ย่างเข้าเดือนสิบแบบนี้ สำหรับคนใต้บ้านเราแล้วต้องนึกถึงการทำบุญวันสารทเดือนสิบหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าชิงเปรตค่ะ ประเพณีเดือนสิบถูกสานต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีการเตรียมขนมต่าง ๆ ไปทำบุญอุทิศให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แต่จะมีใครเข้าใจที่มาหรือความหมายของขนมเดือนสิบบ้าง วันนี้ทีมงาน Wongnai หาดใหญ่ มีข้อมูลมาฝากทุกคนจ้า
วันสารทเดือนสิบคืออะไร ?

วันสารทเดือนสิบคือประเพณีของชาวภาคใต้ที่เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วแต่ยังตกอยู่ในเปรตภูมิเป็นคติของศาสนาพราหมณ์ที่ผสมกับประเพณีของพุทธศาสนา ในวันนี้ลูกหลานจะทำบุญโดยเตรียมขนมเดือนสิบ อาหาร และข้าวของเครื่องใช้จำเป็นอื่น ๆ ไปวัด และอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับและเปรตที่ไม่มีญาติด้วย
วันสารทเดือนสิบตรงกับวันที่เท่าไร ?
มีความเชื่อที่ว่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะได้รับการปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเรียกกันว่า “วันรับตายาย” เพื่อให้ได้มาขอรับส่วนบุญจากลูกหลานที่เตรียมอุทิศไว้ให้ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรกหรือ “วันส่งตายาย” ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 3 กันยายน และ 17 กันยายน 2562
ขนมวันสารทเดือนสิบมีอะไรบ้าง ?

ขนมเดือนสิบมีส่วนประกอบสำคัญคือแป้งและน้ำตาลทำเป็นรูปร่างต่าง ๆ หลัก ๆ ก็จะมีขนมเจาะหู ขนมลา ขนมบ้า ขนมพอง และขนมเทียนที่ชาวบ้านทำกันเป็นประจำในงานทำบุญเดือนสิบ ซึ่งความหมายของขนมเดือนสิบแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป
ขนมเจาะหู

บางพื้นที่จะเรียกขนมเจาะหูว่าขนมเจาะรูหรือขนมดีซำ เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำตาลโตนด ปั้นแป้งให้เป็นรูแล้วนำลงทอดในน้ำมันจนเหลืองทอง จะได้ขนมเจาะหูที่กรอบนอกนุ่มใน หอมน้ำตาลโตนด เป็นสัญลักษณ์แทนเงินไว้ใช้จ่ายค่ะ
ขนมลา

แป้งข้าวเจ้าผสมแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำตาลแล้วนำแป้งมาโรยเป็นเส้นฝอย ๆ บนกระทะใบบัว ได้เป็นขนมลาแผ่นใหญ่แบบเหนียวนุ่ม ซึ่งปัจจุบันมีการทำขนมลาให้น่ากินขึ้นด้วยการแต่งสีผสมอาหารและนำไปอบเป็นขนมลาอบกรอบอีกด้วย ขนมลาเป็นสัญลักษณ์แทนเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม

ขนมพอง

ขนมพองหรือข้าวพอง ทำจากข้าวเหนียวที่ผ่านการแช่น้ำ 1 คืน เมื่อนึ่งจนสุกแล้วตักใส่ในพิมพ์วงกลมและนำไปไปตากแดด เมื่อข้าวเหนียวแห้งดีแล้วนำไปทอด ขนมพองเป็นสัญลักษณ์แทนแพหรือพาหนะ ให้บรรพบุรุษใช้ในการเดินทาง
ขนมเทียน

ทำจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำตาลโตนดห่อใบตองแล้วนึ่งจนสุก ไม่มีไส้ แต่บางท้องถิ่นนิยมสอดไส้มะพร้าวปรุงรสหวานหรือถั่วเขียวปรุงรสเค็ม ขนมเทียนจะถูกห่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ จึงเป็นสัญลักษณ์ใช้แทนหมอนหนุน
ขนมบ้า

ขนมบ้าทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมแป้งข้าวเจ้าและมันเทศนึ่ง นวดให้เข้ากันแล้วปั้นเป็นลูกกลม ๆ แบน ๆ นำไปคลุกกับงาขาวแล้วทอด เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า เอาไว้เล่นสะบ้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ขนมต้มสามเหลี่ยม

ข้าวเหนียวที่ผัดกับกะทิแล้วห่อด้วยใบพ้อเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมจากนั้นนำไปนึ่ง เป็นขนมอีกชนิดที่ไม่มีความหมายทางความเชื่อแต่ขาดไม่ได้สำหรับชาวสงขลาเพราะจะนำขนมต้มนี้ไปวัดเกือบทุกครั้งเมื่อมีการทำบุญ โดยเฉพาะในวันสารทเดือนสิบที่นอกจากจะนำขนมต้มไปวัดแล้ว ยังนำกะปิ ข้าวสาร หรือของแห้งอื่น ๆ ที่อยากอุทิศให้กับเปรตชนห่อเหมือนขนมต้มสามเหลี่ยมไปทำบุญอีกด้วย
Tips

ในวันสารทเดือนสิบ ลูกหลานจะนำขนมเดือนสิบและอาหารต่าง ๆ ไปวางไว้ในบริเวณที่เรียกว่า “หลาเปรต” หรือศาลาเปรตซึ่งมีสายสิญจน์ที่พระสงฆ์จับเพื่อบังสุกุล และแบ่งขนมบางส่วนวางไว้หน้ากำแพงวัดสำหรับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วแต่มีบาปหนาหรือเปรตไร้ญาติที่เข้าวัดไม่ได้ เมื่อพระสงฆ์สวดบังสุกุลเสร็จก็จะถึงช่วงที่เรียกว่า “ชิงเปรต” ลูกหลานทุกคนทั้งคนแก่และเด็ก ๆ จะไปแย่งขนมและสิ่งของที่ศาลาเปรตอย่างตั้งใจ เพราะมีความเชื่อว่าหากใครได้กินของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว
นอกจากจะซื้อขนมวันสารทเดือนสิบไปทำบุญแล้ว ชาวใต้ไทยพุทธยังนิยมซื้อขนมเดือนสิบไปฝากคนเฒ่าคนแก่เพื่อให้ท่านได้นำขนมไปวัดในช่วงงานบุญวันสารทเดือนสิบอีกด้วยนะ และถ้าใครที่กำลังมาหาแหล่งขายขนมเดือนสิบหาดใหญ่ สามารถซื้อได้ที่ร้านขนมเจาะหูสูตรโบราณ (โทร. 081-957-0811) พิกัดหน้าค่ายเสนาณรงค์ หาดใหญ่ มีขนมวันสารทเดือนสิบครบทุกชนิด สดใหม่ทุกวัน แล้วอย่าลืมติดตามเพจเพื่ออัปเดตอาหารการกิน ท่องเที่ยว และบทความดี ๆ อีกมากมายได้ที่เพจร้านอร่อยหาดใหญ่ by Wongnai นะคะ