4.5
4 เรตติ้ง (4 รีวิว)
วัดค่าเข้าชม: ฿ 10/คน
ปิดอยู่จะเปิดในวันพุธ เวลา 06:00
วัดป่าสักเชียงแสน
เจดีย์ทรงปราสาทที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุดของภาคเหนือวัดป่าสัก เชียงแสน ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าเชียงแสน อยู่เลยโรงพยาบาลเชียงแสนมานิดเดียว มีทางเลี้ยวซ้ายเข้าไปชมโบราณสถานวัดป่าสัก เชียงแสน ก่อนที่จะผ่านศาลเจ้าพ่อเจ้าพ่อประตูป่าสักและเข้าประตูเมืองเชียงแสนที่ชื่อว่า “ประตูป่าสัก” ครับ วัดป่าสัก เชียงแสน เป็นวัดที่เจ้าของบล็อกฝันเอาไว้ว่าอยากจะมาชมถ้าได้มาเที่ยวเมืองเชียงแสน เพราะเป็นที่สุดแล้วของเจดีย์ที่มีความสวยงามในเมืองเชียงรายและอาจจะเป็นที่สุดแล้วของเจดีย์ทรงปราสาทในภาคเหนือครับ อาจจะเป็นเพราะเมืองเชียงแสนไม่ได้ถูกทำลายลงด้วยภัยสงคราม แต่โบราณสถานต่างๆผุพังด้วยตัวของโบราณสถานเอง ก็เลยยังหลงเหลือร่องรอยปูนปั้นต่างๆมากกว่าเมืองโบราณที่ถูกทำลายลงด้วยภัยสงครามครับ ตามประวัติ วัดป่าสัก เชียงแสน สร้างขึ้นในสมัยพระพญาแสนภู เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์มังรายซึ่งเป็นพระโอรสในพระเจ้าชัยสงคราม ในสมัยของพญาแสนภูได้ทรงขึ้นมาสร้างเมืองเชียงแสน สถาปนาเป็นเมืองหลวง แล้วลดฐานะของเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองลูกหลวงให้พระโอรสพระนามว่าเจ้าคำฟูปกครองเมืองเชียงใหม่ จุดประสงค์ในการสร้างวัดป่าสักนั้นก็เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุกระดูกตาตุ่มข้างขวา "โคปผกะธาตุ" ซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์นำมาถวายจากเมืองปาฏลีบุตร พระพญาแสนภูได้ทรงสั่งให้ปลูกต้นสักทั่วบริเวณวัด จำนวนถึง 300 ต้น ทำให้วัดนี้มีชื่อว่าวัดป่าสักนั่นเอง กลุ่มโบราณสถานของวัดป่าสักมีพื้นที่กว้างขวางมาก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 16 ไร่ ประกอบด้วยโบราณสถานต่าง ๆ จำนวน 22 แห่ง เมื่อตอนที่ไปเชียงรายเจ้าของบล็อกยังเจ็บๆขาเนื่องจากกล้ามเนื้อขาอักเสบอยู่จึงไม่ได้เดินเที่ยวชมโบราณสถานทั้ง 22 แห่ง ให้ทั่วอย่างที่ได้ตั้งใจไว้ ได้แต่เดินชมเจดีย์ประธานและโบราณสถานบริเวณใกล้เคียงเท่านั้นเองครับ ตั้งใจไว้อย่างหนักแน่นว่าถ้ามีโอกาสได้กลับไปเที่ยวที่เชียงแสนอีกครั้ง เจ้าของบล็อกจะกลับไปเที่ยวชมโบราณสถานทั้ง 22 แห่ง ให้ทั่วเชียวครับ เมื่อเดินผ่านแนวกำแพงแก้วเดิมก่อนถึงพระวิหารจะมีทางเดินยกพื้นสูงยาวปูด้วยอิฐหกเหลี่ยมทอดเข้าสู่พระวิหาร อิฐหกเหลี่ยมนี้เป็นของเดิมมาตั้งแต่ครั้งแรกสร้างวัดป่าสัก เชียงแสน เลยนะครับ พระวิหารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขหน้า สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐฉาบปูน สันนิษฐานว่าเป็นพระวิหารโถงมีขนาดประมาณ 17 เมตร × 37 เมตร มีเสาศิลาแลงฉาบปูนจำนวน 8 ต้น (รวมบริเวณมุขหน้า) ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 45 เซนติเมตร เดินผ่านมุขหน้าเข้าไปข้างในพระวิหาร ด้านท้ายพระวิหารยกพื้นสำหรับประดิษฐานพระประธาน จากพระวิหารไม่สามารถเดินต่อไปถึงพระเจดีย์ได้นะครับ จะต้องเดินลงด้านบันไดด้านข้างพระวิหารก่อนเพื่อเดินไปบนทางยกพื้นเพื่อไปชมพระเจดีย์ครับ พระเจดีย์ประธานที่วัดป่าสัก เชียงแสน เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนาที่งดงามที่สุดในภาคเหนือและยังมีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ผสมผสานศิลปะสุโขทัย พุกาม และหริภุญไชยเข้าด้วยกันจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ รูปแบบของเจดีย์ประธานวัดป่าสัก เชียงแสน ถือว่าเป็นรูปแบบเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอับดับที่สองในประเทศไทย (อันดับหนึ่งคือเจดีย์ที่วัดพระธาตุสองพี่น้องที่เมืองเชียงแสนน้อยอยู่ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายนี่แหละครับ) สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวๆพุทธศตวรรษที่ 19 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกด้านหลังของวิหาร เจดีย์มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 15 × 15 เมตร สูงจากฐานล่างสุดถึงยอดประมาณ 16 เมตร เจดีย์วัดป่าสักเป็นเจดีย์ห้ายอดคล้ายเจดีย์เชียงยืน ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน แต่มีลักษณะคลี่คลายออกไปแล้วคือ ผังของฐานส่วนล่างเป็นฐานเขียงเตี้ยๆ ในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเตี้ยๆซ้อนลดหลั่น เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัว เหนือฐานบัวขึ้นไปทำเป็นช่องๆ เป็นระยะๆ ประดับด้วยเสาหลอก ภายในช่องสี่เหลี่ยมเชื่อว่าเคยประดับด้วยลายปูนปั้นประดับอยู่ หรืออาจจะประดับเซรามิกปั้นเป็นชาดกต่างๆ ดังที่ปรากฏในศาสนสถานของพุกาม ชั้นถัดขึ้นไปทำเป็นช่องแปดเหลี่ยมประดับ ลักษณะของฐานอย่างนี้ทำให้นึกถึงเจดีย์แบบทวารวดี เช่น ที่พระประโทน หรือที่คูบัว ช่องสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยมนี้มักจะเป็นส่วนประดับฐานเจดีย์แบบทวารวดีอยู่เสมอ ภายในช่องสี่เหลี่ยมบางทีจะพบลายปูนปั้นประดับอยู่ก็มี แต่ที่พระธาตุเจดีย์วัดป่าสักลวดลายปูนนั้นส่วนมากกะเทาะออกหมดแล้ว เหลืออยู่แต่เค้าโครงในของส่วนอิฐที่วางเรียงให้เห็นเป็นช่อง ๆ อยู่เท่านั้น ฐานชั้นที่สองทำเป็นคูหาใหญ่ – เล็ก สลับกัน โดยมีจำนวนคูหาใหญ่ 3 คูหา และคูหาเล็ก 4 คูหา ในคูหาที่ใหญ่กว่าจะประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลก (พระหัตถ์ทั้งสองข้างแนบพระองค์) และในคูหาที่เล็กกว่าประดับรูปเทวดา ...... เรารู้ได้อย่างไรว่าเป็นรูปเทวดา ...... ที่บางคูหายังเหลือร่องรอยของรูปเทวดาประดับนุ่งผ้าซ้อนๆกันครับ ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงซ้อนเหลี่ยมกัน 3 ชั้น ตรงมุมยังมีปูนปั้นรูปครุฑประดับตกแต่งเหลืออยู่ ชั้นเรือนธาตุอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานของชั้นเรือนธาตุชั้นล่างสุดก็เป็นลายปูนปั้นบัวคว่ำบัวหงายที่ท้องไม้ระหว่างบัวคว่ำบัวหงายมีลายรักร้อยขั้นกลาง ตรงช่วงกลางเรือนธาตุทั้ง 4 ด้าน มีการสร้างซุ้มจระนำหรือ “ซุ้มทิศ” ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางเปิดโลก ลักษณะเรือนซุ้มจระนำนี้เป็นซุ้มซ้อนกัน 2 ชั้น ประดับลวดลายปูนปั้นลวดลายสวยงาม ด้านบนของซุ้มทิศประดับด้วย “ ฝักเพกา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ซุ้มเพกา (Clec) ซึ่งคล้ายคลึงกับงานในศิลปะพุกาม ตรงปลายของซุ้มทั้งสองข้างทำเป็นมกรคายนาคสามเศียร ตีนเสาที่รองรับซุ้มทำเป็นลายปูนปั้นเกียรติมุข หรือ หน้ากาล ที่หัวเสาปั้นเป็นลวดลายพรรณพฤกษาประดับประดา ลวดลายดังกล่าวนักโบราณคดีเชื่อกันว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบจีน ส่วนบนของเรือนธาตุประดับด้วยปูนปั้น “สะตายจีน” เป็นรูปคนแคระทำท่าแบก ชั้นบนสุดของเรือนธาตุสร้าง “สถูปิกะ” หรือ เจดีย์จำลององค์เล็กไว้ทั้ง 4 มุม (เมื่อรวมกับยอดขององค์เจดีย์แล้วจะนับได้ 5 ยอด) ซึ่งเป็นคติในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อันหมายถึงพระธยานิพุทธทั้งสี่ และพระอาธิพุทธ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดที่ทำฐานรองรับส่วนยอดอยู่ในผังแปดเหลี่ยม ประดับด้วยเสาหลอกโดยรอบ มีบัวหงายกลีบซ้อนเกสร (บัวปากระฆัง) แผ่ขยายรองรับส่วนองค์ระฆังอีกชั้นหนึ่ง องค์ระฆังของเจดีย์นี้เป็นรูปทรงกลมมีลายปูนปั้นรัดอกกับดอกประจำยามทั้ง 8 ทิศ ซึ่งเป็นธรรมเนียมการสร้างเจดีย์ในล้านา ยอดเจดีย์เป็นดอกไม้บาน สลับกับหม้อซึ่งหมายถึงหม้อปูรณฆฏะ ซึ่งเป็นอิทธิพลมอญโบราญ หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง จากรายงานการขุดแต่งวัดป่าสัก เมื่อ พ.ศ.2535 นักโบราณคดีพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น ชิ้นส่วนประกอบฉัตรที่ฉลุลายดอกไม้ แผ่นโลหะดุนลายดอกบัวปิดทอง แผ่นทองจังโก (ลักษณะเป็นแผ่นทองเหลืองทาด้วยน้ำยาและปิดทอง) รวมถึงพบสถูปจำลองหินทราย เศียรพระพุทธรูป ชิ้นส่วนพระเพลาหรือหน้าตักพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย อิฐเผาแกร่งขูดขีดลายคล้ายรูปมังกร เบี้ยดินเผาลักษณะเป็นเบี้ยกลม ฝนเรียบทุกด้านขอบโค้งมน เนื้อสีส้ม นอกจากนี้ ยังพบภาชนะดินเผาอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ เศษเครื่องถ้วยเขียนลายสีดำเคลือบจากเตาเวียงกาหลง เศษเครื่องถ้วยประเภทเคลือบสีเขียวจากเตาวังเหนือ (ลำปาง) เศษเครื่องถ้วยประเภทเคลือบสีเขียวจากเตาสันกำแพง (เชียงใหม่) ไหดินเผาไม่เคลือบแบบพื้นเมือง และกระปุกลายครามเขียนลายเป็ดกลางสระบัวสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187) โบราณวัตถุที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือลวดลายปูนปั้นจำนวนมาก เช่น ลายเกียรติมุขปูนปั้น ชิ้นส่วนเทวดาปูนปั้น ปูนปั้นประดับซุ้มโขง ได้แก่ ลายประจำยาม ลายดอกไม้ ลายเครือเถา ลายครุฑ ลายมังกร และลายรูปนาค 3 เศียร เป็นต้น สำหรับลวดลายปูนปั้นของเจดีย์วัดป่าสักที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน เป็นที่ยอมรับกันว่างานปูนปั้นประดับวัดป่าสักถูกสร้างสรรค์ด้วยฝีมือประติมากรชั้นครู รูปทรงมีโครงสร้างและปริมาตรชัดเจนมีสัดส่วน มีจังหวะในการจัดลำดับและการจัดวาง นับว่าเป็นงานซึ่งแสดงสุนทรียภาพชั้นสูง จากศิลปกรรมของเจดีย์วัดป่าสักทั้งสถาปัตยกรรมและประติมากรรม โดยเฉพาะลวดลายและประติมากรรมปูนปั้นประดับเจดีย์ เช่น พระพุทธรูปปูนปั้น (ปางลีลา) เทวดาปูนปั้น ครุฑและกินรีปูนปั้น ลายกระหนก ลายกาบบน กาบล่าง ลายประจำยาม และลายฝักเพกาเหนือซุ้ม ทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ศิลปกรรมของเจดีย์วัดป่าสักน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกามผ่านทางสุโขทัย พร้อมๆ กับการรับพุทธศาสนาลังกาวงศ์จากสุโขทัย ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้ ยังปรากฏศิลปะอื่นๆ ปะปนอยู่ด้วย เช่น การชักชายผ้าของเทวดาปูนปั้นคล้ายกับศิลปะลังกา พระพุทธรูปยืนปางเปิดโลกที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำของเรือนธาตุที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสุโขทัย ลายกลีบบัวขนาดใหญ่หรือบัวฟันยักษ์ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะปาละของอินเดีย ปูนปั้นลายเมฆ ลายช่องกระจก ลายบัวมีไส้ และลายดอกโบตั๋น ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะจีนผ่านทางเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยล้านนา อย่างไรก็ตาม มีศิลปกรรมบางส่วนที่น่าจะทำขึ้นในสมัยหลัง เช่น พระพุทธรูปปางเปิดโลก (น่าจะทำขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ 20 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 21) พระพุทธรูปปางลีลาที่ซุ้มจระนำด้านทิศใต้ที่มีการปั้นปูนทับลงบนเค้าโครงเดิม (ปั้นทับเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22-23) เราเดินชมรอบๆเจดีย์วัดป่าสักไปตามทางเดินยกพื้นที่กรมศิลปากรได้ทำเอาไว้ เดินผ่านซากอาคาร แนวกำแพงแก้วเดิม ผ่านซากอาคารทรงแปลกตาที่เป็นผังรูปตัวแอล (L) ปลายข้างหนึ่งเชื่อมต่อกับเจดีย์หรือสถูป ปลายอีกข้างเป็นทางขึ้นทำเป็นบันไดสูง ไม่แน่ใจว่าเป็นโบราณสถานในวัดป่าสักหรือเปล่าเพราะอยู่นอกแนวกำแพงแก้วออกมาแล้ว หรือจะเป็นวัดอีกวัดหนึ่ง เพราะอย่างที่ได้บอกไปตอนต้นว่าโบราณสถานในบริเวณวัดป่าสักมี 20 กว่าแห่ง อาจจะวิหารของวัดอีกวัดหนึ่งก็ได้นะครับ ถ้ามีโอกาสได้กลับมาเที่ยววัดป่าสุกอีกครั้งจะหาคำตอบให้ได้ครับ... อ่านต่อ
0 Like0 Comment
photo