เคยลองยัง? "บริจาคพลาสมา" ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ ทำได้ทุก 14 วัน !
  1. เคยลองยัง? "บริจาคพลาสมา" ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ ทำได้ทุก 14 วัน !

เคยลองยัง? "บริจาคพลาสมา" ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ ทำได้ทุก 14 วัน !

รู้กันไหมคะว่านอกจากการบริจาคเลือด ทุกวันนี้เรายังสามารถช่วยชีวิตใครหลายคนได้ด้วยการบริจาค “พลาสมา” เพื่อเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ แถมบริจาคได้บ่อย ๆ ด้วยนะ
writerProfile
25 ม.ค. 2020 · โดย

“บริจาคเลือด” เป็นกิจกรรมพื้นฐานที่หลาย ๆ คนทราบกันดีใช่ไหมล่ะคะว่าเลือดของเราสามารถนำไปช่วยเหลือและต่อชีวิตเพื่อนร่วมโลกได้ แต่ในขณะเดียวกัน ตอนนี้ก็ได้มีการรณรงค์ให้ชาวไทยไปบริจาค “พลาสมา” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย รวมทั้งสร้างประโยชน์ด้านการแพทย์ สำหรับใครที่สงสัยว่าพลาสมาคืออะไร แล้วถ้าอยากบริจาคต้องทำอย่างไรบ้าง วันนี้ Wongnai Beauty มีคำตอบมาให้แล้วววว

พลาสมาคืออะไร?

พลาสมา

มาไขข้อข้องใจคำถามแรกกันก่อน “พลาสมา” (Plasma) เป็นสารประกอบหนึ่งที่อยู่ในเลือดของเรานี่แหละค่ะ ลักษณะเป็นน้ำสีเหลืองใส ๆ หรือถ้าใครคุ้นเคยกับคำว่า “น้ำเหลือง” นี่ก็คือสิ่งเดียวกันเลย ซึ่งหน้าที่ของมันก็คือรักษาปริมาณน้ำในร่างกาย ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ซึ่งในการบริจาคพลาสมาสามารถนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้ 2 ทางคือ

  • นำพลาสมาไปผลิตเซรุ่มป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  • นำพลาสมาไปผลิตเป็นยา ได้แก่ Factor VIII, Immunogolbin และ Albumin นำไปรักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคฮีโมฟีเลีย เอ หรือโรคเลือดออกง่ายหยุดยากทางพันธุกรรม โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องมาแต่กำเนิด โรคไต โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งที่มีความล้มเหลวของระบบอวัยวะค่ะ

ใครบริจาคพลาสมาได้บ้าง?

พลาสมา

แล้วถ้าพลาสมาเป็นที่ต้องการแบบนี้ ใครที่สามารถบริจาคพลาสมาได้บ้าง ไปเช็กตัวเองกันก่อนเลยค่ะ

  • อายุ 18-60 ปี (ถ้าบริจาคครั้งแรกอายุต้องไม่เกิน 50 ปี)
  • สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวหรือโรคติดต่อร้ายแรง
  • น้ำหนัก 55 กิโลกรัมขึ้นไป
  • เป็นผู้บริจาคเลือดต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ครั้งและต้องไม่เว้นระยะการบริจาคเลือดนานเกิน 6 เดือนค่ะ
  • มีเส้นเลือดที่บริเวณข้อพับแขนทั้ง 2 ข้างชัดเจน

เตรียมตัวก่อนบริจาคพลาสมา

พลาสมา

สำหรับใครที่มีคุณสมบัติตรงตามข้างต้น และสามารถบริจาคพลาสมาได้ มีวิธีเตรียมตัวง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

  • เว้นระยะหลังจากบริจาคเลือดครั้งล่าสุดประมาณ 3 เดือน นอกจากนี้ ใครที่จะบริจาคพลาสมาเพื่อทำเซรุ่ม จะต้องเข้าโครงการฉีดวัคซีนก่อนถึงจะบริจาคพลาสมาได้ค่ะ
  • งดอาหารที่มีไขมันสูงก่อนบริจาคพลาสมา เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ เพราะพลาสมาที่มีไขมันจะมีลักษณะขุ่น ใช้การไม่ได้

นอกจากนี้อาจเตรียมตัวคล้าย ๆ กับตอนไปบริจาคเลือด เช่น การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มแอลกอฮอล์ก็จะยิ่งดีค่ะ

ขั้นตอนการบริจาคพลาสมา

พลาสมา

หลังจากเช็กตัวเองเรียบร้อยพร้อมไปบริจาคพลาสมา ในขั้นตอนของการบริจาคพลาสมาก็จะคล้ายกับการบริจาคเลือด โดยบริจาคพลาสมาด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบโลหิตอัตโนมัติ (Blood Cell Separator Device) ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาทีในการแยกเลือดกับพลาสมาออกจากกัน เสร็จแล้วจะได้พลาสมาออกมาประมาณ 500 ซีซี และเว้นระยะอีก 14 วันก็สามารถมาบริจาคพลาสมาได้อีกครั้งค่ะ

FAQ

พลาสมา
  • บริจาคเลือดพร้อมกับบริจาคพลาสมาได้ไหม? : ไม่ได้ ต้องมีการเว้นระยะหลังจากบริจาคเลือดประมาณ 3 เดือนเพื่อให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดถึงจะบริจาคพลาสมาได้
  • บริจาคพลาสมาแล้วกลับไปบริจาคเลือด ทำได้ไหม?: สามารถทำได้ โดยเว้นระยะจากการบริจาคพลาสมา 2 สัปดาห์ 
  • บริจาคพลาสมาได้ที่ไหน? : สามารถเข้าไปบริจาคกันได้ที่ ชั้น 2 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดทำการทุกวันจันทร์-ศุกร์ (ไม่หยุดพักกลางวัน) เวลา 08.30-16.30 น. หรือถ้าอยากขอคำปรึกษาเพิ่มเติม สามารถโทรเข้าไปที่ 02-256-4300 ตามเวลาทำการได้เลยค่ะ

สำหรับใครที่มีคุณสมบัติผู้บริจาคพลาสมาก็ลองหาโอกาสไปบริจาคพลาสมากันดูค่ะ ในตอนนี้การบริจาคพลาสมายังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก แต่ความต้องการยังมีอยู่จำนวนมากเลยค่ะ มาแบ่งปันโอกาสในการมีชีวิตอยู่ให้กับเพื่อนมนุษย์ของเรากันนะคะ

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่