กินหัว กินหาง กินกลางตลอดตัว! ที่พูดแบบนี้ไม่ได้กำลังชวนเล่นงูกินหางนะคะ แต่กำลังจะมาเล่าสู่กันฟังถึงเทรนด์อาหารที่ชื่อว่า “Nose to Tail” ที่เรียกได้ว่าเป็นการกินที่แสนคุ้มค่าแถมยังช่วยโลกอีกต่างหาก เพราะช่วงนี้เทรนด์อีโค่กำลังมาแต่เอ...เคยได้ยินแต่ขวดน้ำอีโค่หรือถุงผ้าอีโค่ ใครจะรู้ว่าการกินแบบอีโค่ก็มีนะ! สงสัยกันแล้วล่ะสิ งั้นเราจะไปไขคำตอบกันเลยดีกว่าว่า “Nose to Tail” คืออะไรกันแน่แล้วมันจะช่วยโลกได้ยังไงกัน?
ใครอยากฟังกันแบบเพลิน ๆ เราขอนำเสนอวงในพอดแคสต์ "วงในวันละร้าน" ที่จะให้คุณเต็มอิ่มกับเกร็ดความรู้ของอาหารนานาชนิด ตบท้ายด้วยร้านแนะนำให้ตามไปลองกันทันที! วันไหนหิว แต่ไม่รู้จะกินอะไรดี นึกนานแล้วก็นึกไม่ออก ให้ "วงในวันละร้าน" ช่วยนึก เรื่องกินจะสนุกขึ้นอีกหลายเท่า แถมยังได้ร้านดีร้านเด็ดให้ลองกันไปเลยทุกวัน!
1กินหัว กินหาง กินกลางตลอดตัว
“Nose to Tail” คือปรัชญาของการใช้ทุกสัดส่วนของสัตว์มาปรุงเป็นอาหาร โดยที่ไม่ให้มีส่วนใดต้องเสียไปอย่างไร้ประโยชน์ พูดง่าย ๆ ก็คือการกินทุกส่วนตั้งแต่จมูกยันหาง ไม่ให้มีส่วนไหนต้องทิ้งให้เปล่าประโยชน์
การกินแบบ Nose to Tail มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีอาหารอุดมสมบูรณ์หรือหากินได้ง่ายอย่างในสมัยนี้ การจะล้มวัวหรือล่าสัตว์ได้มาสักตัว จึงต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นวิธีประหยัดเนื้อที่ล่ามาได้ เพราะใช้ทุกส่วนไม่เว้นแม้แต่กระดูกนั่นเอง
แต่เมื่อโลกพัฒนาขึ้น มนุษย์ผลิตอาหารได้มากขึ้น แถมยังหากินได้ง่ายขึ้น กระแสฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) ครองเมืองเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ คอนเซปต์การกินทั้งตัวจึงถูกหลงลืมไป จนกระทั่งในปี 2004 มีการตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า The Whole Beast: Nose to Tail Eating ซึ่งเขียนโดยเชฟชาวอังกฤษ Fergus Henderson ด้วยเนื้อหาที่เจาะลึกเกี่ยวกับการเลือกใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น และปรุงด้วยวิธีแบบดั้งเดิม รวมทั้งเทคนิคพิเศษต่าง ๆ ในการกินหมูทั้งตัวของเชฟเฟอร์กัส ที่ใครก็เข้าถึงได้ ทำให้หนังสือเล่มนี้และปรัญชา Nose to Tail เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เชฟชาวอเมริกัน และทราเวลเลิฟเวอร์อย่าง Anthony Bourdain ถึงกับให้นิยามว่า หนังสือเล่มนี้คือพระเอกของวัฒนธรรมสโลว์ฟู้ด (Slow Food) เลยทีเดียว
2กินยังไงให้ช่วยโลก
ปัจจุบันโลกมีขยะมากขึ้น โดยเฉพาะขยะจากอาหารที่เหลือจากกระบวนการผลิต (Food Waste) ที่น่าตกใจคือ รายงานการศึกษาชิ้นใหม่จาก Trase ระบุว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีความต้องการบริโภคเนื้อวัวที่สูงขึ้นในประเทศจีนซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ป่าอะเมซอนถูกเผาและถางอย่างรวดเร็ว เพื่อขยายพื้นที่สำหรับทำฟาร์มวัว ปอดของโลกอย่างป่าอะเมซอนจึงอยู่ในขั้นวิกฤต!
แม้โลกกำลังเจอปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบนี้ แต่เราก็ได้เห็นผู้คนมากมายที่เริ่มหันมาใส่ใจไลฟ์สไตล์แบบอีโค่มากขึ้น เทรนด์การกินอาหาร Nose to Tail จึงเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน เพราะนอกจากจะเป็นการเคารพสัตว์ทุกตัวที่เราได้นำทุกส่วนของเขามาปรุงอาหารแล้ว ยังเป็นการกินอย่างสมถะ ไม่ทำร้ายโลกด้วยล่ะ
การกินแบบ Nose to Tail ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง เพราะเมื่อเรากินสัตว์ทั้งตัว หมายความว่าเราสามารถสร้างสรรค์ทุกส่วนของสัตว์เป็นอาหารหลายเมนู พูดง่าย ๆ ก็คือ วัวหนึ่งตัว แทนที่จะกินเป็นเนื้อสเต๊กอย่างเดียว เราสามารถนำส่วนที่เหลือไปทำเป็นซุปหางวัวหรือไขกระดูกวัวได้อีกหลายมื้อ เมื่อความถี่ที่วัวถูกนำมาเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารน้อยลง ก็เท่ากับจำนวนวัวที่อาจจะต้องเลี้ยงน้อยลง รวมถึงจำนวน หญ้า น้ำ ที่ต้องใช้เลี้ยงวัวด้วย ขอติดแฮชแท็ก #savetheworld ให้เลย
3รักเรา รักษ์โลก
นอกจาก Nose to Tail จะช่วยลดปริมาณอาหารที่เหลือจากกระบวนการผลิตที่จะกลายเป็นขยะของโลกแล้ว การกินทุกส่วนของสัตว์ยังมีข้อดีต่อผู้ที่กินที่บางครั้งเราอาจคิดไม่ถึง นั่นคือ
1. มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย
เพราะหากเรากินแต่เนื้อเฉพาะส่วน ก็จะทำให้เราได้โปรตีนชนิดเดิม ๆ แต่หากเราได้กินเครื่องในหรือส่วนอื่น ๆ ก็หมายความว่า เราได้รับวิตามินหรือกรดอะมิโนต่าง ๆ หลากหลายขึ้น
2. สบายกระเป๋า
ทุกวันนี้เราเสียเงินไปกับเนื้อส่วนเล็ก ๆ ที่กินได้ไม่กี่มื้อ แต่ถ้าเราสามารถกิน Nose to Tail และจัดสรรเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้ทั้งหมด แม้จะทำให้เราจ่ายมากในครั้งเดียว แต่ประหยัดส่วนต่างที่ต้องเสียไปกับเนื้อส่วนเล็ก ๆ เหล่านั้นเลยนะ
3. เปิดประสบการณ์การกินอาหารใหม่ ๆ
บางคนอาจเคยกินสเต๊กมามากกว่าร้อยครั้ง แต่จะมีสักกี่ครั้งกัน ที่เราจะมีโอกาสได้กินไขกระดูก สำหรับคนทั่วไปแล้วคงนับครั้งได้ หรืออาจไม่เคยกินเลยด้วยซ้ำ ซึ่งการกิน Nose to Tail นี่แหละ จึงถือเป็นการเปิดโอกาสให้คุณได้ลิ้มลองเมนูใหม่ ๆ อย่างแท้จริง
ใครอยากเปิดประสบการณ์การกินอาหารแบบ Nose to Tail ก็ไม่ต้องเหนื่อยหาที่ไหนไกล เพราะร้าน 100 Mahaseth ของเชฟชาลี การ์เดอร์ หรือจะเป็นร้าน Pho Marrow ที่เสิร์ฟอาหารสุดสร้างสรรค์แบบ Nose to Tail ที่พร้อมให้คุณไปลองกันแล้ว!
วันนี้เรียกได้ว่าได้ความรู้กันไปเต็ม ๆ กับการกินหัวจรดหางแบบ Nose to Tail ที่นอกจากจะช่วยโลกให้ไม่มีขยะจากอาหารที่เหลือจากกระบวนการผลิตแล้ว ยังช่วยให้เราได้ประสบการณ์การกินแบบใหม่ ๆ แบบสบายกระเป๋าอีกด้วย วลีที่ว่า “เรื่องกิน เรื่องใหญ่” ท่าจะจริงนะคะ เพราะ “ใหญ่” ในที่นี้ คือผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมที่เราคาดไม่ถึง และหากเราเริ่มต้นเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้ แม้จะคนละนิดละหน่อย แต่จะช่วยโลกได้เยอะเลยล่ะค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง
British Food A History, 2556. “Tail to Nose Eating” [online] เข้าถึงจาก https://britishfoodhistory.com/2013/03/31/tail-to-nose-eating-2/ สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2563
Savory Lotus. “NOSE TO TAIL EATING: 5 REASONS TO DIVE IN” [online] เข้าถึงจาก https://www.savorylotus.com/nose-to-tail-5-reasons-to-dive-in/ สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2563
Sloan’s. “What does nose-to-tail mean? อะไรคือ กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว หรือที่เรียกกันว่า nose-to-tail” [online] เข้าถึงจาก https://www.sloanes.co.th/th/nose-to-tail-philosophy/ สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2563
KRUA.CO, 2562. “จัดการวัตถุดิบให้หมด ลดขยะเป็นศูนย์” [online] เข้าถึงจาก https://krua.co/current/public/cooking/cook-to-know/157/จัดการวัตถุดิบให้หมด-ลดขยะเป็นศูนย์ สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2563
Green News, 2563. “เผยรายงานใหม่รับสัปดาห์งดเนื้อโลก ชี้สเต็กเนื้อในภัตตาคารจีน มีส่วนทำลายป่าอเมซอน” [online] เข้าถึงจาก https://greennews.agency/?p=21241&fbclid=IwAR2veDS4o8XSW7x6fl3fXz_gFT5hlIIVAUsL_L9GhTY8D9ZtK2N3Q9TiRcA สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2563
อยากรู้เรื่องราวของอาหารให้มากขึ้น ไปตามกันต่อเลย!