กลายเป็นชิ้นงานประจำปีไปแล้วที่เราต้องมาเขียนถึงเทรนด์อาหารของแต่ละปี ย้อนไปในปี 2021 เราสรุปเอาไว้ และแน่นอนว่าหลายเรื่องเกิดขึ้นจริง และแน่นอนว่าหลายเรื่องกลายเป็นมารยาททางสังคมไปเลยด้วยซ้ำ อย่างเรื่องของ Must Reservation การจองดินเนอร์กลายเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากร้านไฟน์ไดนิ่งจองยากแล้ว ในปีก่อนเรายังเห็นเทรนด์ของการจองแม้แต่ในร้านปิ้งย่างเกาหลี และซูชิสายพาน ที่ถ้าไม่จองแล้วมาลุ้นหน้างานมี 3 ชั่วโมงให้เห็นมาแล้วในการรอ และกลายเป็นพาลทำให้อาหารไม่อร่อยไปเสีย
หรือเรื่องของ Food Sustainable และ Upcycled Foods ที่กลายเป็นเรื่องสำคัญที่คนกินอย่างเราต้องคิดตาม และมีรางวัลสีเขียวเกิดขึ้นในวงการอาหารอย่างจริงจัง หรือดาวเขียวใบโคลเวอร์ 5 แฉก เช่นเดียวกับ Local Goes Mainstream คนไทยหันมาใส่ใจกินอาหารไทย หรืออาหารที่เน้นวัตถุดิบในประเทศกันมากขึ้น อย่างชีสที่ผลิตในภาคเหนือของประเทศไทยก็ไปไกลถึงขั้นผลิตบลูชีสกันแล้ว
ไม่ต้องนับรวม Ghost Kitchen และ Food Delivery ที่โตขึ้นเพราะทุกคนอยู่บ้าน แต่ล่าสุดมันขยายไปสู่วงการ Mart แล้วในปี 2022 เราแค่คลิ๊กทุกอย่างก็มาส่งถึงบ้าน
สำหรับในปี 2022 จะมีเทรนด์อาหารอะไรบ้าง เราจะมาเล่าให้ฟัง ลองอ่านกันดูว่าเทรนด์อาหารในปีนี้จะมีทิศทางอย่างไรกับ 22 เทรนด์อาหารที่น่าสนใจ ใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยคอมเมนต์กลับมาได้เลยจ้า
1Bars transform to Restaurants
ในปีนี้เราจะไม่เห็น “บาร์” หรือ “สถานบันเทิง” อีกต่อไป หลังจากมาตรการของภาครัฐตลอดปี 2021 ระบุให้ “ร้านที่จดทะเบียนเป็นสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ปิดให้บริการไปก่อน” นั่นหมายความว่าปิดบริการมานับตั้งแต่ล็อกดาวน์เมื่อต้นปี 2021 แน่นอนว่ามีร้านส่วนหนึ่งจดทะเบียนเป็น “ร้านอาหาร” ตั้งแต่ต้น แต่ยังไม่เปิดให้บริการ เพราะไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ จนเมื่อคลายมาตรการในรอบล่าสุด “บาร์” ที่จดทะเบียนเป็น “ร้านอาหาร” ได้กลับมาเปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนถึง 3 ทุ่ม ก่อนขยายเป็น 5 ทุ่ม แน่นอนว่าส่วนใหญ่เลือกเปิดช่วงที่อนุญาตขายได้ถึง 5 ทุ่ม เพราะคุ้มค่ากับต้นทุนในการบริหารจัดการ ความน่าสนใจคือ บาร์ส่วนใหญ่มีใบอนุญาตร้านอาหาร เพราะมีครัวของตัวเอง และมีอาหารขาย จึงต้องจดทะเบียนในแบบนี้ ในอนาคตเราอาจจะเห็นการจดทะเบียนเป็นร้านอาหารแบบ 100 % ก็ได้ใครจะรู้ได้
2Must Reservation and Cancellation Policies
ตามที่เราเกริ่นนำว่า “การจอง” มีความสำคัญอย่างจริงจัง การวอล์กอินไปกินข้าวไม่ใช่เรื่องผิดบาป เพียงแต่เราจะอดทนรอคิวที่ผ่านการจองในระบบออนไลน์มาได้อย่างไร การกินอาหารนอกบ้านในทุกวันนี้จึงควรจองไปก่อน ไม่ว่าร้านนั้นจะเป็นร้านคิวยาวหรือไม่มีคิว เพื่อป้องกันการดราม่าของเราต่อร้านอาหาร เช่นเดียวกับแบรนด์ดังที่เปิดใหม่ในปี 2021 อย่าง Saemaeul ปิ้งย่างแบรนด์เกาหลีที่ให้จองผ่านออนไลน์ทุกต้นเดือน ส่วนคนที่วอล์กอินทำได้ผ่านการสแกนหน้าร้านแล้วทางร้านจะแจ้งเตือนว่าถึงคิวเรา เราเคยลองครั้งแรก 4 ชั่วโมง อีกครั้งไม่ถึงชั่วโมง แล้วแต่ดวงเลย การจองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับไฟน์ไดนิ่งที่ส่วนใหญ่จองไปก่อนอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มออฟชั่นใหม่เรื่องการหักเงินมัดจำ เพราะการ No Show ทำให้ร้านสูญเสียรายได้และโต๊ะสำหรับคนที่ต้องการประสบการณ์กับร้านจริง ๆ
3Mart Delivery
ฟู้ดเดลิเวอรีเติบโตขึ้นตามสถานการณ์ที่ทุกคนออกไปไหนได้ไม่สะดวก เช่นเดียวกับ LINE MAN ที่เปิดให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว และยอดขายก็พุ่งขึ้นตามโครงการคนละครึ่งที่สามารถนำมาใช้กับเดลิเวอรีได้ ซึ่งแน่นอนว่าฟู้ดเดลิเวอรีเตรียมเข้าสู่ยุคที่เจาะการให้บริการลงไปถึงระดับอำเภอ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการบริการได้ในทุกพื้นที่ แต่ความน่าสนใจของการเดลิเวอรีสำหรับเราอยู่ที่ Mart Delivery คงต้องบอกว่า 7 Eleven ให้บริการเจ้าแรก ๆ ในรูปแบบของการให้พนักงานประจำร้านเป็นผู้ส่ง แต่ล่าสุดบรรดาแอปฯ ต่าง ๆ ก็เริ่มให้บริการในส่วนนี้เพิ่มนอกจากฟู้ดเดลิเวอรี เพราะความต้องการของตลาดไม่ได้จำกัดที่อาหารปรุงสำเร็จอีกแล้ว แต่ยังมีความต้องการซื้อวัตถุดิบไปปรุงเอง หรือความต้องการซื้อของกิน ของใช้ แต่ไม่อยากไปห้างหรือไฮเปอร์มาร์ทด้วยตัวเอง
4Veri Peri : Pantone of 2022
เรื่องของ Pantone บางครั้งก็แทบไม่เกี่ยวกับวงการอาหารมากขนาดนั้น แต่ความน่าสนใจสำหรับสีในปีนี้ก็คือ มันใกล้เคียงกับสีของลาเวนเดอร์มาก เราเชื่อว่ามีหลายร้านเตรียมทำเมนูโทนสีนี้ออกมาหลังจากที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อหลายปีก่อนกับสารพัดเมนูจากอัญชันที่โดนกรดแล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วง เราคาดการณ์ว่า น่าจะมีเมนูจากอัญชันและลาเวนเดอร์ออกมาในปีนี้ แต่ที่สร้างเซอร์ไพรส์แล้วก็คือร้านอาหาร NARA Thai Cuisine ที่เปลี่ยนเซตจานชามใหม่ทั้งหมดเป็นโทนสี Veri Peri เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
5Flavor of the year 2022
วัตถุดิบอาหารที่กำลังจะมาในปีนี้ตามที่ The New York Times และ Whole Foods Market เชนซุปเปอร์มาร์เก็ต ได้สรุปมามี ส้มยุซุ ดอกชบา และเห็ด ที่เราว่าน่าสนใจเรื่องของกลิ่นรส
สำหรับวงการเครื่องดื่มปีก่อน เห็นได้ชัดมากผ่าน “กาแฟส้ม” โดยเฉพาะการนำเอา ส้มยุซุ (Yuzu) มาใช้เพื่อเพิ่มคาแรกเตอร์ของครีเอทีฟคอฟฟีที่มีมิติมากกว่าเพียงแค่น้ำส้มธรรมดา แน่นอนว่าในเอเชียเป็นเรื่องธรรมดามาก แต่ก็ต้องยอมรับเรื่องกลิ่นและรสชาติของยุซุจริง อย่างราเมงญี่ปุ่นที่บางเจ้าใส่ส้มยุซุมาเพิ่มกลิ่นหอมให้น้ำซุป
ดอกชบา (Hibiscus) ได้รับการอวยยศจากนิวยอร์กไทม์ว่าคุ้มค่าทุกการจ่ายเงินยิ่งกว่ายุซุ ด้วยสีสันและกลิ่นรสที่จะถูกนำไปใช้กับค็อกเทล และม็อกเทล แน่นอนว่าตอนนี้มีคนนำเอาดอกชบาไปทำชา แยม และโยเกิร์ต เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และ เห็ด (Mushrooms) ไม่ต้องพูดถึงกระแส Everything Truffle ในปีก่อน แต่ความจริงเห็ดคือ Super Food มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ด้วย ที่สำคัญยังเป็นทางเลือกให้กับคนที่ดูแลสุขภาพแต่ไม่เห็นด้วยกับ Plant Based Food ที่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม ก็เหมือนเรากิน Processed Food
6Famous Chef Coming
นี่คือเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นในทุกปี ด้วยความที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เชฟจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เป็น Food Hub เหมือนอย่างสิงคโปร์ และฮ่องกง แต่บ้านเราก็มีศักยภาพที่ทางภาครัฐผลักดันผ่านเรื่องการท่องเที่ยว ทำให้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา Le Normandie by Alain Roux ได้ตัวเชฟ Alain Roux เชฟเบอร์ใหญ่จากอังกฤษมาช่วยพัฒนาทุกด้านของร้าน นอกจากนี้ยังมีเชฟ Alessandro Frau เชฟเจ้าของร้านอิตาเลียนในภูเก็ต เตรียมมาเปิดร้าน Acqua ในกรุงเทพฯ หรือการเตรียมปักหมุดของ Villa Frantzén ร้านอาหารโดยเชฟ Björn Frantzén เชฟชาวสวีดิช เจ้าของร้าน Frantzén และ Zén ดีกรีร้านอาหารระดับ 3 ดาว ก็มีแววว่าจะเปิดที่เย็นอากาศในปีนี้ เพราะเปิด Account IG และลงโลเกชั่นร้านไว้หมดแล้ว
7Robusta is coming
นี่คือสิ่งที่ The New York Times บอกมา และเราเชื่อว่าจริงตามนั้น เพราะในบ้านเรานำเทรนด์ไปแล้วตั้งแต่กลางปี 2021 หลังจากที่คุณเคเลบ จอร์แดน นักพัฒนากาแฟเมืองน่านที่ปลุกปั้นกาแฟมณีพฤกษ์ เริ่มปล่อยเมล็ดโรบัสต้าที่เขาโปรเสสออกสู่ตลาดร่วมกับ Roots มาแล้ว ล่าสุดเรายังได้ลองดื่มเมล็ดกาแฟโรบัสต้าจากภาคใต้ที่คั่วโดย a cup of joe ที่เราสั่งผ่าน Brew Box เอาเป็นว่าเราเห็นเมล็ดกาแฟโรบัสต้ามากขึ้นในไทย ส่วนทางนิวยอร์กสรุปว่าด้วยอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้โรบัสต้าเป็นที่สนใจเพราะเก็บเกี่ยวได้ง่ายกว่า และปลูกเยอะทางเวียดนาม ซึ่งมีร้านกาแฟเวียดนามเปิดมากขึ้นในอเมริกา ทำให้คนอเมริกันได้ดื่มกาแฟโรบัสต้ามากขึ้น
8Pet Friendly
ร้านอาหาร และคาเฟ่จะให้การต้อนรับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น หลังจากที่ครอบครัวสมัยใหม่จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะดูแลสัตว์เลี้ยงประหนึ่งลูกรัก ไปไหนก็ต้องพาลูกไปด้วย เราจึงพบคำถามจากลูกค้าไม่น้อยว่า นำสัตว์เลี้ยงไปได้ไหม ซึ่งปัจจัยข้อนี้กลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ร้านอาหารและคาเฟ่จำนวนไม่น้อยประกาศตัวเป็น Pet Friendly ต้อนรับสัตว์เลี้ยง บางร้านจำกัดให้นั่งได้เฉพาะโซนเอ้าท์ดอร์ แต่นั่งก็เพียงพอแล้วที่บรรดาลูกค้าที่ติดลูกจะแฮปปี้ เราลองลิสต์ร้านมาให้ซึ่งหลายคนอาจจะเคยพาลูกไปมาแล้ว อาทิ CRAFT, H_Dining, Blue Parrot, Quince, Luka, The Wood Land และ NOV x IRL Coffee BAR
9Solo Dining
“กินคนเดียว” เกิดขึ้นจริงแล้ว ซึ่งเราเข้าใจปัญหานี้ เคยไหมกับการโหวตร้านอาหารร่วมกับเพื่อนแล้วเราแพ้แล้วต้องกินอาหารที่เราไม่ชอบ หรือการจองร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งแล้วพบว่าทางร้านขอให้เราจ่ายสำหรับ 2 ที่นั่ง เพียงเพราะร้านไม่อยากเสียที่นั่งไป เราว่าเทรนด์นี้เกิดขึ้นชัดเจนในประเทศญี่ปุ่น เราจะเห็นได้ว่าทุกร้านมีที่นั่งสำหรับคนเดียว หรือการมีอยู่ของซีรีส์ที่พูดถึงการกินอาหารคนเดียว อาทิ Samurai Gourmet, Kantaro: The Sweet Tooth Salaryman, Solitary Gourmet และ The Road to Red Restaurant List ล่าสุด Yakiniku Lite ร้านยากินิคุแบรนด์ญี่ปุ่นก็มาเปิดในบ้านเราและมีที่นั่งเฉพาะคนที่มาคนเดียวแล้ว
10Borderless Cuisine
เทรนด์ของอาหารไร้สัญชาติจะมาแบบเต็มตัว เชื่อว่าหลายคนพยายามนิยามคำจำกัดความของอาหารของเชฟที่เราไปกิน แต่แท้จริงแล้วเชฟจำนวนไม่น้อยออกตัวว่าอาหารที่ทำออกมานั้น พวกเขาไม่ได้จำกัดความมัน เพียงแต่นำเสนอ “วัตถุดิบ” ที่พวกเขาชื่นชอบผ่านกระบวนการปรุงอาหารอะไรก็ได้ที่ทำให้ “วัตถุดิบ” นั้นออกมาดีที่สุด ซึ่งเป็นแนวคิดของการทำอาหารสมัยใหม่ที่ไม่ต้องการจำกัดตัวเองอยู่ในคอนเซปต์อาหารชาติใดชาติหนึ่ง ขอให้ได้ทำอาหารอร่อยออกมาเป็นพอ จะเรียกว่า Fusion หรืออะไรก็แล้วแต่เพราะเชฟสมัยใหม่ไม่มีใครแคร์แล้วว่าจะเรียกอาหารของเขาว่าอะไร
11Plant-Based Everything
เนื้อสัตว์จาก Plant-Based เข้าถึงได้ง่ายขึ้นทั้งภายในร้านอาหารและซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้แต่ร้านฟาสต์ฟู้ดที่ก็หันมาสนใจ Plant-Based ก่อนหน้านี้เนื้อสัตว์จำกัดอยู่เพียงสัตว์บก แต่ล่าสุดขยายไปถึงซีฟู้ดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ทูน่า แซลมอน แม้แต่เชฟดังอย่าง Gordon Ramsey ก็ยังทำ Plant-Based Bacon ส่วนบรรดาร้านฟาสต์ฟู้ดก็มาลุยตลาดไก่ทอด Plant-Based กันอย่างจริงจัง อาทิ Burger King, A&W, KFC และ McDonald
12Korean Soft Power
เราคงต้องบอกว่า “แบคจังวอน” (Paik Jong-won) คือผู้ปลุก Korean Soft Power ของฝั่งอาหารและเครื่องดื่มของเกาหลีใต้อย่างแท้จริง หลังจากที่ล่าสุดลุงแบคปล่อย Hanwoo Rhapsody มหากาพย์เนื้อเกาหลี ออกมาทาง Netflix พาเจาะลึกเรื่องเนื้อวัวในเกาหลี แน่นอนว่าทำให้เราต้องสั่งเนื้อวัวมาทำสเต๊กกินถึงบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ลุงแบคได้สร้างซอฟต์เพาเวอร์ผ่านสารคดี Paik's Spirit กินดื่มกับแบคจงวอน ที่พาไปรู้จักสปิริตของเกาหลีทั้งโซจู เบียร์ และเหล้าสมุนไพรที่เชื่อมโยงกับการกินอาหาร รวมถึง Korean Pork Belly Rhapsody มหากาพย์หมูสามชั้น และ Korean Cold Noodle Rhapsody มหากาพย์บะหมี่เย็นเกาหลี ที่ปล่อยไปเมื่อปี 2020
13Potato milk
นี่คือเทรนด์ใหม่การดื่มนมของคนแพ้นมวัว และสาย Plant-Based นั่นคือ นมมันฝรั่ง (Potato Milk) นมทางเลือกที่นำเอามันฝรั่งมาต้มแล้วคั่นเอาแต่น้ำ ซึ่งตอนนี้มีแบรนด์ Dug ของสวีเดนผลิตและขายที่ยุโรปและจีน หลังจากที่ปีก่อน Oat Milk และ Almond Milk มาแรงมาก
14Tasty Tableware
หมดยุคของแพ็คเกจจิงรักษ์โลกแล้ว เพราะสุดท้ายก็ยังต้องใช้เวลาย่อยสลายอยู่ดี เลยมีแนวคิดเรื่องการทำภาชนะกินได้เลยดีกว่า ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการใช้ภาชนะแบบ Single-use และลดการใช้พลาสติกแล้วในอนาคตภาชนะกินได้ยังต้องทำให้รสชาติดีด้วยเพื่อให้กินได้แบบไม่เหลือขยะ แน่นอนว่าตอนนี้เราเห็นการนำเอากาบหมากมาใช้ การอัดกากกาแฟเป็นภาชนะ ในอนาคตภาชนะกินได้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอย่างแน่นอน
15Mapping Dining
ความจริงแล้ว Mapping Dining หรือ Digital Dining มีมาสักพักแล้วในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น Le Petit Chef เชฟจิ๋วที่จะมาปรุงอาหารและเสิร์ฟให้เรากินผ่านเรื่องราวในรูปแบบ 3D Mapping ซึ่งทำกับโรงแรม Park Hyatt Bangkok และ Sheraton Grande Sukhumvit ซึ่งมี 25 โลเกชั่นทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีทีมของ Digital Delicious ที่เคยจัดกับโรงแรม Sheraton Grande Sukhumvit และล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมาทางห้องอาหาร Vertigo Too ของโรงแรม Banyan Tree Bangkok ก็ได้เปลี่ยนห้องอาหารในชื่อใหม่ว่า Worldtigo ในแบบ Digital Dining Experience เป็นการชั่วคราว เสิร์ฟในรูปแบบ Theme Dinner Journey พาเราเดินทางไปกินอาหารในแต่ละมุมโลก นอกจากนั้นเรายังเห็นว่ามีงานอีเวนต์พิเศษไม่น้อยที่นำเอา Mapping มาสร้างความตื่นตาตื่นใจให้คนกิน
16Functional Bubbles and Alcohol-free or Low ABV Cocktails
ฝั่งของเครื่องดื่มมีเทรนด์ที่น่าสนใจอย่าง Functional Bubbles น้ำซ่าที่มีประโยชน์มากกว่าน้ำอัดลม และ Alcohol-free or Low ABV Cocktails ค็อกเทลที่แอลกอฮอล์เบาดื่มง่าย ไปจนถึงม็อกเทล
สำหรับน้ำซ่าที่มีประโยชน์ในบ้านเรามีเทรนด์ของคราฟต์โซดาเข้ามาพอสมควร แต่ล่าสุดทาง Whole Foods Market สรุปออกมาว่าในปีนี้น้ำซ่าจะมีดีมากกว่ารสชาติ แต่จะมีวัตถุดิบที่มี Probiotics, Prebiotics และ Botanicals ที่มากขึ้น ส่วนค็อกเทลที่นุ่มเบาไปจนถึงไม่มีแอลกอฮอล์เลยแบบม็อกเทลจะมาแรง ด้วยความที่คนในยุคนี้ชอบรสหวาน และสีสันที่คัลเลอร์ฟูลเหมาะกับการถ่ายรูปอัปโซเชียลมากกว่าดื่มเอาเมา โดยทางฝั่งบาร์ก็หันมาทำคราฟต์ซีรัป และทำเฟอร์เมนต์รสชาติใหม่ ๆ มาตอบโจทย์คนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง จะมาถ่ายรูปสวยอย่างเดียวก็ไม่ได้
17TikTok Effect
ล่าสุดแอปพลิเคชัน TikTok มียอด Subscribe ผู้ใช้แอปฯ ทั่วโลกทะลุ 1 พันล้าน ในปี 2021 และแน่นอนว่าสูตรอาหารอะไรที่ดูน่ากินก็ถูกแชร์และมียอดผู้เข้าชมสูงเป็นประวัติการณ์ อาทิ Pesto Eggs ที่มียอดผู้ชมถึง 12 ล้านครั้ง เช่นเดียวกับ Air-Fryer menu ที่เชื่อว่าตอนนี้แทบทุกบ้านมีหม้อทอดลมร้อนกันหมดแล้ว เรายังเห็นเมนูแนววีแกนอย่าง Corn Ribs ที่นำข้าวโพดมาทำคล้ายซี่โครง หรือ Vegan Bacon เบคอนจากแครอท แม้แต่เมนูที่ดูธรรมดาอย่าง Baked Feta Pasta ก็มียอดผู้ชมสูงขึ้นเกือบ 4,000 เท่าจากปี 2020 เช่นเดียวกับเมนู Dalgona recipes ที่เพิ่มขึ้นกว่า 20 ล้านวิว หลังจากซีรีส์ Squid Games ฉายจบลง นี่คือพลังโซเชียลของ TikTok ที่ยังคงอยู่กับเราต่อไปในปีนี้
18Cashless and QR Code Menu
อย่างที่ทราบว่าในยุคโควิด ทำให้มีการลดการสัมผัสให้มากที่สุด ทำให้ร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์ ปรับตัวให้กลายเป็น Cashless แทบจะ 100 % แล้ว ใช้การโอนให้มากที่สุด มีบ้างที่แอปฯ ของธนาคารล่มบ้างเป็นครั้งคราว แนะนำให้พอเงินสดไว้บ้างพอประมาณ เพราะมันเคยเกิดขึ้นแล้วสังคมไร้เงินสดที่บางครั้งเงินสดก็ยังจำเป็น เช่นเดียวกับเมนูอาหารที่ตอนนี้ร้านก็ให้สแกน QR Code กันแล้ว เพราะเล่มเมนูเองก็ผ่านหลายมือ การสแกนเองทำให้ลดการสัมผัสเช่นกัน น่าเสียดายที่เราอาจจะจะไม่ได้เห็นเล่มเมนูสวย ๆ แล้วก็เป็นได้ในอนาคต
19Restaurants open only 2-3 days per week
ร้านอาหารจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเปิดให้บริการเพียงไม่กี่วันต่อสัปดาห์ ด้วยหลายเหตุปัจจัย ทั้งพนักงานไม่เพียงพอ ลดต้นทุนจากการหมุนเวียนพนักงาน รวมถึงลดความเสี่ยงของทีมพนักงานจากการต้องเจอลูกค้ามากหน้าหายตา แต่น่าสนใจตรงที่ในต่างประเทศลดวันเพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและให้บริการได้ดีขึ้น ล่าสุดร้านน่ารักอย่าง Pastale ก็กลับมาเปิดและเปิดขายเพียง 2 วัน และจำกัดเพียงวันละ 2 รอบ รอบละ 8 คน ไม่ใช่ลดต้นทุนพนักงาน แต่คุณเบน เจ้าของร้าน ตั้งใจทำอาหารเองทุกจานอยู่แล้วมาตั้งแต่ร้านแรก เมื่อเปิดอีกครั้งก็ยังเหมือนเดิม
20Photogenic Cafe and Photobooth
คาเฟ่กับการถ่ายรูปกลายเป็นของคู่กันไปแล้ว คาเฟ่จำนวนไม่น้อยที่เปิดให้บริการในช่วงหลังจึงต้องมีมุมให้ถ่ายรูป เราว่าไม่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น แต่มันกลายเป็นเทรนด์ของโลก แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือการถ่ายภาพในเชิงพาณิชย์ของแบรนด์สินค้าที่ไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของร้านจนกลายเป็นดราม่ามากมาย นอกจากคาเฟ่ถ่ายรูปสวยแล้ว คาเฟ่ไม่น้อยก็ต้องเพิ่มออฟชั่นตู้ถ่ายภาพให้ลูกค้าด้วย ซึ่งกลายเป็นกิจกรรมหนึ่งของการมาคาเฟ่ไปแล้ว
21Ultra Urban Farming
เรื่องของฟาร์มคนเมืองจะมีความล้ำสมัยมากขึ้น ปีก่อนเราพูดถึง Vertical Farming ฟาร์มแนวตั้งจะมีมากขึ้นเนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนส่วนใหญ่ปัจจุบันพักอาศัยภายในคอนโดมีเนียม แน่นอนว่ามีคนทำแล้วหลังจากโควิด เพราะถือเป็นกิจกรรมคลายเครียดแบบหนึ่ง และปีนี้ Whole Foods Market ก็สรุปเรื่องนวัตกรรมการเกษตรที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็น Indoor Farming หรือการปลูกพืชแบบใช้น้ำอย่าง Aquaponics แต่สิ่งที่ Whole Foods Market ระบุมายังไม่น่าสนใจเท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราอย่าง LED Farm ที่ปลูกผักด้วยแสงจากหลอดไฟแอลอีดีในระบบปิด ที่เรียกว่า Plant Factory with Artificial Lighting หรือ PFAL ซึ่งเกิดขึ้นใจกลางเมืองเลยที่ซอยเจริญกรุง 78 นี่เอง
เครดิตภาพ : LED Farm
22Smaller Menus
ความจริงร้านอาหารเฉพาะทางเกิดมาก่อนหน้านี้ เราจะเห็นบรรดาเชนร้านอาหารญี่ปุ่นที่มาพร้อมกับการขายเมนูเก่งแค่เพียงเมนูเดียว เชี่ยวชาญเมนูเดียว อย่างร้านราเมง ร้านหมูทอด แต่สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปนิดหน่อย ร้านที่เปิดใหม่เองก็ใช้จุดนี้เป็นจุดขาย แต่อีกปัจจัยก็คือเทรนด์ของการสร้างเมนูที่มีตัวเลือกให้คนกินน้อยลง เพื่อคุมต้นทุนวัตถุดิบในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่อีกปัจจัยก็คือความตั้งใจของร้านเองที่อยากเป็น Specialist ในเมนูนั้น ๆ ในปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นร้าน Matcha Specialist, Ramen Specialist หรือ Pasta Specialist เกิดขึ้นมากมาย แน่นอนว่าแต่ละร้านก็จะมีไซด์ดิสด้วยเพื่อเติมเต็มให้กับลูกค้าทุกแบบ เพียงแต่ไม่ได้มีเป็นหลายสิบเมนูแบบเดิม บางครั้งก็มาในรูปแบบของเมนูประจำวันมากกว่าตามวัตถุดิบที่มี
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- 21 Food Trends in 2021 เทรนด์อาหารที่จะมาในปีนี้
- 20 เทรนด์อาหารที่จะได้รับความนิยมในปี 2020