ทำความรู้จัก พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ สมรสเท่าเทียม กฎหมายของชาว LGBTQIA+
  1. ทำความรู้จัก พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ สมรสเท่าเทียม กฎหมายของชาว LGBTQIA+

ทำความรู้จัก พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ สมรสเท่าเทียม กฎหมายของชาว LGBTQIA+

ถ้าจะรัก ควรต้องรู้ กับสองกฎหมาย สมรสเท่าเทียม และพ.ร.บ.คู่ชีวิต มาดูกันว่าจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร แล้วกฎหมายแบบไหนจะเหมาะที่สุด
writerProfile
15 มิ.ย. 2022 · โดย

เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เลยนะคะที่ movement ทางด้านความเท่าเทียมในสังคมไทยนั้นมีมาอยู่เรื่อย ๆ และประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นหนึ่งใน movement เหล่านั้นด้วยเช่นกัน แต่หลายคนก็ยังมีสงสัยอยู่บ้าง ว่าเอ๊ะ พ.ร.บ คู่ชีวิต หรือ กับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่าสมรสเท่าเทียม นั้นแตกต่างกันอย่างไร และ จะเป็นประโยชน์อย่างไรกับเพื่อน ๆ ชาว LGBTQIA+ เอาเป็นว่าถ้าทุกคนพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมแล้ว ก็ไปดูกันเลย~~

ความแตกต่างและความคล้ายคลึงของพ.ร.บ.คู่ชีวิต และ สมรสเท่าเทียม

สมรสเท่าเทียม,พ.ร.บ.คู่ชีวิต,LGBTQIA+,กฎหมาย

คำเรียก: คู่ชีวิตนั้น เป็นคำที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้เรียกคู่รักที่มีเพศเดียวกันตั้งแต่กำเนิด ส่วนคู่สมรส เป็นคำที่ขยายขึ้นมาจากคำว่าสามี ภรรยา ซึ่งมีความครอบคลุมกับทุกบุคคล

การหมั้น: เพราะสมรสเท่าเทียมคือการขยายขอบเขตของการสมรสให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับทุกบุคคล ทำให้การหมั้นเป็นอีกหนึ่งสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ โดยจะใช้คำว่า ผู้หมั้น และผู้รับหมั้น จากที่เคยใช้คำว่าชาย และ หญิงจากกฎหมายเดิม ส่วนพ.ร.บ.คู่ชีวิตกับการหมั้นนั้นยังคงเป็นประเด็นที่คลุมเครืออยู่ ทำให้เราไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นพ.ร.บ.ที่สนับสนุนประเด็นนี้จริงๆ

สิทธิด้านการแบ่งทรัพย์สินและครอบครองทรัพย์สินร่วมกัน: ทั้งพ.ร.บ.คู่ชีวิต และ สมรสเท่าเทียมนั้นต่างก็มอบสิทธิด้านนี้ให้ประชาชนด้วยกันทั้งคู่ แต่จะมีความแตกต่างที่พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้นมีการกำหนดบัญญัติที่พูดถึงเพียงสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน แต่สมรสเท่าเทียมนั้นพูดไปถึงการแบ่งมรดกในกรณีที่คู่สมรสนั้นเสียชีวิตลงด้วย

บุตร: พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ สมรสเท่าเทียมนั้นเปิดโอกาสให้คู่รักนั้นรับบุตรบุญธรรมได้ แต่ภายใต้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เรายังไม่สามารถได้รับสิทธิในการอุ้มบุญได้

ข้อกฎหมาย: ในส่วนของข้อกฎหมายอื่น ๆ อย่าง สิทธิประกันสังคม กฎหมายประกันชีวิต กฎหมายสวัสดิการราชการ การลดหย่อนภาษีคู่สมรส และการขอสัญชาติไทยให้คู่รักชาวต่างชาติ เรามีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการทุกประการภายใต้พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แต่สำหรับพ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้นยังไม่มีข้อกำหนดที่ครอบคลุมมาถึงสิทธิและสวัสดิการเหล่านี้

ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน: จากที่อธิบายไปว่าพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมนั้นคือกฎหมายสมรสทั่วไปของชายหญิงที่เปิดกว้างขึ้นมาเพื่อรองรับทุกบุคคล ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน ซึ่งตรงข้ามกับพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่มีค่าธรรมเนียม 500 บาท หรือ 1000 บาท ในกรณีที่เป็นการจดทะเบียนคู่ชีวิตนอกสำนักทะเบียน

ความรักเป็นเรื่องที่สวยงาม และจะสวยงามยิ่งขึ้น ถ้ามีประตูบานใหม่ที่เปิดโอกาสให้ทุก ๆ คนได้มีความรักอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผ่านกฎหมายที่สามารถมอบสิทธิและสวัสดิการที่สามารถคุ้มครองทุกคนได้ ดังนั้นแล้วการมีพ.ร.บ.ที่สนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ ที่แท้จริงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะความรักของมนุษย์ควรเป็นเรื่องของความเท่าเทียม ไม่ควรมีใครที่จะต้องถูกปฏิบัติในทางที่พิเศษกว่า หรือเข้าถึงกฎหมายยากไปกว่ากัน

.

.

.

ที่มา

กรุงเทพธุรกิจ. 2022. “เมื่อ "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" ไม่เท่ากับ "พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" แตกต่างกันแค่ไหน?” [Online] เข้าถึงได้จาก: https://www.bangkokbiznews.com/social/1008850 สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565

THE STANDARD. 2022. “เปิดใจ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. ก้าวไกล ทำไมต้อง #สมรสเท่าเทียม” [Online] เข้าถึงได้จาก: https://www.youtube.com/watch?v=TqQ-7Zgse-8 สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565

Chanjira_Yee. 2022. “โซเชียลสงสัย เก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนคู่ชีวิต แต่ชาย-หญิงจดฟรี” [Online] เข้าถึงได้จาก: https://www.springnews.co.th/news/825784 สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565

ฐานเศรษฐกิจดิจิตัล. 2022. “สรุปสาระสำคัญระหว่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต vs สมรสเท่าเทียม [Online] เข้าถึงได้จาก: https://www.thansettakij.com/insights/519417 สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565