#วงในบอกมา
นักท่องเที่ยวไม่น้อยที่จองตั๋วเครื่องบินไปจังหวัดอุดรธานีเพียงเพื่อไปกินร้านอาหาร“ซาหมวย & ซันส์” แล้วจองตั๋วรอบดึกสุดเพื่อกลับกรุงเทพฯ
เชฟหนุ่ม - วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ เชฟเจ้าของร้านอาหาร “ซาหมวย & ซันส์” คือหนึ่งในคนสำคัญที่ทำให้วงการอาหารในอุดรธานีคึกคักขึ้นมาเมื่อ 5 ที่แล้ว
เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยกลับบ้านเกิดในอุดรธานีเพื่อเปิดคาเฟ่ขึ้นมา และทำให้อุดรธานีกลายเป็นหนึ่งในปลายทางที่คาเฟ่ฮอปเปอร์ชื่นชอบ
“อุดรธานี” กำลังกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่เด่นเรื่องอาหารการกิน และแน่นอนว่าขยายไปสู่จังหวัดเพื่อนบ้านอย่าง “สกลนคร” แล้วเช่นกัน

เมื่อสัก 5-6 ปีที่แล้ว สิ่งที่จำได้ดีที่สุดใน “อุดรธานี” คือ “ไข่กระทะ” “สตูว์ซี่โครงหมู” และ “ปาเต้” เรารู้สึกว่าเมืองนี้เด่นที่อาหาร 3 จานนี้ ซึ่งสื่อถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมผ่านคนไทย คนจีน คนฝรั่ง คนลาว และคนเวียดนาม แต่ความคิดของเราเปลี่ยนไปเมื่อได้เห็นการเปิดตัวของ “ซาหมวย & ซันส์” และ “คาเฟ่” ทำให้นักท่องเที่ยวไม่น้อยใช้วันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อไปกินอาหารและดื่มกาแฟตามคาเฟ่สุดเก๋ ทำให้ “อุดรธานี” คุ้มค่าที่จะจองตั๋วเครื่องบินไป-กลับในวันเดียวแบบวันเดย์ทริป
เรามีเวลา 2 วัน 1 คืน ในอุดรธานี โดยทริปนี้เรามาเพื่อกินโดยเฉพาะ แน่นอนว่าให้เราไปคาเฟ่ฮอปปิงก็ได้แหละ แต่เป้าหมายอันดับหนึ่งของเราอยู่ที่ร้านอาหาร “ซาหมวย& ซันส์” ของเชฟหนุ่ม - วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ แม้ว่านี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้กินอาหารของเชฟหนุ่ม แต่เป็นครั้งแรกของเราที่ร้านอาหาร “ซาหมวย& ซันส์” เราได้กินอาหารของเชฟหนุ่มที่ร้านอาหาร “80/20” ตอนที่เชฟหนุ่มไปทำเชฟเทเบิล รวมถึงงานอีเวนต์อาหารต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เราชอบในความคิดเรื่องอาหารของเชฟหนุ่ม แต่กลับไม่เคยกินอาหารของเชฟหนุ่มในร้านอาหารของเขาเอง ทำให้มื้อค่ำวันแรกเราเจาะจงไปที่นี่ก่อนเลย


วันนี้เราเลยได้ลองกินทั้ง “เทสติ้งเมนูฤดูฝน” และ “อลาคาต” ของร้าน เชฟหนุ่มบอกว่าด้วยความเป็นร้านอาหารไทย “น้ำพริก” จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องมีในทุกมื้ออาหาร และน้ำพริกนี่แหละที่สะท้อนภูมิปัญญาของอาหารไทยแต่ละภาค “ยำตะไคร้ปลาส้มปลาโจกและไคแผ่น” “ปลาหมึกกระดองย่าง น้ำกะทิสามเกลอน้ำปลาย่าง” และ “น้ำพริกเผาปูนา ข้าวเกรียบปลากราย“ ซึ่งเชฟโจ้ - วรวุฒิ ตริยเสนวรรธน์ น้องชายของเชฟหนุ่มมาช่วยเสิร์ฟและเล่าเรื่องอาหารเป็นยาระหว่างมื้ออาหาร ทำให้เราได้รู้ว่าเรากินอาหารหลายอย่างด้วยความเข้าใจที่ผิดมาโดยตลอด


เริ่มที่คอร์สแรก “ปลายอนและหมากค้อ” ปลาน้ำจืดที่มีไขมันสูงคล้ายปลาไหล พันกับตะไคร้แล้วอบกับฟาง เชฟนำเอาเครื่องในปลาไปผัดเหมือนหมก มีเจลลีหมากค้อ (ผลไม้รสเปรี้ยวของอีสาน) กินกับปลายอนดองรำข้าวและลูกเดือยหุงสุก ตามด้วย “กุ้งแม่น้ำห้วยหลวง” เชฟได้กุ้งมาจากประมงน้ำจืดที่ใช้การตกเบ็ดจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ทากุ้งด้วยน้ำมันหมูเจียวกระเทียมแล้วย่าง มาในน้ำซุปเต้าหู้ที่ใส่เครื่องเทศและเปลือกกุ้งเผาและผงผักหวาน กินกับมันหัวกุ้ง กุ้งสวรรค์ แฮมโฮมเมด และแตงกวาดอง ต่อด้วย “ขนมจีนน้ำยา” มองผิวเผินอาจจะงง แต่เมื่อกินก็จะเข้าใจ เชฟนำเอากะทิไปต้มกระชาย ปลา และหน่อไม้ดิบ เสิร์ฟกับน้ำพริกที่ใช้เนื้อกบไปกงฟีน้ำมันหมู และขนมรังไรหรือเรไรที่ใช้แทนเส้นขนมจีน


ส่วนอลาคาตเราได้กิน “แกงกะทิไหลบัวกับแหนมย่าง” “น้ำพริกมะขามหมูกรอบ” “ต้มส้มป่าปลาค้าว” ที่เชฟบอกว่าคล้ายแกงส้มผสมแกงป่า ใส่ปลาย่างและใบกะเพราด้วย “มัสมั่นไก่บ้าน” แต่จานที่เชฟเลือกวัตถุดิบมาดีมากคือ 2 จานนี้ “วากิวศรีเชียงใหม่ย่าง” เนื้อไทยวากิวจากอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ที่เชฟบอกว่าน้าแขกเจ้าของฟาร์มลงผิดลองถูกมานานกว่า 20 ปี ส่วนเชฟเองก็รอมานานถึง 3 ปี ถึงได้เนื้อวัวนี้มา เป็นเนื้อวัวออสเตรเลียนวากิวที่ผสมกับโคขุนบราห์มันที่ใช้เวลาขุนนาน 3 ปี เชฟนำเนื้อส่วนหัวไหล่มาย่างแล้วกินกับเกลือบ่อหัวแฮดจากจังหวัดบึงกาฬ ผสมกับพริกไทยกัมปอตจากกัมพูชาและมะแขว่น บีบมะนาวนิดนึง จิ้มเนื้อแล้วนัวร์เลย อีกจานเป็น “ว.ทวีฟาร์มผัดกะปิเกาะพระทอง” เชฟบอกว่ากะปิของที่นี่มีเอกลักษณ์ที่รสเปรี้ยวผัดกับเนื้อหมูของว.ทวีฟาร์ม

ที่นี่เสิร์ฟกับข้าวออร์แกนิกที่ปลูกในอุดรธานี แต่ที่ “ซาหมวย & ซันส์” จะเปลี่ยนข้าวทุกสองสัปดาห์ บางครั้งก็ใช้ข้าวเวสสันตะระ ข้าวปกาเกอะญอ หรือข้าวกล้องกว่าสิบสายพันธุ์ ก่อนปิดท้ายด้วยของหวาน “ไอศกรีมเห็ดไคกับลูกอมหมากกระบก” ไอศกรีมเห็ดไคสด กินกับยอดสนดองน้ำผึ้ง ซอสเสาวรสน้ำผึ้งเดือนห้า และลูกอมหมากกระบกน้ำปลาหวานคาราเมล


เชฟหนุ่มสรุปถึงอาหารของ “ซาหมวย & ซันส์” ว่าเป็นอาหารที่คนอีสานมองว่าถ้าคนอีสานทำอาหารของภาคอื่น อาหารที่ออกมาจะเป็นอย่างไร “ทุกอย่างยืนพื้นอยู่ตรงที่เราทำอาหารไทยแหละครับ ยกตัวอย่างแกงเขียวหวาน แต่ละภาคก็ไม่เหมือนกัน คนเหนือทำแกงเขียวหวานก็แบบหนึ่ง อีสานไม่ชอบกะทิข้น ๆ ก็ทำเป็นแบบใส ๆ หน่อย นี่คือยกตัวอย่างนะครับ มันก็เลยเป็นแนวคิดประมาณนี้ครับ แล้วเราก็อยู่ที่นี่เรารู้สึกว่าจริง ๆ อาหารไทยก่อนที่จะวิวัฒนาการมาเป็นอาหารไทยเหมือนทุกวันนี้มันเป็นการหยิบจับ หยิบยืม และผสมผสานวัฒนธรรมหลายรูปแบบอยู่แล้ว สำหรับเราก็เลยมองว่ามันก็ไม่น่าจะมีความเคอะเขินถ้าเราเอาวัตถุดิบทางเหนือมาเข้ารสกับอาหารอีสานได้บ้าง หรือเปลี่ยนจากไตปลาทะเลเป็นไตปลาน้ำจืดแล้วทำแบบแกงลาวดู มันเหมือนไปกินอาหารไทยบ้านคนโน้นคนนี้ครับ มันไม่เหมือนกัน รสมือต่างกัน”

ใครยังไม่มีโอกาสมากิน “ซาหมวย & ซันส์” ให้รีบมาด่วนก่อนที่เชฟหนุ่มจะเปิดสาขา 2 ในอีกคอนเซปต์กับอาหารไทยคอมฟอร์ตที่สนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น ใช้วัตถุดิบที่ดีในราคาจับต้องได้ ที่คราวนี้เชฟหนุ่มจะเปิดใหญ่โตรองรับลูกค้าได้มากถึง 100 คน เดี๋ยวร้านดังกว่านี้จะจองยากนะ เราบอกไว้ตรงนี้เลย

หลังจากได้ตามเป้าแล้ววันรุ่งขึ้นเราไปที่ร้านอาหาร “อุดรโภชนา” ซึ่งเป็นร้านอาหารเก่าแก่ในสไตล์กุ๊กชอปที่มีกลิ่นอายของอาหารจีนผสมไทย โดยมีกุ๊กเพียงคนเดียวดูแลอาหารอยู่หน้าเตา จะว่าไปร้านนี้ก็มีส่วนผสมของอาหารจานเดียวด้วย เพราะมีเมนูเด่นอย่าง “เปาะเปี๊ยะสด” “ข้าวหน้าห่านพะโล้” ผสมกับอาหารแบบเหลาหรือภัตตาคารจีนในต่างจังหวัดที่นิยมทำโต๊ะจีน


จานเด่นที่บอกเลยว่าห้ามพลาดน่าจะเป็น “สูตว์ลิ้นวัว” ในน้ำเกรวีสีแดงที่น่าจะมีส่วนผสมของมะเขือเทศนิดหน่อย ลิ้นวัวนุ่มและผักต่างๆ หรือ “หอยจ๊อ” ที่ไม่ได้แน่นเนื้อปูแต่มีส่วนผสมของมันแกว และที่ขาดไม่ได้ “ห่านพะโล้” เนื้อนุ่มติดหนังกับเลือดที่มาด้วย รสชาติใช้ได้เลย


อย่างที่เราบอกไปว่าเรามีเวลาเพียง 2 วัน 1 คืน เราจึงไม่สามารถคาเฟ่ฮอปปิงได้ แม้ว่าจะรู้ว่าคาเฟ่ในอุดรธานีกำลังเฟื่องฟู่ เราจึงเลือกคาเฟ่ที่น่าสนใจที่สุดมา “บ้านนาคาเฟ่” ของคุณแจม – สุชาธิษณ์ สุวิตธรรม เด็กอุดรธานีโดยกำเนิดที่กลับบ้านมาเปิดคาเฟ่กลางทุ่งนา และล่าสุดขยายโรงนาที่รองรับคาเฟ่ฮอปเปอร์ได้นับ 100 คน เพิ่มเข้ามา แต่วันที่เราไปคนก็แน่นมากต้องรอคิวบ้าง แต่เค้กและเบเกอรีบอกเลยว่ามีตัวเลือกเยอะมาก เด่นที่รสชาติแบบโฮมเมด ดีแบบถ้าใครมาครั้งหน้าก่อนไปคาเฟ่ฮอปปิงที่อื่นควรมาเริ่มที่นี่เพราะถ้าพลาดที่นี่เสียดายแย่


เราแนะนำ “ทาร์ตลิ้นจี่กุหลาบ” กินแล้วนึกถึงอิสปาฮงของปิแอร์ เออร์เม่ แต่มาในเวอร์ชันทาร์ต “ทาร์ตสตรอว์เบอร์รีพิสตาชิโอ” ก็ใช้ได้ เรียกว่าคุณแจมใช้ของดีแบบเบเกอรีกรุงเทพฯ แต่ที่รักเลยคือ “ชีสเค้กทุเรียน” ทั้งความเข้มของชีสความหอมของทุเรียนที่น่าจะเป็นหมอนทองแหละ “เค้กหม้อแกง” ก็น่าสนใจต่างจากที่กินที่ถิ่นเกิดอย่างเพชรบุรี “เค้กเบียร์ดำ” ก็มีเช่นกัน แต่ถ้าใครจะตรงดิ่งมากินข้าวก่อนก็ได้เพราะที่นี่มีอาหารไทยที่กินอิ่มสบายท้องด้วยเช่นกัน

หลังจากเราไปมา 3 ร้านอาหาร เราค่อนข้างเสียดายที่เรามาเพียง 2 วัน 1 คืน ยังมีร้านอาหารอีกเยอะ แถมยังมีคาเฟ่นับ 10 ที่เราเล็งเอาไว้แต่ไม่มีเวลาไป ไว้เราจะกลับมาใหม่ เราเริ่มหลงไทยหลงอุดรธานีแล้วล่ะ
ติดตามเรื่องราวร้านอาหารดี ๆ จาก #ห้ามพลาด ที่จะมาเล่าเรื่องราวของร้านอาหารมากกว่าเพียงรีวิวร้านอาหารใหม่ แต่อาหารมีเรื่องราวซ่อนอยู่เสมอ อ่านต่อได้ที่
- “Phed Mark เผ็ดมาร์ค” แบรนด์ดิ้งรสเผ็ดที่เริ่มต้นด้วยผัดกะเพรา
- Hai Di Lao ร้านชาบูหมาล่าสัญชาติจีนที่มีบริการทำเล็บฟรีระหว่างต่อคิว!