วันตรุษจีนปีมังกรทอง 2567 กำลังใกล้เข้ามาอีกครั้ง หลายคนอาจสงสัย ตรุษจีนคืออะไร ใช่วันที่เขาเล่นประทัดกันอย่างเดียวจริง ๆ หรือเปล่า? ทำไมอากงอาม่าถึงต้องตื่นมาตั้งแต่เช้ามืด เพื่อไหว้เจ้าด้วย? หรือที่เขาบอกว่า อย่าทำความสะอาดบ้านในวันนี้นี่มันยังไงกันแน่? Wongnai พร้อมไขทุกข้อข้องใจ! กับ คัมภีร์ตรุษจีน 2567 เตรียมอะไร ไหว้อย่างไร พร้อมเคล็ดลับให้เฮงตลอดปี! ให้ปีใหม่จีนปีนี้ของเพื่อน ๆ มีแต่ความเฮง เฮง เฮง
คัมภีร์ตรุษจีน 2567 เตรียมอะไร ไหว้อย่างไร พร้อมเคล็ดลับให้เฮงตลอดปี!
1.ประวัติวันตรุษจีน ปีใหม่ที่เต็มไปด้วยเสียงประทัดแห่งความสุข
“ตรุษจีน” หรือที่คนจีนจะเรียกกันว่า “ชุนเจี๋ย” “”หรือ “ชุงเจ๋” ถือเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวจีนที่สืบทอดกันมายาวนานหลายร้อยปีแล้ว ในอดีตจะมีอีกชื่อเรียกหนึ่งคือ "เทศกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิ" เพราะรอบของฤดูกาลมีการเวียนครบรอบจากฤดูหนาว สู่ฤดูใบไม้ผลิที่การเกษตรกรรมจะได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เขาก็เลยยึดถือกันว่า มันคือการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ จนกลายเป็น “วันปีใหม่จีน” หรือ “วันตรุษ” ที่แปลว่า การตัดขาด ซึ่งก็หมายถึงการทิ้งปีเก่าไว้เบื้องหลัง เพื่อหันหน้าและก้าวเข้าสู่ปีใหม่นั่นเอง
แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าการเฉลิมฉลองปีใหม่ ย่อมต้องมีการโละทิ้งสิ่งเก่าออกไป ทั้งการทำความสะอาดบ้านขนานใหญ่ การตกแต่งประดับประดาด้วยอักษรมงคล การไหว้เจ้าไหว้บรรพบุรุษ ไปจนถึงการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีสดใส โดยเฉพาะ “สีแดง” อันเป็นสีแห่งความมงคลรุ่งโรจน์
2.“ประทัด” ความปัง ที่ไม่ได้หมายความแค่เรื่องเลิศ ๆ

ตรุษจีนกับ “ประทัด” นี่เป็นของคู่กันจริง ๆ นะ สมัยเด็ก ๆ คนไทยเชื้อสายจีนทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีกับ “กระเทียม” หรือ “ประทัดหมุน” ที่บอกเลยว่าเป็นของดีที่ต้องได้เล่นสักครั้ง ส่วนสายท้าทายก็ต้องได้ลอง “ประทัดสี” หรือ “ประทัดหนู” กันบ้างแน่ ๆ นอกจากนี้ ตลอดทั้งวันไหว้ เรามักจะได้ยินเสียง “ประทัดจีน” ดังสนั่นหวั่นไหว พร้อมเศษซากกระดาษสีแดงปลิวกระจายไปทั่ว แล้วมันจุดทำไมกันนะ?
ในอดีต “ประทัด” เกิดขึ้นมาจากไม้ไผ่ ที่ถูกโยนเข้าไปในกองไฟให้เกิดเสียงดังปัง ซึ่งด้วยเสียงดังของมันนี้เอง จึงมีความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาว่า มันจะช่วยข่มไล่ให้ศัตรูและภูมิผีปีศาจกลัว และหนีหายกันไปได้นั่นเอง ซึ่งจากประทัดง่าย ๆ ในวันนั้น วิวัฒนาการของมันยังไปไกลถึงการเป็นอาวุธที่ใช้ในสงคราม ก่อนจะดัดแปลงมาเป็นประทัดหลากหลายรูปแบบให้ได้ประลองความกล้ากันในปัจจุบัน รวมถึงประทัดปล้องแดงแผงยาวที่เราคุ้นเคยกันอีกด้วย
3.“อั่งเปา” ซองแดงเหลือบทอง ของที่ทุกคนเห็นแล้วต้องตาลุกวาว

ของมันต้องได้ในวันตรุษจีนแน่นอนว่าต้องเป็นอั่งเปานั่นเอง คำว่า “อั่งเปา” หมายถึงซองสีแดง ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว การให้อั่งเปาจะให้กับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า โดยคนที่เป็นผู้ใหญ่ หรือมีงานการทำแล้ว ซึ่งนอกจากซองสีแดงที่สื่อถึงความโชคดีแล้ว ผู้ให้มักจะใส่เงินเป็นจำนวนที่มีเลข 8 หรือเลขคู่อยู่ด้วย เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลขึ้นไปอีก ใครได้ยินคำว่า “อั่งเปาตั่วตั่วไก๊” ก็เตรียมซองแดงให้ได้เลย ส่วนใครอยากจำไปใช้ ขอบอกว่ามันหมายถึง “ขออั่งเปาเยอะ ๆ” นั่นเอง
4.ตรุษจีนไม่ได้มีวันเดียว แล้วปีนี้เริ่มกันเมื่อไหร่นะ?

ตามปีปฏิทินสุริยคติของชาวจีนนั้น เทศกาลตรุษจีนจะเริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ซึ่งเรียกกันว่า “วันลีชุน” หรือวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งสำหรับปีนี้ จะตรงกับ “วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567” โดยจะแบ่งออกเป็นวันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยวตามธรรมเนียมเหมือนเช่นทุกปี ดังนี้
- วันจ่ายตรุษจีน : วันจ่ายหรือ “วันตื่อเล็ก” เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปหาซื้ออาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ มาเตรียมพร้อมไว้ ก่อนที่ร้านค้าต่าง ๆ จะหยุดยาวในช่วงวันตรุษจีน ซึ่งจะตรงกับวันก่อนวันสิ้นปี โดยปีนี้ตรงกับ “วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567”
- วันไหว้ตรุษจีน : วันไหว้หรือวันสิ้นปี เป็นวันที่ทุกคนจะทำการไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ด้วยอาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ที่ซื้อเตรียมไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะตรงกับวันสิ้นปี โดยปีนี้ตรงกับ “วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567”
- วันเที่ยวตรุษจีน : วันเที่ยว วันปีใหม่ หรือวันตรุษจีนนั่นเอง เป็นวันที่ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงาม พากันออกไปท่องเที่ยว และไปไหว้ขอพรญาติผู้ใหญ่ พร้อมทั้งถือเคล็ดต่าง ๆ ตามธรรมเนียม เช่น งดทำบาป ไม่ด่าทอ ไม่พูดคำหยาบ และไม่คิด
5.ข้อควรทำและข้อควรระวังในช่วงเทศกาลตรุษจีน

แน่นอนว่า การเริ่มต้นใหม่ ในปีใหม่ จะให้มาทำเรื่องไม่เป็นมงคลคงไม่ได้ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาถึงเรื่องที่ควรและไม่ควรทำในวันตรุษจีน ซึ่งล้วนเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่สามารถปฏิบัติตามได้จริง
ข้อควรทำช่วงเทศกาลตรุษจีน
- ทำความสะอาดบ้าน : ควรเตรียมทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ให้เรียบร้อย และไม่รกรุกรัง เพราะเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีของปีเก่าออกไป พร้อมต้อนรับสิ่งดี ๆ ของปีใหม่เข้าบ้าน *แต่ต้องทำทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนถึงวันตรุษจีนเท่านั้นนะ เพราะเชื่อกันว่า เมื่อเทพเจ้าลงมาให้พรในวันปีใหม่ การปัดฝุ่นหรือทำความสะอาด จะหมายถึงการปัดเป่าเอาโชคดีที่เทพเจ้าฝากไว้ให้ออกไปจากบ้าน
- ตกแต่งบ้านให้สวยงาม : ตกแต่งประดับประดาบ้านด้วยของที่มีสีมงคลอย่าง “สีแดง” หรือ “สีทอง” เช่น โคมไฟ หรือกระดาษฟู เพราะเชื่อว่าเป็นการเสริมความมงคลและขับไล่สิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ออกไป แถมเป็นการขอพรให้อายุยืนยาว ร่ำรวยเงินทอง และชีวิตดีมีความสุขอีกด้วย *เมื่อสีได้แล้ว การเพิ่มตัวอักษรมงคลเข้าไปด้วย ก็จะยิ่งส่งเสริมให้เรื่องดี ๆ เข้ามาเพิ่มอีกด้วยนะ
- ไหว้ขอพรผู้ใหญ่ด้วยส้ม : ส้มถือเป็นผลไม้มงคลที่เหมือนกับทอง การนำส้มสองผลไปมอบให้กับผู้ใหญ่ จึงเป็นการให้พรแก่กัน โดยเมื่อให้ไปแล้ว ฝั่งที่รับมาก็จะต้องแลกด้วยส้มสองผลเช่นกัน
- สวมใส่เสื้อผ้าสีสันสดใส : การใส่เสื้อสีแดง ถือเป็นการสร้างเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับปีใหม่ ซึ่งตรงกันข้ามกับสีขาวที่หมายถึงการไว้ทุกข์ และสีดำที่เกี่ยวโยงถึงความตาย
ข้อควรระวังช่วงเทศกาลตรุษจีน
- ไม่ควรทำงานบ้าน : โดยเฉพาะการกวาดบ้าน เพราะการทำงานบ้านต่าง ๆ ช่วงตรุษจีนจะเป็นเหมือนการขับไล่ความโชคดีออกไป *คนจีนเลยจะต้องทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อยก่อนช่วงตรุษจีน
- ไม่ควรสระผม : คนจีนถือว่าการสระผมเป็นการชะล้างความโชคดีที่จะมาถึงในช่วงวันขึ้นปีใหม่
- ไม่ควรใช้ของมีคม : ไม่ว่าจะเป็นมีด กรรไกร หรือที่ตัดเล็บ เพราะเหมือนกับว่าเป็นการตัดสิ่งที่ดีหรืออนาคตที่ดีที่จะนำมาในช่วงเทศกาลตรุษจีน *สิ่งที่คนมักมองข้ามคือ การใช้มีดปอกผลไม้ ในวันนี้ ก็เป็นสิ่งที่ห้ามทำเช่นกันนะ
- ไม่ควรพูดคำหยาบและด่าทอกัน : ไม่พูดคำที่มีความหมายในทางลบ คำที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยหรือความตาย เพราะถือว่าไม่เป็นสิริมงคล
- ไม่ควรร้องไห้ : ไม่ควรร้องไห้ในวันขึ้นปีใหม่ เพราะมีความเชื่อว่าหากร้องไห้ในวันนี้ จะต้องมีเรื่องให้เสียใจไปตลอดทั้งปี
- ไม่ควรซักผ้าและล้างจาน : ห้ามใช้น้ำเพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกในวันตรุษจีน เพราะเชื่อว่าเทพเจ้าแห่งน้ำกำเนิดขึ้นในวันนี้ ดังนั้นการซักผ้าและล้างจานในวันนี้ จึงเหมือนเป็นการลบหลู่เทพเจ้านั่นเอง
- ระวังซุ่มซ่ามหรือทำของแตก : ชาวจีนถือว่าการเดินสะดุด หรือทำสิ่งของตกแตกในช่วงวันขึ้นปีใหม่ หมายถึงการงานสะดุด และนำความโชคไม่ดีเข้ามาในอนาคต *แต่ถ้าหากทำของแตกโดยไม่ได้ตั้งใจ ให้แก้เคล็ดโดยการพูดคำว่า “ลั้ว ตี้ คาย ฮวา”
6.ของไหว้ตรุษจีนกับความหมายเพื่อความมงคล

อาหารและเครื่องเซ่นไหว้สำหรับวันตรุษจีน *ควรเน้นอาหารและของกินที่มีความหมายมงคล อีกทั้งควรเตรียมให้มีปริมาณเพียงพอต่อการไหว้ในทุก ๆ รอบ (ช่วงเช้ามืด ช่วงสาย และช่วงบ่าย) แบ่งเป็นเนื้อสัตว์ อาหารคาว ขนมหวาน ผลไม้ อย่างละ 3 (ซาแซ) หรือ 5 (โหวงแซ) อย่าง พร้อมด้วยเหล้าจีน น้ำชา ข้าวสวย และกระดาษเงินกระดาษทองแบบต่าง ๆ
- เนื้อสัตว์ต่าง ๆ : หมูสามชั้นต้ม, ไก่ต้ม, เป็ดต้ม, ปลานึ่ง, ปลาหมึกแห้ง และไข่ต้ม (ย้อมเปลือกสีแดงยิ่งดี) *ควรมีเนื้อสัตว์ครบ 3 ประเภท คือ สัตว์มีกีบที่เท้า สัตว์มีปีก และสัตว์มีครีบ
- อาหารคาว : ผัดเส้นหมี่ซั่ว, ปลาเก๋านึ่ง, บะกุ๊ดเต๋, เห็ดหอมเป๋าฮื้อน้ำแดง, กุ้งอบวุ้นเส้น, เป็ดพะโล้ หรือเป็นกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบกิน *นิยมจัดให้มีเมนูแบบน้ำอย่างน้อย 1 เมนู
- ขนมไหว้ตรุษจีน : ฮวกก้วย (ขนมถ้วยฟู), คักท้อก้วย (ขนมกู๋ช่าย), ขนมจันอับ, ขนมสาลี่, ขนมไข่, ถั่วตัด, หมั่วโถว, ซาลาเปา, ขนมเข่ง และขนมเทียน
- ผลไม้ที่มีความหมายมงคล : ส้ม, กล้วย, สับปะรด, องุ่น, แอปเปิล, ทับทิม, สาลี่, และแก้วมังกร *ไม่ควรใช้ผลไม้ที่มียาง มีหนาม และมีสีดำ
- เครื่องดื่มไหว้ตรุษจีน : น้ำชาหรือเหล้าจีน *จำนวนถ้วยตามจำนวนบรรพบุรุษที่ล่วงลับไป
- ข้าวสวย : ข้าวสวยใส่ชามพร้อมตะเกียบ *จำนวนชุดตามจำนวนบรรพบุรุษที่ล่วงลับไป
- เครื่องไหว้อื่น ๆ : กระดาษเงิน, กระดาษทอง, ธูป (จำนวนธูปไหว้คนละ 3 ดอก), อ่วงแซจี๊ (ใบเบิกทางให้บรรพบุรุษมารับของไหว้), อิมกังจัวยี่ (แบงก์กงเต็ก) และเสื้อกระดาษกงเต็ก
7.ลำดับการจัดโต๊ะไหว้เจ้า รายละเอียดสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

หลักการจัดโต๊ะไหว้ตรุษจีนให้ตรงตามธรรมเนียมนั้น มีตำแหน่งอยู่ทั้งหมด 9 ตำแหน่งด้วยกัน โดยแต่ละตำแหน่งจะมีของวางอยู่ตามนี้
- ตำแหน่งที่ 1 : จัดวางโต๊ะไหว้ไว้บริเวณด้านหน้าเทวรูปหรือแท่นบูชา
- ตำแหน่งที่ 2 : วางกระถางธูปไว้หน้าเทวรูปหรือแท่นบูชา
- ตำแหน่งที่ 3 : วางเชิงเทียนและแจกันดอกไม้ ขนาบทั้งข้างซ้ายและขวาของกระถางธูป
- ตำแหน่งที่ 4 : วางชามข้าวสวยพูน ๆ พร้อมตะเกียบ
- ตำแหน่งที่ 5 : วางถ้วยน้ำชาหรือถ้วยเหล้าจีนเป็นแถวถัดไปจากชามข้าวสวย
- ตำแหน่งที่ 6 : วางถ้วยน้ำดื่มในแถวถัดออกมาจากถ้วยน้ำชาหรือถ้วยเหล้าจีน
- ตำแหน่งที่ 7 : วางเนื้อสัตว์และเมนูกับข้าวต่าง ๆ ที่เตรียมไว้
- ตำแหน่งที่ 8 : วางขนมหวานและผลไม้ตามที่ได้เตรียมไว้
- ตำแหน่งที่ 9 : วางเครื่องไหว้อื่น ๆ เช่น กระดาษเงิน, กระดาษทอง, อ่วงแซจี๊ (ใบเบิกทางให้บรรพบุรุษมารับของไหว้), อิมกังจัวยี่ (แบงก์กงเต็ก) และเสื้อกระดาษกงเต็ก ที่ใช้ในพิธีไหว้ตรุษจีน
8.ช่วงเวลาเป็นเรื่องสำคัญ เวลาไหนไหว้อย่างไร

สำหรับขั้นตอนพิธีการไหว้ตรุษจีน หลัก ๆ จะแบ่งลำดับการไหว้ออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ
- ไหว้เทพเจ้าช่วงเช้ามืด (ช่วง 6.00 น. - 7.00 น.) : ไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ด้วยเครื่องไหว้ที่เป็นเนื้อสัตว์ 3 หรือ 5 อย่าง เช่น หมูสามชั้นต้ม, ไก่ต้ม และเป็ดต้ม พร้อมด้วยเหล้าจีนหรือน้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
- ไหว้บรรพบุรุษช่วงสาย (ช่วง 10.00 น. - 11.00 น.) : ไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยเนื้อสัตว์ กับข้าว ขนมหวาน ผลไม้ เครื่องดื่ม รวมถึงเผากระดาษเงิน กระดาษทอง อ่วงแซจี๊ อิมกังจัวยี่ และเสื้อกระดาษกงเต็กให้กับบรรพบุรุษ *ขั้นตอนนี้ไม่ควรทำเกินเที่ยงวัน หลังจากไหว้บรรพบุรุษ เมื่อธูปดับจนหมด ก็จะเริ่มนำของไหว้มารับประทานร่วมกันทั้งครอบครัว พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนอั่งเปากัน
- ไหว้ผีไร้ญาติช่วงบ่าย (ช่วง 14.00 น. - 16.00 น.) : ไหว้ผีไร้ญาติ ด้วยข้าวสวย กับข้าว และขนมหวาน เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน พร้อมทั้งกระดาษเงินและกระดาษทอง เมื่อไหว้เสร็จแล้วให้จุดประทัดเป็นอันจบพิธี เพื่อเป็นการปัดเป่าไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป
นอกจากนี้ยังมี การไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ช่วง 01:00 น.- 02:59 น ของวันที่ 22 มกราคม 2566) : เพื่อเป็นการขอโชคขอลาภในโอกาสที่ “เทพไฉ่ซิงเอี้ย” จะได้ลงมา ซึ่งเกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง โดยสำหรับปีนี้ ควรตั้งโต๊ะไหว้ทางทิศตะวันออก เพราะเชื่อว่าองค์ท่านจะเดินทางมาประทับจากทิศดังกล่าว
ครบถ้วนทั้งความรู้และวิธีไหว้เจ้ากับคัมภีร์ตรุษจีนที่ Wongnai นำมาฝากให้กันแล้ว หวังว่าจะช่วยคลายข้อสงสัยและเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับตรุษจีนปีนี้ให้กับเพื่อน ๆ ได้นะคะ ก่อนจากกันไปก็ขอ “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” อวยพรให้เพื่อน ๆ ทุกคน เฮง ๆ รวย ๆ ห่างไกลโรคภัย โดยเฉพาะโควิดตัวร้าย และขอสวัสดีปีใหม่จีนเอาไว้ล่วงหน้าด้วยนะคะทุกคน :)
ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องต่อได้ที่