
#วงในบอกมา
แม้ว่า คุณดู๋ - ก่อเกียรติ งามดำรงค์ จะส่งสัญญาณว่าร้านข้าวห่อไข่ Omu อาจจะอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน แต่ด้วยความช่วยเหลือของลูกค้า ทำให้วันนี้ Omu ยังคงเดินหน้าต่อไปได้
Omu เปิดให้บริการนั่งกินที่ร้านอีกครั้งแล้วทั้ง 3 สาขา Park Lane เอกมัย, เซ็นทรัลเวิลด์ และสีลมคอมเพล็กซ์
“Now More Than Never” แคมเปญล่าสุดที่ทาง Omu ตั้งเป้าว่าจะต้องทำยอดออร์เดอร์ให้ได้วันละ 300 จาน เพื่อให้รอดจากวิกฤตนี้

“จริง ๆ ผมคิดก่อนเลยว่า เราสู้นะ ในแมสเสจที่เราประกาศไปเนี่ยะ เราประกาศว่า เราขอบคุณและขอโทษลูกค้า แต่เราคิดว่าเราจะสู้เต็มที่นะ ถ้าเราสู้ไม่ไหวจริง ๆ เงินที่เรามีก็คือ เงินที่เราใส่เข้ามาใหม่ ผมที่เป็นผู้บริหารก็คุยกัน เราจะใส่เงินที่กู้ยืมกรรมการเข้ามาก้อนหนึ่ง แต่ผมบอกจำนวนไม่ได้ ก็มากพอสมควร เพราะผมคำนวณมาแล้วว่า ทุก ๆ เดือนเราจะขาดทุนเท่าไหร่ ถ้าอยู่ในสภาพนี้ และมียอดขายเท่านี้ เราจะอยู่ได้ 3 เดือนจากนี้ น้องชายผมก็โพสต์ออกไปเลย ก็เป็นเรื่องที่ตกใจนิดนึง” คุณพร้อมพงษ์ งามดำรงค์ หุ้นส่วนและผู้ก่อตั้งกิจการร้านข้าวห่อไข่และคาเฟ่ Omu พูดถึงโพสต์ก่อนหน้านี้ของร้าน

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน Omu เริ่มต้นธุรกิจโดยคุณดู๋ - ก่อเกียรติ งามดำรงค์ และคุณโนริเอะ ภรรยาชาวญี่ปุ่น โดยมีคุณพร้อมให้คำปรึกษาเรื่องธุรกิจร้านอาหาร ด้วยความสงสัยว่าเมืองไทยรับวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นมาเยอะมาก ทำให้มีทั้งร้านราเมง ซูชิ อิซากายะ และข้าวแกงกะหรี่ แต่ทำไมไม่มีร้านข้าวห่อไข่เลย
“ข้าวห่อไข่มันมีความรู้สึกอบอุ่น มันมีเสน่ห์ ทำไมถึงไม่มีมันอยู่ เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นมาลองกันสักร้านหนึ่ง แล้วดูว่าผลตอบรับเป็นยังไง ก็เริ่มสาขาแรกที่เอกมัย เราเน้นข้าวห่อไข่มาก เราตั้งใจให้เป็นร้านข้าวห่อไข่เลย แบบอยากจะเป็นข้าวห่อไข่อันดับ 1 ของเมืองไทย” คุณพร้อมพูดถึงความตั้งใจของน้องชาย
คุณพร้อม คุณดู๋ และคุณโนริเอะ ทำงานร่วมกับเชฟตั้งแต่ก่อนเปิดร้าน ตลอด 3 เดือน กินข้าวห่อไข่แทบจะทุกมื้อ คุณพร้อมเล่าให้ฟังว่าคุณดู๋ตามกลับบ้านเพื่อกินข้าวห่อไข่สูตรใหม่ที่ทำออกมาแทบทุกวัน
“เรามีข้าวห่อไข่ที่ขายดี และผมคิดว่าร้านอื่นแม้แต่ญี่ปุ่นเองก็อาจจะไม่ทำ เพราะต้องใช้ทักษะและทำค่อนข้างยาก ก็คือ ข้าวห่อไข่ลาวา ไข่ที่เหมือนกรีดตรงกลางแล้วยังไม่สุกแบบเต็ม 100% เป็นออมเล็ตทั้งก้อน จริง ๆ แล้วที่ญี่ปุ่นจะมีเฉพาะร้านดั้งเดิมเล็ก ๆ นะที่ทำกัน”

หลังจากสาขาแรกที่เอกมัยได้รับผลตอบรับที่ดี ในขวบปีที่ 3 Omu จึงเริ่มขยายสาขาไปยังเซ็นทรัลเวิล์ดและสีลมคอมเพล็กซ์ และขยายเรื่อย ๆ จนมีมากที่สุดถึง 7 สาขา คุณพร้อมมองว่าการขยายสาขาเป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ด้านบวกมองว่าทำให้คนรู้จักแบรนด์ จนมีหุ้นส่วนชวนไปเปิดสาขาในสิงคโปร์ ทุกวันนี้คุณดู๋ก็ดูแลสาขาสิงคโปร์อยู่ แต่ด้านลบก็คือ อาหารจานเดียวแบบข้าวห่อไข่ ราคาเกือบ 200 บาท พอไปอยู่รอบนอกของกรุงเทพฯ ผลตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงคอนเซปต์ของ Omu เองที่เน้นเรื่องประสบการณ์ภายในร้าน ทำให้ต้นทุนการตกแต่งค่อนข้างสูง ประกอบกับยอดขายที่ไม่ได้ตามที่คิดก็ต้องทยอยปิดสาขา
“จริง ๆ แล้ว ต้องคิดแบบนี้ครับ การดำเนินธุรกิจมา 10 ปี มันควรจะมีกำไรสะสมในบริษัทค่อนข้างเยอะพอสมควร แต่เราเหมือนคน ๆ หนึ่ง ทำดีมา 4-5 ปี หลังจากนั้นก็มีปีที่แย่บ้างก็คือปีที่เราขยายออกไปแหละ ผมมองว่า เราคิดผิด จึงมีผลต้องปิดสาขา รื้อสาขา แล้วก็มีผลขาดทุนกลับมา เงินสดมันก็เหลือไม่เยอะมากในบริษัท ในปี 2019 จริง ๆ เป็นปีที่ดีเลยนะ ก็มีคิด Business Plan ใหม่ด้วย แต่เข้า 2020 ยังไม่ทันไร เหมือนกำลังสร้างขึ้นมาใหม่ก็มาเจอเรื่องโควิด เราดูจากยอดขายที่เราทำได้ต่อเดือนปกติ มันเหลือเท่าไหร่ เรียกว่ามันน้อยมากเลย จากขายได้ 100 มันเหลือแบบ 10 กว่า ผมว่ารอดยาก” จึงเป็นที่มาของการที่คุณดู๋ส่งสัญญาณว่า ร้านข้าวห่อไข่ Omu อาจจะอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน


คุณพร้อม อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นของ Omu ได้อย่างน่าสนใจ ด้วยลักษณะองค์กรแบบครอบครัว ทำให้คุณพร้อมมองว่า Omu ไม่ได้มีเพียงองค์ประกอบของ “เจ้าของร้าน” และ “ลูกค้า” เท่านั้น แต่ยังมี “พนักงาน” ที่ทำให้ที่นี่กลายเป็นธุรกิจร้านอาหารได้
“ถ้าไม่มีพนักงาน เราเป็นธุรกิจไม่ได้เลย ผมรู้สึกแบบว่า ตอนที่เราจะประกาศออกไปว่าเราเหลือ 3 เดือนเนี่ย มีคนในบริษัทเรารู้จำนวนน้อยมาก แต่พอทุกคนรู้ก็ไม่มีใครตกใจนะ โอมุเป็นธุรกิจแบบเก่า ๆ ที่เจ้าของบอกขอบคุณ ขอโทษ เราอาจจะอยู่ได้เท่านี้ แต่พอมันเป็นแบบนั้นลูกน้องกลับไม่มีคำถาม ทั้ง ๆ ที่เราสนิทกันมากนะ เขาไม่มาถามรายละเอียด เขาสู้อย่างเดียว ผมรู้สึกว่า ผมได้รับน้ำใจอย่างมหาศาล บริษัทนี้ดีกว่า อย่าหมายถึงผมเลย ธุรกิจของเราได้รับน้ำใจมหาศาลจากลูกค้า แล้วเราก็ได้รับน้ำใจ แล้วก็ความจริงใจมหาศาลจากพนักงาน แบบเห้ยเราสู้ด้วยกัน จนตอนนี้เราก็ยังสู้อยู่นะ เราก็ไม่ได้คิดว่าจะปิดกิจการ เราสู้ตลอด”

แน่นอนว่าในวันนี้ทีมผู้บริหารได้เติมเงินเข้าไปใน Omu ทำให้ร้านยังคงดำเนินต่อไปได้ โดยที่ยังไม่กระทบกับพนักงาน ด้วยความตั้งใจของผู้บริหารที่อยากแบกรับทุกอย่างเอาไว้เองให้ถึงที่สุด นอกจากนั้นก็พยายามเจรจากับคู่ค้า อาทิ เจ้าของพื้นที่เช่า และซัพพลายเออร์ เพื่อให้ธุรกิจยังคงไปต่อได้ แน่นอนว่าการเข้าร่วมเวาเชอร์กับทาง Wongnai ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้บริหารดำเนินการ
“ผมคิดว่าช่วยแน่นอนนะ คือเราก็ยินดีด้วย เพราะว่าจริง ๆ แล้วหลักการคือเวลาเราขายเวาเชอร์ไปเนี่ยะ เราได้รับความช่วยเหลือแบบเงิน เซอร์เคิลมันกลับเข้ามาก่อน แล้วลูกค้าค่อยตามมาใช้ ผมคิดว่าตรงนั้นอาจจะให้เราอยู่ได้ยาวขึ้น อันนี้เป็นเรื่องปกติครับ แต่เรามีความหวังว่า โอเคถ้าเกิดทุกอย่างกลับมาดีขึ้น เราก็จะสู้ได้มากขึ้น อยู่ได้ดีขึ้น เราก็คงดำเนินการธุรกิจตามที่มันเหมาะสม” เวาเชอร์ของ Omu ราคา 300 บาท สามารถนำไปใช้กินอาหารที่ร้านได้ถึง 350 บาท และใช้ได้จนถึง 30 เมษายน 2564 ซื้อได้ที่นี่

เมื่อเราถามถึงสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน คุณพร้อม ยืนยันว่ายังคงสู้ต่อไป “ผมกล้าพูดว่าสถานการณ์เราดีขึ้น แต่ถามว่าเรารอดไหม ผมไม่กล้าบอก 100 % แต่ถามว่าผมสู้ที่สุดไหม ผมคิดว่าเราสู้จนถึงที่สุดนะ จริง ๆ เงินที่เราใส่เข้าไป ผลขาดทุนจากเดือนมีนา เมษา มันก็กินเงินนั้นไปส่วนหนึ่ง แต่มันน้อยกว่าที่เราคิดไว้ ตอนนี้ถ้าคิดแบบเลือดไหลทะลัก ตอนนี้ก็เลือดไหลอยู่ แบบค่อย ๆ ไหล เรื่อย ๆ แต่ผมเชื่อนะ ผมค่อนข้างเชื่อมั่นในตัวธุรกิจ ผมเชื่อในตัวพนักงานแล้วผมก็รู้สึกขอบคุณลูกค้า วันนี้เรามีแคมเปญอื่นที่เราเพิ่งยิงออกมาไม่นาน Now More Than Ever แบบขอบคุณมากที่มาช่วยเรา เราขอโทษที่ไม่ได้สื่อสารกับคุณมากพอ คุณมาช่วยเรา เราขอบคุณนะ ช่วยกันตอนนี้ก่อน ถ้าเราพ้นไปได้ เราจะทำให้ดีขึ้น จะทำมันอยู่ต่อไป”

ติดตามเรื่องราวร้านอาหารดี ๆ ที่จะมาเล่าเรื่องราวของร้านอาหารมากกว่าเพียงรีวิวร้านอาหารใหม่ แต่อาหารมีเรื่องราวซ่อนอยู่เสมอ อ่านต่อได้ที่