วิธีทำ “ยำใหญ่” เมนูชาววัง จากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒
  1. วิธีทำ “ยำใหญ่” เมนูชาววัง จากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

วิธีทำ “ยำใหญ่” เมนูชาววัง จากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

"ยำใหญ่" อาหารไทยรสเลิศตำรับชาววัง เมนูจากกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒
เวลาเตรียม
10 นาที
เวลาปรุง
20 นาที
0
สำหรับ
3 เสิร์ฟ

“ยำใหญ่ใส่สารพัด วางจานจัดหลายเหลือตรา รสดีด้วยน้ำปลา ญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ” เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินกาพย์บทนี้ผ่านหูมาบ้างตั้งแต่สมัยเรียน แต่น้อยคนนักจะรู้ถึงส่วนผสมและวิธีการปรุงของเมนูนี้ ในความจริงนั้น “ยำใหญ่” ถือว่าเป็นเมนูที่ใส่ได้สารพัดจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ กุ้ง ไข่ไก่ เครื่องยำต่าง ๆ ก็สามารถใส่ได้ตามใจชอบ และถือว่าเป็นเมนูเพื่อสุขภาพได้อีกด้วย เพราะสามารถเลือกได้ว่าต้องการจะใส่อะไรเพิ่มเป็นพิเศษหรือลดอะไรที่ไม่ชอบก็ได้เช่นกัน ส่วนเคล็ดลับจริง ๆ นั้นอยู่ที่ตัวน้ำยำที่จะเพิ่มไข่แดงเข้าไป และปรุงด้วยรสชาติกลมกล่อมไม่จัดจ้านจนเกินไปในแบบตำรับของอาหารชาววัง

วัตถุดิบยำ

- เนื้อหมูต้มสุกหั่นบาง 50 กรัม

- เนื้อไก่ต้มสุกฉีกเป็นเส้น 30 กรัม

- กุ้งสดต้มสุก 10 ตัว

- ไข่ต้ม 1 ฟอง

- กระเทียมดองหั่นบาง 1 หัว

- วุ้นเส้นแช่น้ำจนนิ่ม ¼ ถ้วย

- เห็ดหูหนูลวก หั่นเส้น ¼ ถ้วยตวง

- แตงร้านเอาเมล็ดออก หั่นเส้น ¼ ถ้วยตวง

- หัวไชเท้า หั่นเส้น ¼ ถ้วยตวง

- ต้นหอม หั่นท่อน 1 ต้น

- ผักชี เด็ดใบ 1 ต้น

- กระเทียมเจียว 1 ช้อนโต๊ะ

วัตถุดิบน้ำยำ

- รากผักชี 1 ราก

- กระเทียม 1 กลีบ

- พริกไทย 5 เม็ด

- พริกขี้หนู 3 เม็ด

- น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ

- น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ

- ไข่แดงต้มสุก 1 ฟอง

- น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

- โขลกพริกไทย รากผักชี และกระเทียมให้แหลกเป็นเนื้อเดียวกัน ใส่พริกขี้หนูตามลงไป โขลกอีกทีให้พริกละเอียด

- ใส่ไข่แดงตามลงไป ใช้สากบดให้ละเอียด ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลทราย และน้ำมะนาว คนให้เข้ากัน แล้วพักไว้

- เทแตงร้านหั่นเส้น เห็ดหูหนูลวกหั่นเส้น หัวไชเท้าหั่นเส้น วุ้นเส้นแช่น้ำ เนื้อหมูต้มสุกหั่นบาง กุ้งสดต้มสุก เนื้อไก่ต้มสุกฉีกเป็นเส้น ต้นหอมหั่นท่อน กระเทียมดองหั่นบาง และกระเทียมเจียวลงในชามผสม ตามด้วยน้ำยำที่ปรุงไว้ตอนแรก คลุกให้เข้ากัน

- จัดเสิร์ฟพร้อมไข่ต้มผ่าซีก ตกแต่งด้วยผักชี พร้อมรับประทาน

“ยำใหญ่” ถือว่าเป็นเมนูที่ไม่ยากสำหรับมือใหม่ และยังเป็นเมนูที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษารสชาติของอาหารไทยโบราณอย่างแท้จริง