จริง ๆ แล้วแทบจะทุกวัฒนธรรมนั้นมีการเซ่นไหว้เทพเจ้าด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ประเทศไทยในช่วงตรุษจีน และในแต่ละวัฒนธรรมก็จะมีวิธีการเซ่นไหว้ที่แตกต่างกันไป การเผาเนื้อสัตว์ถวายเทพเจ้าในกรีกโบราณ, การจัดโต๊ะอาหารแบบโอเฟรนดาในเทศกาลวันแห่งความตายของเม็กซิโก แม้รายละเอียดการดีไซน์โต๊ะไหว้จะแตกต่างกัน แต่ทุกประเพณีมีจุดร่วมที่สะท้อนความพยายามของมนุษย์ในการสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติและแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ คำถามก็คือ สิ่งที่เราไหว้นั้นส่งไปถึงเทพเจ้าที่เราเคารพรักไหมนะ?
อาจจะดูเป็นคำถามกวน ๆ แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นสะท้อนถึงอะไรได้บ้าง? ทั้ง ๆ ที่เรารู้ว่าอาหารไม่ได้ลอยขึ้นฟ้าไปสรวงสวรรค์ แล้วทำไมเรายังทำแบบนี้กันอยู่? ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งที่เราทำนั้นเป็นเรื่องของประเพณีที่สะท้อนความเคารพ การแสดงน้ำใจ การขอพร ต่อบรรพบุรุษในเชิงจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่เรารู้สึกต่อกัน ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของกฎฟิสิกโลก
มนุษย์นั้นต้องการตัวกลาง
มนุษยศาสตร์อธิบายว่า พิธีกรรมมีไว้เพื่อสร้าง ‘ตัวกลาง’ ระหว่างมนุษย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติดูเป็นรูปธรรมมากขึ้น หากนึกไม่ออกก็ลองนึกถึงว่าเวลาเราคิดถึงใครสักคนการคิดในจินตนาการเราอาจจะทำได้ในระดับนึง แต่ถ้าหากมีสิ่งของหรือรูปภาพที่เป็นตัวแทนของสิ่งที่เรานึกถึง ความรู้สึกนั้นมันก็จะฟูลฟีลมากขึ้น นั่นคือความหมายว่าทำไมเราต้องทำให้มันเป็นรูปธรรม
นอกเหนือจากนั้นเมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกยกะดับไปสู่พิธีการ ความรู้สึกของเราไม่ได้แค่มีแค่ความคิดถึงเท่านั้น แต่มันมีทั้งความเคารพ ความหวาดกลัว การอ้อนวอน ซึ่งพิธีกรรมต่าง ๆ ก็จะแตกต่างรูปแบบกันไป ในมุมจิตวิทยา การที่มนุษย์ต้องการตัวกลางนี้เพราะเราต้องการความมั่นคงทางจิตใจ และความรู้สึกที่ “พอจะมีอะไรในชีวิตที่ควบคุมได้” ในโลกที่ไม่มีความแน่นอน
มีตัวอย่างในสมัยอียิปต์โบราณ ชาวอียิปต์เชื่อว่าเมื่อมอบอาหารให้เทพเจ้า เทพจะได้รับ "พลังงาน" จากอาหารนั้นเพื่อช่วยดูแลจักรวาลให้อุดมสมบูรณ์ (และสุดท้ายนักบวชก็เก็บของเซ่นไหว้ไว้) นอกจากจะสร้างความหวังและความเชื่อมั่นให้เหล่าผู้คนแล้วยังช่วยลดความวิตกกังวลอีกด้วย
แท้จริงแล้วเราส่งต่อให้คนข้าง ๆ
หากจะถามว่า แล้วอาหารมันไปถึงเทพเจ้าจริงไหม? เราก็คงรู้กันอยู่ว่ามันไม่ได้เป็นไปแบบนั้นในทางปฏิบัติ แต่มันคือความหมายในทางจิตวิญญาณ ความเชื่อและความตั้งใจต่างหากที่ส่งไปถึง และเราไม่ได้ส่งไปถึงแค่เทพเจ้าหรือบรรพบุรุษอย่างเดียว แต่เราส่งไปหาคนในครอบครัว คนรอบข้าง ที่ได้ทำพิธีกรรมด้วยกันอีกด้วย จนเกิดเป็นความกลมเกลียว และแบ่งปันความรู้สึกต่าง ๆ ร่วมกัน
การวิเคราะห์เชิงมานุษยวิทยาพบว่า มนุษย์มักสร้างความหมายให้กับการกระทำ เช่น การไหว้เป็นการแสดงออกถึงความเคารพ การขอพร หรือแม้กระทั่งการปลอบใจตัวเองว่า "เราทำดีแล้ว" พูดง่าย ๆ คือ ไม่ว่าจะไปถึงหรือไม่ เราเชื่อว่ามันมีผลกับชีวิตของเรา เพราะจริง ๆ แล้วเราไมไ่ด้ใช้ชีวิตอยู่บนความจริงที่เห็นเพียงอย่างเดียว
สรุป
อาหารที่เราเซ่นไหว้นั้นไปถึงเทพเจ้าจริงไหม คำตอบก็อาจจะทำหลายคนรู้สึกเซ็ง เพราะเราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ในเชิงจิตวิญญาณ มันคือเครื่องมือที่เชื่อมโยงความเชื่อ ความหวัง ความรู้สึกที่มากมายหลายอย่างของมนุษย์ ทั้งหมดมันคือการสะท้อนความซับซ้อนของมนุษย์ที่พยายามหาความหายให้กับชีวิต
แล้วคุณล่ะ เคยสำรวจตัวเองไหมว่า เราทำสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไร หรือบางทีเราไม่ได้ส่งอะไรไปหาเทพที่ไหน แต่เราส่งคำปลอมประโลมกลับมาหาจิตใจของเราเอง – ด้วยความคิดถึงอากง
#Wongnai #ตรุษจีน #ไหว้เจ้า