียร์ ส่วนสาเกจากญี่ปุ่นก็จัดเป็นวัฒนธรรมที่คนในชาติต่างหวงแหนและภาคภูมิใจ วันนี้ Wongnai ขอตั้งวงเล่าเรื่องชวนมาทำความรู้จักกับประเภทของเหล้าไทย ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
1ความเป็นมาของเหล้าพื้นบ้าน
สุรา หรือ เหล้านั้นเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชนิดเอทิลแอลกอฮอล์นั่นเอง แต่เพื่อน ๆ รู้ถึงความเป็นมาของเหล้ากันรึเปล่า ว่าจริง ๆ แล้วเหล้านั้นอยู่คู่กับสังคมคนไทยมายาวนาน แม้ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าคนไทยรู้จักเหล้าตั้งแต่ตอนไหน แต่ในประวัติศาสตร์นั้นได้กล่าวถึงเหล้าไว้ว่า พระมหากษัตริย์ และนักรบไทยในอดีตนิยมดื่มเหล้า เพื่อเป็นการเรียกกําลังใจก่อนออกศึก และเมื่อการออกศึกเสร็จสิ้น เหล้าก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ ส่วนการผลิตเหล้าของไทยเรานั้นไม่มีหลักฐานว่าเริ่มเมื่อไหร่ แต่มีพูดถึงในหลักศิลาจารึกสมัยลพบุรี เมื่อทศวรรษที่ 16 ใช้ในการประกอบพิธีบวงสรวงเทพเจ้าด้วยเหล้าและอาหาร นิยมผลิตไว้ดื่มภายในครอบครัว ไม่ได้มีไว้สำหรับขาย ส่วนการต้มเหล้าของคนไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยที่กลุ่มชาวจีนอพยพมาอยู่เมืองไทย คนไทยเริ่มรู้จักดื่มสุราจากโรงต้มกลั่นที่เรียกว่า “เหล้าโรง” ตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเองค่ะ
2เหล้าพื้นบ้านกับภูมิปัญญาไทย
เหล้านั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องดื่มที่มีไว้เพื่อปลุกใจหรือเพื่อการเฉลิมฉลองเท่านั้น แต่ชาวบ้านในสมัยก่อนมีความเชื่อว่าถ้านำเหล้ามาผสมกับสมุนไพรต่าง ๆ จะช่วยในการรักษาโรค และเป็นยาชูกำลัง หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและผ่านกรรมวิธีที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้เหล้าไทยยังแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น โดยชาวบ้านจะนำเอาวัตถุดิบที่มีในภูมิภาคของตัวเองมาใช้ เช่น การนำข้าวเหนียวมาทำอุ นิยมบริโภคมากในแถบภาคอีสาน เป็นต้น
3ประเภทของเหล้าพื้นบ้าน
3.1 สาโท หรือ น้ำขาว
สาโทเป็นเหล้าแช่ที่ทำจากข้าวนำมาหมักกับลูกแป้ง จนเกิดการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล หลังจากนั้นน้ำตาลจะเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์ สาโทที่ผ่านกระบวนการทั้งหมดนี้จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี เช่น มักกอลลีของเกาหลี
3.2 อุ หรือ เหล้าไห
อุเป็นเหล้าที่ทำมาจากข้าวเหนียวผสมกับแกลบ แล้วนำมาหมักกับลูกแป้ง โดยจะหมักไว้ข้างนอกไหก่อน เพื่อให้ราเติบโตก่อนบรรจุลงในไห 1 คืน หลังจากนั้นรอจนเกิดการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล หลังจากนั้นน้ำตาลจะเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งการหมักจะต้องอยู่ในสภาพปราศจากอากาศ
3.3 เหล้าขาว หรือ เหล้ากลั่น
เหล้ากลั่น หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่าเหล้าขาว เป็นเหล้าที่ได้จากการหมักน้ำตาลจากข้าว, ข้าวโพด หรืออ้อย โดยน้ำตาลอ้อยจะมีความหอม หวาน และมีคุณภาพกว่ากากน้ำตาลชนิดอื่น ต่อจากนั้นเติมยีสต์เข้าไปเพื่อให้ยีสต์กินน้ำตาลจนหมดแล้วคายแอลกอฮอล์ออกมา นำแอลกอฮอลก์ที่ได้ไปผ่านกระบวนการกลั่นเพื่อให้มีดีกรีสูงขึ้น โดยเหล้าขาวต้องปราศจากเครื่องย้อม หรือสิ่งผสมปรุงแต่งอื่นนอกจากน้ำ และมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 40 ดีกรี
3.4 กะแช่ หรือ น้ำตาลเมา
เป็นเหล้าแช่ที่ได้จากการหมักน้ำตาลสด เริ่มจากการที่ชาวบ้านจะนำกระบอกไม้มารองน้ำที่ไหลออกมาจากการปาดต้นตาล โดยชาวบ้านจะนำไม้เคี่ยม, ไม้พยอม หรือไม้ตะเคียนใส่ไว้ในกระบอกไม้ด้วย หลังจากนั้นน้ำตาลสดจะเริ่มทำปฏิกิริยาจนกลายเป็นยีสต์ตามธรรมชาติ และจะผลิตแอลกอฮอล์ออกมา ใช้เวลา 1 วัน ในการหมักน้ำตาลสดให้เป็นกะแช่
3.5 ยาดอง หรือ เหล้าดอง
คนในสมัยก่อนดื่มยาดองเหล้าเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง โดยการนำเหล้ามาหมักกับสมุนไพรต่าง ๆ มีสรรพคุณตามสมุนไพรที่หมักไป เช่น ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงโลหิต หรือช่วยเรื่องสมรรถภาพ โดยสมุนไพรที่นำมาใช้มักจะเป็นสมุนไพรแห้ง นำมาบดผสมกับเหล้าขาว คนกลับยาทุกวัน ปิดฝาทิ้งไว้นานประมาณ 30 วัน แล้วรินเอาแต่น้ำยาดองมาดื่ม
4กฎหมายไทยกับการผลิตเหล้า
การผลิตเหล้านั้นมีข้อจำกัดอยู่มากต้องอาศัยความเข้าใจทางด้านกฎหมายในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๕๓ แห่งพระราชบัญญัติ ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๖๐ สรุปโดยคร่าว ๆ ว่าหากใครต้องการผลิตเหล้าต้องมีการขออนุญาต และมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นถ้าเราผลิตเหล้าเองในครัวเรือน หรือในชุมชน โดยไม่มีการขออนุญาต หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อาจได้รับโทษทั้งจำคุก และปรับเงิน อีกทั้งร่างกายของเราอาจได้รับอันตรายจากส่วนผสมของเหล้าที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการปนเปื้อนจากวัสดุอุปกรณ์หรือภาชนะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของทุกคนควรคำนึงไว้อยู่เสมอว่าเหล้าที่มีคุณภาพควรผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน
เป็นอย่างไรบ้างคะกับ ต้นตำรับ “เหล้าไทย” ที่มาและกรรมวิธีการผลิต ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ซึ่งหลายคนคงเคยเห็นหรือได้ยินกันมาบ้าง แต่ยังไม่รู้ถึงแก่นแท้ของเหล้าไทย เชื่อว่าอ่านแล้วจะได้ทั้งประโยชน์และเกร็ดความรู้ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเลยล่ะคะ! และอย่าลืมติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ ได้ที่นี่เลยน้า~
สนับสนุนโดย สุราขาว รวงข้าว ซิลเวอร์ สุราขาวระดับพรีเมียมของไทย กระบวนการผลิตได้มาตรฐานสากล การันตีคุณภาพ จากสุราขาวรวงข้าว ที่ติดอันดับปริมาณการขายสูงสุด เป็นอันดับ 2 ของโลก (*IWSR 2018) #ได้เวลาตั้งวงได้เวลารวงข้าวซิลเวอร์ #วันนี้ต้องดีกว่า
บรรณานุกรม
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน 2544, (2560). “เหล้าพื้นบ้าน ภูมิปัญญาไทย." เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_6123 สืบค้น 3 มกราคม 2562.
ธีรภัท ชัยพิพัฒน์, (2560). “สุราพื้นบ้าน” ภาพสะท้อนของกระบวนการเรียนรู้ การปรับตัว และความสัมพันธ์แบบใหม่ ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลง จากนโยบายของรัฐ กรณีศึกษา: หมู่บ้านห้วยหม้าย ตําบลห้วยหม้าย อําเภอสอง จังหวัดแพร่." เข้าถึงได้จาก http://digi.library.tu.ac.th/research_paper/088/title-biography.pdf สืบค้น 3 มกราคม 2562.
วิฑูรย์ วงษ์สวัสดิ์, (2561). “สุรากลั่นพื้นบ้านไทย." เข้าถึงได้จาก http://foodstylistchannel.com/talk/water-of-life/ สืบค้น 10 มกราคม 2562.