“ผู้หญิงเขาเซนส์แรงนะ” ใคร ๆ ก็ว่าเป็นประโยคที่ได้ยินบ่อย ๆ ใช่ไหมคะ วันนี้ผู้เขียนขอหยิบเรื่องที่หลายคนสงสัยมาเม้าท์ให้ฟังเล่น ๆ ทำไม๊ ทำไม “ผู้หญิง” ถึงมักถูกยกให้เป็นเจ้าของเซนส์ล้ำลึก ประหนึ่งเป็นเซนส์แม่หมอแห่งยุค 5G อ่านเกมเก่งกว่าเพื่อน อ่านใจคนแม่นเหมือนจับวาง จนผู้ชายบางคนยังร้อง “โอ๊ย กลัวแล้วจ้า!” รู้ไหมว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติหรือมโนขึ้นมาเองแต่อย่างใด วันนี้เรามาไขปริศนาเซนส์ผู้หญิงกับ Beauty Story กันค่ะ
.
(1) สมองล้ำกว่า หรือเป็นพรจากธรรมชาติ?
เรื่องนี้เกี่ยวกับสมองเต็ม ๆ ค่ะคุณผู้อ่าน! การศึกษาในปี 2014 โดย Dr. Ragini Verma และทีมงานที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พบว่าสมองผู้หญิงมีการเชื่อมโยงระหว่างสมองซีกซ้าย (ด้านเหตุผล) และซีกขวา (ด้านอารมณ์) ได้ดีกว่าผู้ชายอย่างชัดเจน ซึ่งช่วยให้ผู้หญิงประมวลผลทั้งข้อมูลที่มีเหตุผลและความรู้สึกได้พร้อมกัน ทำให้พวกเธอสามารถ "อ่าน" อารมณ์ของคนรอบข้าง รวมถึงจับสัญญาณความผิดปกติในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้แม่นยำ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมติคุณกำลังนั่งอยู่ในวงเพื่อนแล้วมีใครบางคนพูดว่า “ไม่เป็นไรหรอก” แต่ผู้หญิงกลับจับได้ว่า น้ำเสียงนั้นดูเหนื่อยล้าหรือแฝงอารมณ์บางอย่าง ทั้งที่คนอื่นอาจไม่ได้สังเกตเลย หรือในที่ประชุม เพื่อนร่วมงานชายอาจไม่ทันสังเกตว่าสายตาของเจ้านายดูไม่พอใจเล็กน้อยตอนพูดบางประโยค แต่ผู้หญิงเห็นแล้วรู้ทันทีว่า “มีอะไรแน่ ๆ”
.
ถ้าจะให้ชัดเจนขึ้นไปอีก ผู้หญิงอย่างเรา ๆ สังเกตได้ว่า ช่วงนี้แฟนแปลกไป ชอบมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น มือถือที่เคยยืมมาถ่ายรูปเล่น ๆ กลับจับไม่ได้ซะงั้น พอถามว่าช่วงนี้ออกไปข้างนอกกับใคร เจ้าตัวก็ดันปฏิเสธว่า “เปล๊า ก็เพื่อนปกติแหละ” ด้วยน้ำเสียงที่แปลกไป แถมกลับมาบ้านยังบอกรักบ่อยแปลก ๆ อีก แบบนี้สาว ๆ คงคิดว่าชัดเจนแล้วแน่ ๆ ใช่ไหมคะ
.
หรือจะเป็น “เพื่อนสาวคนนั้น” ที่สนิทแบบแปลก ๆ อีก ถ้าคนอื่นไม่คิดอะไรก็คงคิดว่า เออ ก็เพื่อนกันแหละ แต่สาว ๆ อย่างเรามันจะมีอะไรสักอย่างสะกิด ๆ ใช่ไหม ว่ามันมีอะไรในกอไผ่ เข้าข่าย “แฟนใหม่หน้าคุ้น” หรือเปล่าน้า
.
(2) ผู้หญิง = Radar จับอารมณ์ขั้นเทพ
นอกจากสมองแล้ว ฮอร์โมนก็มีบทบาทสำคัญค่ะ นิตยสารจาก Oxford ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีมากในผู้หญิง ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับรู้อารมณ์จากการแสดงออกทางสีหน้าและน้ำเสียง คุณผู้หญิงเลยมักเป็นคนที่สังเกตและเข้าใจความรู้สึกซับซ้อนของคนอื่นได้ดีกว่า ยิ่งถ้าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเปลี่ยนน้ำเสียงตอนพูดว่า "ไม่เป็นไร” “เปล่า ไม่มีอะไรนี่" บอกเลยว่า เรดาร์จับอารมณ์แบบนี้ ผู้ชายบางคนอาจยังงงว่า "เธอรู้ได้ไง?"
.
ความเซนส์แรงของผู้หญิงยังมีต้นกำเนิดมาจากวิวัฒนาการอีกด้วย งานวิจัยในปี 2018 โดย Dr. David Geary แห่งมหาวิทยาลัยมิสซูรี ระบุว่าผู้หญิงในอดีตต้องรับบทบาทดูแลลูกและเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน ทำให้พวกเธอพัฒนาทักษะในการสังเกตและวิเคราะห์สิ่งรอบข้างเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว
ผลลัพธ์คือ ผู้หญิงมักมีเซนส์ที่ไวต่ออันตรายหรือสิ่งแปลกปลอมในสิ่งแวดล้อม เช่น การรู้สึกถึงพลังงานลบจากคนแปลกหน้า หรือความผิดปกติในสถานการณ์ที่ดูเหมือนปกติ นี่คือกลไกทางชีวภาพที่ช่วยให้พวกเธอปลอดภัยค่ะ
.
(3) วัฒนธรรมช่วยขัดเกลา
นอกจากปัจจัยทางชีววิทยา วัฒนธรรมยังมีส่วนสำคัญในการสร้าง "เซนส์" ให้ผู้หญิงค่ะ สังคมมักปลูกฝังบทบาทการดูแลผู้อื่นหรือความใส่ใจในรายละเอียดให้ผู้หญิง
ตัวอย่างเช่น สังคมจีนที่ยึดหลักขงจื๊อ ที่ผู้หญิงในเรือน ทั้งภรรยา ลูกสาว ลูกสะใภ้ ต้องสังเกตอารมณ์ผู้เป็นพ่อเป็นสามี ว่ามีอารมณ์ดีพอที่จะเข้าไปพูดคุยขออนุญาตต่าง ๆ ไหม หรือลองนึกง่าย ๆ คุณแม่นายหญิงของบ้านที่ต้องคอยสังเกตลูกชายในจวนบ้านว่าพึงใจให้สาวน้อยคนไหนในหมู่บ้าน เพื่อการสู่ขอต่อไป
.
เหตุการณ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเป็นแม่ที่ต้องเข้าใจลูก หรือการรับบท "ผู้ฟัง" ในความสัมพันธ์ เมื่อสะสมสิ่งเหล่านี้เข้าไปในชีวิตประจำวัน ความเซนส์ไวเลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนไปโดยปริยาย
สรุปว่าความเซนส์แรงของผู้หญิงเป็นผลจากทั้งชีววิทยา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมที่ทำให้พวกเธอสามารถ "อ่าน" คนและสถานการณ์ได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นสมองที่เชื่อมโยงข้อมูลเร็ว ฮอร์โมนที่ช่วยเสริม หรือบทบาทในชีวิตประจำวันที่ฝึกฝนจนกลายเป็นพรสวรรค์
.
แต่คุณผู้อ่านคะ อย่าเพิ่งตัดสินว่า "ผู้ชายเซนส์ไม่ดี" นะ เพราะความเซนส์แรงเป็นทักษะที่ทุกคนสามารถพัฒนาได้ค่ะ แค่สังเกตและฝึกฝนบ่อย ๆ คุณเองก็สามารถเป็นเรดาร์ประจำกลุ่มได้เหมือนกัน
—------------
Reference
Baron-Cohen, S., Tager-Flusberg, H., & Lombardo, M. V. (2015). Understanding Other Minds: Perspectives from Developmental Social Neuroscience. Oxford University Press.
Geary, D. C. (2018). Male, Female: The Evolution of Human Sex Differences. American Psychological Association.
Verma, R., et al. (2014). Sex differences in the structural connectome of the human brain. Proceedings of the National Academy of Sciences.
.
#Wongnai #WongnaiBeauty #BeautyStory #ผู้หญิงเซนส์แรง #WomanSixthSense