4.0
3 เรตติ้ง (2 รีวิว)
วัดไม่มีค่าเข้าชม
พุทธสถานครองราช 60 ปี พระใหญ่เขื่องใน
พระใหญ่ศูนย์รวมใจคนอำเภอเขื่องในพระใหญ่เขื่องใน ตามที่ชาวบ้านเรียกกันนี้ มีต้นกำเนิดต้นคิดมาจาก พระครูปิยจันทคุณ (ชาลี ปิยธมฺโม) แห่งวัดป่าจันทราวาส อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเดินทางจากริกแสวงบุญที่ประเทศอินเดีย ไปกราบไหว้นมัสการสังเวชนียสถาน พร้อมด้วยหมู่พระสงฆ์ 10 รูป และญาติโยมอีกหลายคน ระหว่างวันที่ 3-13 ธันวาคม 2548 วันหนึ่งขณะที่พระครูและคณะได้นั่งภาวนาอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ท่านพระครูได้ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ข้อไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่แน่นอน ขณะนั้นนึกถึงบ้านที่ อ.เขื่องใน "เราเกิดมาจะทำอะไรไว้เป็นอนุสรณ์สักอย่าง เพื่ออย่างน้อยก็เป็นรูปแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ในจิตเกิดคำตอบขึ้นว่า "สร้างพระพุทธรูปใหญ่" ถามว่าสร้างที่ไหนดี ตอบว่า "สร้างที่โนนกล้วย" ในความคิดขณะนั้น คิดเห็นโนนข้างทางกลางทุ่ง ติดถนนแจ้งสนิท (ชาวบ้านเรียก โนนตากล้า) มาจากอุบลฯ ก่อนถึง อ.เขื่องใน 4 กม. จึงได้เข้าไปในเจดีย์พุทธคยา อธิษฐานจิตกับหลวงพ่อพระเมตตา พระศักดิ์สิทธิ์ในที่นั้นว่า จะขอเป็นผู้นำในการจัดสร้างพระปฏิมาแทนองค์พระศาสดาที่โนนกล้วยแห่งนั้น เพื่อเป็นที่สักการะกราบไหว้ และเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยาวนานที่สุด พระครูปิยจันทคุณ เล่าให้ฟังว่า การดำริที่จะสร้างพระใหญ่นี้ เกิดขึ้นในขณะที่อยู่ที่พุทธคยา จริงๆ ไม่เคยคิดมาก่อน ด้วยความคิดอย่างเดียวที่ว่า อยากให้พุทธศาสนิกชนมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และที่สำคัญคือ มีความที่ว่า ประชาชนบางคนไม่สะดวกที่จะเข้าวัด จึงคิดว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านพุทธศาสนิกชนได้เข้าถึงพระพุทธศาสนา จึงมีความคิดที่ว่า ถ้าสร้างพระใหญ่ไว้บริเวณริมถนน แม้คนที่แค่ขับรถผ่านไปมา หรือชาวบ้านที่มองเห็นพระใหญ่แต่ไกล ก็อาจจะทำให้เตือนสติ เตือนใจ ระลึกถึงพระพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น ภาษาพระท่านเรียกว่า พุทธานุสติ  โครงการก่อสร้างพระใหญ่ เริ่มเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 หลังจากนั้นพระครูปิยจันทคุณ (ชาลี ปิยธมฺโม) ได้ไปกราบเรียนแจ้งความประสงค์กับพระเดชพระคุณ พระมงคลกิติธาดา (อมร เขมจิตโต) เจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบในขณะนั้น ซึ่งเป็นพระเถระที่เคารพนับถือมาก ท่านได้เมตตาตั้งชื่อพระใหญ่องค์นี้ว่า "พระพุทธปิยะโพธิมงคล" และได้มอบปัจจัยพร้อมกับต้นโพธิ์ เป็นพันธุ์อินเดียที่เกิดที่หลังคาโบสถ์มาให้ปลูกด้วย ต่อมาพระครูปิยจันทคุณ และพระครูโสภณอาภากร (พนม) ได้ปรึกษากันถึงการกำหนดตั้งชื่อสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งในใจของพระครูปิยจันทคุณนั้นพอมีเค้าโครงชื่ออยู่บ้างแล้ว ตอนได้กล่าวคำถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2548 ณ วัดไทยพุทธคยา ว่าเราจะสร้างพระพุทธรูปถวายเป็นพระราชกุศลฯ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สถานที่ในการก่อสร้างพระปฏิมากรณ์องค์ใหญ่นี้จึงได้ชื่อ “พุทธสถานครองราชย์ 60 ปี” (พ.ศ.2549) คำว่า “พุทธสถาน” นั้นไม่ใช่วัด แต่เป็นสถานที่ของพระพุทธศาสนา ที่ซึ่งพุทธบริษัททุกคนจะมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ในการปรับปรุงดูแลรักษา เป็นสถานที่สักการะกราบไหว้บูชา และให้พระพุทธศาสนาเจริญ สถิตย์ยั่งยืนนานตลอดนิจนิรันดร์กาล   สำหรับ พระใหญ่ หรือ "พระพุทธปิยะโพธิมงคล" นี้ เป็นปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 19.19 เมตร ความสูงองค์พระพร้อมฐาน 35 เมตร เป็นการรวมศิลปะ 3 สมัยอยู่ในองค์เดียวกัน คือ แบบเชียงแสน ด้วยมีสังฆาติเหนือราวนม แบบสุโขทัยด้วยมีเกศเปลวเพลิงสูง พระพักตร์ดูเอิบอิ่ม และแบบรัตนโกสินทร์ ด้วยมีจีวรเป็นกลีบ  การสร้างพระพุทธปิยะโพธิมงคล วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2549 จนแล้วเสร็จมีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2552 และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบพุทธสถานให้สวยงามสมบูรณ์แบบ แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2553 ... อ่านต่อ
0 Like0 Comment
photo