สายมูฯต้องห้ามพลาด! ใกล้เทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทที่ “เขาคิชฌกูฏ” แล้ว วันนี้ Wongnai Travel ขอเสนอ คู่มือขึ้นเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี ปี 2565 นมัสการรอยพระพุทธบาท 1 ปีมี 1 หน เอาไว้ให้เพื่อน ๆ ดูเป็นแนวทางและจะได้เตรียมตัวกันก่อนขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทกัน เอาเป็นว่าตามมาดูกันดีกว่าว่า เราจะต้องเตรียมตัวอะไรก่อนการเดินทางบ้าง ลุยยยยยยยย :D
คู่มือเขาคิชฌกูฏ 2565 เริ่มวันไหน จองอย่างไร การเดินทางที่ต้องรู้!
ทำความรู้จัก “เขาคิชฌกูฏ” กันก่อน
มารู้จัก “เขาคิชฌกูฏ” กันก่อนดีกว่า เขาคิชฌกูฏตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย สูงกว่า 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล ถือว่าสูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ “รอยพระพุทธบาท” มีลักษณะเป็นรอยบนหินแผ่นใหญ่ มีรอยลึกประมาณ 2 เมตรเศษ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ค้นพบที่ยอดเขาพระบาทห่างจากที่ทำการอุทยานเขาคิชฌกูฏราว 4 กม. ซึ่งเป็นตำนานศักดิ์สิทธิ์อันเลื่องลือ ที่ใครต่อใครต้องบอกว่าครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปให้ได้!
ทำไมต้องไปที่ “เขาคิชฌกูฏ”?
เป็นเพราะว่าสถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยมนต์ขลังและความเชื่อ จึงทำให้นักแสวงบุญเชื่อกันว่าใครได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาคิชฌกูฏ ก็เปรียบเสมือนเราได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจะได้รับกุศลที่ยิ่งใหญ่ ประสบแต่ความสุขความเจริญ หากได้มาอธิษฐานขอพรที่นี่แล้วจะสมดั่งใจหวัง จุดไฮไลต์ก็คือ “รอยพระพุทธบาท” และหินก้อนใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมหน้าผา การเดินจนมาถึงตำแหน่งนี้ได้เป็นการวัดพลังศรัทธาอย่างหนึ่ง และเชื่อว่าขอพรอะไรก็จะสัมฤทธิ์ผล ส่วนใหญ่นิยมขอพรเรื่องหน้าที่การงาน สุขภาพ ความรัก เงินทอง ลาภยศต่าง ๆ แต่ “ขอได้แค่ 1 ข้อเท่านั้น”
อีกจุดหนึ่งคือ “ผ้าแดง” เส้นทางสูงชัน ต้องเดินต่อขึ้นไปอีกประมาณ 1 กม. เพื่อเขียนคำขอพรลงไว้ที่ผ้าแดง เชื่อกันว่าจะทำให้พรนั้นสมดั่งใจปรารถนา และยังได้ชมวิวมุมสูงที่สวยงาม บนยอดเขาพระบาทอากาศเย็นสบาย สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาสระบาป เขาสุกิม เกาะนมสาว และตัวเมืองจันทบุรีได้ชัดเจน
กำหนดการเปิดอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏจันทบุรี ปี 2565
มีกำหนดการเปิดอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏจันทบุรี ปี 2565 ออกมาแล้วว่า 2 กุมภาพันธ์ – 2 เมษายน 2565 แต่ด้วยปีนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทำให้ต้องจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่สามารถขึ้นเขาได้ในแต่ละวัน โดยผู้ที่สนใจจะต้องจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน QueQ ก่อน
- พิธีบวงสรวงเปิดงาน 31 มกราคม 2565 (*เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น)
- เปิดอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ 2 กุมภาพันธ์ - 2 เมษายน 2565
- พิธีเปิดป่า-ปิดงาน 2 เมษายน 2565
ขั้นตอนการเตรียมตัวไปเขาคิชฌกูฏ
1. จองคิวไปเขาคิชฌกูฏผ่านแอปพลิเคชัน QueQ
รับเฉพาะคนที่จองผ่านแอปฯ QueQ เท่านั้น ไม่เปิดรับแบบ walk-in โดยสามารถจองล่วงหน้าได้ 1 เดือนก่อนเปิดเขาคิชฌกูฏ
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน QueQ
- เข้าแอป QueQ
- เลือก “อีเวนท์”
- เลือกช่องทางที่จะขึ้นรถเพื่อไปนมัสการ
- ใส่รายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเดินทางและผู้เดินทางให้ครบถ้วน
- เลือกวันและเวลาที่จะขึ้นนมัสการ
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ ต้องมีเอกสารยืนยันว่า ไม่พบเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมง รวมทั้งได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือถ้าเป็นผู้ที่เคยป่วยมาก่อน ต้องมีเอกสารรับรองว่า หายป่วยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 90 วัน โดยสามารถนำเอกสารไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ หรือใช้แอปพลิเคชันหมอพร้อมในการแสดงผลการฉีดวัคซีน
2. วิธีการเดินทางไปเขาคิชฌกูฏ
- รถยนต์ส่วนตัว : เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (Motorway) เริ่มต้นที่ถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ ผ่านอำเภอบ้านบึง มุ่งสู่อำเภอแกลง จากสามแยกแกลงเลี้ยวซ้าย ใช้ทางหลวงหมายเลข 3 จนถึงจันทบุรี รวมระยะทาง 230 กิโลเมตร
- รถโดยสารสาธารณะ : รถที่ทาง ขสมก. จัดไว้ให้สำหรับเดินทางไปเขาคิชฌกูฏ โดยเฉพาะจากกรุงเทพฯ ไปถึงวัดกระทิง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
3. จุดขึ้นรถและอัตราค่าบริการ
ในแต่ละปีจะมีรถบริการนักแสวงบุญขึ้นยอดเขา 2 จุดด้วยกัน นั่นก็คือ
- วัดพลวง : เป็นจุดที่คนนิยมมากที่สุด ซึ่งถ้าใครเลือกใช้บริการสองแถวที่วัดนี้ จะต้องนั่ง 2 ต่อ ต่อละ 50 บาท โดยต่อแรกจะขึ้นไปครึ่งทาง แล้วต้องต่อรถอีกรอบเพื่อขึ้นไปถึงด้านบน โดยที่จุดแวะจะมีเจดีย์กลางเขาให้สักการะด้วย รวมแล้วการขึ้น-ลงที่จุดนี้มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 200 บาท
- วัดกะทิง : คิวรถวัดกะทิง เป็นรถต่อเดียว ราคา 200 บาท เหมาทั้งขึ้นและลงต่อเดียว ไม่ต้องต่อรถกลางเขา ในช่วงเวลาคนไม่หนาแน่นจะสะดวกรวดเร็ว แต่ในช่วงคนหนาแน่นรอคิวอาจจะนานกว่าคิววัดพลวง
โดยอัตราค่าเข้าอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏบุคคลชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท และบุคคลชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท
4. ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยง พร้อมแนะนำช่วงเวลาเดินทาง
- ช่วงเวลาขาขึ้นที่ต้องห้าม : ศุกร์-อาทิตย์ และช่วงวันหยุดเทศกาลต่อเนื่อง 3 วัน และเทศกาลสำคัญ ๆ เวลาประมาณ ตี 1-6 โมงเช้า โดยเฉพาะช่วงเวลา 03.00-05.00 น. จะหนาแน่นมากเป็นพิเศษ
- ช่วงเวลาขาลงที่ต้องห้าม : วันอาทิตย์ 6-10 โมงเช้า
โดยช่วงเวลาที่ผู้แสวงบุญมาเขาคิชฌกูฏมากที่สุด
- ช่วงเวลาขาขึ้นที่ต้องห้าม : ทุกคืนวันศุกร์ตั้งแต่ช่วงเวลาตี 1 ถึง 6 โมงเช้า (เช้าวันเสาร์) และวันเสาร์ ตี 1 ถึง 7 โมงเช้า (เช้าวันอาทิตย์) ทั้งนี้โดยเฉพาะช่วงเวลา 03.00-05.00 น. จะหนาแน่นมากเป็นพิเศษ
- ช่วงเวลาขาลงที่ต้องห้าม : วันอาทิตย์ 6-10 โมงเช้า และช่วงวันหยุดเทศกาลต่อเนื่อง 3 วัน และเทศกาลสำคัญ ๆ
หากเพื่อน ๆ จะเดินทางด้วยช่วงเวลาอื่นนอกเหนือจากนี้ก็สามารถขึ้นลงได้ตลอดไม่ต้องรอคิวนานเท่าช่วงวันหยุดและเทศกาล คิวรถขึ้นเขาคิชฌกูฏจะเคารพสิทธิ์ผู้มาถึงก่อน เพื่อน ๆ ไม่สามารถลัดคิวได้ ยกเว้นเป็นผู้สูงอายุหรือมากับเด็กเล็กที่ไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่ เจ้าหน้าที่คิวรถพระบาทพลวงจะดูแล ลัดให้ได้บ้างบางคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพเท่านั้น
5. เตรียมตัวเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏ
“รองเท้า” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อน ๆ ควรเตรียมรองเท้าที่เหมาะแก่การเดินขึ้นเขา เมื่อเพื่อน ๆ นั่งรถขึ้นมาแล้วใช่ว่าจะถึงกันง่าย ๆ เพื่อน ๆ จะต้องเดินเท้าขึ้นเขาไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่เดินขึ้นไปนั้นจะเป็นทางเดินเข้าป่าธรรมดาสลับกับบันไดและระเบียงไม้ในจุดลาดชันและหินก้อนใหญ่ แนะนำว่าค่อย ๆ เดิน กำหนดลมหายใจให้ดี อย่าลืมพกน้ำดื่ม ผ้าเช็ดหน้า และยาดมเอาไว้ด้วยนะ และหากใครที่พาผู้สูงอายุไปเที่ยวด้วย เขาก็มีเสลี่ยงบริการ สำหรับคนที่เดินขึ้นไม่ไหวอีกด้วย
6. การแต่งกายขึ้นเขาคิชฌกูฏ
เรื่องของการแต่งกายนั้น แนะนำว่าให้เพื่อน ๆ สวมใส่ชุดที่สุภาพเพราะทางวัดมีกฎที่ค่อนข้างเข้มงวด คือ ห้ามใส่เสื้อสายเดี่ยว แขนกุด และกางเกงขาสั้น เพื่อน ๆ ควรเลือกเสื้อผ้าที่มิดชิด สวมใส่สบาย ทะมัดทะแมง ไม่ต้องหนามาก เพราะตอนเดินขึ้นเขาอากาศค่อนข้างจะร้อนเนื่องด้วยบุคคลที่จะขึ้นไปสักการะมีจำนวนมาก แต่ก็จะพอมีลมพัดสลับกับร่มไม้ตลอดทาง ส่วนอากาศบนเขาลมพัดเย็นสบาย ไม่หนาวมาก
7. จุดไฮไลต์ที่ต้องสักการะพร้อมวิธีขอพร
จุดไฮไลต์ก็คือ “รอยพระพุทธบาท” และหินก้อนใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมหน้าผา การเดินจนมาถึงตำแหน่งนี้ได้เป็นการวัดพลังศรัทธาอย่างหนึ่ง และเชื่อว่าขอพรอะไรก็จะสัมฤทธิ์ผล ส่วนใหญ่นิยมขอพรเรื่องหน้าที่การงาน สุขภาพ ความรัก เงินทอง ลาภยศต่าง ๆ แต่ “ขอได้แค่ 1 ข้อเท่านั้น”
และอีกจุดหนึ่งคือ “ผ้าแดง” เส้นทางสูงชัน ต้องเดินต่อขึ้นไปอีกประมาณ 1 กม. เพื่อเขียนคำขอพรลงไว้ที่ผ้าแดง เชื่อกันว่าจะทำให้พรนั้นสมดั่งใจปรารถนา และยังได้ชมวิวมุมสูงที่สวยงาม บนยอดเขาพระบาทอากาศเย็นสบาย สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาสระบาป เขาสุกิม เกาะนมสาว และตัวเมืองจันทบุรีได้ชัดเจน
8. สถานที่เที่ยวใกล้ ๆ เขาคิชฌกูฏ
นอกจากนักท่องเที่ยวจะเดินทางไปเขาคิชฌกูฏแล้ว ยังมีเวลาเหลือที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อื่น ๆ ต่อได้อีก ซึ่งเราขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ ของจังหวัดจันทบุรีอีกมากมาย ได้แก่
- น้ำตกกระทิง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่จำนวน 13 ชั้น ที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาคิชฌกูฏ สามารถเล่นน้ำได้ส่วนน้ำตกชั้นที่ 8-9 เป็นชั้นที่สวยงามที่สุด ส่วนน้ำตกชั้นล่างสุดอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏเพียง 100 เมตร
- น้ำตกคลองช้างเซ อยู่ระหว่างทางขึ้นเขาพระบาท ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่เหมาะแก่การเดินป่าศึกษาธรรมชาติใช้เวลาในการเดินประมาณ 3 ชั่วโมง ระยะทาง 4 กิโลเมตร
- น้ำตกคลองไพบูลย์ เป็นธารน้ำตกขนาดใหญ่เหมาะแก่การลงเล่นน้ำ บรรยากาศร่มรื่น อยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ที่ คก. 2 (คลองไพบูลย์) ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 8 กิโลเมตร
พร้อมกันแล้วหรือยังกับ คู่มือขึ้นเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี ปี 2565 นมัสการรอยพระพุทธบาท 1 ปีมี 1 หน ยิ่งวันเปิดเขาคิชฌกูฏใกล้เข้ามาแล้ว ต้องเตรียมตัวฟิตร่างกายกันให้พร้อมสักหน่อยแล้ว รับรองว่าเตรียมตัวให้ดีการเดินทางราบรื่นแน่นอน และเราขอความร่วมมือจากเพื่อน ๆ หากต้องเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏแล้วนั้นช่วยกันรักษาความสะอาดกันด้วยน้า และการเดินทางไปยังเขาคิชฌกูฏสามารถไปเช้า-เย็นกลับได้เลย
หรือหากเพื่อน ๆ ต้องการแวะนอนพักสักคืนก็สามารถตามไปดูกันต่อได้ที่ 10 ที่พักจันทบุรี บรรยากาศดี พักผ่อนชิล ใกล้ชิดธรรมชาติ! หากใครที่กำลังจะเดินทางไปสักการะพระพุทธบาทหลวง ทาง Wongnai Travel ก็ขออนุโมทนาบุญมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ :D
ติดตามบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับจันทบุรีต่อได้ที่นี่