มีสเน่ห์ปลายจวัก = ภรรยาที่ดี?  ทำไมเราวัดค่าผู้หญิงด้วยทักษะในครัว
  1. มีสเน่ห์ปลายจวัก = ภรรยาที่ดี? ทำไมเราวัดค่าผู้หญิงด้วยทักษะในครัว

มีสเน่ห์ปลายจวัก = ภรรยาที่ดี? ทำไมเราวัดค่าผู้หญิงด้วยทักษะในครัว

ขอชวนทุกท่านตั้งคำถามไปพร้อมกัน ว่าอคติอะไรที่แฝงอยู่เบื้องหลังการเข้าครัวของเพศหญิง และ สเน่ห์ปลายจวักเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบันจริงหรือไม่ ?
writerProfile
18 มี.ค. 2025 · โดย

"แม้ว่าทักษะการทำอาหารและการดูแลบ้านจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แต่เมื่อกลายเป็นภาระที่มักถูกโยนให้ฝ่ายหญิงอยู่ฝ่ายเดียว จึงเหมือนเป็นจำกัดโอกาสของผู้หญิง และเพิ่มช่องว่างระหว่างความไม่เท่าเทียมกันให้มากขึ้น Wongnai Story Ep.185 ขอชวนทุกท่านตั้งคำถามไปพร้อมกัน ว่าอคติอะไรที่แฝงอยู่เบื้องหลังการเข้าครัวของเพศหญิง และ สเน่ห์ปลายจวักเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบันจริงหรือไม่"

.

ไม่กี่ปีมานี้เคยมีข่าวที่สามีชาวจีนแสดงความรักต่อภรรยาด้วยการทำอาหารให้เจ้าหล่อนกินทุกวันจนกลายเป็นคลิปไวรัลบนเวย์ปั๋ว (โซเชียลมีเดียจากจีนคล้าย ๆ เฟสบุ๊ก) ซึ่งเรื่องหนึ่งที่กลายเป็นข้อถกเถียงของชาวเน็ตจีนก็คือ เหตุใดพฤติกรรมของผู้ชายคนนี้จึงถูกยกย่องมากมายเสียเหลือเกิน? ตรงกันข้าม ผู้หญิงบางคนทำอาหารให้ลูกและคนรักทุกวันแต่ก็ยังถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติของสังคม

.

คำถามตัวใหญ่ ๆ

ทำไมสังคมถึงมองว่าการเข้าครัวของผู้ชายเป็นเรื่องพิเศษ แต่กับการทำอาหารของผู้หญิงคือเรื่องที่ต้องทำเป็นปกติอยู่แล้ว? ทั้งที่พวกเธอใช้เวลาทำอาหารเฉลี่ย 3-5 เท่าของผู้ชาย แม้ว่าจะทำงานนอกบ้านเช่นกัน (รายงานจาก OECD 2019) นี่จึงเป็๋นภาระอันหนักอึ้งของผู้หญิงสมัยใหม่

.

1. ทำไมเสน่ห์ ต้องปลายจวัก

เพื่อที่อธิบายเรื่องนี้ ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับหนังสือของ Isabella Beeton ที่กล่าวได้ว่าเป็นเล่มที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อแนวคิดเรื่องแม่บ้านและการทำอาหารของผู้หญิง “The Book of Household Management” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1861 ในยุควิกตอเรีย ซึ่งเป็นช่วงที่อังกฤษกำลังขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไปทั่วโลก เป็นหนึ่งในตำราทำอาหารเล่มแรกที่จัดระบบสูตรอาหารอย่างชัดเจน พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับโภชนาการ สุขอนามัย และการดูแลบ้าน ซึ่งช่วยกำหนดมาตรฐานของคู่มือแม่บ้านยุคใหม่ โดยมีแนวคิดคือ “ผู้หญิงที่ดีต้องมีความสามารถในการบริหารบ้าน"

.

หากถามว่าแล้วคุณ Isabella ไปเอาความคิดนี้มาจากไหนกันนะ ก็คงต้องย้อนกลับไปถึงยุคที่มนุษย์ยังไม่รู้จักกับคำว่าเกษตรกรรม จากหนังสือ Culture: A History of Food and People อธิบายว่าในยุคแรกที่เรายังพึ่งพาการล่าสัตว์อยู่นั้น ต้องใช้ความแข็งแรงของผู้ชาย ส่วนผู้หญิงก็ได้รับบทบาทการดูแลลูก อาหาร และที่อยู่อาศัย สรุปง่าย ๆ ก็คือความคิดนี้เริ่มต้นจากยุคที่คนนั้นต้องเอาตัวรอดจากธรรมชาติ และได้ถูกผลิตซ้ำ นำมาใช้อย่างต่อเนื่องในหลายวัฒนธรรมจึงมีแนวคิดผู้ชายทำงาน ผู้หญิงทำครัวอยู่บ้าน คล้าย ๆ กันในหลายชาติ

.

แน่นนอนว่าไอเดีย ผู้หญิง = ต้องเป็นแม่บ้านที่ดีนั้นถูกส่งต่อไปยังประเทศอื่น ๆ อเมริกาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของอังกฤษแบบเต็ม ๆ โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 และได้พัฒนาสู่แนวคิดของตัวเองคือ Home Economic ที่มุ่งการสร้างครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวตามแบบอเมริกันดรีม ผู้ชายทำงาน ผู้หญิงดูแลบ้าน แน่นอนว่าแนวคิดนี้ก็ได้พัฒนามาสู่ไทยเช่นกัน

.

ในไทยหลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกับวิชาคหกรรมศาสตร์ ที่เหล่าวัยรุ่นเจนวายบางคนอาจจะเคยได้เรียน ทั้งการทำขนมไทย ดูแลบ้าน ไปจนถึงการเย็บปักถักร้อย ซึ่งนี่เองคือร่องรอยที่หลงเหลืิออยู่ว่าเราเคยได้รับอิทธิพล จนกลายเป็นหลักสูตรการสอนชนชั้นกลาง จากหนังสือปฎิวัติที่ปลายลิ้นอธิบายว่า “แนวคิดแม่บ้านทันสมัย” นี้ถูกส่งต่อมาจากอเมริกา โดยกลุ่มคนไทยที่รับเข้ามาก่อนคือกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมไทย ก่อนที่จะเป็นแม่แบบให้แก่ชนชั้นกลางเพราะเข้ามาแทนที่การสร้างความหมายที่คณะราษฎร์พยายามทำแต่ล้มเหลวในปฎิรูปการปกครองในปี 2475 ล้มเหลว

.

ไอเดียนี้สร้างความคาดหวัง “แม่บ้านกลายเป็นอุดมคติที่ผูกโยงกับบทบาททางเพศ” การเป็นแม่บ้านไม่ได้เป็นทางเลือก แต่กลายเป็นหน้าที่ของผู้หญิงโดยอัตโนมัติ และถ้าหากผู้หญิงคนไหนไม่สามารถทำอาหารหรือดูแลบ้านได้ดี ก็มักถูกมองว่าเป็น “ผู้หญิงที่ไม่สมบูรณ์แบบ”

.

ตอนนี้ทุกคนคงคิดว่าเป็นแม่บ้านแล้วมันไม่ดีอย่างไร ซึ่งเราไม่ได้ว่าการเป็นแม่บ้านไม่ดี แต่ในปัจจุบันที่สภาพสังคมเปลี่ยนไปด้วยโอกาสต่าง ๆ ที่มากขึ้น ทำให้คุณค่าผู้หญิงไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่แต่งานในครัว ผสมกับด้วยอคติทางความคิดที่ถูกผูกไว้ก็กลายเป็นการเพิ่มภาระให้แก่เธอ ๆ อย่างหลึกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนเป็นการทำงาน 2 กะคือตอบสนองเศรษฐกิจด้วยการไปทำงาน และตอบสนองความคาดหวังในฐานะลูกผู้หญิงด้วยการดูแลงานบ้าน อาหาร และงานครัว ความเหนื่อยพุ่งสูงขึ้นในเหล่าแม่บ้านยุคใหม่ ที่ต้องออกไปทำงานและกลับมาดูแลบ้าน

.

2. "แม่ศรีเรือน" กับบทบาทที่ถูกกำหนดโดยสังคม

เรื่องนี้ตรงข้ามกับภาพที่เราเคยเห็นในละครหลังข่าว ภาพยนตร์จอเงิน หรือในหน้าหนังสือเรียน แม้สื่อจะผลิตซ้ำภาพของคุณพ่อที่กำลังจิบกาแฟและทำงาน คุณแม่เสิร์ฟกาแฟหรีือกำลังจัดแจงอาหารอย่างมีความสุข แต่เอาเข้าจริงแล้วนี่ก็อาจจะเป็นการสร้างอคติให้แก่เพศหญิงในการที่ต้องเป็นฝ่ายหุงหาอาหารและดูแลบ้าน

.

ในวัฒนธรรมไทย ผู้หญิงที่ถูกมองว่าเป็นแม่บ้านที่ดีมักถูกเรียกว่า "แม่ศรีเรือน" ซึ่งหมายถึงผู้หญิงที่มีความสามารถในงานบ้าน ดูแลครอบครัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำอาหาร แนวคิดนี้ถูกปลูกฝังผ่านสุภาษิตไทย เช่น "เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย" ที่สะท้อนว่าผู้หญิงควรมีฝีมือในการทำอาหารเพื่อมัดใจสามี

.

อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบันที่ผู้หญิงมีบทบาทในที่ทำงานมากขึ้น ภาระงานบ้านและการทำอาหารยังคงตกอยู่กับผู้หญิงเป็นหลัก แม้ว่าพวกเธอจะต้องออกไปทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกับผู้ชายก็ตาม นี่จึงเป็นสาเหตุของ "Double Shift" (งานสองกะ) ที่ทำให้ผู้หญิงทำงานหนักกว่าผู้ชายโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติม

.

"แรงงานที่ไม่มีค่าตอบแทน" (unpaid labor) แม้งานบ้าน การทำอาหาร และการดูแลครอบครัวจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม แต่มักไม่ถูกนับรวมในการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไม่ได้ให้มูลค่าทางการเงินแก่งานเหล่านี้ นั่นทำให้ที่ผ่านมาภาระหน้าที่สร้างความเหน็ดเหนื่อยให้ผู้หญิงเป็นอย่างมาก

.

3. ภาระงานและการทำอาหารของผู้หญิงไทยในปัจจุบัน

จากดัชนีการทำอาหารโลกประจำปีโดย Cookpad และ Gallup พบว่าในไทยเริ่มมีการแบ่งหน้าที่หรือช่วยกันทำทั้งสองฝ่ายมากขึ้น ผู้หญิงไทยทำอาหารเฉลี่ย 6.8 มื้อต่อสัปดาห์ ในขณะที่ผู้ชายไทยทำอาหารเฉลี่ย 6.3 มื้อต่อสัปดาห์ ช่องว่างของเพศในการทำอาหารของไทย ต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ (ต่างกัน 2.7 มื้อ) กัมพูชา (ต่างกัน 7.4 มื้อ) และเมียนมาร์ (ต่างกัน 5.9 มื้อ) พูดถึงตรงนี้ ต้องบอกว่าพ่อบ้านไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และตัวเลขยิ่งสูงขึ้นเมื่อแต่งงานผู้ชายไทยที่แต่งงานแล้ว ทำอาหารมากขึ้น (เฉลี่ย 7 มื้อต่อสัปดาห์) สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งงานที่เท่าเทียมขึ้น

.

แม้ตัวเลขนี้จะชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่เปลี่ยนไป แต่แนวคิด "เสน่ห์ปลายจวัก" ยังคงฝังรากลึกในสังคมไทย ผู้หญิงจำนวนมากยังถูกคาดหวังให้ต้องทำอาหารและดูแลบ้าน ไม่ใช่เพียงเพื่อเป็นหน้าที่ แต่เป็น เครื่องพิสูจน์คุณค่าของความเป็นหญิง

.

พจนานุกรมได้ให้ความหมายของ "เสน่ห์ปลายจวัก" ว่าเป็นสำนวนไทยที่หมายถึงเสน่ห์ของผู้หญิงที่มีฝีมือการทำอาหารเป็นเลิศ จนทำให้สามีรักและหลง ซึ่งแนวคิดนี้ถูกปลูกฝังผ่านวรรณกรรม สื่อ และระบบการศึกษา โดยเฉพาะในอดีตที่วิชาคหกรรมศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา ซึ่งเน้นให้ผู้หญิงเรียนรู้การทำอาหารและงานบ้านเพื่อเตรียมตัวเป็นแม่บ้านที่ดีสามารถสังเกตได้จากชื่อร้านอาหารไทยที่มักใช้ชื่อผู้หญิง เช่น "ข้าวแกงแม่ล้วน" "ครัวเจ๊ง้อ" "น้ำพริกแม่ประนอม" เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฝีมือการทำอาหารของผู้หญิงยังคงเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือในสังคมไทย

.

4. มาตรฐานที่ขัดแย้ง: ทำไมเชฟมืออาชีพมักเป็นผู้ชาย?

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าการทำอาหารในบ้านจะถูกมองว่าเป็น หน้าที่ของผู้หญิง แต่ในวงการอาหารมืออาชีพ กลับเป็นผู้ชายที่ได้รับการยอมรับมากกว่า ร้านอาหารระดับโลก หรือภัตตาคารชื่อดัง มักมีเชฟผู้ชายเป็นผู้นำ ซึ่งสะท้อนถึง ความขัดแย้งของบทบาททางเพศ ในเรื่องการทำอาหาร

.

สาเหตุหนึ่งมาจากโครงสร้างของอุตสาหกรรมอาหารที่มีระบบลำดับชั้น ซึ่งมีรากฐานมาจากโครงสร้างการทำอาหารของกองทัพ ในศตวรรษที่ 14-15 ที่ผู้ชายเป็นผู้ควบคุมระบบครัว ภาพที่พอหลงเหลือและให้สังเกตได้คือชุดเชฟ คนครัว ที่อ้างอิงแบบมาจากชุดของทหารในช่วงสงครามโลก และการมีลำดับขั้น ตำแหน่งเชฟเหมือนกับทหาร นั่นทำให้ เชฟมืออาชีพในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แม้ว่าผู้หญิงจะเป็นผู้ทำอาหารในบ้านก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น แต่ก็ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคและอคติที่ฝังรากลึกในสังคม

.

5. โลกหมุนด้วยความเท่าเทียม

แม้แนวคิด "เสน่ห์ปลายจวัก" จะฝังรากลึกในหลายวัฒนธรรม แต่บางประเทศได้เริ่มเปลี่ยนแปลงแนวคิด ในสเปน งานบ้านและการทำอาหารเคยถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง แต่เมื่อรัฐบาลและองค์กรเพื่อความเท่าเทียมทางเพศเริ่มรณรงค์ให้ผู้ชายมีส่วนร่วมมากขึ้น แคมเปญ "Los hombres cocinan" หรือ "ผู้ชายก็ทำอาหารได้" ถูกนำมาใช้เพื่อลดอคติทางเพศ โฆษณาและสื่อต่างๆ เริ่มแสดงให้เห็นว่าการเข้าครัวเป็น "ทักษะที่ทุกคนควรมี" ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของผู้หญิง ทำให้ปัจจุบัน ผู้ชายสเปนช่วยทำอาหารในครัวเรือนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนถึง 30%

.

ไอซ์แลนด์: ตัวอย่างของประเทศที่เท่าเทียมที่สุดในโลก หลังจากgเหตุการณ์ "The Long Friday" ในปี 1975 ที่ผู้หญิงไอซ์แลนด์หยุดทำงานบ้านและออกมาประท้วง ผลลัพธ์คือ ผู้ชายเริ่มเข้ามามีบทบาทในงานบ้านและการทำอาหารมากขึ้นเช่นกัน

.

แนวคิด 'เสน่ห์ปลายจวัก' อาจมีรากฐานมาจากวัฒนธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะในยุคปัจจุบัน การทำอาหารคือทักษะชีวิต ไม่ใช่คุณค่าของเพศใดเพศหนึ่ง หรือจริง ๆ ถ้าคู่ของคุณเหนื่อยจากการทำงานมาก ๆ คุณก็สามารถแก้ปัญหาด้วยการสั่งมากินแทนได้เช่นกัน

.

"ถ้าการทำอาหารเป็นเรื่องของความรักและความเอาใจใส่ ทำไมมันต้องเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น? บางทีถึงเวลาที่เราควรถามตัวเองว่า การเป็นคู่ชีวิตที่ดี วัดจาก 'เสน่ห์ปลายจวัก' หรือวัดจาก 'ความเข้าใจและการแบ่งปัน' กันแน่

.

เสน่ห์ปลายจวัก = ทักษะชีวิต ไม่ใช่คุณค่าของผู้หญิง

"สุดท้ายแล้ว การทำอาหารควรเป็นเรื่องของความร่วมมือ มากกว่าการแบ่งแยกตามเพศ ผู้หญิงไม่ควรถูกวัดคุณค่าด้วยทักษะในครัว และผู้ชายก็ไม่ควรถูกมองว่าเป็น 'ข้อยกเว้น' หากพวกเขาช่วยทำอาหาร ทุกคนควรมีสิทธิ์เลือกบทบาทของตัวเอง ไม่ใช่ถูกกำหนดด้วยวัฒนธรรมทีเป็นกรอบมาจากอดีต

.

#Wongnai #WongnaiStory #WongnaiVibes #เสน่ห์ปลายจวัก #แม่ศรีเรือน

Reference

OECD (2019). "Unpaid Work and Gender Inequality"

Cookpad & Gallup Global Cooking Index (2021)

The Book of Household Management

Cooking, Cuisine and Class: A Study in Comparative Sociology

Invisible Women: Exposing Data Bias in a World Designed for Men

Home Truths: Gender, Domestic Objects and Everyday Life